คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: “สตาร์ทอัพ เนชัน”

บรรยากาศบางส่วนใน สเตชัน เอฟ

ปลายเดือนมกราคมต่อเนื่องกับต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้เขียนเดินทางไปเยือนฝรั่งเศสอีกครั้ง ตามคำเชื้อเชิญของกระทรวงการต่างประเทศของที่นั่น เพื่อสัมผัสความเปลี่ยนแปลงของชาติยักษ์ใหญ่ในยุโรปหลังจากการไปเยือนปารีสครั้งหลังสุดเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา

ช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ฝรั่งเศสเปลี่ยนแปลงผู้นำไปหลายคน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ เอ็มมานูแอล ฌ็อง-มีแชล มาครง ผู้นำการเมืองหนุ่มอายุเพียง 41 ปีที่สร้างความฮือฮา เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลกเมื่อจู่ๆ ก็ผุดขึ้นมายิ่งใหญ่ในฝรั่งเศสแบบนอกเหนือความคาดหมาย

แต่นั่นไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียวที่เกิดขึ้นกับฝรั่งเศสในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้จะไม่สามารถสัมผัสได้โดยตรงจากสภาพทางกายภาพของกรุงปารีส เมืองหลวงของประเทศก็ตาม

ในทางกายภาพ ปารีส ยังคงเป็น ปารีส อาคารบ้านเรือนยังคงดูเก่าแก่ สง่างาม หรูเรียบ ผ่านการดูแลรักษามาเป็นอย่างดี แม้กาลเวลาผ่านไปเนิ่นนาน ศตวรรษแล้วศตวรรษเล่า

Advertisement

อาคาร สิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ แทรกตัวอยู่ประปราย แต่ให้ความรู้สึกกลมกลืน ไม่ได้แปลกแยกแตกต่างเท่าใดนัก
สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างใหญ่หลวงในช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษก็คือ กรอบความคิด วิถีการดำรงชีวิต และการดิ้นรนเพื่อความสำเร็จของคนรุ่นใหม่ ที่ในหลายกรณีแทบจะเป็นการปฏิเสธวิถีดั้งเดิมของฝรั่งเศส ซึ่งยุคหนึ่งสมัยหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็น “การดำรงชีวิตที่เป็นมาตรฐาน” เป็นแบบอย่างของคนในภาคพื้นยุโรป

ผมได้รับคำบอกว่า ยิ่งนับวันเยาวชนคนหนุ่มสาวในฝรั่งเศส ยิ่งกระโจนออกจากระบบโรงเรียน ระบบการศึกษาดั้งเดิมมากขึ้น ไม่เพียงปฏิเสธการเรียนระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น ยังพร้อมที่จะปฏิเสธความพยายามและการแข่งขันที่จะช่วงชิงเข้าไปนั่งเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ลงหลักปักฐานมั่นคงทั้งหลาย อันเป็นวิถีเดิมของคนหนุ่มสาวในอดีต

ปฏิเสธทั้งปริญญาบัตรและเอสทาบลิชเมนท์ทั้งหลายไปพร้อมๆกัน

แต่พร้อมที่จะออกมารีดเค้นความสามารถ ความคิดริเริ่มของตัวเอง เพื่อเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ แผ้วถางหนทางใหม่ๆ ที่ไม่เพียงเป็นความสำเร็จส่วนตัว แต่ยังหมายถึงความสำเร็จในระดับโลก

เป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพ เป็นคนที่มีส่วนผลักดันให้ฝรั่งเศส ได้รับการยอมรับมากขึ้นตามลำดับว่าเป็นหนึ่งใน “สตาร์ทอัพ เนชัน” ที่เป็นหัวใจของยุโรปในเวลานี้

******

ผู้เขียนได้เห็นรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับฝรั่งเศสในปารีสอยู่บ้าง แต่ก่อนที่จะบอกเล่าประสบการณ์เหล่านั้นออกมา อดตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า ทำไมถึงต้องเปลี่ยนแปลง?

แน่นอน ในทางหนึ่งนั้น เรื่องเล่าขานและความสำเร็จจากสตาร์ทอัพ ที่ยิ่งใหญ่และเป็นแบบอย่างของทั่วโลกจาก ซิลิกอนวัลเลย์ ตั้งแต่เรื่องราวของ เซอร์เกย์ บริน กับ แลร์รี เพจ กับ กูเกิล ไปจนถึง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเฟซบุ๊ก ย่อมส่งอิทธิพลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงกรอบความคิดครั้งนี้ไม่มากก็น้อย

แต่คำถามที่ต้องถามต่อก็คือ แล้วทำไมถึงเป็นตอนนี้ ไม่ใช่ก่อนหน้านี้? ทำไมต้องรั้งรออยู่นาน จนกระทั่งประเทศอย่าง อังกฤษ ช่วงชิงความเป็นศูนย์กลางของสตาร์ทอัพแห่งยุโรปอยู่นานปี

คำตอบที่พอจะเป็นเหตุเป็นผลได้ก็คือ อิทธิพลจากซิลิกอนวัลเลย์ ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในฝรั่งเศสในยามนี้ เป็นปัจจัยภายในมากกว่าสาเหตุจากภายนอก

ฝรั่งเศส อย่างน้อยที่สุดก็ในแง่ของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ถูกมองว่าเป็นชาติ “อินเวิร์ด ลุคกิง” มาช้านาน
รูปธรรมของเรื่องนี้เห็นได้จากการที่ฝรั่งเศสเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกนี้ (หรืออาจเป็นชาติเดียวด้วยซ้ำไป) ที่ไม่เรียกขาน “อีเมล์” ว่า “อีเมล์” แต่ใช้คำเรียกว่า “คูร์ริเยร์ อีเลคทรอนีค” เป็นชาติที่มีเวอร์ชันของ “เว็บ” เป็นของตัวเอง เรียกว่า “มินิเทล” ซึ่งใช้กันทั่วไปจนกระทั่งถึงปี 2012

ฝรั่งเศส เริ่มต้นการมองออกไปข้างนอก เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลเริ่มผลักดันให้อย่างน้อยที่สุดธุรกิจสตาร์ทอัพก็สามารถช่วยผลักดัน ขับเคลื่อน เศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับธุรกิจและอุตสาหกรรมดั้งเดิมได้ พยายามหาทางทำให้ กิจการสตาร์ทอัพในระดับนานาชาติทั้งหลายคำนึงถึง กรุงปารีส อยู่ด้วยเมื่อคิดถึงตำแหน่งแห่งหนที่ตนต้องการลงหลักปักฐานเริ่มกิจการของตัวเอง

ในเวลาเดียวกันก็พยายามหาแรงจูงใจ ไม่ให้ผู้ประกอบการฝรั่งเศสเอง โยกย้ายไปปักหลักทำมาหากินอยู่ในศูนย์กลางอย่าง ลอนดอน หรือ ซานฟรานซิสโก

ศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ และ เมคเกอร์ สเปซ ผุดพรายขึ้นหลายต่อหลายแห่งในปารีส แล้วกลายเป็นแรงเหวี่ยงมหาศาลอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงในเวลานี้

******

ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง อัตราการว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาวฝรั่งเศสยังคงค้างเติ่งอยู่ในระดับสูง สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากกฎหมายแรงงานที่เข้มงวดอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้การปลดพนักงานประจำออกจากงานนั้นไม่เพียงยากลำบาก ยังสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของบริษัทมหาศาล ผลก็คือ บริษัทจำนวนมากไม่ยอมรับพนักงานใหม่ ผลิตภาพลดลง การเติบโตลดลงตามไปด้วย

คนหนุ่มสาวในฝรั่งเศสเองพลอยได้รัผลกระทบตามไปด้วย ใครก็ตามที่สามารถผลักดัน เคี่ยวเข็ญตัวเองจนสามารถเบียดเสียดเข้าไปอยู่ในบริษัทใหญ่ๆ ได้สำเร็จ พบว่า ตัวเองติดแหง็กอยู่กับบทบาทหน้าที่ในระดับต่ำๆ อยู่ภายในองค์กรที่มีสายบังคับบัญชาเข้มข้นยิ่งบวด โอกาสก้าวหน้ามีน้อยมากพอๆ กับโอกาสที่จะได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เป็นผลงานของตัวเอง

นั่นคือเหตุผลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดของคนรุ่นใหม่ในฝรั่งเศส ที่ไม่ยอมเสียเวลา ไม่ยอมทนกับสภาพคับข้องใจในหน้าที่อาชีพการงานอีกต่อไป

ตัดสินใจเดินออกมาจากระบบเดิมๆ เพื่อเริ่มต้นสิ่งที่เป็นตัวของตัวเอง เกิดจากความคิดของตัวเอง เติบใหญ่หรือล้มหายตายจากภายใต้ความรับผิดชอบของตัวเอง

ในขณะเดียวกัน บริษัทธุรกิจในฝรั่งเศสยังประสบปัญหาระบบราชการที่อืดอาดยืดยาดและการจัดเก็บภาษีที่อยู่ในระดับสูงจนเป็นที่ขึ้นชื่้อลือชาของฝรั่งเศส จนไม่สามารถว่าจ้างแรงงานมีฝีมือจากต่างประเทศเข้ามาทำงานด้วยได้

ผลการสำรวจครั้งหนึ่งแสดงให้เห็นว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทฝรั่งเศสระบุชัดเจนว่า ไม่สามารถว่าจ้างแรงงานต่างชาติได้ ด้วยเหตุผลสารพัดตั้งแต่ปัญหาค่าจ้าง, กฎหมาย, และนโยบายของรัฐบาล
นั่นหมายความว่า ระบบแบบเดิม รูปแบบแบบเดิมๆ ไม่เอื้ออีกต่อไปที่จะใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างงานใหม่ๆ ขึ้นมา

และหมายความด้วยว่า บริษัทเกิดใหม่ขนาดเล็ก ที่ขยายตัวรวดเร็ว และเต็มใจที่จะเสี่ยงด้วยการว่าจ้างคนหนุ่มคนสาว ไม่เพียงสามารถแก้ปัญหาว่างงานได้เท่านั้น
ยังสามารถแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ที่เคยครองความยิ่งใหญ่อยู่ได้อีกด้วย

******

ในราวกลางทศวรรษ 2000 ฝรั่งเศสมีกิจการสตาร์ทอัพเพียงไม่กี่ราย และไม่กี่รายเหล่านั้นเมื่อเติบโตได้ในระดับหนึ่งก็ถูกระบบเดิมดูดกลืนไปอย่างรวดเร็ว แต่หลังจากกลางทศวรรษเป็นต้นมา ความเปลี่ยนแปลงเริ่มเกิดขึ้นและลุกลามออกไปอย่างรวดเร็ว

ที่น่าสนใจก็คือ จากเดิมที่เชื่อกันว่าทุกอย่างในฝรั่งเศสจะเกิดขึ้นได้รัฐบาลต้องเป็นผู้นำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ครั้งนี้กลับไม่ใช่ สิ่งที่ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในครั้งนี้ก็คือ สภาวะแวดล้อมและความคิดริเริ่ม ที่ส่วนใหญ่เกิดในภาคเอกชน รัฐบาลทำหน้าที่เพียงให้การส่งเสริมและออกนโยบายสนับสนุนให้ผลิบานเท่านั้นเอง

สภาพแวดล้อมที่ทำให้ผู้ประกอบการจับมือกัน ร่วมลงมือทำงานด้วยกัน เพื่อพัฒนา “ธุรกิจระดับโลก” ให้เกิดขึ้นในปารีส กลับกลายเป็นสิ่งที่มีทั้ง “ประสิทธิภาพ” และ “น่าตื่นเต้น” มากขึ้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
นักธุรกิจที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงสตาร์ทอัพ เริ่มต้นมองปารีสว่าเหมือนกับลอนดอน เมื่อ 10 หรือ 20 ปีก่อนหน้านี้มากขึ้นทุกที

ทุกวันนี้ ฝรั่งเศส มีกิจการสตาร์ทอัพอยู่ราวๆ 9,400 สตาร์ทอัพ เงินลงทุนในกิจการตั้งต้นหรือ เวนเจอร์แคปิตอลในฝรั่งเศส เมื่อปี 2016 เพิ่มขึ้นเป็น 2,200 ล้านยูโร เฉพาะปารีส มีเวนเจอร์แคปิตอล เปิดกิจการอยู่มากกว่า 120 บริษัท ในขณะที่มีวิศวกรสำเร็จการศึกษาในฝรั่งเศสในแต่ละปีมากถึง 38,000 คน

ที่สำคัญก็คือ ค่าจ้างของวิศวกรเหล่านี้ไม่แพง เทียบแล้วเท่ากับเพียงครึ่งเดียวของค่าจ้างในตำแหน่งเดียวกันในซิลิกอนวัลเลย์เท่านั้นเอง

รัฐบาลฝรั่งเศสเอง ให้การสนับสนุนอย่างเต็มตัวด้วยการเสนอให้ เครดิตทางภาษีสำหรับการวิจัยเพื่อพัฒนาถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของรายจ่ายเพื่อการนั้น (สูงสุดได้ถึง 100 ล้านยูโร) และพร้อมส่งเสริม สนับสนุนในทุกๆ ทาง

เหล่านี้คือพลัง ที่ส่งผลให้ฝรั่งเศสกลายเป็น ชาติสตาร์ทอัพ อันดับ 2 ของภูมิภาคยุโรปจะเป็นรองก็แต่ อังกฤษ เท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image