คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : วิกฤตซ้ำซ้อน ที่เวเนซุเอลา

วิกฤตด้านมนุษยธรรมในเวเนซุเอลา พลิกผันกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองไปตามที่หลายฝ่ายคาดหมายกันไว้ เมื่อภาวะอดอยาก ขาดแคลนสิ่งของจำเป็นพื้นฐานเลวร้ายลงถึงขีดสุด ผลักดันให้ประชาชนลุกฮือกันขึ้นต่อต้าน ไม่ยอมให้รัฐบาลเผด็จการที่ถูกระบุว่า ทั้งฉ้อฉล ทั้งกดขี่ ทารุณกรรมต่อคนของตนเอง ใช้อาหารและยาเป็นอาวุธเพื่ออำนาจของตนอีกต่อไป

การปกครองของ นิโกลัส มาดูโร ที่ผ่านมา ไม่เพียงส่งผลให้เกิดปัญหาผู้อพยพมากกว่า 3 ล้านคน ที่ส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาคอเมริกาใต้โดยเฉพาะโคลอมเบีย ที่เปิดรับผู้อพยพเหล่านี้เอาไว้มากที่สุดเท่านั้น

ระบอบมาดูโรยังสร้างภาพน่าพรั่นพรึงให้เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาของคนทั้งโลก ทำให้สหประชาชาติถึงกับแตกตื่นกับอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดและผู้เป็นมารดาที่เสียชีวิตจากการคลอดที่พุ่งสูงขึ้นอย่างพรวดพราด ภาวะทุพโภชนาการแพร่ไปทั่ว เด็กๆ อยู่ในภาวะการเติบโตชะงักงัน โรคร้ายแรงที่เคยถูกกำจัดหายไปแล้วอย่างเป็นทางการ กลับมาระบาดใหม่อีกครั้ง

นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไปในเวเนซุเอลา สำหรับใครก็ตามที่คิดต่อต้าน แข็งขืน หรือพยายามแสดงออกถึงสิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของตนเองด้วยการชุมนุมกันแสดงความไม่พอใจต่อสภาพที่เป็นอยู่ ผลตอบแทนที่ได้รับคือการจับกุม คุมขัง ทารุณกรรม หรือไม่ก็ถูกสังหารด้วยหน่วยไล่ล่าพิเศษของทางการ

Advertisement

ภาพเหล่านั้นปรากฏอยู่ในรายงานของตัวแทนขององค์กรใดก็ตามที่เข้าไปศึกษาตรวจสอบสถานการณ์ในประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระหลายแห่งของเวเนซุเอลาเอง รวมทั้ง “โฟโร เปนาล” (Foro Penal) และกลุ่มชาวเวเนซุเอลาเพื่อสังเกตการณ์ความขัดแย้งทางสังคม (Venezuelan Observatory of Social Conflict) หรือองค์การเอกชนระหว่างประเทศ ตั้งแต่ ฮิวแมนไรท์วอทช์ เรื่อยไปจนถึงแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล

รวมไปถึงองค์กรของรัฐระหว่างประเทศทั้งหลาย ตั้งแต่องค์การรัฐอเมริกัน (OAS-Organization of American States) หรือสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR)

คณะทำงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญอิสระนานาชาติได้รับมอบหมายจากโอเอเอส ให้จัดทำประชาพิจารณ์และดำเนินการตรวจสอบหลักฐานบ่งชี้ทุกชิ้นเท่าที่สามารถทำได้ ได้ผลสรุปออกมาเป็นรายงานหนา 451 หน้า ระบุว่า มีมูลฐานที่เป็นเหตุเป็นผลอันน่าเชื่อถือซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า อย่างน้อยมีการกระทำที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติสำคัญ 7 ประการเกิดขึ้นต่อพลเรือนในเวเนซุเอลา

Advertisement

สิ่งที่ถือว่าเป็น “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” เหล่านั้น รวมถึงการสังหารหมู่ และการฆ่าตามอำเภอใจ โดยไม่ใช้กระบวนการยุติธรรม, การกักขังหน่วงเหนี่ยวตามอำเภอใจที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง, การทำทารุณกรรม ทรมานชนิดน่าสะพรึงกลัว, การใช้การข่มขืน และความรุนแรงทางเพศเป็นอาวุธ เป็นต้น

ที่น่าสนใจก็คือ ผลการสืบสวนสอบสวนของสหประชาชาติก็ได้ผลลัพธ์ออกมาคล้ายคลึงกัน

ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นเพื่ออำนวยให้ นิโกลัส มาดูโร ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ต่อไปได้เท่านั้่น

ในปี 2017 มาดูโรผิดหวังกับผลการเลือกตั้งทั่วไปที่ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านกุมเสียงข้างมากอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าฝ่ายค้านเหล่านั้นจะอยู่ในสภาพขัดแย้งกันเองจนรวมกันไม่ติดก็ตามที วิธีแก้ปัญหาของมาดูโร ก็คือการจัดตั้งสภาใหม่ขึ้นมาซ้อนกับสภาผู้แทนราษฎรแต่เดิม เรียกว่า “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” (Constituent Assembly)

สภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการสร้างอำนาจนิติบัญญัติเทียมขึ้นมา โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร (National Assembly) แต่อย่างใด องค์ประกอบหลักของทั้งสภามีเพียงบรรดาผู้สนับสนุนมาดูโรและเครือญาติ ซึ่งได้ตำแหน่งมาโดยผ่านการเลือกตั้งที่ฉ้อฉลและไม่เป็นประชาธิปไตย

ชนิดที่แม้แต่บริษัทผู้ทำหน้าที่จัดสรรเครื่องมือในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในครั้งนั้นยังไม่เรียกว่าการเลือกตั้ง แต่เรียกว่าเป็นการต้มตุ๋นทางการเมืองเท่านั้นเอง

เป้าหมายในการสร้างอำนาจนิติบัญญัติซ้อนขึ้นมาดังกล่าวปรากฏชัดในปี 2018 เมื่อมาดูโรสั่งการให้สภาร่างรัฐธรรมนูญประกาศให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้น ควบคู่ไปกับการดำเนินการจับกุม คุมขัง ห้ามการลงสมัคร ต่อบรรดาฝ่ายค้านรายใดก็ตามที่ส่อเค้าว่าจะกลายเป็นแคนดิเดตในตำแหน่งผู้นำประเทศของตนได้

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เกิดความเคลื่อนไหวในลักษณะต่อต้านจากประชาคมนานาชาติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อกว่า 50 ประเทศ, องค์การรัฐอเมริกัน และสหภาพยุโรป ประกาศปฏิเสธผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีดังกล่าว

โดยระบุว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นเพียง “ละครการเมือง” ที่ทั้งไม่เป็นเสรีและไม่เป็นธรรมใดๆ ทั้งสิ้น

แต่มาดูโรแสดงให้เห็นว่า พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้อยู่ในอำนาจและสามารถดำรงตำแหน่งต่อไป เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นิโกลัส มาดูโร ประกอบพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีเวเนซุเอลาอีกครั้ง ต่อ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ”

นั่นเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ทุกคนที่ทุกข์เข็ญแสนสาหัสจากการปกครองของมาดูโร ตัดสินใจเลือกที่จะต่อสู้ ต่อต้าน ไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างอีกต่อไป

นักการเมืองฝ่ายค้านที่เคยแตกแยกกันหนัก รวมตัวกันอย่างรวดเร็วหนุนหลัง “ฮวน ไกวโด” ประธานสภาผู้แทนราษฎรหนุ่มจากพรรค “โวลันทัด ป็อปปิวลาร์” (วีพี) ที่ครองเสียงข้างมากอยู่ในสภาฯ ที่กลายเป็นสถาบันประชาธิปไตยที่หลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวของประเทศ ที่ยังพอที่จะทำหน้าที่ของตนเองได้ หากต้องการทำ

ท่ามกลางกระแสต่อต้าน ประท้วงรัฐบาลมาดูโร จนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ถึงขั้นบาดเจ็บ เสียชีวิตขึ้นต่อเนื่อง ไกวโดกางรัฐธรรมนูญ หยิบบทบัญญัติว่าด้วยการบริหารประเทศในภาวะวิกฤต 3 มาตรา คือมาตรา 233, 333 และ 350 ขึ้นมาอ้างอิงและบังคับใช้

บทบัญญัติเหล่านั้นให้อำนาจประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ประธานาธิบดี “รักษาการ” ไปจนกว่าจะสามารถฟื้นฟูระบบ ระเบียบตามระบอบประชาธิปไตยขึ้นได้

อาศัยความตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ไกวโดประกาศตัวเป็นประธานาธิบดีรักษาการ ดำเนินกระบวนการเพื่อไปสู่การจัดการเลือกตั้งใหม่ที่เป็นเสรีและเป็นธรรมขึ้น

เวเนซุเอลาก็กลายเป็นประเทศที่มี 2 สภา 2 ประธานาธิบดี มานับตั้งแต่วันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา

ฮวน เกราร์โด ไกวโด มาร์เควซ อายุ 35 ปี เกิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ปี 1983 ที่ลา ไกวรา เมืองท่าใกล้ๆ กับการากัส เมืองหลวงของประเทศ บิดาเป็นนักบิน มารดาเป็นแม่บ้าน ร่ำเรียนมาทางวิศวกรรมอุตสาหการในสถานศึกษาที่การากัส

ที่น่าสนใจก็คือ เขาเข้าร่วมในขบวนการต่อต้านระบอบสังคมนิยมประชานิยมของ ฮูโก ชาเวซ มาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาแล้ว

ถึงปี 2007 เมื่อการประท้วงต่อต้านชาเวซลุกลามออกไปมากนั้น ไกวโดเป็นหนึ่งในผู้นำขบวนการนักศึกษาแล้ว ระหว่างห้วงเวลานี้เองที่ไกวโดได้พบกับ ลีโอปอลโด โลเปซ นักการเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดผู้หนึ่งของเวเนซุเอลา ซึ่งในตอนนั้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีเขตปกครองมั่งคั่งแห่งหนึ่งในเมืองหลวงนั่นเอง

ไกวโดมีส่วนร่วมช่วยเหลือโลเปซในการก่อตั้งพรรควีพี พรรคฝ่ายค้านสำคัญที่สุดของเวเนซุเอลาขึ้นมา ก่อนที่จะสืบทอดตำแหน่งผู้นำพรรคต่อมา เมื่อโลเปซถูกมาดูโรลงโทษกักบริเวณอยู่แต่ภายในบ้านพักมาตั้งแต่ปี 2017

ไกวโดแต่งงานแล้ว ลูกสาวคนเดียวของเขาคลอดออกมาในช่วงระหว่างการประท้วงรัฐบาลมาดูโรครั้งใหญ่หลายระลอกต่อเนื่องในปี 2017 นั่นเอง

การประท้วงตามท้องถนนครั้งนั้นกินเวลานานหลายสัปดาห์ คนหนุ่มสาวอาศัยท้องถนนปักหลักต่อต้านกำลังทหารของมาดูโรจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 160 คน ไกวโดเองถูกกระสุนยางเข้าที่ลำคออย่างจังระหว่างร่วมอยู่ในการชุมนุมครั้งหนึ่ง

เมื่อการปราบปรามนักการเมืองฝ่ายค้านเริ่มหนักข้อขึ้น สมาชิกพรรคฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งเลือกที่จะหลบหนีไปลี้ภัยอยู่ในต่างแดน แต่ไกวโดกลับเลือกที่จะอยู่ในเวเนซุเอลา

ในระดับชาติ ไกวโดแทบจะเรียกได้ว่าเป็นนักการเมือง “โนเนม” อันที่จริง เขาก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภาฯได้ ก็เพราะความขัดแย้งในบรรดาพรรคฝ่ายค้าน จนในที่สุดพรรควีพีเสนอชื่อไกวโดขึ้นมาเป็นตัวเลือกเพื่อ “ประนีประนอม” จนได้รับการยอมรับกันเท่านั้นเอง

แต่ชื่อของเขาเริ่มถูกพูดถึงกันมากขึ้นเมื่อราว 3 สัปดาห์ก่อนหน้าการประกาศตัวขึ้นรักษาการประธานาธิบดี เมื่อไกวโดจัดการประชุมที่เขาเรียกว่า “การประชุมพลเมือง” ขึ้น แล้วนำเสนอแนวความคิดและแนวทางในการเปลี่ยนแปลงสังคมและประเทศชาติ

การตัดสินใจ “เดินหน้าชน” กับผู้นำอย่างมาดูโรในครั้งนี้ ไม่ใช่การตัดสินใจแบบปัจจุบันทันด่วน แต่ผ่านการใคร่ครวญและวางแผนมาเป็นอย่างดี ภายใต้การประสานงานกับผู้สนับสนุนคนสำคัญภายในประเทศอย่าง ลีโอปอลโด โลเปซ กับภายนอกประเทศอย่าง มาร์โก รูบิโอ วุฒิสมาชิกอเมริกันจากรัฐฟลอริดา เชื้อสายคิวบา การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการของเขาได้รับการสานรับเป็นอย่างดีในระดับนานาชาติ

ไม่เพียงสหรัฐอเมริกา อิสราเอล และแคนาดา จะให้การรับรองสถานะของไกวโดอย่างรวดเร็วเท่านั้น โอเอเอสก็ประกาศสนับสนุนและรับรองอย่างเป็นทางการ สหภาพยุโรปเตรียมที่จะดำเนินการอย่างเดียวกันในอีกไม่ช้าไม่นาน หลังยื่นคำขาดให้มาดูโรจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 8 วันไปก่อนหน้านี้

ท่ามกลางการสนับสนุนจากนานาชาติที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การสนับสนุนของประชาชนเวเนซุเอลาที่มั่นคงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

กลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้มาดูโรยังคงไม่จับกุมคุมขังฮวน ไกวโด แม้จะต้องการทำอย่างนั้นมากแค่ไหนก็ตามที

นิโกลัส มาดูโร ยังคงได้รับการหนุนหลังจากกองทัพและประเทศอย่าง รัสเซีย จีน อิหร่าน ตุรกี และซีเรีย อยู่ในเวลานี้ ทหารจำนวนมากยังคงทำหน้าที่ปิดด่านพรมแดนทุกแห่ง ป้องกันไม่ให้ขบวนบรรเทาทุกข์เพื่อมนุษยธรรมจากต่างประเทศเดินทางเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนตามคำขอของไกวโด

คำถามก็คือ สถานการณ์เช่นนี้จะดำเนินไปถึงเมื่อใด? อะไรคือเครื่องชี้ขาดวิกฤตการณ์การเมืองในเวเนซุเอลากันแน่?

ฟรานซิสโก โทโร บล็อกเกอร์ผู้ก่อตั้ง “การากัส โครนิเกิลส์ บล็อก” เชื่อว่า กองทัพ จะเป็นเครื่องชี้ขาดสถานการณ์ในเวเนซุเอลา เขาชี้ให้เห็นว่ากองทัพเวเนซุเอลาในตอนนี้ตกอยู่ในภาวะกดดันระดับ “สุดขีด”

“ดูเหมือนนายทหารส่วนใหญ่อาจอยากให้มาดูโรพ้นจากตำแหน่ง แต่ไม่มีใครอยากขยับเป็นคนแรก เพราะหากเกิดพลาดพลั้งขึ้นมา นั่นไม่เพียงเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง ยังอาจหมายถึงถูกทรมานและหมายถึงความตายด้วยซ้ำไป”

เขาบอกว่า ความเป็นไปได้ที่อันตรายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นกับเวเนซุเอลาก็คือ การที่ทหารอาจแตกออกจากกันเป็น 2 ฝ่าย มีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่หันมาสนับสนุนไกวโด

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น เวเนซุเอลา ก็อาจหนีไม่พ้นชะตากรรมแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับซีเรียในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image