ข่าวแรงรอบโลกรอบปี 2018

ข่าวแรงรอบโลกรอบปี 2018

๐สังหาร “จามาล คาช็อกกี”

จามาล คาช็อกกี (Photo by MOHAMMED AL-SHAIKH / AFP)

ชื่อของ “จามาล คาช็อกกี” กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก หลังจากมีรายงานว่า คาช็อกกี คอลัมนิสต์จากวอชิงตันโพสต์ หายตัวไปอย่างลึกลับหลังจากเข้าไปภายในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบีย นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม และไม่ได้ออกมาอีกเลย

ท่ามกลางข่าวที่สะพัดว่า คาช็อกกี ได้ถูกสังหารไปแล้ว และยังถูกหั่นศพภายในสถานกงสุล สาเหตุก็น่าจะมาจากการที่นายคาช็อกกี เคยเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งเจ้าฟ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย

Advertisement

เรื่องนี้ ทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นระหว่างรัฐบาลตุรกี กับซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากในเบื้องต้นทางการซาอุดีอาระเบียปฏิเสธข่าวเรื่องการตายของคาช็อกกี และยืนยันว่า คาช็อกกีได้เดินทางออกจากสถานกงสุลไปแล้ว

กระทั่งวันที่ 20 ตุลาคม ซาอุฯจึงออกมายอมรับว่า คาช็อกกีถูกฆ่าภายในสถานกงสุลจริง และยังถูกหั่นศพแยกร่างด้วย หลังจากเกิดการทะเลาะกันขึ้นภายในสถานกงสุล

วันที่ 16 พฤศจิกายน วอชิงตันโพสต์และสื่ออีกหลายแห่ง รายงานว่า สำนักงานข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) ของสหรัฐอเมริกา ได้สรุปการสอบสวนเกี่ยวกับการตายของคาช็อกกีว่า เกิดขึ้นจากการสั่งของเจ้าฟ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ซึ่งขัดแย้งกับคำกล่าวของประธานาธิบดีทรัมป์ ในเวลาต่อมาที่บอกว่า การสอบสวนยังคงดำเนินต่อไป และยังในเวลาต่อมาอีกว่า การสอบสวนยังไม่ได้มีการสรุปว่า เจ้าฟ้าชายโมฮัมเหม็ด เป็นผู้สั่งการให้ฆ่านายคาช็อกกี

Advertisement

และวันที่ 11 ธันวาคม จามาล คาช็อกกี เป็นหนึ่งในผู้สื่อข่าวที่นิตยสารไทม์ยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งปีของไทม์

จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่รู้ได้ว่า ร่างไร้วิญญาณของคาช็อกกี อยู่ที่ใดกันแน่

๐สานสัมพันธ์ 2 เกาหลี – สหรัฐอเมริกา

(Korea Summit Press Pool via AP)

หลังจากปี 2017 เป็นปีที่เกาหลีเหนือพยายามแสดงท่าทีที่แข็งกร้าว เพื่อต่อต้านอำนาจของชาติตะวันตก พร้อมประกาศศักดาในความสามารถด้านนิวเคลียร์จนกลายเป็นที่หวาดกลัวกันว่า จะนำไปสู่สงครามครั้งใหญ่

หากแต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ในขณะที่เกาหลีใต้เตรียมตัวจัดงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ฤดูหนาว ที่เมืองพยองชาง ในเดือนกุมภาพันธ์ คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ก็ได้หยิบยื่นไมตรีออกมาสู่ “เกาหลีใต้” โดยประกาศจะส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองพยองชาง จนนำไปสู่การที่คิม โย จอง น้องสาวของคิม จอง อึน เดินทางเยือนเกาหลีใต้ พร้อมกับนำสารเชิญนายมุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เดินทางเยือนเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการ

หลังจากนั้น สถานการณ์ระหว่างสองเกาหลีก็ดีขึ้นเรื่อยมา นำไปสู่การพบกันระหว่างสองผู้นำเกาหลี กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ในวันที่ 27 เมษายน 2018 ที่นายคิม จอง อึน ก้าวข้ามชายแดนระหว่างสองเกาหลี เดินข้ามฝั่งไปยังเกาหลีใต้ โดยมีนายมุนคอยให้การต้อนรับ ก่อนที่นายคิม จะเชื้อเชิญให้นายมุนเดินกลับไปฝั่งเกาหลีเหนือบ้า

Pool via Reuters

เป็นภาพประวัติศาสตร์อีกครั้ง ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ที่ผู้นำเกาหลีเหนือข้ามเขตปลอดทหารระหว่างสองเกาหลีเข้าไปในเกาหลีใต้ นับตั้งแต่สองเกาหลีแยกกันเมื่อปี 1953

และยังนำไปสู่การพบกันระหว่างคิม จอง อึน กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ที่ประเทศสิงคโปร์ ในวันที่ 12 มิถุนายน อีกครั้งสำหรับประวัติศาสตร์ ที่ผู้นำเกาหลีเหนือและสหรัฐพบกัน จนทำให้เกิดการลงนามในข้อตกลงระหว่างกันครั้งประวัติศาสตร์ โดยที่เกาหลีเหนือให้คำมั่นว่าจะเดินหน้ากระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์บนคาบสมุทรเกาหลี

Pool via Reuters

แม้จะมีการเปิดให้ผู้สื่อข่าวได้ดูการทำลายแหล่งทดลองนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือไปแล้ว แต่จนถึงบัดนี้ ดูเหมือนว่า เกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกาเอง ก็ยังไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไหร่ และยังต่างฝ่ายยังหยั่งเชิงกันอยู่

สันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี จึงยังไม่ใช่ “เรื่องจริง” อย่างที่คาดหวัง

๐วิกฤตของ ซูจี

(Photo by Roslan RAHMAN / AFP)

ภายหลังจากที่เหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ของเมียนมา ในการกวาดล้างชาวมุสลิมโรฮีนจา ทวีความรุนแรงมากขึ้น นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2017 เรื่อยมา จนกลายเป็นสิ่งที่สหประชาติ (ยูเอ็น) เรียกว่า เป็นการฆ่าล้าเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา และนำไปสู่การลี้ภัยครั้งใหญ่ ของชาวโรฮีนจาไปยังประเทศบังกลาเทศ ที่มีตัวเลขของผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาในบังกลาเทศสูงถึงราว 700,000 คน

แต่รัฐบาลเมียนมา ที่ถือว่าเป็นรัฐบาลพลเรือน ภายใต้การนำของนางออง ซาน ซูจี สตรีเหล็กผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับเมียนมา แต่ยามนี้ ซูจีกลับดูเมินเฉยต่อความรุนแรงและวิกฤตที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮีนจา

นำไปสู่การถูกถอดรางวัลต่างๆมากมายที่มอบให้แก่นางซูจี ตั้งแต่องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ประกาศถอดรางวัลเอกอัครราชทุตด้านมโนธรรม ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดขององค์กรที่เคยมอบให้แก่นางซูจี เมื่อปี 2009 ในขณะที่นางซูจียังถูกรัฐบาลทหารของเมียนมากักตัวอยู่ในบ้านพัก

โดยแอมเนสตี้ให้เหตุผลว่า ได้ตัดสินใจยึดรางวัลดังกล่าวคืน เนื่องจากนางซูจีล้มเหลวในการปกป้องชาวโรฮีนจา และรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งที่ซูจีไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความหวัง ความกล้าหาญ และการปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป

ขณะที่สภาเมืองอ๊อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ได้ถอดซูจี ออกจากรางวัล “เสรีภาพแห่งออกซ์ฟอร์ด” อย่างเป็นทางการ หลังจากที่เคยมอบให้แก่นางซูจีในฐานะนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมายาวนาน โดยสภาเมืองอ๊อกซ์อฟอร์ดให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการที่จะให้รางวัลอันมีเกียรติแก่บุคคลที่ทำตัวนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ความรุนแรง

ล่าสุด มูลนิธิรำลึก 18 พฤษภาคม ของเกาหลีใต้ ได้ตัดสินใจถอดรางวัลที่เคยมอบให้แก่นางซูจีสมัยที่นางยังถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านโดยรัฐบาลทหาร ด้วยเหตุผลที่นางซูจีเพิกเฉยต่อความโหดร้ายป่าเถื่อนที่มีต่อชาวโรฮีนจา ซึ่งขัดกับคุณค่าของรางวัลที่มอบให้เพื่อการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

ตราบที่วิกฤตความรุนแรงในยะไข่ยังไม่คลี่คลาย วิกฤตของซูจีก็ยังคงมีต่อไป

๐ จับ เมิ่ง หวั่นโจว ซีเอฟโอ ของหัวเว่ย

เมิ่ง หวั่นโจว (REUTERS/Alexander Bibik)

ปัญหาระดับชาติ ส่งท้ายปี สำหรับข่าวที่ทางการแคนาดา จับกุมตัวนางเมิ่ง หวั่นโจว ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการเงิน หรือซีเอฟโอ ของบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ส์ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากประเทศจีน ขณะที่นางเมิ่งกำลังเดินทางจากฮ่องกงไปเม็กซิโก และต้องแวะเปลี่ยนเครื่องที่ท่าอากาศยานแวนคูเวอร์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ก็ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัว โดยหมายจับที่ออกโดยศาลแขวงตะวันออกของนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ออกไว้ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2018 และทางการแคนาดาเตรียมตัวส่งต่อนางเมิ่งให้กับสหรัฐอเมริกาต่อไป หลังจากทางการสหรัฐได้ทำการสอบสวนเกี่ยวข้อสงสัยเรื่องที่หัวเว่ยอาจจะละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐอเมริกา

หลังการจับกุมตัวนางเมิ่ง ทางการจีนได้ออกมาเรียกร้องให้แคนาดา ปล่อยตัวนางเมิ่งในทันที และว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นภัยอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชน พร้อมเตือนว่า ทางการแคนาดาจะต้องได้รับผลลัพธ์ที่ตามมา หากไม่ปล่อยตัวนางเมิ่ง

นางเมิ่ง หวั่นโจว นอกจากจะเป็นผู้บริหารระดับสูงของหัวเว่ยแล้ว ยังเป็นถึงบุตรสาวของนายเหริน เจิ้งเฟย ที่เป็นถึงผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ย และเคยเป็นวิศวกรของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนมาก่อน

หลังจากศาลแวนคูเวอร์ ตัดสินให้นางเมิ่งสามารถประกันตัวได้ ด้วยหลักทรัพย์ 10 ล้านเหรียญแคนาดา แต่จะต้องถูกสังเกตความเคลื่อนไหวตลอด24 ชั่วโมง ห้ามออกจากบ้านเวลากลางคืน พาสปอร์ตถูกยึด และต้องใส่อุปกรณ์ติดตามตัว เพื่อรอการตัดสินในคดีส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนต่อไป

จีนก็เดินหน้าแก้แค้นคืน เริ่มตั้งแต่การจับกุมตัวนายไมเคิล โควริก อดีตนักการทูตแคนาดา ที่เคยทำงานอยู่ในกรุงปักกิ่ง ฮ่องกง และสหประชาชาติ โดยนายโควริกถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ระหว่างเดินทางอยู่ในกรุงปักกิ่ง

ไมเคิล โควริก (Photo by Julie DAVID DE LOSSY / CRISIGROUP / AFP)

หลังจากนั้นไม่กี่วัน ก็มีรายงานว่า ทางการจีนได้จับกุมตัวนายไมเคิล สปาวอร์ ชาวแคนาดาอีกคน ข้อหาต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวที่อาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศจีน

ไมเคิล สปาวอร์ (Photo by WANG Zhao / AFP)

ก่อนที่ในวันที่ 19 ธันวาคม จะมีรายงานว่า มีชาวแคนาดาคนที่ 3 ถูกจับกุมตัวในจีน แต่มีการเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า ครั้งนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของนางเมิ่งแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของการทำงานโดยผิดกฎหมาย

ท้ายที่สุด ตอนนี้ นางเมิ่งก็ยังจะต้องอยู่ที่แคนาดาต่อไป ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับแคนาดาก็ยังคงไม่ราบรื่น และยังไม่เห็นแววว่า เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร

๐ไฟป่าแคลิฟอร์เนีย

แม้ว่าในปี 2018 จะเกิดภัยธรรมชาติขึ้นมากมาย แต่ภัยธรรมชาติที่กลายเป็นภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุด เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา สำหรับไฟป่าที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ชื่อว่า “แคมป์ไฟร์” ที่ได้กลายเป็นไฟป่าที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดและทำลายล้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐแคลิฟอร์เนีย และยังเป็นไฟป่าที่ร้ายแรงที่สุดสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ไฟป่าโคลเกต์ ไฟร์ ทางตอนเหนือของรัฐมินเนโซตา เมื่อเดือนตุลาคมปี ค.ศ.1918 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึงราว 453 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 52,000 คน

(Photo by Josh Edelson / AFP)

มีรายงานว่า แคมป์ไฟร์เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน บนถนนแคมป์ ครีก ที่บัตต์ เคาน์ตี ตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย และกลายเป็นที่มาของชื่อ “แคมป์ ไฟร์” ก่อนจะลุกลามไปอย่างรวดเร็ว จนยากที่จะควบคุมเอาไว้ได้ กว่าจะควบคุมเพลิงได้หมด ก็ปาเข้าไปวันที่ 25 พฤศจิกายน สร้างความสูญเสียคิดเป็นเงินนับหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มีรายงานผู้เสียชีวิตและสูญหายเกือบร้อยราย บ้านเรือนถูกเผาผลาญไปกว่าหมื่นหลัง

การสูญเสียชีวิตและความเสียหายอันใหญ่หลวง ทำให้แคมป์ไฟ กลายเป็นไฟป่ารุนแรงอันดับ 6 ในประวัติศาสตร์ไฟป่าของสหรัฐ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image