คอลัมน์ People In Focus: หยวน มู่ ผู้ถูกจองจำโดยประวัติศาสตร์

หยวน มู่ อดีตโฆษกรัฐบาลจีนในช่วงทศวรรษที่ 80 เสียชีวิตลงในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมาด้วยวัย 90 ปี อย่างไรก็ตาม ข่าวคราวการจากไปของผู้มีบทบาทนำในนโยบายโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีนในเวลานั้น กลับไม่ถูกนำเสนอผ่านสื่อหลักใดๆของจีนเลย

เหตุผลหนึ่งนั้นเพราะเวลานี้เป็นช่วงเวลาแห่งความอ่อนไหวของการก้าวเข้าสู่ปีแห่งการครบรอบ 30 ปีการสลายการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในวันที่ 4 มิถุนายน 1989 ที่กำลังจะมาถึงในปี 2019 นี้

ขณะที่หยวน เองมีชื่อเสียงขึ้นมาในฐานะโฆษกรัฐบาล ผู้ออกมาแก้ตัวแทนรัฐบาลภายใต้การนำของหลี่ เผิง นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น เหตุการณ์ซึ่งส่งผลให้กลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะการให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “เอ็นบีซี นิวส์” ระบุว่า “ไม่มีใครเสียชีวิตแม้แต่คนเดียว” ในจัตุรัสเทียนอันเหมิน ผลงานที่กลายเป็นเครื่องจองจำทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้รัฐบาลจีนไม่ต้องการเอ่ยถึงข้าราชการระดับสูงรายนี้ในเวลานี้

Advertisement

หยวน มู่ เกิดในเดือนมกราคม 1928 ในเมืองจ้าวหยาง ในมณฑลเจียงซู หยวน เข้าร่วมทำกิจกรรมใต้ดินกับพรรคคอมมิวนิสต์ระหว่างศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ในนครเซี่ยงไฮ้

หยวนเริ่มทำงานเป็นผู้สื่อข่าวให้กับหนังสือพิมพ์กระบอกเสียงของรัฐบาลจีนหลายแห่ง ก่อนที่จะเข้าทำงานที่สำนักข่าวซินหัว สื่อหลักของรัฐบาลจีน ก่อนเข้ารับราชการกับรัฐบาลในช่วงทศวรรษที่ 70

หยวน ใช้ประสบการณ์ในฐานะผู้สื่อข่าวมาใช้ในการร่างเอกสารทั้งของรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์ ก่อนที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง “โฆษกรัฐบาล” ในเวลาต่อมา

เจมส์ อาร์. ลิลเลย์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศจีน ระบุไว้ในบันทึกความทรงจำว่า หยวนเป็นเหมือนกับทหารแนวหน้าในการจัดการกับกลุ่มนักศึกษา แทนที่หลี่ เผิง นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น จนหยวนได้รับฉายาจากสื่อต่างชาติในเวลานั้นว่าเป็นคนที่ “น่ารังเกียจ”

หลังเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม ผู้คนจำนวนมากในจีนเชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวมากในระดับพันคน ทว่า หยวน ออกมาแถลงกับสื่อว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 300 คน และชี้แจงว่านอกจากพลเรือนที่ได้รับบาดเจ็บถึง 2,000 คนแล้ว ยังมีทหารได้รับบาดเจ็บถึง 5,000 คนด้วย

หลังเหตุการณ์นองเลือด หยวน ยังคงเป็นโฆษกรัฐบาลต่อไปแม้ “จ้าว จื่อหยาง” ผู้ที่ได้รับคาดหมายว่าจะก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากเติ้ง เสี่ยวผิง จะถูกขับออกจากพรรคหลังถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาผู้ประท้วงในเหตุการณ์เทียนอันเหมินก็ตาม

การข้ามผ่านยุคต่างกลุ่มต่างขั้วของหยวนนั้น ถูกมองว่าเป็นความสามารถในการเอาตัวรอดในวงการการเมืองอันเข้มข้นของจีนได้อย่างดี

“ผมไม่อยากจะพูดถึงมัน เหตุการณ์วุ่นวาย 4 มิถุนายนนั่น และผมหวังว่าคนจะค่อยๆลืมมันไป” หยวนระบุในการสัมภาษณ์ในอีกหลายปีต่อมา

หยวนสิ้นสุดอาชีพกับรัฐบาลในฐานะสมาชิกถาวรในที่ประชุมที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งประชาชนจีน หน่วยงานที่ปรึกษาของรัฐบาลจีน ก่อนที่จะลาออกจากตำแหน่งในปี 2000

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image