คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ผลัดผู้นำ “สิงคโปร์สไตล์”

ลี เซียนหลุง กับ ลี หงยี่ (ภาพ-Facebook)

รูปแบบการผลัดเปลี่ยนผู้นำของสิงคโปร์ ไม่เพียงราบรื่นหากแต่ยังมั่นคงแน่นอนมาตลอด นับตั้งแต่ยุคสมัยของผู้นำรุ่นที่ 1 ซึ่งร่วมกันก่อร่างสร้างประเทศภายใต้วิสัยทัศน์และการนำของรัฐบุรุษแห่งเอเชียอย่าง ลี กวนยิว ผู้ล่วงลับ ชาวสิงคโปร์ ล่วงรู้เนิ่นนานก่อนหน้าเกิดขึ้นจริงว่า ผู้นำรุ่นต่อไปของตนคือใคร

ไม่มีสะดุด ไม่มีอุบัติเหตุ และไม่มี “เซอร์ไพรส์” ใดๆ

เหตุผลสำคัญเป็นเพราะ ตลอดระยะเวลายาวนานดังกล่าว พรรคกิจประชาชน (พีเพิลส์ แอคชัน ปาร์ตี-พีเอพี) ครองเสียงข้างมาก “เด็ดขาด” ในสภาผู้แทนราษฎรมาตลอดทุกยุคทุกสมัย

พีเอพี มีความมั่นคงทางการเมืองสูงมากจนสามารถใช้เวลาจัดการกับการสืบทอดภายในพรรคได้อย่างรอบคอบและรอบด้าน ขจัดเงื่อนไขใดๆ อันอาจนำมาซึ่ง “อุบัติเหตุทางการเมือง” ไปได้จนหมดจด หมดสิ้น

Advertisement

จากรุ่นสร้างชาติ สู่ทายาทผู้นำรุ่นที่ 2 อย่าง โก๊ะ จ๊กตง สิงคโปร์พัฒนาการต่อเนื่องได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งในแง่ของความรุดหน้าทางเศรษฐกิจและในแง่ของการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชน

เมื่อถึงยุคสมัยของผู้นำรุ่นที่ 3 อย่าง ลี เซียนหลุง สิงคโปร์ก็ผงาดขึ้นมากลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศเดียวเท่านั้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่น่าสนใจก็คือ แทบตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ โก๊ะ จ๊กตง คนสิงคโปร์ทั้งประเทศก็รู้กันแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนต่อไปคือ ลี เซียนหลุง บุตรชายคนโตของสถาปนิกมือหนึ่งผู้สร้างชาตินั่นเอง

Advertisement

ชาวสิงคโปร์คุ้นเคยกับภาพการผลัดรุ่นผู้นำเช่นนี้ และคาดหวังกับการเปลี่ยนผ่านจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งที่ราบเรียบ ไร้รอยต่อเช่นนี้มาจนถึงทุกวันนี้

เป็นความคุ้นเคยที่ก่อให้เกิดความกังวล วิตกเกินไปอยู่บ้าง เมื่อกระบวนการที่เกิดขึ้นจริงไม่เป็นไปตามความคาดหมาย

โก๊ะ จ๊กตง ซึ่งดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีอาสุโสกิตติคุณ” หลังพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และยังคงมีอิทธิพลต่อแนวคิดในการบริหารจัดการประเทศอยู่ไม่มากก็น้อยในเวลานี้ ถึงกับระบุไว้ในหน้าเฟซบุ๊กของตนเองตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2017 ว่า การถ่ายโอนอำนาจจากรุ่นที่ 3 ไปยังรุ่นที่ 4 กำลังกลายเป็น “ความท้าทายเร่งด่วน” ของประเทศ

ลี เซียนหลุง (ภาพ-AFP)

นั่นเป็นเพราะ ลี เซียนหลุง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน วัย 66 ปี ประกาศเอาไว้หลังการเลือกตั้งทั่วไปล่าสุดเมื่อปี 2015 ว่า จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้ “ก่อนหน้าที่ตัวเองจะอายุครบ 70 ปี”

ลี เซียนหลุง จะอายุครบ 70 ปีในปี 2022 เท่ากับยังเหลือเวลาเลือกสรรผู้นำรุ่นต่อไปอีก 4 ปีเป็นอย่างน้อย ถึงอย่างนั้น ผู้อาวุโสโก๊ะ ยังตำหนิว่าเนิ่นช้าเกินไป!

นั่นคือธรรมชาติของระบอบสิงคโปร์ เป็นแบบฉบับสิงคโปร์ขนานแท้และดั้งเดิม

******

ความล่าช้าของความชัดเจนในตัวผู้นำรุ่นที่ 4 เป็นความผิดปกติไปจากแบบฉบับ “สิงคโปร์สไตล์” ประการหนึ่งของการผลัดผู้นำสิงคโปร์ในรุ่นนี้ เมื่อบวกกับ “ดรามา” ภายใน “ครอบครัวหมายเลข1” อย่างตระกูลลีในช่วงขวบปีที่ผ่านมา กับสภาวะแวดล้อมในทางการเมืองในยามนี้ ก็ทำให้การถ่ายโอนอำนาจไปยังผู้นำรุ่นที่ 4 ของสิงคโปร์ครั้งนี้ ละเอียดอ่อน และ อ่อนไหวเป็นพิเศษ

ในทางหนึ่ง ลี เซียนหลุง จัดการกับ “ความท้าทายเร่งด่วน” ได้เบ็ดเสร็จรวบรัดไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผ่านการประชุมใหญ่พรรคพีเอพี ซึ่งในที่สุดก็คัดสรรผู้ดำรงตำแหน่งใน “คณะกรรมการบริหารกลาง” ออกมาได้เรียบร้อย เป็นไปตามความต้องการของ ผู้อาวุโสโก๊ะ และคำประกาศของกลุ่ม ซึ่งให้คำตอบต่อการตั้งคำถามกลายๆ ของผู้อาวุโสไว้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า “กลุ่มแกนนำรุ่นที่ 4” คัดเลือกผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งผู้นำ ออกมาให้ได้ “ในเวลาที่เหมาะสม” ภายใน 6-9 เดือน

ในที่ประชุมพีเอพี บรรดารัฐมนตรี 16 คน กับแกนนำที่ดำรงตำแหน่ง “ทางการเมือง” ทั้งหลาย ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นกลุ่มคนที่ถูกยกให้เป็นทีมบริหารประเทศรุ่นที่ 4 ลงคะแนนเลือก เฮง สวี่ เกี้ยต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังวัย 57 ปี ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการพรรคอันดับ 1 ต่อด้วย ชาน ชุน ซิง รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม วัย 49 ปี ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคอันดับ 2 ส่วน ออง เยคุง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการวัย 49 ปีเช่นเดียวกันก็ถูกดึงเข้ามาทำหน้าที่ในคณะกรรมการบริหารกลางของพรรคเช่นเดียวกัน

ก่อนหน้าการประชุมดังกล่าว ทั้ง 3 คนคือผู้ที่ถูกระบุเอาไว้ว่าเป็น “แคนดิเดต” ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 4 ของสิงคโปร์ด้วยกันทั้งสิ้น

ที่ชวนให้คิดกันไม่น้อยก็คือ เต็งหนึ่งก่อนการลงคะแนนในพรรคกลับไม่ใช่เป็นผู้ถูกเลือก หากแต่เป็น ชาน ชุนซิง ต่างหากที่ว่ากันว่าได้รับการยอมรับและชื่นชมจากบรรดาแกนนำพรรคสูงสุด

ชาน ชุนซิง ยอมรับตำแหน่งในคณะกรรมการฯ ก็ต่อเมื่อ เฮง สวี่ เกี้ยต ออกปากร้องขอให้เข้ามา “ช่วยงาน” ในฐานะผู้ช่วยของตนเท่านั้น

ตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคอันดับ 1 คือตำแหน่งผู้ช่วยของเลขาธิการพรรค ซึ่งคือ ลี เซียนหลุง ในปัจจุบัน

และในธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองของสิงคโปร์ ใครก็ตามที่ดำรงตำแหน่งนี้ คือผู้ที่จะสืบทอดตำแหน่งเลขาธิการพรรคและนายกรัฐมนตรีในอนาคตต่อจาก นายกฯลี ต่อไปในอนาคตนั่นเอง

ในเวลาไล่เรี่ยกันกับการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกลางชุดใหม่นี้ บรรดาแกนนนำรุ่นที่ 4 ทั้งหลายก็ถูกคัดสรรให้เข้ารับตำแหน่งบริหารสำคัญๆ ระดับที่ต้องตัดสินใจมากขึ้น

รองนายกรัฐมนตรี 2 คนเดิมของ ลี เซียนหลุง คือ เตียว ฉีเฮียน กับ ทาร์มัน ชานมูการัตนัม ลาออกจากตำแหน่งของตัวเองในคณะกรรมการบริหารกลางดังกล่าว เผิดทางให้ผู้นำรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่แทน

สิ่งที่คาดหมายกันถัดไปก็คือ จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีขึ้นตามมา โดยที่ รองนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 จะพ้นจากตำแหน่ง ผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทน ก็คือ เฮง สวี่ เกี้ยต กับ ชาน ชุนซิง นั่นเอง

สร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นผู้นำคนที่มีเวลา “เรียนรู้งาน” ในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศ “สั้นที่สุด” ในประวัติศาสตร์การเมืองของสิงคโปร์ คือไม่ถึง 5 ปี!

******

เฮง สวี่เกี้ยต อยู่ในระบอบราชการของสิงคโปร์มายาวนาน ทั้งยังคุ้นเคยกับครอบครัวหมายเลข 1 ไม่น้อย เพราะครั้งหนึ่งเคยทำหน้าที่เป็น “เลขาณุการหลักส่วนตัว” ของ ลี กวนยิว ผู้ล่วงลับต่อเนื่องอยู่นานถึง 3 ปี (ระหว่างปี 1997-2000) รับผิดชอบงานในหน้าที่ได้ดีเยี่ยม ถึงขนาด ลีผู้อาวุโส ออกปากชื่นชมไว้ในหนังสือ “One Man’s View Of The World” (2013) ของตนเองว่า คือ “เลขาณุการส่วนตัวที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยมีมา”

 

(ภาพ-AFP)

นักการเมืองวัย 57 ปี เริ่มอาชีพของตัวเองโดยการเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนหันมาเป็นข้าราชการพลเรือน จนในที่สุดเข้ารับหน้าที่เป็นเลขาณุการส่วนตัวของผู้นำ

เฮง สวี่เกี้ยต ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรับผิดชอบใหญ่โตเป็นครั้งแรก เมื่อถูกเลื่อนขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการองค์การเงินตราแห่งสิงคโปร์ (เอ็มเอเอส) หรือ แบงก์ชาติสิงคโปร์ และได้รับการยอมรับนับถือไม่น้อยในฐานะที่ทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายทางการเงินของประเทศฝ่าฟันจนผ่านพ้นห้วงวิกฤตการเงินโลกระหว่างปี 2007-2008 ภาวะวิกฤตที่ทำให้สิงคโปร์ตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในปี 2009

เฮง สวี่เกี้ยต ลงเล่นการเมืองครั้งแรกเมื่อปี 2011 และได้รับการเลือกตั้งทันที (ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกในสิงคโปร์ หากสังกัดพรรครัฐบาลอย่างพีเอพี) ทั้งยังถูกเลือกทันทีเช่นเดียวกันให้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนกลายเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งแต่เดือน ตุลาคม ปี 2015 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ลี เซียนหลุง พูดถึง การเลือก เฮง สวี่เกี้ยต ขึ้นมาเป็นทายาทผู้นำต่อจากตนเอาไว้ว่า ทั้ง เฮง และ ชาน ชุนซิง ถือเป็น “การจับคู่ที่แข็งแกร่ง” และเชื่อว่าจะสามารถ “ได้รับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจจากชาวสิงคโปร์ได้อย่างแน่นอน”

นักสังเกตการณ์บางคนถือว่า การถูกเลือกให้เป็นผู้นำรุ่นที่ 4 ของ เฮง สวี่เกี้ยต ครั้งนี้ จัดเป็น “โชคชะตาพลิกผัน” สำหรับเจ้าตัวอย่างแท้จริง เพราะเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2016 นี่เองที่้เจ้าตัวถึงกับฟุบคาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จนต้องหามส่งโรงพยาบาลจากอาการหลอดเลือดในสมองโป่งพอง

ปัญหาสุขภาพส่วนตัวดังกล่าวทำให้หลายคนตัดชื่อ เฮง สวี่เกี้ยต ออกจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไปแล้วซ้ำไป แม้ว่าอาการจะดีขึ้นและสามารถยืนยันกับผู้สื่อข่าวก่อนหน้านี้ได้ไม่นานว่า ทีมแพทย์ยืนยันว่าสุขภาพของตนปลอดโปร่งแล้วก็ตามที

มุสตาฟา อิซซุดดิน นักวิชาการประจำสถาบัน ไอเอสอีเอส-ยูโซฟ ไอแชค ชี้ให้เห็นว่า การแต่งตั้ง “ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไป” ออกมาอย่างชัดเจนเช่นนี้ ส่งผลดีในการช่วยให้ “ความกระวนกระวาย” ในชาติสงบลง เป็นการยืนยันชัดเจนถึงความต่อเนื่องของนโยบายทางเศรษฐกิจซึ่ง “จำเป็น” ต่อการเป็นหลักประกันต่อธุรกิจทั้งหลาย และช่วยให้ “ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค” ต่อเศรษฐกิจของประเทศยังคงสูงต่อเนื่องต่อไป

อานุภาพของความชัดเจน แน่นอน มีมากถึงขนาดนั้นสำหรับสิงคโปร์

******

ยูยีน ตัน รองศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยการบริหารจัดการแห่งสิงคโปร์ พูดถึงการผงาดขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองของ เฮง สวี่เกี้ยต ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลงานที่โดดเด่นเมื่อครั้งยังเป็นข้าราชการ อีกส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจาก บุคลิกลักษณะส่วนตัวที่ดึงดูดความชื่นชมจากสาธารณชนทั่วไปได้ไม่ยาก

ส่วนที่เหลือเป็นผลมาจากการที่ในสายตาของเพื่อนร่วมวิชาชีพการเมืองด้วยกันมองว่า เฮง เป็นได้ทั้งตัวแทนของพรรครัฐบาลและเป็นตัวแทนของของกลุ่มผู้บริหารประเทศรุ่นที่ 4 ได้ในเวลาเดียวกัน

ในแวดวงสื่อไม่ต้องพูดถึง ในทันทีที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “ทายาท” ผู้นำอย่างเป็นทางการ สื่อที่ถือหางและสนับสนุนพีเอพีมาโดยตลอด พากันเผยแพร่ข้อมูล “คุณงามความดี” กับ “คุณสมบัติเชิงสร้างสรรค์” ของว่าที่นายกรัฐมนตรีรายนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะ “ผู้นำที่เปิดกว้าง พร้อมรับคำปรึกษาหารือ” และ “ทุ่มเทขยันทำงาน” ยิ่งยวด

แต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งซึ่งมองข้ามไม่ได้เด็ดขาด นั่นคือ ว่าที่ผู้นำรุ่นที่ 4 ของสิงคโปร์รายนี้ เป็นเพียง “คนนอกตระกูลลี” รายที่ 2 เท่านั้นที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดนี้ นอกเหนือจาก โก๊ะ จ๊กตง

ไมเคิล บาร์ รองศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส ประเทศออสเตรเลีย เจ้าของผลงาน “The Ruling Elite of Singapore: Networks of Power and Influence” เชื่อมั่นว่า เฮง สวี่เกี้ยต เป็นได้อย่างมากก็แค่ “ผู้นำขัดตาทัพ” สำหรับ “รักษาเก้าอี้” รอเอาไว้ให้วุฒิภาวะทางการเมืองของ ลี หงยี่ สุกงอมเท่านั้น

ลี หงยี่ วัย 30 ปีเป็นลูกชายคนโตของ นายกรัฐมนตรี ลี เซียนหลุง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เคยเป็นนายทหารในกองทัพสิงคโปร์ ก่อนที่จะออกมาทำงานเป็นข้าราชการพลเรือน ตำแหน่งในปัจจุบันนี้ คือ รองผู้อำนวยการสำนักงานเทคโนโลยีภาครัฐแห่งสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีของผู้เป็นบิดาโดยตรง

“ผมเชื่อว่า ลี เซียนหลุง ตัดสินใจเลือก เฮง แทนที่จะเป็น ชาน เพราะเหตุผลอย่างเดียวนั่นคือ เฮง อ่อนแอกว่าและที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ สูงวัยกว่า” บาร์ระบุ “ชาน ชุนซิง อายุเพิ่งจะ 49 แถมสุขภาพยังแข็งแรง พัฒนาขีดความสามารถได้เร็วมากจนอาจอยู่ในตำแหน่งผู้นำได้ต่อเนื่องนานถึง 20 ปี

“20 ปี นั้น นานเกินไปสำหรับ ลี หงยี่ ตรงกันข้ามกับ เฮง ที่สื่อสารกับผู้อื่นได้ไม่ดีนัก แถมยังมีปัญหาสุขภาพ เขี่ยออกไปด้านข้างได้ง่ายๆ ภายใน 10 ปี หรืออาจไม่ถึงด้วยซ้ำไป”

ก็น่าคิด ถ้าหากไม่ใช่ว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงระหว่างการเกิด “ดรามาของครอบครัวหมายเลข1” ขึ้นว่าด้วย “พินัยกรรม” ของลี กวนยิวผู้ล่วงลับ โดย ลี เซียนหลุงยืนอยู่ฝั่งหนึ่ง ลี เว่ยหลิง พี่สาวคนโตกับ ลี เซียนหยาง น้องคนสุดท้อง ยืนอยู่อีกฟากหนึ่ง

ในตอนนั้น ผู้เป็นป้ากับอา ถึงกับออกปากพาดพิง ลี เซียนหลุง กระทบชิ่้งไปยังหลานชายว่า นายกรัฐมนตรีลี ต้องการ “สืบทอดอำนาจของตระกูล” ด้วยการเตรียมการ “ปูพรมทางการเมือง” ไว้ให้ ลี หงยี่

คำตอบที่ได้รับจาก ลี หงยี่ โดยตรงก็คือ “ตำแหน่งนี้มีค่าเท่าไหร่ ผมไม่รู้ ผมรู้แต่ว่าผมไม่สนใจเรื่องการเมือง”

ทิ้งให้เรื่อง “ขัดตาทัพ” ให้เป็นเรื่องของเวลาเป็นผู้หาคำตอบต่อไป

******

ภายใต้บริบทของการปรากฏชัดสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ รุ่นที่ 4 ของสิงคโปร์ ในเวลานี้ หลายฝ่ายกะเก็งกันว่า นายกรัฐมนตรี ลี เซียนหลุง อาจตัดสินใจประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในปี 2019 นี้ เร็วกว่ากำหนดเดิมในปี 2021 อยู่ไม่น้อย ทั้งนี้ทั้งนั้่น ก็เพื่อเร่งให้กระบวนการถ่ายโอนอำนาจจากผู้นำรุ่นที่ 3 ต่อไปยังผู้นำรุ่นที่ 4 เป็นไปเร็วขึ้น ชัดเจนขึ้น

ภาคประชาสังคมของสิงคโปร์เอง กำลังกังวลกันว่า หากเป็นเช่นนั้น การเข้มงวดกวดขัน กวาดล้างบรรดา ผู้ที่มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาลและพรรคพีเอพี ก็จะเริ่มต้นขึ้นในอีกไม่ช้าไม่นานเช่นกัน

โจโลวาน วัม นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเรือน ชี้ให้เห็นว่า เลือกตั้งทีไร สิงคโปร์เป็นมาอย่างนี้ทุกที เนื่องเพราะต้องการให้แน่ใจว่า การถ่ายโอนอำนาจดำเนินไปอย่างราบรื่นนั่นเอง

ดังนั้น ไม่เพียงจะเกิดปรากฏการณ์เล่นงานฝ่ายค้านและนักเคลื่อนไหวต่างๆ ด้วยการฟ้องร้อง หรือการใช้อำนาจตำรวจ “อย่างบิดเบือน” เพื่อการนี้แล้ว รัฐบาลยังพร้อมอาศัยเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา บัญญัติกฎหมายที่เอื้อต่อการดำเนินการเรื่องนี้สะดวกมากยิ่งขึ้นออกมาอีกด้วย

โจโลวาน ชี้ว่า เครื่องบ่งชี้สำคัญคือ กฎหมายต่อต้าน “เฟคนิวส์” ที่ลี เซียนหลุง อยากได้นักหนานั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image