ทูตมาเลย์ “โจจี” แย้ม “มหาธีร์” เยือนไทย สานสัมพันธ์ “สูงสุด”

เนื่องในโอกาสการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ ตุน ดร. มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 24-25 ตุลาคม นายโจจี แซมูเอล เอ็มซี แซมูเอล เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ซึ่งเพิ่งเดินทางเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมืองเดือนมกราคมที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้ “มติชน” ได้สัมภาษณ์ แลกเปลี่ยนข้อมูลความเห็นในหลายประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและมาเลเซียทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคีในฐานะที่ทั้งสองประเทศเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรระดับภูมิภาคอย่าง สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน

เอกอัครราชทูตมาเลเซียชี้ให้เห็นว่า แม้ว่านายกรัฐมนตรีมหาธีร์จะเคยเดินทางเยือนไทยหลายต่อหลายครั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องยาวนานของมาเลเซียมาก่อนหน้านี้ แต่การเดินทางเยือนไทยครั้งนี้ นอกเหนือจากจะเป็นธรรมเนียมปกติของชาติอาเซียนแล้ว ยังมีขึ้นในท่ามกลางบรรยากาศที่แตกต่างออกไปจากเดิม ทั้งในแง่ของการเป็นผู้นำที่มาจากพรรคการเมืองใหม่อย่างมาเลเซียบาฮารู (มาเลเซียใหม่) ที่เดิมเคยเป็นพรรคฝ่ายค้าน และในแง่ของบริบทแวดล้อมของความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

เป้าหมายสำคัญของการเยือนไม่เพียงแต่จะสานต่อความสัมพันธ์กับบุคลากรต่างๆ ที่คุ้นเคยกันแต่เดิมเท่านั้น ยังต้องการแสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้งอกงามยิ่งขึ้นอีกด้วย

“ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียถือว่าวิเศษสุดตลอดมา ด้วยการเชื่อมโยงในทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและผู้คนซึ่งกันและกัน ไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศแรกสุดที่ให้การรับรองมาเลเซียเมื่อได้รับเอกราชในปี 2500 และหลายคนคงไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศมาเลเซีย ซึ่งคือ ฯพณฯ ตนกู อัลดุล ราห์มาน นั้นเคยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย เคยเรียนหนังสือระดับประถมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ พร้อมกับพี่ชายซึ่งเข้าศึกษาต่อที่ ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย (วชิราวุธวิทยาลัยเดิม) และเข้ารับราชการทหารในกองทัพไทยที่นี่จนกระทั่งเสียชีวิตในเมืองไทย ส่วนตนกู อัลดุล ราห์มาน เดินทางกลับประเทศไปและก้าวขึ้นไปนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา”

Advertisement

นายโจจีชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์กับไทยจึงถือเป็นหนึ่งในความสัมพันธ์ระดับสูงสุดสำหรับมาเลเซียในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า การลงทุน หรือในแง่ของความสัมพันธ์ในวงกว้างออกไปอย่างในอาเซียนหรือในสหประชาชาติก็ตาม มาเลเซียและไทยมีสัมพันธ์อันดีอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคมาตลอด

เอกอัครราชทูตมาเลเซียระบุว่า การหารือกันทางการค้าเป็นวาระสำคัญสูงสุดวาระหนึ่งที่จะมีการหยิบยกขึ้นมาหารือกับทางฝ่ายไทยว่า ทำอย่างไรถึงสามารถส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศให้เติบโตขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้ ปัจจุบันปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศรวมกันมีมูลค่าอยู่ที่ 23,000 ล้านดอลลาร์ ประเทศไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 5 ของมาเลเซีย และเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของมาเลเซียในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ไทยจึงเป็นประเทศที่สำคัญต่อมาเลเซียในแง่การค้า

“ในปริมาณการค้าทั้งหมดนี้ 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นการค้าชายแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายจะหยิบขึ้นมาหารือกันว่าทำอย่างไรถึงสามารถขยายตัวไปได้อีก และลดอุปสรรคต่างๆ ที่ไม่ใช่มาตรการทางการค้าระหว่างกันลง โดยอาจมีการหารือกันถึงความเป็นไปได้ที่จะทำบันทึกความเข้าใจ หรืออาจจะเป็นข้อตกลงระหว่างกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมา แม้อาจไม่มีการลงนามกันในครั้งนี้เพราะจำเป็นต้องใช้เวลาในเชิงรายละเอียดอีกระยะหนึ่งก็ตาม แต่การเยือนครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มสำคัญเพื่อการนั้น รวมทั้งในแง่การลงทุน ซึ่งเราต้องการกระตุ้นให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในมาเลเซียให้มากขึ้น”

Advertisement

นายโจจีกล่าวว่า ความตกลงในการร่วมกันพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติระหว่างไทยกับมาเลเซียที่จัดทำขึ้นเมื่อ 40 ปีก่อน สามารถเป็นต้นแบบของความตกลงเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

เอกอัครราชทูตมาเลเซียยังระบุว่า เป็นไปได้ที่จะมีการหารือร่วมกันระหว่างไทยกับมาเลเซียเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาให้กับพืชเศรษฐกิจที่ทั้งสองประเทศมีร่วมกัน อาทิ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ทั้งในแง่ความร่วมมือทวิภาคีและที่เป็นความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อไม่ให้ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรส่งผลกระทบต่อผู้ปลูกซึ่งมักเป็นรายย่อยจำนวนมาก ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือเวียดนามก็ตาม

“หนทางเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือ เราต้องร่วมมือกัน นายกรัฐมนตรีของผมย้ำเสมอว่า อาเซียนต้องเข้มแข็งในประเด็นทางเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้”

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นหารือในเรื่องความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศร่วมกัน ด้วยการจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมายังไทยและไปท่องเที่ยวต่อที่มาเลเซียหรือกลับกันได้อีกด้วย นอกเหนือจากการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวมาเลเซียมากขึ้นจาก 1.8 ล้านคนเมื่อปีที่ผ่านมา

สำหรับการหารือทางด้านความมั่นคงนั้น เอกอัครราชทูตมาเลเซียระบุว่า วาระสำคัญประการแรก เห็นจะเป็นการหารือถึงกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มมาราปัตตานี เพื่อยุติความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีทางการมาเลเซียรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาให้

“กระบวนการเจรจากำลังดำเนินอยู่ ที่ผ่านมา มาเลเซียทำหน้าที่ของตนอย่างตรงไปตรงมา คืออำนวยความสะดวกให้กับการเจรจา หลังจาก ดร.มหาธีร์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าท่านเข้าใจปัญหานี้ดี และจริงจังกับเรื่องนี้มากเพื่อช่วยเหลือต่อทางการไทยในการแก้ปัญหา และคาดหวังว่าการปรับเปลี่ยนทีมในการเจรจาของไทยก็ดี การเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบสูงสุดในเรื่องนี้ของทางฝ่ายมาเลเซียก็ดี สามารถทำให้การเจรจานี้รุดหน้าไปได้

“จุดสำคัญที่สุดของกระบวนการเจรจาสันติภาพก็คือ ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เมื่อมีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันก็จะเกิดความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งในที่นี้ผมหมายถึงฝ่ายไทยและมาราปัตตานี จำเป็นต้องมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน มาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกพยายามช่วยให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกันนี้ขึ้น

“เช่นเดียวกันทางฝ่ายไทยที่พยายามสร้างความไว้วางใจนี้ขึ้นมาด้วยการให้ความช่วยเหลือต่อกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ในพื้นที่ อย่างเช่น การให้ทุนการศึกษา การจัดสถานที่ฝึกงานอาชีพ รวมถึงโครงการส่งเสริมสนับสนุนให้สามารถเดินทางไปแสวงบุญ ณ นครเมกกะ เมื่อสองสามเดือนก่อน ผมเดินทางไปในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ได้เยี่ยมชมศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผมประทับใจมากกับสิ่งที่พวกเขาได้ทำ โดยเฉพาะโครงการส่งเสริมศักยภาพของคนไทยพื้นที่ และการให้ความช่วยเหลือต่างๆ แก่คนที่ต้องการ ผมเองเชื่อว่าการมีงานทำเป็นสิ่งจำเป็น เช่นเดียวกับการให้การศึกษาสำหรับคนมุสลิมทางภาคใต้ของไทย ถ้ามีงานที่ดีทำ มีการศึกษาที่ดี ผมเชื่อว่าจะนำไปสู่ความเข้าใจได้ว่า การก่อเหตุรุนแรงนั้นไม่ได้มีคุณค่าใดๆ

“ผมคิดว่าทั้งรัฐบาลไทยและมาราปัตตานี จำเป็นต้องมีความเข้าใจซึ่งกันและกันว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร ต้องเข้าใจในวัฒนธรรม ศาสนา และความต้องการที่จำเป็นที่แท้จริงของอีกฝ่าย ตัวอย่างเช่น ในสังคมของมาเลเซีย ศาสนาถือเป็นวิถีสำคัญในการดำรงชีวิต ทำนองเดียวกันกับสังคมไทยที่มีพุทธศาสนาเป็นองค์ประกอบสำคัญ เราต้องทำความเข้าใจลงลึกไปให้ได้ว่าอะไรกันแน่คือรากเหง้าจริงๆ ของปัญหา เพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกันให้ได้จริงๆ ว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่ เป็นอิทธิพลจากภายนอกแบบปัญหาที่มาเลเซียเองก็มีหรือไม่”

เอกอัครราชทูตมาเลเซียยืนยันรายงานข่าวที่ว่า มาราปัตตานีแจ้งต่อทางมาเลเซียว่าจะมีกลุ่มอื่นๆ อีก 3 กลุ่มในภาคใต้ของไทยเข้ามารวมกับมาราปัตตานีเพื่อเจรจาต่อรองกับทางฝ่ายไทย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี แม้ว่าจะไม่มีการระบุชื่อกลุ่มก็ตาม ตนเองเข้าใจว่าก่อนหน้านี้กลุ่มอย่าง เบอร์ซาตู และบีอาร์เอ็น ไม่ได้มีส่วนร่วมอยู่ในมาราปัตตานีด้วย

“ยิ่งมีกลุ่มต่างๆ มาร่วมในการเจรจามากเท่าใด ยิ่งเป็นผลดีมากเท่านั้น ทางมาเลเซียเองอาจหยิบบางประเด็นขึ้นมาหารือกับทางการไทยด้วย อย่างเช่น ต้องการให้มาเลเซียแสดงบทบาทเพิ่มเติมจากการทำหน้าที่อำนวยความสะดวกหรือไม่ อย่างเช่น กระตุ้นให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมในการเจรจาเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น”

นายโจจียืนยันว่า ทั้งหมดเป็นไปเพื่อช่วยเหลือไทยในการแก้ปัญหานี้ในฐานะเพื่อนบ้านที่ดี เหมือนเช่นที่รัฐบาลไทยเคยช่วยเหลือมาเลเซียแก้ปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์ในอดีตนั่นเอง

ในตอนท้าย เอกอัครราชทูตมาเลเซียกล่าวว่า ทางการมาเลเซียเต็มใจให้การสนับสนุนไทยในการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้าอย่างเต็มที่ และคาดหวังว่าภายใต้การทำหน้าที่ประธานของไทย จะเกิดแนวความคิดใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนอาเซียนให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่งอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image