คอลัมน์ People In Focus: อับเดลาซิซ บูเตฟลิกา ปธน.ผู้หวังสืบทอดอำนาจ

อับเดลาซิซ บูเตฟลิกา ประธานาธิบดีแอลจีเรียวัย 81 ปี ไม่สามารถต้านทานแรงกดดันจากประชาชนได้ประกาศถอนตัวออกจากการสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 5

แต่นั่นกลับถูกมองว่าเป็นความพยายามสืบทอดอำนาจของตัวเองอีกครั้ง เมื่อ บูเตฟ ประกาศยกเลิกการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนเมษายนนี้ลงด้วยเช่นกัน

เป็นเวลา 20 ปี แล้วที่ประธานาธิบดีผู้ที่สร้างสถิติเป็นประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุด และสามารถรอดพ้นกระแสอาหรับสปริง เมื่อปี 2011 มาได้

ผู้นำที่เรียกกันอีกชื่อว่า “บูเตฟ” ถูกวิจารณ์อย่างหนักแม้หลังได้รับการเลือกตั้งในปี 1999 ว่าเป็น “หุ่นเชิด” ให้กับกองทัพแอลจีเรีย ทว่าก็ได้รับการยอมรับในฐานะผู้มีบทบาทในการสร้างความปรองดองในชาติเช่นกัน

Advertisement

อับเดลาซิซ บูเตฟลิกา เข้าร่วมกับ “กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติแอลจีเรีย” (เอฟแอลเอ็น) ต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ตั้งแต่มีอายุ 19 ปี

หลังแอลจีเรีย ได้รับอิสรภาพในปี 1962 บูเตฟ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกีฬาและท่องเที่ยว ด้วยวัยเพียง 25 ปี ภายใต้ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศอย่าง “อาห์เหม็ด เบน เบลลา”

ต่อมา บูเตฟ ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ และอยู่ในตำแหน่งยาวนานนับ 10 ปี อย่างไรก็ตามหลังการเสียชีวิตของประธานาธิบดีฮูอารี บูมีเดียน ในปี 1978 บูเตฟ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งและเนรเทศตัวเองไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ

Advertisement

ในปี 1991 ประเทศแอลจีเรียมีการเลือกตั้ง ทว่ารัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ประกาศล้มการเลือกตั้งดังกล่าวลงหลังจาก “พรรคแนวคิดอิสลาม” มีทีท่าว่าจะชนะการเลือกตั้ง

เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเป็นชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองนองเลือดยาวนานเกือบสิบปี

บูเตฟ เดินทางกลับจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 1999 และได้รับการสนับสนุนจากองทัพเสนอชื่อเป็นแคนดิเดท ประธานาธิบดี ในฐานะบุคคลผู้ที่จะสามารถทำให้เกิดความปรองดองในประเทศ

หลังได้รับตำแหน่ง บูเตฟ เสนอให้มีการนิรโทษกรรมกลุ่มกบฏที่ยอมวางอาวุธ และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนใน “แผนปรองดองแห่งชาติ” ผลงานดังกล่าวส่งให้บูเตฟ สามารถคว้าเก้าอีประธานาธิบดีสมัยที่ 2 จากการเลือกตั้งในปี 2004

ในปี 2009 บูเตฟ คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งอีกครั้ง ครองเก้าอี้ประธานาธิบดีได้เป็นสมัยที่ 3 หลังจากมีการแก้รัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ตัวเองสามารถลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้อีกครั้ง

ผู้สนับสนุนชื่นชมผลงานสร้างการลงทุนในประเทศที่สร้างงานนับล้านตำแหน่ง นอกจากนี้ บูเตฟ ยังรอดพ้นจากกระแสอาหรับสปริง ด้วยการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีมายาวนาน 19 ปีลง และนำรายได้จากน้ำมันมาเพิ่มค่าจ้างแรงงานในประเทศ

บูเตฟ ต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลที่ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2013 จากอาการเส้นเลือดในสมองแตก ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอลงจนต้องใช้ชีวิตบนรถวีลแชร์ จนถึงทุกวันนี้

การตัดสินใจลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 4 ในปี 2014 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากบูเตฟ อยู่ในตำแหน่งมาแล้ว 15 ปี และถูกตั้งคำถามถึงสภาพร่างกายที่ไม่เหมาะที่จะบริหารประเทศ แต่บูเตฟก็ยังสามารถคว้าชัยชนะไปได้ด้วยคะแนนสูงถึง 81 เปอร์เซ็นต์ แม้จะไม่ได้ออกหาเสียงเลยก็ตาม

การบริหารงานที่ถูกปกคลุมไปด้วยปัญหาการปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรง เรื่องทุจริตอันอื้อฉาว รวมไปถึงปัญหาการโจมตีจากกลุ่มก่อการร้าย ส่งผลให้การประกาศลงชิงตำแหน่งผู้นำแอลจีเรียสมัยที่ 5 สร้างความไม่พอใจให้กับชาวแอลจีเรียที่ออกมาเดินขบวนประท้วงบนท้องถนน

สุดท้ายแม้บูเตฟจะประกาศ “ถอนตัว” ชิงตำแหน่งสมัยที่ 5 ทว่าการประกาศยกเลิกการเลือกตั้งที่กำลังใกล้มาถึงกลับสร้างเงื่อนไขใหม่กับการเมืองแอลจีเรียอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image