“บัวแก้ว” ผนึก “ยูนิเซฟ” จัด 70 ปีเพื่ออนาคตของเด็กทุกคน

กระทรวงการต่างประเทศ ได้จับมือกับกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ(ยูนิเซฟ) ประจำประเทศไทย จัดงาน “70 ปี UNICEF ประเทศไทย : เพื่ออนาคตของเด็กทุกคน” ขึ้นที่ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อไม่นานมานี้ื่อเฉลิมฉลองโอกาสสำคัญครบรอบ 70 ปีของการดำเนินงานของยูนิเซฟในไทย โดยในงานมีทั้งผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนคณะทูตานุทูต องค์การระหว่างประเทศ รวมถึงเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมถึงกว่า 250 คน

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การจัดงาน 70 ปีของยูนิเซฟในไทยครั้งนี้ยังเกิดขึ้นควบคู่กับโอกาสสำคัญอีกหลายประการ อาทิ ครบรอบ 30 ปี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และครบ 70 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือนธันวาคม 2561 ตลอดจนการครบรอบ 1 ปีของการประกาศสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ และ 20 ปี ของการโครงการยุวทูตความดีโดยกระทรวงการต่างประเทศ เราต้องร่วมมือกันเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของเด็กและเยาวชนไทย เพื่อสร้างอนาคตที่สดใสให้กับเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยต่อไป

เนื่องในโอกาสสำคัญนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า เด็กและเยาวชนสามารถเป็นผู้นำซึ่งการเปลี่ยนแปลง หรือ “agent of change” ให้กับสังคมได้ โดยผู้ใหญ่และภาครัฐมีหน้าที่ที่จะต้องสนับสนุนให้เยาวชนมีบทบาทอย่างเข้มแข็ง ทั้งนี้เด็กทุกคนต้องได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน และปฏิเสธไม่ได้ว่าความเหลื่อมล้ำยังเป็นประเด็นท้าทายในการทำงานด้านเด็กทั่วโลก ซึ่งไทยสนับสนุนโครงการ Generation Unlimited ของยูนิเซฟ เพื่อช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาศักยภาพของตนได้สูงสุด
รัฐมนตรีดอนกล่าวด้วยว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันสร้างเด็กที่จะเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของโลก หรือ global citizen ซึ่งมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และแบ่งปัน ไทยยินดีร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีกับยูนิเซฟ เช่น การพัฒนาเด็กปฐมวัยและการแก้ไขปัญหาเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ รวมถึงการสร้างงหุ้นส่วนกับภาคส่วนต่างๆ ต่อไป

ขณะนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และทูตสันถวไมตรีของยูนิเซฟ กล่าวว่า ยูนิเซฟก่อตั้งมาก่อนการจัดตั้งสหประชาชาติในช่วงภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กที่เป็นเหยื่อจากสงคราม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยูนิเซฟเป็นองค์กรที่ปราศจากการแปดเปื้อนทางการเมือง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและการส่งเสริมและปกป้องสิทธิเด็ก ภารกิจดังกล่าวไม่ได้ถือว่าเป็นการ “ทำบุญ” แต่เป็นการ “ทำดี” เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็ก การจัดงานในวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะมองย้อนไปถึงความสำเร็จที่ผ่านมา และทำให้เราร่วมมือกันอย่างจริงจัง โดยใช้ทรัพยากรและศักยภาพที่มีอยู่เพื่อให้สามารถเข้าถึงเด็กทุกคนในไทยได้

Advertisement


จากประสบการณ์การเป็นทูตสันถวไมตรีของยูนิเซฟกว่า 20 ปี นายอานนท์บอกว่าได้สัมผัสถึงจิตใจโอบอ้อมอารีและมีน้ำใจของประชาชนชาวไทย ซึ่งยินดีมอบเงินบริจาคให้แก่ยูนิเซฟนำไปใช้ปฏิบัติงานเพื่อเด็กทุกคนที่อาศัยในแผ่นดินไทยทั้งเด็กไทยและต่างชาติ โดยจำนวนเงินบริจาคของประชาชนชาวไทยต่อยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้เพิ่มขึ้นจาก 18 ล้านบาทเมื่อปี 2547 เป็น 150 ล้านบาทในปี 2560

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังประสบความท้าทายด้านการพัฒนาศักยภาพของประชาชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรให้เด็กในความเปราะบางสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ อย่างเท่าเทียมกับเด็กอื่นๆ และทำอย่างไรให้แน่ใจว่าบริการเหล่านั้น อาทิ การศึกษาและสาธารณสุข มีคุณภาพ และควรเปลี่ยนวิธีการทำงานอย่างไรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการเชิญชวนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานจะมีส่วนช่วยสนับสนุนภาครัฐด้านการพัฒนาศักยภาพดังกล่าว
โดยที่บริบทโลกและของไทยได้เปลี่ยนไป ส่งผลให้ยูนิเซฟต้องปรับการดำเนินงานเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จากการสนับสนุนวัคซีนและน้ำสะอาดเพิ่มเป็นการผลักดันนโยบายสาธารณสุขและการให้เงินสนับสนุนเด็กแรกเกิด (Child Support Grant – CSG) รวมถึงการป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก

นายอานันท์ได้แสดงความชื่นชมนโยบายของรัฐบาลที่ให้เงินสนับสนุนแก่เด็กแรกเกิดจำนวน 600 บาทเป็นเวลา 3 ปี และขอเสนอให้รัฐบาลขยายระยะเวลาการให้เงินดังกล่าวจาก 3 ปีเป็น 6 ปี โดยพิจารณาปรับลดการจัดสรรงบประมาณให้กับนโยบายที่แสดงความฟุ้งเฟ้อ เพราะการพัฒนาสู่ประเทศไทย 4.0 ไม่ได้เริ่มจากผู้ใหญ่ เนื่องจากความยั่งยืนของนโยบายต้องอาศัย

Advertisement

คนรุ่นหลัง สิ่งที่เป็นภัยอันตรายที่สุดต่อประเทศคือ หากเด็กโตขึ้นด้วยความรู้สึกว่าเขาไม่มีอนาคต ถูกทอดทิ้งและไม่มีตัวตนในสังคมไทย

ด้านนายโทมัส ดาวิน ผู้แทนยูนิเซฟประจำประเทศไทย กล่าวว่า ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นทุกวนนี้ ยูนิเซฟต้องปรับรูปแบบการทำงานเพื่อตอบสนองความท้าทายใหม่ๆ ทางสังคมที่เกิดขึ้น อาทิ เด็กโยกย้ายถิ่นฐานและการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ยูนิเซฟได้ช่วยสร้างความพร้อมให้เด็กและเยาวชนในการเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตและการทำงาน รวมถึงเป็น agent of change เพื่อที่่พวกเขาจะได้มีทักษะใหม่ๆ ที่จะทำให้สามารถใช้ชีวิตได้ในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์
นายดาวินกล่าวว่า การร่วมมือกันอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน ทั้งในด้านการวางแผนและการหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการต่าง ๆ ที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขามีความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการเติบโตในอนาคต

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนที่อายุระหว่าง 10-24 ปี ประมาณ 12 ล้านคน ซึ่งกำลังจะเติบโตขึ้นเป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศในอนาคต อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยพ.ศ. 2558-2559 ชี้ให้เห็นว่ายังมีเด็กวัยมัธยมศึกษาร้อยละ 14 ที่ไม่ได้เข้าเรียน นอกจากนี้ สถิติแรงงานพ.ศ. 2560 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ยังระบุว่า ประมาณร้อยละ 15 ของเยาวชนช่วงอายุ 15-24 ปี ในประเทศไทย ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะ

ภายในงานยังมีการจัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย: แนวทางการจัดการความท้าทายใหม่ในศตวรรษที่ 21” ซึ่งมีผู้แทนระดับสูงจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน มาร่วมสะท้อนบทบาทของแต่ละภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาและยกระดับการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนทุกคนในประเทศไทย และเพื่อสะท้อนมุมมองและบทบาทของแต่ละภาคส่วนในการทำงานด้านเด็ก โดยเฉพาะการแก้ไขความท้าทายต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาเด็กปฐมวัย การให้เงินสนับสนุนแก่เด็กแรกเกิด เและการพัฒนาทักษะที่จำเป็นของเด็กและเยาวชน ผู้ซึ่งจะเป็นอนาคตอันสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย

ผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดยังได้ร่วมกันลงนามบนกำแพงแห่งคำมั่นสัญญา หรือ Pledge Wall เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะผนึกกำลังและความร่วมมือในการทำงานเพื่อพัฒนาเด็กในประเทศไทยร่วมกันต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถดูคลิปย้อนหลังของงานได้ที่ https://www.facebook.com/153641954675821/posts/2659972540709404/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image