คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “โลก” กับ “สม็อก”

(AP Photo/Ahn Young-joon)

หมอกควันที่เป็นพิษ อย่างที่คนกรุงเทพฯ และในอีกหลายเมืองใหญ่ในเอเชียเผชิญกันอยู่ในเวลานี้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่อย่างใด จริงๆ แล้วต้องถือว่าเป็นปัญหาเก่าดั้งเดิม ที่เกิดขึ้นกับโลกซ้ำซากมาเนิ่นนานเต็มทีแล้วด้วยซ้ำ

สภาพที่ว่านี้ทำให้เกิดคำเรียกขานขึ้นใหม่ในภาษาอังกฤษเมื่อราวต้นศตวรรษที่ 20 คือคำว่า “สม็อก” (smog) ที่เป็นการรวมเอาคำว่า fog หรือ หมอก เข้ากับคำว่า ควัน หรือ smoke

โลกตระหนักกับพิษภัยร้ายกาจของหมอกควันพิษชนิดนี้เป็นครั้งแรกเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เรียกกันในเวลานี้ว่า “เดอะ เกรท สม็อก ออฟ ลอนดอน” หรือ “มหาหมอกควันแห่งลอนดอน” ในปี 1952

ยึดถือเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่าเป็น หนึ่งในวินาศภัยที่ร้ายแรงที่สุดของอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กันเลยทีเดียว

Advertisement

กว่าสภาพ “สม็อก” มหึมาครอบคลุมลอนดอนในตอนนั้นจะจางหายไป ชาวอังกฤษก็เสียชีวิตไปเพราะมันมากถึงราว 4,000 คน และเชื่อกันว่ายังมีลอนดอนเนอร์อีกระหว่าง 4,000-8,000 คนเสียชีวิตในเวลาต่อมาหลังได้รับพิษภัยจากเหตุการณ์สม็อกในครั้งนั้น

เหตุการณ์ต่อเนื่องที่น่าสนใจก็คือ “เดอะ เกรท สม็อก ออฟ ลอนดอน” ในครั้งนั้น ส่งผลโดยตรงให้เกิดพระราชบัญญัติที่เรียกว่า “คลีน แอร์ แอคท์ 1956” ออกมาบังคับใช้ในอีก 4 ปีต่อมา

ในพระราชบัญญัติฉบับนั้น กำหนดข้อบังคับเข้มงวดการปล่อยควันออกจากปล่องไฟ ทั้งของโรงงานและของบ้านพักอาศัย ทั้งยังให้อำนาจทางการให้สามารถจัดตั้ง “เขตควบคุมควัน” ขึ้นได้ ภายในเขตดังกล่าวอนุญาตให้ใช้เพียง “เชื้อเพลิงที่ไม่ก่อให้เกิดควัน” ได้เท่านั้น

Advertisement

ข่าวรอบด้าน กับ Line@มติชนนิวส์รูม คลิกเป็นเพื่อนกัน ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

น่าคิดที่ว่า ถึงแม้จะตรากฎหมายออกมาบังคับใช้กันอย่างนั้น แต่สภาพสม็อกหนาหนักก็ยังมาเยือนหลายเมืองในอังกฤษอีกครั้งในปี 1962 ซึ่งส่งผลให้การบังคับใช้กลับมาเข้มงวดหนักอีกครั้ง สภาพมลภาวะทางอากาศเลวร้ายในอังกฤษจึงค่อยๆ พัฒนาไปในทางดีที่ สม็อกลดลง คุณภาพอากาศดีขึ้นเรื่อยๆ มานับตั้งแต่ทศวรรษ 1960

ก่อนที่จะกลับมาเป็นปัญหาใหม่ในราวปี 2010 ที่ผ่านมานี่เอง

นับตั้งแต่ปีที่ว่านั้นเรื่อยมา มลภาวะในอากาศที่อังกฤษจัดอยู่ในระดับ “ผิดกฎหมาย” มาตลอด ข้อมูลของ ไฟแนนเชียล ไทม์ส ระบุเอาไว้ว่า ปัญหาอากาศเป็นพิษถูกอ้างว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรขึ้นมากถึง 9,000 รายต่อปี

ไฟแนนเชียล ไทม์ส ถึงกับระบุว่า ถ้าวัดค่ากันเฉพาะมลภาวะในกลุ่ม “ไนโตรเจนไดออกไซด์” ซึ่งหลักๆ แล้วเกิดขึ้นจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลแล้วละก็

มลภาวะในอากาศที่ลอนดอน ก็เลวร้ายไม่แพ้ในปักกิ่ง เมืองหลวงของจีนหรือ นิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย แต่อย่างใดทั้งสิ้น แย่กว่าเมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่าง นิวยอร์ก หรือเมืองหลวงของสเปนอย่างมาดริดมาก

นั่นคือที่มาของการประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพสาธารณะ” ของ ซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีนครลอนดอนเมื่อเร็วๆนี้นั่นเอง

******

วิกฤตคุณภาพอากาศจึงไม่ใช่เรื่องที่จำกัดอยู่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือ ภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งเท่านั้น ในเอเชียในยามนี้เกิดวิกฤตหนักกว่าปกติด้วยสาเหตุจากสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนเปลี่ยนแปรไปจากที่เคยเป็น ซ้ำเติมให้ปัญหาที่หนักหนาอยู่แล้วกลายเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส ไล่ตั้งแต่ อูลานบาตอร์ ในมองโกเลียของจีน ไปถึงกรุงโซล ในเกาหลีใต้ เรื่อยมาถึงกรุงเทพฯ, อิสลามาบัดในปากีสถาน และนิวเดลี ในอินเดีย

เพื่อความสะดวกในการบ่งบอกถึงคุณภาพอากาศ นักวิชาการจึงกำหนดสิ่งที่เรียกว่า ดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ เอคิวไอ ขึ้นมาเพื่อแสดงสถานะคุณภาพอากาศ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง

ค่าเอคิวไอที่ได้จะเป็นตัวบอกว่า อากาศ ในปริมาตรที่แน่นอนในระยะเวลาที่แน่นอนเวลาหนึ่ง มีปริมาณอนุภาคของสสารชนิดละเอียดที่แขวนลอยปนเปื้อนอยู่มากน้อยเพียงใด สารแขวนลอยขนาดเล็กมากเหล่านี้เป็นอันตรายเพราะระบบของร่างกายคน “กรอง” ไม่ได้ และจะเข้าไปสะสมอยู่ในระบบทางเดินหายใจ สะสมอยู่ในปอด กลายเป็นปัญหาสุขภาพใหญ่หลวงตามมาในภายหลัง

ค่า เอคิวไอ เริ่มต้นจาก 0 จนถึง 50 จัดว่าเป็นอากาศที่มีคุณภาพ “ดี” แต่ถ้าสูงขึ้นไปจนถึงระดับ 100 ขึ้นไปแล้วก็ถือว่าเป็นสถานการณ์เสี่ยง คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญก็คือ คนในกลุ่มเสี่ยงอย่างเช่น ผู้ป่วยเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจ เด็กๆ และผู้สูงอายุทั้งหลายควรหลีกเลี่ยงการออกไปอยู่กลางแจ้ง ควรมีหน้ากากป้องกัน และใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ภายในอาคาร

เมื่อใดที่ เอคิวไอ สูงถึง 150 ขึ้นไป เท่ากับเป็นภาวะอากาศเลวร้าย เพราะอากาศระดับที่ว่านั้น เป็นอันตรายต่อทุกคน บั่นทอนทั้งสุขภาพในระยะสั้น และในระยะยาวจะทำให้ผู้ที่สูดอากาศดังกล่าวเข้าไปเสียชีวิตก่อนที่ควรจะเป็น

ในกรุงเทพฯ ค่าเอคิวไอ ที่วัดได้ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา สูงสุดอยู่ที่ 227 ในขณะที่รายงานของสหประชาชาติเมื่อปี 2018 ระบุว่า ที่บอสเนีย ในภาคพื้นยุโรป วัดเมื่อต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ค่าเอคิวไอเคยขึ้นสูงสุดอยู่ที่กว่า 400 ส่วนที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย อยู่ที่ระดับ 500 เมื่อต้นเดือนนี้

ก่อนหน้านี้ค่าคุณภาพอากาศในเมืองหลวงของอินเดียเคยขึ้นสูงถึง 999 เลยทีเดียว

รายงานของยูเอ็นชิ้นเดียวกันนี้ บอกว่า บอสเนีย สูญเสียเม็ดเงินไปเพราะวิกฤตคุณภาพอากาศสูงถึงเกือบ 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ทั้งหมด จากการสูญเสียโอกาสในการทำงาน การต้องปิดการเรียนการสอน และการต้องใช้จ่ายเป็นงบประมาณด้านสาธารณสุขและการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง

ที่สำคัญก็คือ ทำให้คนบอสเนียทั้งหมดอายุสั้นลง รวมๆ กันแล้วมากถึง “44,000 ปี”!

******

บอสเนีย ไม่ใช่เป็นประเทศเดียวที่มีวิกฤตคุณภาพอากาศในภาคพื้นยุโรป รายงานขององค์การอนามัยโลก ในปี 2017 ระบุว่า เมืองในคาบสมุทรบอลข่าน ทั้ง ทุซลา (บอสเนีย), พีเอฟยา (มอนเตเนโกร), สโคปเย, เทโทโว และ ไบโทลา สามเมืองหลังนี้อยู่ในประเทศมาซิโดเนีย ติดอันดับเป็น 5 ใน 10 เมืองที่อากาศเลวร้ายที่สุดในยุโรป

ในโปแลนด์ มีเมืองต่างๆ 33 เมืองติดอยู่ในอันดับ 50 เมืองแรกที่ “สกปรกที่สุดในยุโรป” สาเหตุสำคัญเป็นเพราะประชาชนไม่น้อยกว่า 19 ล้านคนยังคงพึ่งพาถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนในหน้าหนาวอยู่จนถึงตอนนี้

ในจำนวน 33 เมืองนี้ สคอฟวินา ของโปแลนด์ คือเมืองที่ได้ชื่อว่ามีมลภาวะสูงที่สุดในยุโรปอีกด้วย

คุณภาพอากาศในหลายเมืองเหล่านี้น่าตกใจทีเดียว ตัวอย่างเช่น ที่เมืองริบนิค วัดเมื่อปี 2017 พบสารพิษปนเปื้อนอยู่ในอากาศสูงเกินระดับมาตรฐานความปลอดภัยถึง 2,000 เปอร์เซ็นต์ เป็นสถิติโลกมาจนถึงขณะนี้

ประเด็นที่น่าสนใจที่ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตเอาไว้ก็คือ ยิ่งประเทศยากจนมากขึ้น ยิ่งมีแนวโน้มที่คุณภาพอากาศจะแย่ลง เพราะผู้คนในประเทศที่ยากจนกว่าเหล่านั้น มีทางเลือกไม่มากเท่ากับประเทศที่มั่งคั่งกว่า

ในโปแลนด์นั้นรัฐบาลเพิ่งจะเริ่มต้นรณรงค์ทดแทนการใช้ถ่านหิน (ที่ถือว่าเป็นเชื้อเพลิง “อิสระภาพ” ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซจาก “รัสเซีย”) กันจริงๆ จังๆ เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้วนี่เอง

แต่ตรงกันข้ามกับในอังกฤษ เมื่อซาดิก ข่าน ประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อรับมือกับสภาพอากาศ ก็สามารถดำเนินการได้มากมายหลายรูปแบบ และบังคับใช้กันอย่างจริงจัง

อาทิ ตั้งแต่เมษายนที่จะถึงนี้เป็นต้นไป รถยนต์ ที่ไม่ได้รับการรับรองว่าปล่อยมลภาวะในระดับ “อัตรา-โลว์” คือต่ำมากเป็นพิเศษ นั่นหมายถึงรถยนต์ทุกคันที่ผลิตก่อนปี 2006 และรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลที่ผลิตก่อนปี 2015 จะไม่ได้รับอนุญาตให้ขับเข้าสู่ใจกลางกรุงลอนดอน ไม่ว่าจะในเวลาไหน ถ้าจะเดินทางเข้าลอนดอน จะต้องชำระค่าธรรมเนียมพิเศษครั้งละ 12.50 ปอนด์ (ราว 520 บาท) ต่อครั้ง

ตั้งแต่ปี 2021 เขตอัลตรา-โลว์ อีมิสชัน ที่ว่านี้จะขยายไปครอบคลุมถนนวงแหวนตอนเหนือและตอนใต้ของลอนดอนทั้งหมด เป็นรัศมีราวๆ 25 กิโลเมตรรอบเมืองหลวง ในขณะที่อีกบางพื้นที่มีข้อกำหนดพิเศษเพิ่มเติม อาทิ ถนนบางสายในย่าน อิสลิงตัน และ แฮคนีย์ จะห้ามรถยนต์ใช้น้ำมันทุกชนิดผ่าน ส่วนในใจกลางกรุงลอนดอน จะเริ่มต้นกำหนดถนนที่ห้ามรถใช้น้ำมันเช่นนี้ในปี 2022 นี้

ในเยอรมนี รถยนต์ดีเซลลดสัดส่วนลงจาก 41 เปอร์เซ็นต์ของรถยนต์ทั้งหมดในครึ่งแรกของปี 2017 เหลือเพียง 31 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเดียวกันของปีถัดมา ในขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศมุ่งไปสู่การผลิตรถไฟฟ้าอย่างชัดเจนที่สุด

ทางด้าน นายกเทศมนตรีนครปารีส, มาดริด, เม็กซิโกซิตี และ เอเธนส์ ต่างแสดงเจตนารมณ์ตรงกันว่า จะห้ามรถใช้น้ำมันดีเซลเข้าเขตใจกลางเมืองของตนภายใน ปี 2025

อินเดีย เคยพยายามแก้ปัญหาด้วยการประกาศแนวทางเลิกขายรถยนต์ใช้น้ำมันทุกชนิดให้ได้ภายในปี 2030 ก่อนที่จะยกเลิกแนวคิดนี้ไปเพราะถูกต่อต้านอย่างหนัก แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ว่าการนิวเดลี ก็ยังหวังว่า ภายในปี 2023 จะสามารถทำให้รถยนต์จดทะเบียนใหม่ในเขตเมืองหลวง เป็นรถไฟฟ้า

แต่มลภาวะจากรถยนต์เป็นเพียงปัญหาส่วนเดียวของอินเดีย ที่เป็นเช่นเดียวกับประเทศโลกที่สามทั้งหลาย ที่ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมาก ตั้งแต่เรื่องฝุ่นจากการก่อสร้าง จากท้องถนน เรื่องการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมบางประเภท เรื่องการใช้ไม้ฟืนควบคู่ไปกับมูลวัว หรือปศุสัตว์อื่นๆเป็นเชื้อเพลิงประจำครัวเรือน

นี่ยังไม่รวมถึงการเผาทำลายทางการเกษตรที่เกิดขึ้นในทุกปีก่อนฤดูกาลเพาะปลูกอีกด้วย

******

ประเด็นถกเถียงที่น่าสนใจในเรื่องวิกฤตคุณภาพอากาศก็คือ ทุกอย่าง ทุกมาตรการที่ทุกประเทศทำกันอยู่ในเวลานี้ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ถาวรจริงหรือไม่ ตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีของประเทศอังกฤษอย่างน้อยก็แสดงให้เห็นชัดว่า ถ้าหากเรายังไม่จัดการแก้ปัญหานี้ที่ต้นตอจริงๆ ปัญหาคุณภาพอากาศในระดับวิกฤต สามารถกลับมาเยือนเราได้อีกเสมอ

ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศใดประเทศหนึ่ง ดำเนินการเพียงลำพังก็ใช่ว่าจะทำให้ปลอดภัยได้แน่นอน เพราะมลภาวะทางอากาศ สามารถเคลื่อนที่ได้เป็นอิสระ ไม่มีพรมแดน ไม่มีระยะทางกีดกั้นใดๆ ทั้งสิ้น

วิฤตคุณภาพอากาศในพื้นที่ทางภาคใต้ของไทยที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีจากปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านคือตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับกรณีนี้

คำถามก็คือ มนุษยชาติ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่แสนสะดวกสบายของตนเอง เพื่อแลกกับการได้อยู่กับอากาศสะอาดบริสุทธิ์แล้วหรือ?

เราพร้อมที่จะเลิกใช้รถยนต์เบนซินและดีเซล แล้วหันไปใช้รถไฟฟ้า เฉพาะที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์แล้วหรือ

เราพร้อมที่จะเปลี่ยนถนนให้สวนสาธารณะหรือไม่ พร้อมที่จะใช้จักรยานแทนมอเตอร์ไซค์ หรือเปล่า ภาคธุรกิจพร้อมที่จะทำธุรกิจด้วยเชื้อเพลิงสะอาดทั้งหมดหรือไม่

ถ้ายังไม่พร้อม และหาทางทดแทนไม่ได้ ก็จำเป็นต้องแก้ปัญหากันแบบ “บรรเทาเบาบาง” ที่นักวิชาการบางคนเรียกว่า เป็นความพยายามทำเหมือนกับการติดเครื่องปรับให้กับอาคารที่ “ไม่มีหลังคา” เช่นนี้กันเรื่อยไปทุกครั้งที่เกิดเหตุ

และต้องยอมรับกับความจริงใหม่ที่ว่า “สม็อก” จะคงอยู่กับเราอีกยาวนานต่อไปครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image