คอลัมน์โกลบอลโฟกัส : สหรัฐกับเจตนารมณ์ ของสงครามการค้า

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งอยู่ระหว่างการ “พักรบ” ชั่วคราวจนถึงวันที่ 1 มีนาคมนี้ ถูกจับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ จากทั่วโลก ไม่เพียงด้วยเหตุผลที่ว่า ผลสะเทือนจากการขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ซึ่งกันและกันของทั้งสองฝ่าย ส่งผลกระทบต่อภาวะการค้าโลกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

หลายฝ่ายคาดหมายกันว่า หากการเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ ไม่สามารถทำความตกลงกันได้ เศรษฐกิจของทั้งโลกอาจกระทบกระเทือน อย่างดีที่สุดก็คือการขยายตัวชะงักงัน แต่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่า ผลกระทบจากระลอกใหม่ของสงครามการค้าอาจทำให้ทั่วโลกตกอยู่ในภาวะเลวร้ายยิ่งกว่านั้น

เศรษฐกิจโลกที่เพิ่งฟื้นจากภาวะวิกฤต มีสิทธิตกกลับสู่ภาวะถดถอยเอาได้ง่ายดายมาก

นอกจากก่อให้เกิดผลกระทบสูงแล้ว สงครามการค้าครั้งนี้ยังถูกจับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า ทุกคนเริ่มเคลือบแคลง ไม่แน่ใจมากขึ้นตามลำดับว่า เจตนาที่แท้จริงของการทำสงครามการค้าครั้งนี้ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ คืออะไรกันแน่?

Advertisement

เป็นสงครามการค้า เพื่อการค้าจริงๆ หรือเป็นสงครามการค้า ที่แฝงเจตนา มีวาระซ่อนเร้นอย่างอื่นรวมอยู่ด้วยกันแน่?

ทรัมป์ ประเดิมสถานภาพประธานาธิบดีของตนเองด้วยการถอนตัวออกจากการเป็นภาคีของความตกลงทางการค้าสำคัญอย่าง หรือข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ทั้งๆ ที่เป็นชาติริเริ่มและผลักดันความตกลงนี้อย่างหนักก่อนหน้านี้

ผู้นำคนใหม่ถอนตัวจากทีพีพีโดยไม่ใยดี ไม่มีแม้แต่จะเสนอความตกลงในลักษณะอื่นทดแทน

ถัดมา ทรัมป์ ขู่จะถอนตัวออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) กดดันจน แคนาดา และเม็กซิโก ต้องยอมรับเปิดการเจรจาเงื่อนไขความตกลงกันใหม่

ที่น่าสนใจก็คือ ผลลงเอยของการเจรจานาฟตาใหม่ที่ได้มานั้น นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่า แทบจะไม่มีสารัตถะสำคัญๆ เปลี่ยนแปลงไปความตกลงเดิมเลยแม้แต่น้อย!

ในห้วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสำหรับการนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม ส่งผลให้ประเทศคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็น แคนาดา, จีน, เม็กซิโก เรื่อยไปจนถึงสหภาพยุโรป (อียู) ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าหลายชนิดจากสหรัฐอเมริกา

แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ก้าวต่อไปไกลมากกว่านั้น

เช่นเดียวกับกรณีของเกาหลีใต้ ซึ่งเดิมสหรัฐอเมริกามีความตกลงการค้าเสรีอยู่ด้วย ทรัมป์ยืนกรานเปิดให้มีการเจรจาใหม่ แล้วลงเอยอีหรอบเดียวกันนาฟตา นั่นคือความตกลงใหม่ไม่ได้ต่างไปจากเดิมสักกี่มากน้อย

ซึ่งแตกต่างอย่างใหญ่หลวงเมื่อเทียบกับการดำเนินมาตรการทางการค้ากับจีน ที่จริงจังและเข้มข้นกว่าทุกๆ ชาติ

คำถามสำคัญก็คือ ทรัมป์ ต้องการผลลัพธ์อะไรกันแน่จากการทำสงครามการค้าครั้งนี้?

******

นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ ยอมรับว่า ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนนักว่า ทรัมป์ ดำเนินมาตรการทางการค้าเหล่านั้นไปเพื่อใช้เป็น “อาวุธ” ในการเจรจาต่อรองให้ได้ความตกลงใหม่ ที่สหรัฐอเมริกาได้เปรียบมากกว่าเดิม หรือมีเจตนารมณ์อย่างอื่นที่เป็น “เป้าหมายถึงที่สุด” ของสงครามการค้าครั้งนี้แฝงเร้นอยู่ด้วย

ดักลาส เออร์วิน นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ที่เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ ดาร์ทมัธ คอลเลจ ในเมืองฮันโนเวอร์ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ สหรัฐอเมริกา เชื่อว่า ถึงแม้ที่ผ่านมาจะไม่ชัดเจนนัก แต่ความเคลื่อนไหวของทรัมป์เกี่ยวกับประเด็นทางด้านการค้า สงครามการค้า และเรื่องที่เกี่ยวเนื่อง ในปี 2019 จะเป็นตัวบ่งบอกได้ชัดเจนว่า เจตนาที่แท้ของทรัมป์ คืออะไรกันแน่

เขาชี้ว่า มีเครื่องบ่งชี้ที่ทั้งโลกควรจับตามองอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน

เรื่องแรกคือเรื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์

ฝ่ายบริหารของทรัมป์ อาศัยข้ออ้างว่าด้วยการคุกคามด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา เป็นเหตุผลในการอ้างความชอบธรรม เพื่อขึ้นภาษีเหล็กกล้าและอลูมิเนียม เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ข้ออ้างดังกล่าวในอดีตที่ผ่านมามีการหยิบยกขึ้นมาใช้น้อยมาก จนกลายเป็นที่กังขากันว่า หมากตานี้ของสหรัฐอเมริกาจะก่อให้เกิด “แบบอย่าง” ในทางลบ ที่ประเทศอื่นๆ สามารถลอกเลียนไปใช้ในการกีดกันทางการค้าในอนาคตได้

ในราวกลางปี 2018 กระทรวงพาณิชย์อเมริกัน ยังเริ่มมองหาลู่ทางว่า การนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ จัดเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแบบเดียวกันนี้หรือไม่

ถึงแม้จะไม่มีการดำเนินมาตรการใดๆ ขึ้นตามมา แต่การตรวจสอบสู่ทางดังกล่าว ก็จัดได้ว่าเป็น “สัญญาณ” ที่แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายบริหารของทรัมป์ กำลังพิจารณาที่จะปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์และอะหลั่ยรถยนต์จากต่างประเทศขึ้นเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากมีการดำเนินการจริง จะส่งผลกระทบต่อสินค้าเข้าจากประเทศต่างๆ รวมมูลค่าสูงกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์อย่างแน่นอน

ทรัมป์ ยังไม่มีความกล้าพอที่จะไปไกลถึงขนาดนั้น อย่างน้อยก็จนถึงขณะนี้ เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะ ประธานาธิบดีอเมริกัน กระสากลิ่นอายต่อต้านใหญ่หลวงจากอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ของสหรัฐอเมริกาเอง ที่ยังคงจำเป็นต้องนำเข้ารถทั้งคัน และชิ้นส่วนรถยนต์จำนวนไม่น้อยจากโรงงานในต่างประเทศหลายประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น การขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อครัวเรือนอเมริกันทั้งหลาย ไม่ใช่เกิดผลสะเทือนทางอ้อมเหมือนกับที่เกิดขึ้นเมื่อขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียม

ในเวลาเดียวกัน หากสหรัฐใช้มาตรการดังกล่าว เท่ากับเป็นการประกาศสงครามการค้าโดยตรงกับคู่ค้าสำคัญที่สุดอย่าง สหภาพยุโรป ซึ่งมีแนวโน้มสูงมากที่จะตอบโต้อย่างรุนแรงด้วยมาตรการทางภาษีที่จะส่งผลต่อผู้ผลิต เกษตรกรและกลุ่มผู้ผลิตเพื่อการส่งออกอื่นๆ มากกว่าที่อียูจะได้รับผลกระทบ

แต่ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นจริงๆ ในปี 2019 นี้ ไม่ว่าจะด้วยการอ้างว่า เพื่อผลในการต่อรองทางการค้าให้ได้ความตกลงใหม่ที่ดีกว่าเดิมหรือไม่ก็ตาม

แต่เป้าหมายที่แท้จริงของสหรัฐอเมริกา ย่อมหนีไม่พ้นความพยายามที่จะรื้อโครงสร้างของระบบห่วงโซ่ซัพพลายทั้งหมดของอุตสาหกรรมยานยนต์

เพื่อฟื้นฟูระบบการผลิตแบบเบ็ดเสร็จขึ้นภายในประเทศ ภายใต้ข้ออ้างว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือต่อคนงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐอเมริกาทุกคนนั่นเอง

******

สิ่งที่ต้องจับตามองเป็นลำดับที่ 2 ก็คือ ท่าทีและจุดยืนของสหรัฐอเมริกาต่อจีน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจนนักว่า สหรัฐอเมริกา ต้องการบีบบังคับจีนเป็นการลงโทษด้วยการทำลายสถานภาพ “หุ้นส่วนทางการค้า” ในอดีตลง หรือ เป็นไปเพื่อกดดันให้ทางการปักกิ่งเปลี่ยน “พฤติกรรมทางการค้า” หลายอย่างที่ตนไม่พึงประสงค์กันแน่

ทรัมป์ ใช้เหตุผลในการดำเนินมาตรการทางภาษีต่อสินค้าเข้ามูลค่าราว 250,000 ล้านดอลลาร์จากจีน ว่า เป็นเพราะที่ผ่านมาจีนมีพฤติกรรมกีดกันทางการค้าต่อสหรัฐอเมริกา และฉกฉวย ปล้นเทคโนโลยีก้าวหน้าที่สหรัฐอเมริกาพัฒนาขึ้นไปเป็นของตนเอง ทั้งด้วยวิธีการละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา หรือด้วยวิธีการบีบบังคับให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ผลิตของจีน ด้วยข้อกำหนดและระเบียบการของทางการ

แต่ในเวลาเดียวกันก็แสดงเป็นนัยว่า ต้องการให้จีน เปลี่ยนแปลง “พฤติกรรมและนโยบายทางเศรษฐกิจ” หลายประการ เท่านั้นจึงจะสามารถนำไปสู่ความตกลงทางการค้าใหม่ซึ่งกันและกันได้ด้วยเช่นกัน

จุดสำคัญที่ต้องจับตามองเพื่อทำความเข้าใจถึงเจตนารมณ์ที่แท้ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็คือ สหรัฐอเมริกา จะดำเนินมาตรการตามที่เคยข่มขู่เอาไว้ว่า หากไม่สามารถตกลงกันได้ภายในวันที่ 1 มีนาคม สหรัฐอเมริกาพร้อมจะปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าของจีนจาก 10 เปอร์เซ็นต์เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ และขยายขอบเขตครอบคลุมออกไปเป็นครอบคลุมสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมดรวมมูลค่า 267,000 ล้านดอลลาร์ และให้ครอบคลุมสินค้าทุกชนิด รวมทั้ง ไอโฟน ซึ่งในเวลานี้ยังอยู่ในข่ายยกเว้น

ถ้าหากรัฐบาลทรัมป์ ดำเนินการตามนั้น ก็แสดงว่าต้องการให้ได้ข้อยุติเพียงแค่การลงโทษทางการค้า เพราะทุกฝ่ายเชื่อกันว่า โมเดลทางเศรษฐกิจของจีน ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

โดยเฉพาะหากเป็นการเปลี่ยนแปลงเพราะการข่มขู่ของสหรัฐอเมริกา

ประเด็นสุดท้าย ซึ่้งเป็นประเด็นสำคัญที่สุด ที่จะบ่งชี้ว่า สหรัฐอเมริกาต้องการเพียงแค่ให้ได้ผลประโยชน์ทางการค้าเพิ่มขึ้น หรือต้องการรื้อระบบ ระเบียบทางการค้าเดิมที่เป็นอยู่ นั่นคือ ท่าทีที่สหรัฐอเมริกามีต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) องค์การระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการค้าของหมู่สมาชิก 164 ชาติ ให้เป็นไปตามกฏเกณฑ์ที่ตกลงกันไว้

ในทัศนะของทรัมป์ ดับเบิลยูทีโอ คือความตกลงทางการค้าที่ “เลวร้ายยิ่งกว่า” ข้อตกลงทางการค้าไหนๆ ที่สหรัฐอเมริกาเคยทำไว้ทุกความตกลง แม้กระทั่ง นาฟตา และขู่จะถอนตัวออกมาหลายต่อหลายครั้ง

แต่ในเวลาเดียวกัน ฝ่ายบริหารของทรัมป์ ก็ใช้ดับเบิลยูทีโอ เป็นเครื่องมือในการฟ้องร้องเล่นงานประเทศอื่นๆ รวมทั้ง จีน อยู่อย่างต่อเนื่อง

ควบคู่ไปกับการบ่อนเซาะความน่าเชื่อถือขององค์การการค้าโลกอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งการสกัดกั้นการแต่งตั้ง เพื่อไม่ให้ คณะกรรมการอนุญาโตตุลาการของดับเบิลยูทีโอ ทำงานได้ เพราะไม่ครบองค์คณะ

ในปี 2019 น่าจะเป็นปีที่สหรัฐอเมริกาต้องแสดงความชัดเจนออกมาว่า ถ้าหากต้องการเปลี่ยนแปลงดับเบิลยูทีโอ ความเปลี่ยนแปลงที่สหรัฐอเมริกาต้องการคืออะไร

ถ้าหากไม่เป็นเช่นนั้น นั่นหมายความได้เพียงอย่างเดียวว่า สหรัฐอเมริกาของทรัมป์ ไม่ต้องการดับเบิลยูทีโอ และไม่สนใจดับเบิลยูทีโออีกต่อไป

ข้อเท็จจริงที่พึงตระหนักก็คือ หากทรัมป์เพียงต้องการความตกลงทางการค้าใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ผลกระทบจากการทำสงครามการค้าครั้งนี้คงไม่กระไรนัก

แต่ถ้าหากเป็นไปในทางตรงกันข้าม หากทรัมป์ต้องการรื้อระบบ แล้วสร้างระเบียบโลกขึ้นมาใหม่ตามใจของตนเองแล้ว

ผลสะเทือนที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของทั้งโลก ย่อมต้องมหาศาลตามไปด้วยอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image