คอลัมน์ วิเทศวิถี : ก้าวให้พ้น

ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเรื่องฮือฮาในสังคมไทยเมื่อมีรายงานข่าวว่า กัมพูชาได้ขึ้นทะเบียน “โขน” เป็น “มรดกโลก” เพียงชั่วพริบตา เกิดเสียงก่นด่าตามมาอย่างหนัก โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย ทั้งกระทบกระเทียบเปรียบเปรย ดูหมิ่นความงาม ไปจนถึงกล่าวหากันไปมาว่าใครเป็นฝ่ายลอกเลียนและใครเป็นต้นแบบในการแสดง “โขน” ยังดีที่อีกไม่นานนักก็มีข่าวตามมาว่า “โขนไทย” ก็ได้ขึ้นทะเบียนเช่นกัน เลยพาลให้เกิดความสับสนขึ้นอีกครั้งว่าทำไมทั้ง “โขนไทย” และ “โขนกัมพูชา” ถึงได้ขึ้นทะเบียนทั้งคู่ แล้วตกลงว่า “โขน” นั้นได้ขึ้นทะเบียนอะไรกันแน่ หากมิใช่ “มรดกโลก” ที่คนไทยคุ้นเคย

นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่หลังเกิดการถกเถียงในสังคมไทยได้ไม่นานนัก มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้ออกมาให้ความรู้แก่สาธารณชนมากมาย ซึ่งขอถือโอกาสสรุปมานำเสนออีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เข้าใจถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องครบถ้วน

การประชุมที่เกิดขึ้นที่กรุงพอร์ตหลุยส์ ประเทศมอริเชียส ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวทีที่มีการรับรองโขนไทยและโขนกัมพูชาเป็น “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” คือการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage – ไอซี) ครั้งที่ 13 เวทีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีการจัดทำอนุสัญญาใหม่ขึ้นคือ อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of the Intangible Culteral Heritage) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าอนุสัญญายูเนสโก (องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) 2003 เนื่องจากมีการรับรองอนุสัญญาดังกล่าวในการประชุมสมัชชาสมัยสามัญของยูเนสโกเมื่อปีค.ศ. 2003 หรือพ.ศ. 2546 แต่อนุสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้จริงเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2549 หลังจากมีประเทศเข้าเป็นภาคีรวม 178 ประเทศ

อนุสัญญาฉบับนี้มีเป้าหมายเพื่อการสงวนรักษาแนวปฏิบัติ การแสดงออก ความรู้ และทักษะที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” หรือ Intangible Culteral Heritage (ไอซีเอช) ของชุมชนหรือกลุ่มคน โดยต้องการสร้างความตระหนักตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงสากลถึงความสำคัญของไอซีเอช และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการสงวนรักษาไว้ โดยสิ่งที่จัดเป็นไอซีเอชนั้นอยู่ในรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่ภาษา ศิลปะ แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีทางศาสนา เทศกาลเฉลิมฉลอง ไปจนถึงงานฝีมือ

Advertisement

การเสนอขึ้นทะเบียนไอซีเอชกับยูเนสโกมี 2 ประเภท อันแรกคือบัญชีตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ(Representative List of the ICH of Humanity – อาร์แอล) ซึ่งเป็นบัญชีที่มีการขึ้นทะเบียนมากที่สุดที่ 399 รายการ โดยโขนไทยก็อยู่ในบัญชีดังกล่าว ส่วนประเภทที่ 2 คือ บัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ต้องการการสงวนรักษาเร่งด่วน (List of ICH in Need of Urgent Safeguarding – ยูเอสแอล) ซึ่งปัจจุบันมี 52 รายการ และโขนกัมพูชาก็อยู่ในบัญชีนี้เช่นกัน เนื่องจากจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยสงวนรักษาไว้ และยังสามารถที่จะขอรับความช่วยเหลือจากนานาชาติได้ด้วย

นอกเหนือจากการขึ้นทะเบียน 2 ประเภทข้างต้น ประเทศที่เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาดังกล่าวยังสามารถเสนอขึ้นทะเบียนโครงการและกิจกรรมที่ส่งเสริมการสงวนรักษาไอซีเอชในบัญชีอีกอันหนึ่งคือ Register for Good Safeguarding Practices หรือจีเอสพีได้อีกด้วย

ขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนในแต่ละบัญชี เบื้องต้นสิ่งที่ถูกนำเสนอขอขึ้นทะเบียนจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ทุกข้อ ซึ่งหากไม่ผ่านเกณฑ์อย่างน้อย 1 ข้อ ไอซีซึ่งมีหน้าที่พิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนรายการไอซีเอชก็สามารถที่จะเสนอให้มีการเลื่อนการพิจารณาขึ้นทะเบียนออกไป เพื่อให้มีการแก้ไขเอกสารให้ครบถ้วนสมบูรณ์ได้เช่นกัน โดยก่อนที่เรื่องจะมาถึงไอซีจะมีการนำเสนอเอกสารเกี่ยวกับสิ่งที่จะเสนอขึ้นทะเบียนให้กับคณะประเมิน (Evaluation Body) พิจารณาก่อน แต่ไอซีไม่จำเป็นต้องเห็นตามที่คณะประเมินส่งผลการประเมินขึ้นมาให้แต่อย่างใด

Advertisement

สิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายควรต้อง “เข้าใจ” ให้ถ่องแท้คือการขึ้นบัญชี “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” ของมนุษยชาติ ไม่ใช่สิ่งที่แสดงความเป็น “เจ้าข้าวเจ้าของ” แต่เป้าประสงค์หลักคือการร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนให้มีการรักษามรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าวไปสู่คนรุ่นต่อไป เพื่อที่จะได้มีความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมต่างๆ ร่วมกัน เพราะวัฒนธรรมเกิดขึ้นก่อนหน้าที่มนุษย์จะขีดเส้นพรมแดนขึ้น การถ่ายทอดวัฒนธรรมก็เป็นเช่นเดียวกัน นั่นคือการส่งผ่าน แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ระหว่างชุมชนต่างๆ บนโลกนี้ และเป็นสิ่งที่สะท้อนความงดงามตลอดจนความเชื่อมโยงของผู้คนบนโลกของเราตั้งแต่อดีตสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ด้วยเจตนารมย์เช่นนี้เอง เราจึงเห็นประเทศต่างๆ จำนวนมาก พากันนำเสนอให้มีการขึ้นทะเบียนไอซีเอชร่วมกันมากมาย โดยไม่มีความขัดแย้งแบ่งแยก หรือต้องยึดครองความเป็นเจ้าของไว้แต่เพียงผู้เดียว ความงดงามในการยอมรับวัฒนธรรมร่วมของมนุษยชาติดังกล่าวปรากฎให้เห็นอยู่มากมาย เช่นในปีนี้ 8 ประเทศ ประกอบด้วย โครเอเชีย ไซปรัส ฝรั่งเศส กรีซ อิตาลี สโลเวเนีย สเปน และสวิตเซอร์แลนด์ ได้เสนอให้มีการขึ้นทะเบียนศิลปะของการทำกำแพงหิน ความรู้และเทคนิคร่วมกัน เช่นเดียวกับออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ก เยอรมนี ฮังการี และสโลวาเกีย ได้เสนอให้มีการขึ้นทะเบียนการย้อมครามและการทำผ้าพิมพ์ หรือเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่ร่วมกันเสนอให้มีการขึ้นทะเบียนมวยปล้ำเกาหลี

ก่อนหน้านั้นในปี 2559 ที่มี 18 ประเทศ ตั้งแต่ในเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง ไปจนถึงยุโรป ประกอบด้วย เยอรมนี ซาอุดีอาระเบีย ออสเตรีย เบลเยียม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สเปน ฝรั่งเศส ฮังการี อิตาลี คาซักสถาน โมร็อกโก มองโกเลีย ปากีสถาน โปรตุเกส กาตาร์ ซีเรีย เกาหลีใต้ และสาธารณรัฐเช็ก ได้ขึ้นทะเบียนวัฒนธรรมการเลี้ยงเหยี่ยวร่วมกัน สมกับความตั้งใจในการจัดให้มีการขึ้นทะเบียน “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” เพื่อให้เป็นมรดกของมนุษยชาติได้เป็นอย่างดี

สำหรับกรณีของไทยและกัมพูชานั้น เจ้าหน้าที่ภาครัฐของทั้งสองฝ่ายทราบถึงการยื่นเรื่องเพื่อขอขึ้นทะเบียนของแต่ละฝ่ายมานานแล้ว เพราะมีขั้นตอนมากมายที่จะต้องเตรียมการล่วงหน้ากว่าจะมาถึงการส่งเรื่องให้คณะประเมินพิจารณา และส่งเข้ามาสู่ที่ประชุมไอซีในที่สุด ความรู้สึกของคนทำงาน ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับบรรดาเกรียนคีย์บอร์ดที่เราได้เห็นกัน เพราะต่างฝ่ายต่างตระหนักดีว่าสิ่งที่กำลังดำเนินการมีวัตถุประสงค์เพื่อเป้าหมายใด

เมื่อโขนกัมพูชาได้รับการขึ้นทะเบียนไอซีเอช คณะผู้แทนไทยนำโดยนายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม นางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรมประจำคณะกรรมการชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยที่เดินทางไปร่วมประชุม ยังเข้าไปแสดงความยินดีกับนางสโกนา โพเอือง รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์ของกัมพูชา ด้วยความยินดีอย่างจริงใจ

นอกจากนี้หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ประมวลมาให้ได้อ่านข้างต้นก็จะเข้าใจได้ว่า การเสนอขึ้นทะเบียนของ โขนไทย และ โขนกัมพูชา นั้นแตกต่างกัน โขนกัมพูชาอยู่ในบัญชียูเอสแอล ซึ่งจะมีการพิจารณาในวันแรกๆ ของการประชุม เพราะเป็นสิ่งที่ต้องการการสงวนรักษาเป็นการเร่งด่วน ขณะที่โขนไทยนั้นเสนอขึ้นบัญชีอาร์แอล ซึ่งเป็นคนละบัญชีกันและมีการพิจารณาในวัดถัดมา

กระแสสังคมที่กระเพื่อมแรงรับข่าวที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้อดย้อนนึกไปถึงช่วงที่เกิดความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาต่อกรณีเขาพระวิหารไม่ได้ สังคมไทยเคยปล่อยให้อารมณ์พัดพาไปกับความรู้สึกและความเชื่อ แทนที่จะยึดโยงกับข้อเท็จจริงและสิ่งที่ถูกต้องมาแล้ว บทเรียนราคาแพงครั้งนั้นยังคงทำให้ใครหลายคนคนได้รับผลกระทบจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งที่พวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แล้วเราจะปล่อยให้ประวัติศาสตร์เช่นนั้นเกิดขึ้นซ้ำรอยอีกหรือ

ไทยเพิ่งจะเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญายูเนสโก 2003 เมื่อปี 2559 และ โขนไทย เป็นรายการแรกที่ไทยนำเสนอให้ขึ้นบัญชีไอซีเอช ถ้าเพียงแต่เริ่มต้นคนไทยบางคนก็ยังมีท่าทีเช่นนี้ ในอนาคตข้างหน้าการขึ้นทะเบียนไอซีเอชก็อาจกลายเป็นประเด็นระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้ทุกครั้ง หากเรายังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริง และมองทุกอย่างจากมุมแคบเท่านั้น

การเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันทำได้ง่ายๆ คือเริ่มจากความคิดอันมีเหตุมีผลและจิตใจที่เปิดกว้างของเรานั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image