คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : เกาะมิกิงโก พื้นที่เล็กๆสำหรับประมง

(Photo by Yasuyoshi CHIBA / AFP)

บนเกาะเล็กๆแห่งหนึ่ง ที่ชื่อว่า “เกาะมิกิงโก” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนประเทศยูกันดา กับเคนยา ที่มีเนื้อที่เพียง 2,000 ตารางเมตร

หากแต่บนเกาะกลับอยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด มีทั้งกระท่อมที่อยู่ของชุมชนชาวประมง มีบาร์ 4 แห่ง ร้านตัดผม 1 ร้าน และซ่องโสเภณีอีกจำนวนมาก กับท่าเรือเล็กๆอีกแห่งหนึ่ง

มองลงมาจากมุมสูงจะมองเห็นหลังคาสังกะสีทับซ้อนกันอยู่จำนวนมาก จนมองคล้ายๆกับเต่า ที่มีกระดองเป็นโลหะ

โดยผู้คนอาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้มีทั้งชาวประมงยูกันดาและเคนยา รวมอยู่กว่า 500 คน หรือเท่ากับ 1 คน มีพื้นที่บนเกาะเพียง 4 ตารางเมตร!!

Advertisement
(Photo by Yasuyoshi CHIBA / AFP)

เกาะมิกิงโก มีขนาดไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสนามฟุตบอลมาตรฐาน ตั้งอยู่ภายในทะเลสาบวิคตอเรีย ซึ่งเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดของทวีปแห่งนี้ และเป็นแหล่งจับปลากะพงแม่น้ำไนล์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง

บรรยากาศในตอนกลางวันบนเกาะ ก็จะได้เห็นชาวประมงออกมาทอดแหกัน ซึ่งถือเป็นอาชีพหลักของคนบนเกาะนี้ และเป็นเศรษฐกิจหลักของเกาะ

แต่ตอนกลางคืน จะได้เห็นบรรดาโสเภณี จากเคนยา แทนซาเนีย และยูกันดา จะพากันนั่งเรือเดินทางมายังเกาะมิกิงโก แล้วไปนั่งอยู่ตามบาร์ต่างๆ เพื่อคอยรับแขก

Advertisement
(Photo by Yasuyoshi CHIBA / AFP)

และแม้ว่าจะมีขนาดเล็กมาก แต่ก็เป็นเกาะที่ยูกันดา และเคนยา ต่างแย่งชิงความเป็นเจ้าของกันมานานกว่าสิบปี จนได้ชื่อว่าเป็น “พื้นที่สงครามที่เล็กที่สุดของแอฟริกา”

เหตุเกิดตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000 เมื่อเกาะมิกิงโก ซึ่งตอนนั้นยังมีคนอาศัยอยู่น้อยมาก ไปอยู่บนแผนที่ของประเทศเคนยา ทำให้เกาะแห่งนี้เริ่มเป็นที่สนใจของทางการยูกันดา และได้เริ่มส่งเจ้าหน้าที่ไปที่เกาะมิกิงโก เพื่อกำหนดนโยบายการทำประมงบนเกาะขึ้น ทั้งเรื่องของภาษี และการปกป้องชาวประมงจากบรรดาโจรสลัด

ชาวประมงเคนยาเริ่มได้รับความเดือดร้อนจากการที่ยูกันดาเข้าไปถือสิทธิ์มากขึ้น และเริ่มขับไล่ชาวเคนยาออกจากเกาะ ชาวประมงเคนยาจึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลเคนยาส่งกำลังเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไปยังเกาะ จนความตึงเครียดระหว่างสองประเทศเกิดปะทุขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2009

เคนยาและยูกันดา จึงได้คิดที่จะจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นเพื่อกำหนดเขตขอบเขตทางทะเลของแต่ละฝ่าย โดยอาศัยแผนที่ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1920

แต่ก็ไม่เกิดอะไรขึ้นจากคณะกรรมาธิการร่วมดังกล่าว และไม่มีการตัดสินใจเรื่องขอบเขตทางทะเล

เมื่อความตึงเครียดในการแย่งชิงเกาะเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น และหาจุดจบไม่ได้เสียที ยูกันดาและเคนยา จึงได้ตกลงที่จะแบ่งพื้นที่บนเกาะกัน โดยทำข้อตกลงการบริหารร่วมกันขึ้น

ความขัดแย้งจึงได้บรรเทาลง

ส่วนบรรดาชาวประมงทั้งหลายที่อยู่บนเกาะ ก็ได้ทำประมงเป็นอาชีพสำหรับทำมาหากินกันอย่างสงบต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image