คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: อันวาร์…รีเทิร์น!

ตอนที่ ดะโต๊ะ ซรี อันวาร์ อิบราฮิม ดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซียนั้น ทั่วโลกรู้จักนักการเมืองมาเลเซียรายนี้เพียงแค่เป็น “คนที่ถูกเลือกแล้ว” ให้เป็น “ทายาททางการเมือง” ของ ตุน ดร. มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้น และในเวลานี้

แต่ทันทีที่ อันวาร์ เดินเข้าเรือนจำอย่างสงบ เพราะถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ที่จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในข้อกล่าวหาที่ “เหลือเชื่อ” ที่สุดครั้งหนึ่งที่ผู้ที่อยู่ในอำนาจใดๆ บนโลกใบนี้ใช้จัดการกับฝ่ายตรงกันข้ามที่ไม่เห็นด้วยกับตนเอง นั่นคือข้อกล่าวหาว่า อันวาร์ มีพฤติกรรมรักร่วมเพศกับเพศเดียวกับตน

ชื่อเสียงและความเป็น “อันวาร์ อิบราฮิม” ก็โด่งดังไปทั่ว

ยิ่งโดนกล่าวหาในข้อหาเดียวกัน ซ้ำๆ ถูกเสกสรรปั้นแต่งหลักฐาน ถูกกระบวนการตุลาการ ที่ได้รับอิทธิพลจากผู้มีอำนาจในแต่ละครั้ง แต่ละยุคสมัย จำคุกซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างน้อย 3 ระลอกรวมระยะเวลาในคุกนานถึง 9 ปี

Advertisement

ความชื่นชมในความเป็นนักสู้ของอันวาร์ ยิ่งเป็นที่ยอมรับ ยกย่องมากยิ่งขึ้น

อันวาร์ ถูกกล่าวขานถึง ได้รับเสียงชื่นชมยกย่อง ในฐานะ บุคคลที่มีศรัทธา เชื่อมั่นในความถูกต้องของตนเอง และพร้อมที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อความถูกต้องนั้น ไม่ว่าจะตกอยู่ในสภาพใด

เพราะเชื่อมั่นในคุณงามความดี และความรู้ความสามารถของตนเอง ว่ามีพลังเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงยุติธรรมที่เอนเอียงให้กลับมาตั้งตรงได้อย่างที่ควรจะเป็นอีกครั้ง อันวาร์ ปฏิเสธแนวทางแก้ปัญหาของตัวเองใดๆ ที่อยู่นอกกรอบของกฎหมาย ไม่เห็นด้วยกับการปลุกระดมมวลชน ปฏิเสธโอกาสที่จะเดินทางออกไปลี้ภัยในต่างประเทศ ทั้งๆ ที่มีผู้หยิบยื่นและอำนวยความสะดวกให้

Advertisement

ในที่สุด อันวาร์ อิบราฮิม ก็กลับมาได้ กลับมาอย่างถูกต้องและชอบธรรม กลับมาอย่างยิ่งใหญ่

 

ตอนนี้ นอกจากการเป็น สามี ของ วัน อาซิซะห์ อาซิซ รองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันแล้ว ยังเป็นส.ส.เขตพอร์ท ดิคสันและเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองสำคัญอย่าง พีเคอาร์ (ปาร์ตี เคดิลัน รักยัต) หรือพรรคยุติธรรมของประชาชน ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างประวัติศาสตร์ โค่นล้มอิทธิพลของพรรคร่วมอัมโนที่ครองอำนาจทางการเมืองมาได้ทุกยุคทุกสมัยได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ

สมเด็จพระราชาธิบดีมูฮัมหมัดที่ 5 ยังดีเปอร์ตวนอากง แห่งมาเลเซีย พระราชทานอภัยโทษให้อันวาร์ อิบราฮิม ในทันทีที่มีการเสนอเรื่องขอพระราชทานขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้

พร้อมรับสั่้งด้วยว่าทรงตระหนักข้อเท็จจริงแล้วและว่าคดีนี้คือความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมของประเทศ

การ “กลับมา” ในทางการเมืองของอันวาร์ อิบราฮิม ใกล้จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ รอคอยเพียงว่าเมื่อใดจะเปลี่ยนแปลงสถานะ “ว่าที่” ไปเป็น “นายกรัฐมนตรี” มาเลเซียเต็มตัวเท่านั้น

แต่ไม่เพียงกลับมาในทางการเมืองที่มาเลเซีย อันวาร์ ยังกลับมาประเทศไทย ประเทศที่เขาคุ้นเคยมาแต่อ้อนแต่ออก มีมิตรสหายมากมาย

รวมทั้ง “ทนง พิทยะ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่พูดถึงนักการเมืองคร่ำหวอดของมาเลเซียรายนี้ไว้ว่า

คือ นักสู้ที่เข้มแข็งเต็มไปด้วยความเชื่อที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้องในประเทศบ้านเกิด ที่ส่งผลให้ อันวาร์ อิบราฮิม เป็น “วีรบุรุษ” ที่แท้จริง

******

การกลับมาไทยอีกครั้งของอันวาร์ อิบราฮิม คือการเดินทางมาเพื่อร่วมงานเปิดตัวหนังสือ “Anwar Return…The Final Twist” ของ มาร์ค โทรเวลล์ นักกฎหมายและนักเขียนชาวออสเตรเลีย ที่เคยทำหน้าที่รายงานการไต่สวน “คดีการเมือง” ให้กับองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร ในหลายคดี ทั้งคดีของอันวาร์ และคดีอื่นๆ (รวมทั้งคดีของ จตุพร พรหมพันธุ์)

โทรเวลล์ เคยเขียนบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคดีของอันวาร์ ออกมาเป็นหนังสือขายดีมาแล้ว 2 เล่มก่อนหน้านี้ และได้รับเชิญจาก สถาบันอิศรา:มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ให้มาเปิดตัวหนังสือเล่มล่าสุดในประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางแขกเหรื่อ ทั้งนักการเมือง คนข่าวและ เพื่อนๆ นักการเมืองไทยหลายคนของอันวาร์

โทรเวลล์ ระบุว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ชีวประวัติ หากแต่เป็น “บันทึกชีวิต” ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาของนักการเมืองมาเลเซียผู้นี้และยังเป็น “ยังบันทึกเกี่ยวกับการเมืองของมาเลเซียในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย” ข้อมูลและมุมมองหลายด้านทั้งจากตัวผู้เขียนและจากการให้สัมภาษณ์ของอันวาร์ ที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ของการบอกเล่าความเป็นมา ของสถานการณ์ทางการเมือง เหตุแห่งการกล่าวหา ตลอดจนความไม่ชอบมาพากลของคดี ประสบการณ์ยุ่งยากลำบากทั้งหลาย และชัยชนะในบั้นปลายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมาหมาดๆ

ที่สำคัญก็คือการให้ข้อมูลอีกด้านของคดีฉาว 1เอ็มดีบี กับเรื่องราวเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการเลือกตั้งของมาเลเซีย เป็นต้น

อันวาร์ อิบราฮิม เอง พูดถึงหนังสือเล่มนี้เอาไว้ว่า ผู้เขียนทำได้อย่างยอดเยี่ยมมาก” เพราะ “อย่างที่ทุกท่านทราบประวัติของผู้เขียนอยู่แล้ว ว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและได้รับความเคารพเป็นอย่างมาก” เขาย้ำเอาไว้ด้วยว่า

“ต้องนับถือความกล้าของผู้เขียนที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ทำให้จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ การที่สามารถเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตลอดช่วงระยะเวลาที่อยู่ในศาลได้อย่างถูกต้อง

“ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในศาลได้รับการบันทึกไว้หมด มาร์กมีความเข้าใจในกฎหมายสามารถบันทึกทุกอย่างไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่หนังสือเล่มนี้ออกมา”

ยินดีด้วยเหตุผลที่ว่า “เรื่องแบบผมไม่ควรจะเกิดขึ้นกับใครทั้งนั้น”

******

เมื่อต้องขึ้นให้สัมภาษณ์บนเวที อันวาร์ อิบราฮิม แสดงให้เห็นถึงความเป็นนักพูด ที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์หลากหลาย กับมุมมองทั้งต่อชีวิตและวิถีการต่อสู้การเมือง ที่ชัดเจน แหลมคมอย่างน่าทึ่ง ด้วยน้ำเสียงปกติธรรมดา เขาสะท้อนความเด็ดเดี่ยวออกมาในหลายๆ ประโยค หลายๆ คำพูด

เช่นเดียวกับความเป็นคนมองโลกในแง่ดี และอารมณ์ขัน ที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการอยู่รอดทางอารมณ์ของคนที่ผ่านความลำเค็ญมาในระดับที่เขาต้องเผชิญ เรียกเสียงหัวเราะได้เป็นระยะๆ

เริ่มตั้งแต่ประสบการณ์ในเรือนจำ ซึ่งอันวาร์บอกว่า ทุกคนมักคิดว่าจะได้อยู่อย่างสบาย แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม

“ผมถูกขังเดี่ยว อยู่ในห้องขังที่มีแต่พื้นซีเมนต์ ไม่มีอะไรอย่างอื่นเลยในตอนแรกๆ” ก่อนที่จะมีการเพิ่มฟูกบางๆ มาให้ “นั่นทำให้ผมมีเวลามากมายในคุก ผมใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือ อ่านทุกๆ อย่าง ทุกประเภททั้งศาสนา เศรษฐกิจ สังคม ศิลปะ เพื่อนๆ ทั่้วโลกส่งหนังสือมาให้”

แต่ก็ไม่ใช่ว่า การอ่านจะเป็นไปได้อย่างที่ใจต้องการ “แรกๆ มีการจำกัดหนังสือ สัปดาห์ละเล่ม ซึ่งยังไงก็ไม่พอ”

อันวาร์ ยืนยันว่า การติดคุกทำให้โลกหนังสือของเขากว้างขวางขึ้น มีสมาธิในการอ่านมากขึ้น

“ใครที่บ่นว่า ไม่มีเวลาอ่านหนังสือ ผมแนะนำให้ลองไปติดคุกดู”

เมื่อ ม.ล. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้สัมภาษณ์ถามถึงความคาดหวังต่อการกลับมาในทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุด เมื่อต้องแข่งกับ อัมโน พรรคการเมืองเก่าแก่ที่ครองอำนาจมานานและทุ่มเทความพยายามออกมาสุดตัว อันวาร์ ยอมรับว่า ตอนนั้นแทบทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ ตุน มหาธีร์ เอง ยังคิดอยู่ว่า เป็นเรื่องยากที่จะได้ชัยชนะ

“ผมเป็นส่วนน้อยที่มีความมั่นใจว่าเราจะทำสำเร็จถึงแม้ในตอนแรกผมจะยังอยู่ในคุกและไม่มีทางเลือกอย่างอื่น”

“ผมอาจจะเป็นคนประเภทมองโลกในแง่ดี แต่เมื่อผลโหวตในปี 2013 ออกมาว่า เราได้เสียงจากการเลือกตั้ง 52% ในช่วงนั้นผมกับท่าน มหาธีร์ก็ได้ตัดสินใจว่าควรร่วมกันก้าวไปข้างหน้าเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนเป็นหลัก และผมเชื่อว่าการตัดสินใจครั้งนั้นช่วยให้โอกาสของเราสูงขึ้นมาก

“การได้ร่วมงานกับมหาธีร์คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เรามีโอกาสชนะการเลือกตั้ง เราได้คะแนนเพิ่มจากประชาชนในชนบทมากขึ้นนั้น ตามความคิดของผม คนที่อยู่ในเขตเมืองไม่ว่าจะเป็นคนจีน อินเดีย หรือมาเลย์ ล้วนสนับสนุนเราอย่างชัดเจน แต่ในชนบทที่สื่อเข้าถึงได้ยากและถูกควบคุม มหาธีร์จึงมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมให้กับเรา”

คำถามก็คือ มหาธีร์ เคยเป็นศัตรูทางการเมืองแบบตัดญาติขาดมิตรกันไม่ใช่หรือ อย่างน้อยก็คือคนที่ส่งอันวาร์เข้าเรือนจำเป็นครั้งแรก

อันวาร์ อธิบายว่า ในอดีตฝ่ายตุลาการทำงานในลักษณะที่รับใช้ฝ่ายบริหาร แม้ว่าเหตุการณ์ครั้งแรกจะเเกิดขึ้นในช่วงที่มหาธีร์ปกครองประเทศ

“แต่ ตุน มหาธีร์ก็ปฏิเสธว่าไม่ได้สั่งการอะไรใครเป็นพิเศษ ถึงอย่างนั้นตัวระบบก็บังคับให้คนทำงานต้องตัดสินใจไปในแนวทางเดียวกันกับสิ่งที่ผู้มีอำนาจปกครองต้องการ”

นอกจากนั้น การที่มหาธีร์แสดงออกว่า ประเทศจะต้องเปลี่ยนแปลงและก้าวไปข้างหน้า ทั้งยังตกลงและให้คำมั่นที่จะพัฒนาความเป็นอิสระของตุลาการ ความเชื่อถือไว้วางใจ การบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ก็ทำให้สามารถร่วมงานกันได้

“ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าทึ่งมากสำหรับผู้นำอายุ 93 ปีที่ตัดสินใจอย่างนี้”

******

อันวาร์ อิบราฮิม ปฏิเสธการล้างแค้น แก้เผ็ดทางการเมือง เขายืนยันว่า ได้หารือกับมหาธีร์ในเรื่องนี้และเห็นตรงกันว่า จะต้องไม่มีการแทรกแซงใด ๆ ทั้งสิ้นในการดำเนินคดีต่อ นาจิบ อับดุล ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรี โดยที่ ฝ่ายตุลาการจะต้องเป็นอิสระอย่างแท้จริง

“มีหลายคนไม่พอใจการกระทำในอดีตของอดีตนายกฯ นาจิบ แต่สุดท้ายแล้วอำนาจในการตัดสินตกอยู่กับผู้พิพากษา เราไม่สามารถกระทำการใด ๆ เพียงเพราะความโมโหหรือต้องการจะทำลายล้าง แต่เราต้องเชื่อมั่นในกระบวนการและระบบ”

นอกจากนั้นยังปฏิเสธวิถีทางที่จะใช้ความรุนแรงอีกด้วย ซึ่งทำให้ถูกคำถามเชื่อมโยงมายังสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา

อันวาร์ อิบราฮิม ยืนยันว่ามีเพื่อนเป็นนักการเมืองไทยอยู่มากมายในหลายพรรคหลายหน่วยงาน แต่บางครั้งก็ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการทางการเมืองในไทยบางอย่าง

“ในหลายช่วงเวลาสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยผมก็ไม่เห็นด้วย ถึงแม้ผมคิดว่า ไม่มีคำตอบที่ง่ายสำหรับประเทศไทย แต่คนไทยทุกคนควรที่จะร่วมกันมองไปยังอนาคตและทำเพื่อประโยชน์ของประเทศ ทุกอย่างจะต้องขึ้นอยู่กับทุกคนในประเทศไทยที่จะกำหนดและตัดสินใจ ทุกคนต้องร่วมกันหาข้อยุติแม้จะยากลำบากขนาดไหน ทุกคนจะต้องมีความอดทนและค่อย ๆ ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

” ทุกประเทศล้วนต้องผ่านปัญหามาทั้งนั้น ผมไม่สนับสนุนการใช้กำลังในรูปแบบใดทั้งสิ้น รัฐบาลไทยต้องมีจุดยืนตรงนี้ คนไทยจะต้องร่วมกันตั้งคำถาม และหาคำตอบที่จะเป็นธรรมกับทุกคน โดยให้โอกาสประชาชนทุกคนในการเข้าร่วมการเดินหน้า ในช่วงปี 2514 ช่วงนั้นจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกขอไทย ผมยังเป็นนักศึกษาอยู่ เกิดมีการใช้ความรุนแรงขึ้นทางภาคใต้ของประเทศไทย ผมเป็นหนึ่งในผู้ร่วมประท้วงขอความเป็นธรรมและเป็นการเข้าคุกครั้งแรกของผม

“ในนาทีนั้นผมเข้าใจทันทีว่า การใช้ความรุนแรงไม่ใช่คำตอบของปัญหาใดทั้งสิ้น”

ทั้งหมดนี้คือตัวตนของ อันวาร์ อิบราฮิม จากปาก อันวาร์ อิบราฮิม เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image