คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “เอโกล42” วิทยาลัยไร้ปริญญา!

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนบอกเล่าความเป็นมาและความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ของกรอบคิด และในแง่ของยุทธศาสตร์ ซึ่งส่งผลให้ฝรั่งเศส กลายเป็นชาติสตาร์ตอัพระดับหัวแถวของยุโรปไปภายในระยะเวลาไม่ช้า ไม่นาน

สัปดาห์นี้ขอนำเสนอรูปธรรม ที่สะท้อนชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 ด้าน ที่ตอนนี้หยั่งรากลึกในความคิดและวิถีการดำรงชีวิตของหนุ่มสาวและคนรุ่นใหม่ในฝรั่งเศส โดยเฉพาะที่ปารีสในเวลานี้

ผมเดินทางไปเยือน “เอโกล42” โดยไม่ได้ระแวดระวังมาก่อนว่าจะเจอะเจอกับแนวความคิดใหม่ถอดด้ามทางการศึกษา ที่ไม่เคยพบเห็นที่ใดมาก่อนในตึกหลายชั้น ริมถนน เบสซิแยร์ บูเลอวาร์ด บริเวณชานกรุงปารีสตอนเหนือแห่งนี้ เป็นแนวคิดและวิธีการศึกษาเรียนรู้ที่สวนทางกันโดยสิ้นเชิงกับแนวคิดทางการศึกษาที่เราคุ้นเคยกันมาแต่อ้อนแต่ออก

คุ้นเคยกันไม่เพียงเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นแนวทางการศึกษาที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกนานปีดีดักมาจนถึงขณะนี้

Advertisement

เพียงโผล่เข้าไปภายในอาคารคอนกรีตอันเป็นที่ตั้งของ “เอโกล42” หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า หลงทางเข้ามาในโรงเรียนสอนศิลปกรรมสักแห่ง เพราะบริเวณโถงทางเข้าทั้งหมดประดับประดาด้วย “สตรีตอาร์ท” มากมายหลายชิ้น หลากหลายอารมณ์ ทั้งประชดประชัน ทั้งทักท้วงและเรียกร้องความสนใจ

ไม่เว้นแม้กระทั่งใต้กล้องโทรทัศน์วงจรปิด ที่มีข้อความประกอบเอาไว้ว่า “คุณมองอะไรอยู่(วะ)?”

แต่ทันทีที่ขึ้นไปถึงห้องเรียน บรรยากาศเปลี่ยนแปลงไปฉับพลัน เมื่อทั้งห้องเต็มไปด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์และเซิร์ฟเวอร์สมรรถนะสูง เรียงรายเป็นแถว มากมาย รอคอยบรรดานักเรียน นักศึกษาทั้งหลายเข้ามาใช้งาน

แต่สิ่งที่ทำให้ “เอโกล42” โดดเด่น ไม่เหมือนใครและท้าทายแนวคิดทางการศึกษาทั้งมวล ไม่ได้อยู่ที่บรรยากาศเหล่านั้น แต่อยู่ที่แนวคิดในการเรียนการสอนและปรัชญาใหม่เอี่ยมในการผลิตผู้มีความสามารถเฉพาะทางออกมา

“เอโกล42” เป็นโรงเรียนเอกชน ไม่ใช่โรงเรียนที่บริหารจัดการโดยรัฐ หรือทางการของเมืองหลวงใดๆ นั่นเป็นข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียวที่ทำให้ที่นี่เหมือนกับโรงเรียนหรือ วิทยาลัย มหาวิทยาลัย อื่นๆ

ถัดจากนั้นเป็นต้นไป ความแตกต่างจะเห็นได้ชัดและมากขึ้นตามลำดับ

ที่นี่ ไม่เรียกเก็บค่าเล่าเรียนใดๆ ทั้งสิ้น ที่นี่ไม่มีครูผู้สอนให้เกรงอกเกรงใจ (และกวนใจ?) ที่นี่ไม่มีประกาศนียบัตรให้ ไม่มีปริญญาใดๆ สำหรับใช้เทียบเคียงกับการศึกษาในที่อื่นๆ เมื่อสำเร็จการศึกษา

สถานศึกษาแห่งนี้ เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีกำหนดปิดเปิดเหมือนที่อื่น ทุกคนสามารถเข้าเรียนในเวลาไหนก็ได้ ไม่มาเรียนก็ได้ ถ้าหากไม่ว่าง หรือจะมาในตอนกลางคืน ดึกดื่นแค่ไหนก็ได้ทั้งสิ้น

เพราะที่นี่ไม่เพียงมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ ยังมีเลาจน์ ให้บริการ แถมยังมีส่วนพักผ่อน สันทนาการ หรือพักผ่อนนอนหลับได้อีกด้วย

กระนั้น เอโกล42 ยังเต็มไปด้วยผู้สนใจเข้ามาร่ำเรียน แม้จะจำกัดด้วยอาคารสถานที่ที่รองรับนักเรียน นักศึกษาได้เพียง 3,000 คนในแต่ละวัน

“เอโกล42” เปิดรับสมัครนักเรียนผ่านระบบการคัดเลือกออนไลน์ปีละ 2 ครั้ง แต่ละครั้งมีคนแย่งกันสมัครเข้ามามากจนจำเป็นต้องคัดเลือกที่เหมาะสม และมีความต้องการเรียนรู้การเป็นโปรแกรมเมอร์จริงๆ เท่านั้น

ข้อจำกัดเพบื้องต้นเพียงอย่างเดียวของการสมัครเข้าเรียนที่นี่ก็คือ ทุกคนต้องอายุไม่เกิน 30 ปีเท่านั้น

นี่คือความแตกต่างแบบสุดขั้ว ระหว่าง เอโกล42 กับโรงเรียนทั่้วๆ ไป

“เอโกล42” เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของ “ซาวิเยร์ นีล” ผู้ประกอบการชาวฝรั่งเศส ว่ากันว่า เม็ดเงินลงทุนเริ่มต้นในการก่อตั้งทั้งหมดนั้นสูงถึง 20 ล้านยูโร หรือกว่า 700 ล้านบาท ทั้งยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรายปีอีกปีละ 5 ล้าน ถึง 7 ล้านยูโร หรือราว 180-250 ล้านบาท แต่ ซาวิเยร์ นีล ยืนยันว่า “เป็นความจำเป็นที่ต้องทำ”

เหตุผลก็คือ ทั่วทั้งยุโรปตอนนี้ยังขาดแคลน “มืออาชีพ” ทางด้านไอที อยู่อีกอย่างน้อย 1 ล้านคน

เมื่อการขาดแคลนรุนแรงในระดับนั้น มาตรการที่ใช้แก้ปัญหาก็ต้องรุนแรงและเข้มข้นมากพอๆ กัน

นักเรียนที่เข้าเรียนใน เอโกล42 ต้องผ่านการทดสอบออนไลน์เป็นเบื้องแรก หลังจากนั้นในช่วง 1 เดือนแรก จะถูกขอให้เดินทางมายังโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ รู้จักกันว่าเป็นช่วง “ลา พิสซีน” หรือ “เดอะ สวิมมิง พูล” ที่ส่อนัยถึงการที่อยู่ดีๆ คนผู้หนึ่งถูกโยนลงไปในสระจมลึกลงไปถึงก้น เนื่องจากต้องเผชิญกับสิ่งใหม่ๆ ที่แต่ละคนไม่เคยพบพานมาก่อน

นั่นเนื่องจากไม่เพียงพบกับระบบการเรียนใหม่เท่านั้น ยังเป็นเพราะหลายคนอาจไม่เคยเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือรู้จักภาษาสำหรับใช้ในการสร้างโปรแกรมเหล่านี้แม้แต่ตัวเดียวก่อนมาเรียนที่นี่

หลักสูตรของ เอโกล42 อยู่บนพื้นฐานของการเรียนแบบใหม่ ที่เรียกว่า “เพียร์ เลิร์นนิ่ง” นั่นคือการเรียนรู้ พร้อมๆ กับการปฏิบัติ ร่วมกับเพื่อนร่วมโครงการคนอื่นๆ

ไม่มีการบรรยาย ไม่มีการสอน นักเรียนนักศึกษาแต่ละรายจะได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเพื่อพัฒนาโครงงานหนึ่งชิ้นให้สำเร็จร่วมกับเพื่อนร่วมทีมอีกจำนวนหนึ่ง

ภายใต้การกำกับของโครงงานดังกล่าว แต่ละคนจะพัฒนาตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความคืบหน้าของโครงงาน เป็นการก้าวรุดหน้าในระดับความเร็วที่เป็นของตัวเอง ไม่มีการเร่งรัด แต่เป็นการมุ่งมั่นซึ่งเกิดจากการท้าทายตัวเองเป็นหลัก

ความคืบหน้าที่สามารถตรวจสอบได้เป็นขั้นเป็นตอน โดยเพื่อนๆ ร่วมโรงเรียน คือความสำเร็จในการพัฒนาแต่ละขั้น เรื่อยไปจนกระทั่งโครงงานทั้งหมดบรรลุผลตรงตามเป้าหมายและใช้งานได้จริง

นั่นคือการสำเร็จการศึกษา

เจ้าหน้าที่ประจำของ เอโกล42 คือคณะกรรมการจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่สอน แต่ทำหน้าที่อำนวยการ และอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่างเป็นไปตามนั้น

โอลิวิเยร์ ครูเซต์ คือหัวหน้าของคณะกรรมการอำนวยการดังกล่าว

ครูเซต์ชี้ว่า การดำเนินโครงการเป็นขั้นตอน จำลองแบบมาจาก “เลเวล” ต่างๆ ในการเล่นเกม เป้าหมายก็เพื่อไม่ให้ทุกคนเสียกำลัง ท้อถอยและเลิกราไป เพียงแค่ไม่ประสบความสำเร็จในการทำโครงงานขั้นแรกๆ

เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดแรงกดดันเชิงจิตวิทยา ที่เรียกกันว่า “ตราประทับของความล้มเหลว” ขึ้นกับนักเรียน นักศึกษาของ เอโกล42

การทำให้นักศึกษามองโครงงานเป็นเหมือนการเล่นเกมที่มีระดับหลายระดับ เมื่อล้มเหลวในตอนเริ่มแรก ก็สามารถเริ่มใหม่ได้

เหมือนกับที่วัยรุ่นหลายคน เล่นเกมซ้ำแต่ละด่านครั้งแล้วครั้งเล่า โดยไม่เบื่้อหน่ายและท้อถอย เพื่อเอาชนะเกมทุกด่านให้ได้ในที่สุดนั่นเอง

ในทรรศนะของครูเซต์ โรงเรียนและสถาบันศึกษาดั้งเดิมที่มีอยู่ในเวลานี้ ไม่สอดคล้องและตอบสนองกับความต้องการของสังคมโดยรวมอีกต่อไปแล้ว ภาคเอกชน อย่างเช่นบริษัทธุรกิจทั้งหลาย ต้องการคนที่สามารถร่วมงานกันทำเป็นทีมได้ และมีความสามารถหลากหลาย ชดเชยข้อเด่นข้อด้อยของเพื่อนร่วมทีมจนประสบความสำเร็จได้

“โชคร้าย ที่โรงเรียนและสถานศึกษาทั้งหลาย ยังเอาแต่โคลนนิ่งนักเรียน นักศึกษาออกมาเหมือนกันหมด ไม่ตรงกับที่สังคมต้องการอีกต่อไป”

“เอโกล42” คือสถาบันการศึกษาที่ต้องการพัฒนาทักษะ ขีดความสามารถที่จำเป็นเหล่านั้นออกมาให้ได้เท่านั้นเอง

ทักษะที่ว่านั้น มีตั้งแต่ความสามารถในการเสาะหา สืบค้นข้อมูล ข่าวสาร องค์ความรู้ที่ตนเองต้องการ และมีความจำเป็นต่อการพัฒนางานที่ตนกำลังทำอยู่ ถัดมาคือความสามารถในการกลั่นกรองข้อมูล และองค์ความรู้เหล่านั้น ให้ได้แก่นแท้ของมันจริงๆ เพื่อนำมาใช้ในการสร้างสรรค์โครงงานที่ตนและเพื่อนร่วมทีมรับผิดชอบอยู่

นี่เป็นโมเดลใหม่ ที่แตกต่างออกไปจากการเรียนในที่อื่นๆ ไม่ใช่ “การเล่าเรียน” ในแบบอย่างที่ใช้กันอยู่แต่เดิม หากแต่เป็นการ “เรียนรู้” ให้เกิดการ “รู้แจ้ง” ในสิ่งที่ตนเองต้องการและมุ่งหน้าจะประสบผลสำเร็จ

ในโมเดลเรียนรู้ใหม่นี้ บังคับให้เกิดการร่วมมือกันทำงาน แบกรับภาระหน้าที่ที่จัดสรรกัน เพราะทุกคนจำเป็นต้องลงมือทำ ลงมือเรียนรู้และแบ่งปันสิ่งเหล่านั้นกับเพื่อนร่วมทีม เสาะหาแนวทางแก้ปัญหาจากคนอื่นๆ ทีมอื่นๆ รวมถึงองค์ความรู้มหาศาลในโลกออนไลน์ เพื่อให้บรรลุถึงวิธีการแก้ปัญหาของทีมให้ลุล่วงไปให้ได้

และต้อง “รู้แจ้ง” ในสิ่งที่ตนทำทั้งหมด เพราะโปรเจ็กต์แต่ละชิ้นจะสำเร็จได้ ต้องผ่านการตรวจสอบ ทบทวน และให้คะแนนจากนักเรียนคนอื่นๆ นั่นเอง

การร่วมมือกันทำงาน คือสิ่งใหม่มากในแวดวงการศึกษา ไม่เพียงในฝรั่งเศส แต่ยังใหม่ในแวดวงการศึกษาทั่วไปทั้งหมดอีกด้วย

เพราะที่ผ่านมาภายใต้ระบบการศึกษาแบบเดิม “ความร่วมมือ” ในการเรียน มีความหมายเพียงแค่ “การลอกข้อสอบ” กันเท่านั้นเอง

คำถามของผมก็คือ นักเรียนที่ เอโกล42 ใช้เวลานานเท่าใดจึงสำเร็จการศึกษา คำตอบก็คือ บางคนใช้เวลาเพียง 3 ปี ก็พัฒนาตัวเองให้สำเร็จหลักสูตร (พร้อมโครงงานที่ได้รับการยอมรับจากทุกคน) ได้สำเร็จ บางคนใช้เวลาเพียงครึ่งเดียวของเวลาดังกล่าวเท่านั้น แต่ก็มีบางคน ที่ใช้เวลาอยู่ที่ เอโกล42 นานถึง 5 ปี

แต่นั่นไม่ใช่นัยสำคัญที่แสดงถึงความสำเร็จของ เอโกล42

นัยสำคัญที่แสดงถึงความสำเร็จสูงของสถานศึกษาแปลกใหม่แห่งนี้ก็คือ นักเรียนแต่ละคนที่เรียนอยู่ที่นี่ จะได้รับข้อเสนอให้เข้าทำงาน หรือเข้าไปทดลองงานจากบริษัทต่างๆ อย่างน้อยคนละ 2 บริษัท

นั่นหมายถึงว่า คนที่สำเร็จการศึกษาจากที่นี่ มีงานทำ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครตกงานเลยแม้แต่รายเดียว

และนี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมโมเดลสถานศึกษาแบบ เอโกล 42 ถึงถูก “ส่งออก” ไปยังซิลิกอนวัลเลย์ ในสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ แล้วในเวลานี้

ผมเองยอมรับว่า กลับออกมาจากการเยือนในวันนั้นด้วยความรู้สึกท่วมท้นว่า อยากให้มี เอโกล42 ขึ้นในเมืองไทยเหลือเกิน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image