คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “จัมมู-แคชเมียร์” ปมขัดแย้งอินเดีย-ปากีสถาน

(Photo by STR / AFP)

ความขัดแย้งระหว่างสองชาติเพื่อนบ้านในเอเชียใต้ที่ทำท่าว่าจะลุกลามหนัก หลังเกิดการปะทะถึงขนาดสอยเครื่องบินรบกันร่วงถึง 2 ลำ ทำให้อีกฝ่ายหนึ่้งประกาศปิดน่านฟ้าสร้างผลกระทบไปทั่วโลก สร่างซาลงได้ในระดับหนึ่งเมื่อนานาชาติ รวมทั้ง สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องให้คำนึงถึงผลเสียหายร้ายแรงยิ่ง หากสงครามเกิดขึ้นจริงระหว่างอินเดียและปากีสถาน

ผู้นำของทั้งสองประเทศ ซึ่งถูกกดดันมหาศาลจากกระแสสังคมในแต่ละประเทศในช่วงที่ผ่านมา เริ่มแสดงท่าทีต่อกันอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น

อิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรีใหม่หมาด เพิ่งได้รับตำแหน่งมาเพียงปีเดียว ก็เผชิญกับแรงกดดันหนักหนาสาหัสจากประชาชนที่มองว่า ในฐานะผู้นำปากีสถาน จำเป็นต้องยืนหยัดแลกหมัดกับอินเดียได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ แสดงท่าทีแสวงหาสันติออกมาด้วยการประกาศจะคืนตัวนักบินเครื่องบินรบอินเดียที่ถูกฝ่ายปากีสถานยิงตกและนักบินถูกจับกุมตัวไว้ ให้กับอินเดีย

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียยิ่งถูกกดดันหนักยิ่งกว่า เนื่องเพราะในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ จำเป็นต้องนำพรรค ภราติยชนตะ ที่เป็นพรรครัฐบาลลงสู้ศึกเลือกตั้งทั่วไป ในขณะที่ความนิยมต่อรัฐบาลกำลังทรุดโทรมลงอย่างต่อเนื่องจากสารพัดปัญหาภายในประเทศ ก็แสดงตอบออกมาในทางบวกเช่นกัน ด้วยการจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้าย ที่อินเดียเคยกล่าวหารัฐบาลปากีสถานว่าให้การหนุนหลังอยู่ ในทางหนึ่งเพื่อแสดงเป็นหลักฐานถึงการมีอยู่ของกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธ ในเขตปกครองของปากีสถาน
ในอีกทางหนึ่งเพื่อเป็นการกดดันให้ปากีสถานแสดงออกถึงการ “ปราบปราม” อย่างจริงจัง หากต้องการหาทางออกจากเหตุการณ์ครั้งนี้โดยสันติ

Advertisement

เหตุปัจจัยแรกสุดที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งหนักถึงขั้นปะทะกันในครั้งนี้ เริ่มต้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุผู้ก่อการร้ายใช้ระเบิดฆ่าตัวตาย โจมตีขบวนกองกำลังหน่วยพิเศษที่รักษาการณ์อยู่ทางตอนใต้ของแคชเมียร์ ซึ่งเป็นเหตุให้กองกำลังกึ่งทหารของอินเดียเสียชีวิตมากถึง 46 นาย กลายเป็นเหตุการณ์นองเลือดที่สุดที่เกิดขึ้นในแคชเมียร์ในรอบ 30 ปี

ไม่นานต่อมา กลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธที่เรียกตัวเองว่า “จาอิช-อี-โมฮัมเหม็ด” หรือ “เจอีเอ็ม” ออกมาอ้างตัวว่าเป็นผู้ลงมือปฏิบัติการสังหารหมู่ทหารในครั้งนั้น

กองทัพอากาศอินเดีย ตอบโต้ด้วยการส่งฝูงบินรบ มิราจ 2000 ทิ้งระเบิดใส่จุดที่เชื่อว่าเป็นที่ตั้งของ “ค่ายฝึกการก่อการร้าย” ของเจอีเอ็ม ใกล้กับเมืองบาลาก็อต ลึกเข้าไปในเขตปกครองของปากีสถานในรัฐแคชเมียร์ที่แบ่งแยกออกจากแคชเมียร์ส่วนที่อยู่ภายใต้การปกครองของอินเดียโดยเส้นเขตแดนชั่วคราวที่เรียกกันว่า “ไลน์ ออฟ คอนโทรล” หรือ “แอลโอซี” เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์

เป็นการล่วงล้ำเข้าไปลึกถึง 80 กิโลเมตร ซึ่ง อาร์จิต สุขลา นักวิเคราะห์กิจการทหารอินเดียของบีบีซีระบุว่า ถือเป็น “ครั้งแรกที่อินเดียจงใจละเมิด” ข้อตกลงว่าด้วยแอลโอซีดังกล่าว

เมื่อฝูงบินมิก-21 ของอินเดียล่วงล้ำเข้าไปปฏิบัติการอีกครั้งในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การปะทะกันจึงเกิดขึ้นตามมา

ปากีสถานอ้างว่า ยิงเครื่องบินรบอินเดียตก 2 ลำ ลำหนึ่งตกในเขตปกครองของอินเดีย อีกลำตกในเขตปกครองปากีสถาน นักบินได้รับบาดเจ็บและถูกควบคุมตัวไว้ ก่อนที่จะส่งตัวคืนให้กับอินเดียในวันที่ 1 มีนาคม

เหตุการณ์ล่าสุดนี้ แสดงให้เห็นว่า “แคชเมียร์” ยังคงเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมจะระเบิดตูมตามขึ้นมาได้เสมอ แม้ปฐมเหตุแห่งความขัดแย้งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นเนิ่นนานกว่า 70 ปีแล้วก็ตามที

******

ตอนที่อินเดียและปากีสถาน ได้รับเอกราชจากการเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษในเดือนสิงหาคม ปี 1947 นั้น แคชเมียร์ ยังคงเป็น “แคว้นมหาราชา” เรียกว่า “แคว้นจัมมูและแคชเมียร์” อยู่ภายใต้การปกครองของมหาราชา นาม “ฮารี ซิงห์” และถือเป็นดินแดนเพียงส่วนเดียวที่อังกฤษไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าเป็นของอินเดีย หรือ ปากีสถาน หลังเป็นเอกราชแล้ว

ในขณะที่อินเดียนั้นชัดเจนว่า เป็นดินแดนซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ในขณะที่ปากีสถานคือดินแดนที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
การแยกประเทศที่เคยอยู่ภายใต้อาณานิคมเดียวกันในครั้งนั้น ส่งผลให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนเป็นเรือนล้านสับสนวุ่นวาย และก่อให้เกิดการสู้รบของกลุ่มติดอาวุธอิงศาสนาขึ้นตามมา

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแคชเมียร์ก็คือ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่มหาราชากลับเลือกที่จะเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับอินเดีย การสู้รบเพื่อช่วงชิงจัมมูและแคชเมียร์ เกิดขึ้นมานับตั้งแต่บัดนั้น

แม้ว่า มหาราชา ฮารี ซิงห์ จะลงนามในความตกลงเพื่อรวมตัวเข้ากับอินเดียแล้วก็ตาม ทั้งอินเดียและปากีสถานต่างก็ยังคงส่งทหารเข้าไปในจัมมู-แคชเมียร์อย่างต่อเนื่อง 1 ใน 3 ของแคว้นมหาราชาแห่งนี้ ตกอยู่ในความควบคุมของกองทัพปากีสถาน อีก 2 ใน 3 อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพอินเดีย

นั่นเป็นการตกลงเขตยึดครองกันโดยพฤตินัยหลังจากเกิดสงครามยืดเยื้อกันมานานถึง 2 ปี

เมื่อกรณีนี้ถูกนำเสนอขึ้นสู่การพิจารณาของสหประชาชาติ ยูเอ็นเองไม่ได้ชี้ขาดว่า จัมมู-แคชเมียร์ เป็นของชาติใด แต่เสนอแนะว่า ควรจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นแล้วให้มีการลงประชามติของประชาชนในจัมมู-แคชเมียร์ ว่าจะเลือกอยู่กับปากีสถานหรืออินเดีย

การเลือกตั้งตามข้อเสนอของยูเอ็น ไม่เคยเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นแทนคือสงครามและการปะทะซึ่งกันและกันเป็นระยะๆ รวมทั้งสงครามใหญ่เมื่อปี 1965 และ ปี 1971
ในปี 1999 ก็เกิดการปะทะย่อมๆ ระหว่างปากีสถานกับอินเดียในแคชเมียร์ขึ้นอีกครั้ง แต่เป็นชั่วระยะเวลาสั้นๆ ก็ยุติลง

ถึงตอนนั้น ทั้งอินเดีย และ ปากีสถาน ต่างก็ประกาศตนว่าเป็น “ชาตินิวเคลียร์” ที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองเรียบร้อยแล้ว

ปี 2003 ความสัมพันธ์อินเดีย-ปากีสถาน อยู่ในสภาพดีมาก นำไปสู่การจัดตั้งเส้นสมมุติ “แอลโอซี” เป็นเขตแดนชั่้วคราวระหว่างเขตปกครองแคชเมียร์ของทั้งสองประเทศ
แต่ความขัดแย้งเรื่องแคชเมียร์ไม่ได้ยุติลง ทั้งสองชาติยังคงคงทหารเอาไว้ต่อไป ด้วยความคาดหวังว่าสักวันหนึ่งในอนาคตแคชเมียร์ทั้งหมดจะตกเป็นของชาติตน

******

จัมมู-แคชเมียร์ เป็นดินแดนที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้น 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในเขตปกครองของอินเดียที่คิดเป็นราว 2 ใน 3 ของดินแดนจัมมู-แคชเมียร์ทั้งหมดจึงเป็นอิสลาม และทำให้อินเดียแคชเมียร์ เป็นรัฐเดียวในบรรดารัฐทั้งหมดของอินเดีย ที่มีมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่

ภาวะว่างงานสูง และการร้องเรียนกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและกองกำลังพิเศษกึ่งทหารของอินเดียมีพฤติกรรมเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้เกิดการชุมนุมประท้วง เดินขบวนประท้วงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และแทบทุกครั้งมักลงเอยด้วยเหตุรุนแรงตามมา

สภาวะดังกล่าวนำไปสู่การจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ และเกิดเหตุรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง มากบ้างน้อยบ้างเป็นระยะๆ มานับตั้งแต่ปี 1989 เมื่อกองกำลังติดอาวุธมุสลิมหันเข้าหาความรุนแรง หวังจะใช้เป็นเครื่องมือในการผลักดันทหารอินเดียออกไปจากดินแดนแคชเมียร์

อินเดียกล่าวหาปากีสถานมาโดยตลอดว่าให้การสนับสนุนกองกำลังเหล่านี้ ซึ่งในบางกรณีเริ่มปฏิบัติการก่อการร้ายลึกเข้าไปในดินแดนส่วนอื่นๆ ของอินเดีย

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือ เหตุการณ์บุกโจมตีมุมไบต่อเนื่องนาน 4 วัน สังหารไม่เลือกหน้าในปี 2008 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 160 คน

การก่อการร้ายเริ่มทวีความถี่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเกิดเหตุกองกำลังก่อการร้ายภายใต้การนำของ บูร์ฮาน วานี แกนนำวัย 22 ปี ปะทะกับเจ้าหน้าที่อินเดียในปี 2016

วานี ซึ่งเป็นแกนนำกองกำลังติดอาวุธที่ได้รับความนิยมสูงมากในหมู่วัยรุ่นและคนรุ่นใหม่จำนวนมาก เสียชีวิตในครั้งนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในหลายจุดในแคชเมียร์ เกิดเหตุรุนแรงต่อเนื่องนานหลายวัน มีชาวบ้านเสียชีวิตอีกกว่า 30 ราย

การก่อการร้ายทวีขึ้นสูงนับตั้งแต่บัดนั้น กลุ่มหนึ่งซึ่งลงมือปฏิบัติการบ่อยครั้งที่สุดในระยะหลัง ก็คือ “จาอิช-อี-โมฮัมเหม็ด” หรือ “เจอีเอ็ม” นี่เอง

เจอีเอ็ม ก่อตั้งโดยครูสอนศาสนาในปากีสถานชื่อ “มาซูด อัซฮาร์” เมื่อปี 1999 หลังอินเดียปล่อยตัว อัซฮาร์ พร้อมพวกอีก 2 คน เพื่อแลกกับการปล่อยตัวนักบินและลูกเรือพร้อมผู้โดยสารบนเครื่องบินสายการบินอินเดียนแอร์ไลน์ส์ ที่ถูกบุกจี้ไปลงยังอัฟกานิสถาน ซึ่งตอนนั้นยังอยู่ภายใต้การปกครองของขบวนการทาลิบัน

ว่ากันว่า อัซฮาร์ เคยพบปะและพูดคุยกับทั้ง มุลเลาะห์ โอมาร์ ผู้นำสูงสุดของทาลิบันผู้ล่วงลับ และโอซามา บินลาเดน ขณะที่ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในอัฟกานิสถาน

อินเดียเชื่อว่า เจอีเอ็ม คือกลุ่มที่ลงมือโจมตีฐานทัพอากาศปาธานคอต ใกล้กับชายแดนปากีสถานเมื่อเดือนมกราคมปี 2016 ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ 3 นายเสียชีวิต ทั้งยังเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายอีกหลายครั้ง ทั้งในอินเดียและในแคชเมียร์ โดยใช้ชื่อกลุ่มแตกต่างกันออกไป เช่น อัฟซาล กูรู สควอด, อัล-มาราบิทูน และ เทรีกห์-อัล-ฟูร์คาน เป็นต้น

ไม่เพียงแต่อินเดียจะกำหนดให้ เจอีเอ็ม เป็นกลุ่มก่อการร้ายเท่านั้น อังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา รวมถึงสหประชาชาติก็ยึดถือว่า เจอีเอ็ม คือกลุ่มก่อการร้ายเช่นเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image