คอลัมน์ วิเทศวิถี : อียูกับการสังเกตการณ์การเลือกตั้งในไทย

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สหภาพยุโรป(อียู) ได้แจ้งมายังกกต.ว่าต้องการจะส่งคณะเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปีหน้าของไทยเป็นจำนวนมากถึง 200 คน ซึ่งถือว่ามากเป็นประวัติการณ์ ที่สำคัญการขอเดินทางเข้ามาครั้งนี้ ฝ่ายอียูระบุว่าจะขอเปลี่ยนรูปแบบจากที่เคยเป็น “Election Expert Mission” หรืออีเอ็มเอ็ม มาเป็น “Election Observation Mission” หรืออีโอเอ็ม ซึ่งไม่เพียงแต่จะมากกว่าด้วยจำนวนบุคลากร แต่ยังมีภารกิจที่ครอบคลุมกว้างขวางและซับซ้อนมากกว่าด้วยเช่นกัน

เรื่อง “คณะผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศ” กลายเป็นประเด็นที่มีการนำมาถกแถลงกันในทางการเมืองได้สักสัปดาห์กว่าๆ เริ่มจากที่มีผู้ไปถามนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งนายดอนได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการส่งคณะผู้สังเกตการณ์ชุดใหญ่จากต่างชาติเข้ามาในไทย เพราะในอดีตที่ผ่านมาไทยได้ทำให้เห็นว่าเราสามารถบริหารจัดการการเลือกตั้งของเราได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเน้นย้ำว่า ไทยไม่ได้กีดกันและยังสนับสนุนให้คณะทูตต่างประเทศที่ประจำการอยู่ในไทยออกไปทำหน้าที่ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง โดยอาจร่วมมือกับภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอต่างๆ ของไทย ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ง่ายกว่าและยังถือเป็นภารกิจของสถานทูตทุกประเทศที่ต้องรายงานเรื่องการเลือกตั้งกลับไปยังประเทศของตนอยู่แล้ว

สิ่งที่นายดอนย้ำหลายครั้งคือต้องการเห็นประชาชนคนไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ มากกว่าที่จะต้องให้ต่างชาติเข้ามารับประกันความถูกต้องชอบธรรม ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีก้าวล้ำนำสมัย การติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ น่าจะยิ่งทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Advertisement

พูดง่ายๆ คือประชาชนคนไทยควรเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อทำให้กระบวนการตรวจสอบภายในประเทศเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ซึ่งนั่นจะเป็นเครื่องรับประกันความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้มากกว่าอะไรทั้งหมด

จริงอยู่ที่คณะผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งในต่างประเทศเป็นรูปแบบมีการดำเนินการกันอย่างแพร่หลาย โดยหลักการแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งหรือรัฐบาลของประเทศที่มีการจัดการเลือกตั้ง จะเชิญผู้แทนประเทศต่างๆ ให้เข้ามาร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศของตน หรืออาจมีคำร้องขอจากประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศไปยังประเทศที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อขอเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งดังกล่าว เพราะแน่นอนว่าการเลือกตั้งถือเป็น “กิจการภายในประเทศ” ซึ่งไม่อาจเปิดให้คนที่ไม่ได้รับเชิญให้เข้าไปสังเกตการณ์ได้

การเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งนั้น มีทั้งรูปแบบของการเข้าไปสังเกตการณ์ในพื้นที่เลือกตั้งที่มีการจัดเตรียมไว้ กับการเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างอิสระเสรี ซึ่งประเด็นสำคัญที่มีการคำนึงถึงคือความปลอดภัยของตัวผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศเอง เพราะต้องยอมรับว่าบางประเทศที่มีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งเข้าไปก็ยังอาจไม่มีความปลอดภัยในบางพื้นที่

Advertisement

โดยมากแล้ว ประเทศที่จะมีการเปิดรับคณะผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งชุดใหญ่ให้เข้าไปในประเทศ จะต้องเป็นประเทศที่เห็นว่าการได้รับตราประทับรับรองจากต่างชาติว่าการเลือกตั้งที่จัดขึ้นในประเทศเป็นไปอย่างโปร่งใส บริสุทธิ์ และยุติธรรม จะช่วยรับประกันความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งที่กำลังจัดขึ้นได้ หรืออีกกรณีหนึ่งคือประเทศนั้นๆ อาจตกอยู่ในสถานะคล้ายดั่งรัฐที่ล้มเหลว หรือ failed state นั่นคือรัฐที่ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ หรือมีความขัดแย้งทางการเมืองกันอย่างรุนแรง

สำหรับประเทศไทย แน่นอนว่าสถานการณ์ภายในประเทศของเรานั้นไม่ได้ถึงขั้นเป็นรัฐล้มเหลว จึงเป็นเรื่่องที่เข้าใจได้ที่ทำไมนายดอนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการส่งคณะผู้แทนชุดใหญ่เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งตามคำร้องขอของอียูเช่นนั้น แต่ไม่คัดค้านการทำหน้าที่ของคณะผู้แทนประเทศต่างๆ ที่ประจำการอยู่ในสถานทูตของทุกประเทศในไทย ขณะเดียวกันก็เข้าใจได้ที่ฝ่ายการเมืองและพรรคการเมืองหลายพรรค รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนกลับมีท่าทีในทางตรงกันข้าม

ประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ที่ขณะนี้เรื่องดังกล่าวถูกหยิบจับมา “เล่น” เป็นประเด็นทางการเมืองที่หวังว่าจะส่งผลสะเทือนต่อการจัดการเลือกตั้งของรัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.) ที่ถูกมองว่ากุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

การดึงองค์การระหว่างประเทศหรือประเทศต่างๆ เข้ามาเป็นหลังพิงจึงน่าจะช่วยให้การต่อสู้ทางการเมืองมีแง่มุมให้เล่นมากขึ้น หากถูกปฏิเสธก็อาจกลายเป็นคำถามว่าถ้าไม่มีอะไรปิดบังจริงจะวิตกกังวลไปทำไม ขณะที่ภาครัฐก็มองว่าในเมื่อเราไม่มีปัญหาในการจัดการเลือกตั้ง ทำไมต้องให้ประเทศอื่นและองค์กรระหว่างประเทศเข้ามารับประกันความโปร่งใสและน่าเชื่อถือในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ที่กำลังจะมีขึ้น

ในฐานะที่เคยเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งในต่างประเทศมาบ้าง ต้องยอมรับว่าสถานะของผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งในอดีตกับในปัจจุบันนั้นแตกต่างกันพอสมควร ในอดีตเมื่อลงพื้นที่เพื่อไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งก็จะมีการออกรายงานข้อสังเกตถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่ปัจจุบันการเมืองระหว่างประเทศทวีความซับซ้อนมากขึ้น ดังที่มีตัวอย่างของการสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศเคนยาของอียูที่มีการออกรายงานประณามการเลือกตั้งในภายหลัง โดยไม่พิจารณาบริบทของการจัดการเลือกตั้งให้รอบด้านเพียงพอ
สุดท้ายแล้วกกต.จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะตอบรับคำขอของอียูหรือไม่อย่างไร เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่มีหลายฝ่ายกำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะกลายสภาพเป็น “เผือกร้อน” ก่อนเลือกตั้งไปเป็นที่เรียบร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image