คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “เบร็กซิท” เดิมพันสุดอันตราย

AFP

เมื่อ 23 มิถุนายน 2016 สหราชอาณาจักร จัดให้มีการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อชี้ขาดอนาคตของประเทศว่า จะยังคงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของ สหภาพยุโรป (อียู) ต่อไปหรือไม่

คำว่า “เบร็กซิท” หรือ การออกจากการเป็นสมาชิกอียู เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกมานับตั้งแต่บัดนั้น

ผลจากการลงประชามติ ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 17.4 ล้านคน หรือราว 52 เปอร์เซ็นต์ สนับสนุน “เบร็กซิท” ในขณะที่ 16.1 ล้านคน หรือ 48 เปอร์เซ็นต์ เห็นควรให้เป็นสมาชิกอียูต่อไป

29 มีนาคม 2017 เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศเจตนารมณ์ เริ่มต้นกระบวนการทางกฏหมาย ตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ที่ผูกพัน 28 ประเทศเข้าด้วยกันเป็น อียู ซึ่งหมายถึงในวันที่ 29 มีนาคม 2019 หลังเวลา 23.00 น. ตามเวลามาตรฐานกรีนิช การออกจากอียูจะเป็นผลโดยสมบูรณ์

Advertisement

ไม่ว่าจะมีความตกลงเพื่อการจัดการการพ้นสมาชิกภาพให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงปรารถนาใดๆ ขึ้นหรือไม่ก็ตาม

เพื่อให้การออกจากอียูดังกล่าว เป็นไปโดยที่มีผลกระทบที่คาดไม่ถึงน้อยที่สุด อังกฤษใช้เวลา 18 เดือน กับรัฐมนตรีอีก 3 คน ไม่นับรวม นายกฯเมย์ ที่รับภาระหลังจากรัฐมนตรีกิจการเบร็กซิท 2 รายลาออกจากตำแหน่งไปในช่วงเวลาดังกล่าวจัดทำร่างความตกลงเบร็กซิท ร่วมกับตัวแทนของอียู ขึ้นมาฉบับหนึ่ง

ผู้นำอียู 27 ชาติรับรองร่างดังกล่าวไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ร่างความตกลงดังกล่าวกลับมีปัญหา ทั้งฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคแรงงาน ทั้งฝ่ายรัฐบาลผสมที่จัดตั้งด้วยเสียงข้างมากแบบปริ่มๆ น้ำ ไม่เห็นด้วยกันเนื้อหาในร่างดังกล่าว

Advertisement

ไม่เห็นด้วยจนถึงกับมีความพยายามภายในพรรคอนุรักษ์นิยม ของนายกรัฐมนตรีเอง เคลื่อนไหวเพื่อปลด เมย์ พ้นตำแหน่ง

แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จ และทำให้ เทเรซา เมย์ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ ไม่ต้องเผชิญคลื่นใต้น้ำในพรรคอีกต่อไป 1 ปีก็ตาม แต่ความไม่พอใจ ไม่เห็นด้วยยังคงอยู่และก่อให้เกิดวิกฤตขึ้นเป็นระยะๆ

แรงคัดค้านส่งผลให้ เทเรซา เมย์ ตัดสินใจเลื่อนการลงมติ รับ-ไม่รับ ร่างความตกลงที่ไปทำไว้กับอียู ที่กำหนดต้องทำในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาออกไปเป็น 15 มกราคมที่จะถึงนี้ เพราะตระหนักว่า ขืนลงมติไป มีหวังถูกส.ส.ในสภาสามัญ ตีตกแน่นอน

นั่นคือประวัติย่อของ “เบร็กซิท” ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้คนอังกฤษจำนวนไม่น้อยเริ่มตระหนักในความจริงมากขึ้นตามลำดับ

จาก “เบร็กซิท” กลายเป็น “รีเกร็กซิท” และกำลังจะกลายเป็นวิกฤต “เมด อิน ยูเค” ที่น่าเสียใจที่สุดที่คนอังกฤษก่อขึ้นเองมากับมือ!

******

ก่อนถึงวันลงมติในวันที่ 15 มกราคม 5 วันทำการของสภา เทเรซา เมย์จัดให้มีการอภิปรายเบร็กซิท 5 วันรวด เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา แล้วก็เจอ “ลูกเล่น” ของสภาเข้าอย่างจัง

ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีใช้เงื่อนไขของการต้องออกจากอียูโดยไม่มีความตกลงใดๆ ที่เรียกกันว่า “โน-ดีล เบร็กซิท” เป็นแรงกดดันกลายๆ ให้สภายินยอมผ่านร่างความตกลงที่ทำกับอียูไปให้ได้ โดยอ้างว่า จะสามารถใช้ระยะเวลาที่เหลืออยู่ กล่อมฝ่ายอียู ซึ่งไม่ต้องการเห็น โน-ดีลเบร็กซิท เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ยอมปรับเปลี่ยนร่างความตกลงใหม่ตามความต้องการของสภาได้

สิ่งที่สภาสามัญของอังกฤษลงมติไปเมื่อ 2 วันแรกของการอภิปรายเบร็กซิทที่ผ่านมา คือยัดเยียดความพ่ายแพ้ให้แก่ เทเรซา เมย์ ในญัตติที่เห็นได้ชัดว่า เป็นความพยายามผูกมัดรัฐบาลว่า ต้องไม่ปล่อยให้เกิด “โน-ดีล เบร็กซิท” ขึ้น

ในวันที่ 8 มกราคม รัฐบาลแพ้มติรับรองร่างกฎหมายด้านการเงิน ที่ให้อำนาจรัฐบาลจัดเก็บภาษีกรณีพิเศษได้หากเกิด “โน-ดีล เบร็กซิท” วันถัดมา สถานการณ์ยิ่งหนักข้อมากขึ้นเมื่อที่ประชุมสภาลงมติ ปรับแก้กำหนดเวลา ที่เดิมเคยกำหนดให้เวลารัฐบาล 21 วันในการนำเสนอแผนใหม่ต่อสภา ในกรณีที่สภาไม่ให้ความเห็นชอบร่างความตกลงเบร็กซิท ให้เหลือเพียง 3 วันทำการ

นอกจากนั้นยังให้อำนาจสภา สามารถนำเสนอแผนทางเลือกอื่นควบคู่กับแผนสำรองของรัฐบาล และให้อำนาจสภาปรับแก้เนื้อหาของแผนเบร็กซิทดังกล่าวให้เหมาะสม เพื่อให้รัฐบาลรับไปดำเนินการต่อไป

เท่ากับเป็นการบีบรัฐบาลโดยตรงให้ใช้เวลาที่เหลืออยู่ปรับแก้สิ่งที่ทุกฝ่ายคัดค้านในร่างความตกลงเบร็กซิท ให้เป็นไปตามแนวทางของสภาเสียตั้งแต่ตอนนี้ เพราะเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า สภาพร้อมที่จะคว่ำร่างดังกล่าวทันทีที่มีการเปิดให้ลงมติ

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ทุกอย่างที่ดำเนินการกันในเวลานี้ ยืนอยู่บนสมมุติฐานทั้งสิ้น

ตัวอย่างเช่น ในความเป็นจริงแล้ว สมาชิกส่วนใหญ่ของสภาสามัญเอง ก็ไม่แน่ใจว่า รัฐบาลเทเรซา เมย์ จะยังดึงดัน กับร่างที่ทำความตกลงกันไว้กับอียูต่อไปอีกหรือไม่ และถ้าเป็นเช่นนั้น สภา จะทำอย่างไรต่อไป

ไม่มีใครให้คำตอบที่แน่ชัดได้ ไม่มีใครบอกได้ด้วยเช่นกันว่า ถ้ารัฐบาลยอมตามแนวทางของสภา แล้วอียู จะเห็นชอบและยินยอมดำเนินการตามที่สภาสามัญของอังกฤษต้องการหรือไม่

สภาพที่เกิดขึ้นกับกระบวนการเบร็กซิท ในเวลานี้ จึงเป็นเหมือนล็อคที่ติดตาย เปิดเข้าก็ไม่ได้ เปิดออกก็ไม่ได้

สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนที่สุดในสภาพเช่นนี้ก็คือ เบร็กซิท กลายเป็นเรื่องไม่แน่นอนถึงขีดสุด ทุกอย่างยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น

******

ชาร์ลส์ แกรนท์ ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการปฏิรูปแห่งยุโรป (ซีอีอาร์) ที่เป็นองค์กรเพื่อการวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับสหภาพยุโรป ยืนยันกับนิวยอร์ก ไทม์ส ว่า ยังไม่มีใครบอกได้จริงๆ ว่า เบร็กซิท จะลงเอยอย่างไร จนกว่าหนทางที่เป็นไปได้ทั้งหมด ถูกตัดทิ้งไปทีละเปลาะ ทีละเรื่องจนหลงเหลือเพียงทางออกทางเดียว

ซึ่งอาจไม่เกิดขึ้น จนกว่าจะถึงเดือนมีนาคมนี้

นั่นอาจหมายถึงว่า ทางออกที่ทุกคนยอมรับอาจเป็นทางออกที่สายจนเกินไป เพราะถึงวันที่ 29 มีนาคม “โน-ดีล เบร็กซิท” ที่แทบทุกฝ่ายไม่ต้องการให้เกิดขึ้น (ยกเว้นพวกเบร็กซิทแบบสุดโต่งทั้งหลาย) จะมีผลโดยอัตโนมัติ

“โน-ดีล เบร็กซิท” ไม่เพียงเป็นการออกจากอียูโดยไม่มีความตกลงเท่านั้น แต่ยังไม่ช่วงเวลา “เปลี่ยนผ่าน” ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงเหมือนเช่นการออกจากอียูเช่นนี้

เมื่อไม่มีความตกลงใดๆ กันขึ้น สินค้าใดๆ ที่ผ่านเข้าออกอังกฤษ-อียู ย่อมต้องเรียกเก็บภาษีเต็มตามกฏเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก ไม่เพียงราคาสินค้าจะสูงขึ้น เพราะภาษีเพิ่มขึ้นแต่สินค้าทุกชิ้นต้องผ่านการตรวจตามพิธีการศุลกากร ท่าเรือ ศูนย์ขนถ่ายสินค้าทั้งหลาย จะเต็มไปด้วยสินค้าตกค้าง รถบรรทุกสินค้าจอดรอ เช่นเดียวกับการจราจรไปมาที่เคยลื่นไหลก็จะติดขัดรอการตรวจลงตราหนังสือเดินทางโกลาหลอลหม่านทั้งใน 2 ฟากช่องแคบโดเวอร์

สิ่งดังกล่าวไม่เพียงเกิดขึ้นกับการค้าระหว่างอังกฤษกับอียู แต่จะเกิดขึ้นกับประเทศคู่ค้าของอังกฤษอีกหลายประเทศที่เคยทำสัญญาต่อกันในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของอียูในอดีต เกิดผลต่อระบบห่วงโซ่การผลิต การลงทุน และกระทบกับเศรษฐกิจของอังกฤษและอียูมหาศาล

แกรนท์ ชี้ว่า ตอนนี้ดูเหมือนไม่มีทางที่ เทเรซา เมย์ จะผลักดันร่างความตกลงผ่านสภาได้ แต่ถ้าถึงตอนที่ภาพที่ว่านั้นชัดเจนมากขึ้น ก็มีโอกาสเช่นกันที่การเปลี่ยนใจ เปลี่ยนทิศทางกระทันหันจะเกิดขึ้น

เพียงแต่ไม่มีใครแน่ใจว่าจะเป็นเช่นนั้น นั่นทำให้หากยืดเยื้อต่อไป โอกาสที่จะเป็น “โน-ดีล เบร็กซิท” โดยอุบัติเหตุ ก็มีสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน!

******

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ยังเปิดโอกาสให้เกิดสิ่งที่ชาวอังกฤษส่วนหนึ่งเรียกร้องกันมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนหลังมานี้กลับมามีโอกาสเป็นไปได้สูงมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน นั่นคือ การลงประชามติครั้งที่ 2 ว่าด้วยเรื่องควรจะออกจากการเป็นสมาชิกอียูหรือไม่

อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ 3 ใน 4 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้ง จอห์น เมเจอร์, โทนี แบลร์ และ กอร์ดอน บราวน์ (คนที่เหลือคือ เดวิด คาเมรอน ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการให้เกิดการลงประชามติครั้งแรกเมื่อปี 2016 และไม่เคยพูดถึงเรื่องประชามติดังกล่าวอีกเลย) ให้ความเห็นตรงกันว่า วิธีเดียวที่อังกฤษจะสามารถดิ้นออกจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้ ก็คือ การทำประชามติใหม่อีกครั้ง

น่าเสียดายที่การทำประชามติดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยเสียงข้างมากในสภาถึง 2 ใน 3 จึงสามารถดำเนินการได้ ทำให้จนถึงขณะนี้ยังเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง

เทเรซา เมย์ ยืนยันแล้วยืนยันอีกว่า จะไม่ทำประชามติหนที่สอง ในขณะที่ เจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงาน พรรคฝ่ายค้านสำคัญ ก็ยังเห็นว่า การที่รัฐบาลตัดสินใจลาออกแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ จะเป็นหนทางแก้ไขที่ดีกว่า

เหตุผลเป็นเพราะว่า เลือกตั้งใหม่เมื่อใด โอกาสที่ คอร์บิน จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีมีสูงมาก แม้จะไม่มีใครรู้ว่า การเปลี่ยนนายกฯจาก เมย์ เป็น คอร์บิน จะเปลี่ยนแปลงแนวทางเบร็กซิทหรือไม่และอย่างไรก็ตาม

“เบร็กซิท” ไม่เพียงเป็นหัวข้อที่ทำให้เกิดการแตกแยกในอังกฤษขึ้นมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเท่านั้น ยังทำให้ส.ส.ในสภาสามัญแตกแยกเป็นฝักฝ่าย จนไม่สามารถหาเสียงข้างมากในทางใดทางหนึ่งได้เลยแม้แต่ทางเดียว

สถานการณ์ “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก” ยักแย่ยักยันกันเช่นนี้จึงจะยังคงดำเนินไปตราบเท่าที่ ไม่มีส.ส.ส่วนใหญ่ที่มีความกล้าหาญทางการเมืองมากพอ ลุกขึ้นมาทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่เห็นสมควร

ไม่มีเสียงมากพอที่จะหนุนส่งให้ร่างความตกลงของรัฐบาลผ่านสภาไปได้ แต่ก็ไม่มีเสียงสนับสนุนพรรคแรงงานมากพอที่จะทำให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ เช่นเดียวกับการทำประชามติรอบ 2 สภาพเช่นนี้ ทำให้แกรนท์เชื่่อว่า ตราบใดที่อังกฤษยังไม่สามารถรวมตัวกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวได้ อียูก็คงยากที่จะโอนอ่อนผ่อนตามประการหนึ่งประการใดให้กับอังกฤษได้

ยกเว้นแต่ว่าผู้รับผิดชอบในอียูจะเสียสติไปแล้ว จึงจะยอมมัดมือตัวเองทำความตกลงทางการค้าที่เสียเปรียบต่ออังกฤษเช่นนั้น

คงต้องรอให้ในอังกฤษตบตีกันจนหัวร้างข้างแตก แล้วลืมตาตื่นขึ้นมาพบว่าตัวเองอยู่ริมหน้าผาสูงลิ่ว การตัดสินใจเลือกทางที่แย่น้อยที่สุดจึงจะเกิดขึ้นได้

ตอนนี้คงไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ นอกจากปล่อยให้ทุกอย่างไหลไปตามกาลเวลา โดยมีเศรษฐกิจของชาติเป็นเดิมพันต่อไปเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image