คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “สเตชันเอฟ” ศูนย์สตาร์ทอัพใหญ่ที่สุดในโลก

บรรยากาศยามค่ำของภัตตาคารในสเตชันเอฟ

ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมบอกเล่าถึงความจำเป็นที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในฝรั่งเศส เป็นความจำเป็นที่มีรากฐานเริ่มต้นมาจากเหตุผลในเชิงเศรษฐกิจ จากความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนรถจักรที่ทำหน้าที่ฉุดลากเศรษฐกิจของประเทศให้รุดหน้า เจริญเติบโตใหม่ได้ หลังจากกลไกเดิมๆ เริ่มชะลอเฉื่อยลง เป็นความจำเป็นที่เกิดขึ้นเพราะต้องการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มตำแหน่งงานใหม่ๆ เพื่อรองรับหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่กำลังเติบใหญ่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องที่เริ่มต้นจากความจำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการ กลายเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในฝรั่งเศส เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ภายในแวดวงเศรษฐกิจ ธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังลุกลามส่งผลสะเทือนไปถึงแวดวงการศึกษา และที่สำคัญก็กำลังทลายกรอบคิดเดิมๆ ทางสังคมของประเทศ

กลายเป็นกรอบความคิดใหม่ในการเรียน การทำงาน และการประสบความสำเร็จ ที่ไม่จำเป็นต้องอิงอยู่กับระบบการศึกษา การเรียนการสอน และปริญญาบัตรแบบเดิมๆ อีกต่อไป

ผมได้เห็นรูปธรรมของสิ่งเหล่านั้นใน “เอโกล42” โรงเรียนที่ไม่เก็บค่าเล่าเรียน ไม่มีปริญญาให้ ไม่มีครูสอน แต่กลับประสบความสำเร็จสูงสุดในการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในแวดวงธุรกิจด้านสารสนเทศและการสื่อสาร อย่างที่เราเรียกขานกันว่าวงการไอที

Advertisement

ประสบความสำเร็จของ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาที่ไร้ปริญญา ไร้ประกาศนียบัตรใดๆ จากโรงเรียนแหวกแนวแห่งนี้ มีงานทำเมื่อพ้นสถานศึกษาออกมาแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม

อันที่จริง ก่อนหน้าที่ผมจะเดินทางไปเยี่ยมชมกิจการและเรียนรู้ระบบการเรียนการสอนของ เอโกล42 นั้น ผมมีโอกาสได้เห็นรูปธรรมสำคัญอีกอย่าง ที่ประสบความสำเร็จสูงมากของฝรั่งเศสจากการเดินทางไปเยือน “สเตชันเอฟ” แม้ว่า จะไม่แปลกใหม่และตื่นตาตื่นใจเท่ากับทุกอย่างที่ประกอบกันขึ้นเป็น “เอโกล42” ก็ตามที

ในแง่หนึ่งนั้น “สเตชันเอฟ” ทำหน้าที่เป็นเหมือนกับ “ศูนย์เพื่อการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ” ซึ่งมีให้เห็นอยู่มากมายในหลายต่อหลายประเทศ

Advertisement

ในอีกแง่หนึ่งนั้น “สเตชันเอฟ” มีความเป็นกิจการธุรกิจมากกว่า “เอโกล42” ที่มีลักษณะเจาะจง เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองและเป็นการ “หยิบยื่น” บางอย่างคืนกลับให้กับสังคมชนิดที่สร้างคุณค่า สร้างคุณูปการมหาศาลให้กับฝรั่งเศส โดยไม่ใส่ใจที่จะหาหนทางแสวงหารายได้กลับคืนใดๆ

แต่นั่้นไม่ได้หมายความว่า “สเตชันเอฟ” ไม่มีอะไรพิเศษอยู่ในตัวเอง ตรงกันข้าม ยิ่งได้เรียนรู้ลงลึกไปในรายละเอียด ยิ่งพบว่า ยากเย็นไม่น้อยที่จะมีศูนย์กลางเพื่อการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ที่ไหนทำได้เหมือนกับที่นี่

ที่สำคัญที่สุดก็คือ “สเตชันเอฟ” ก็เป็นอีก “นวัตกรรมทางความคิด” ของนักธุรกิจฝรั่งเศสอย่าง “ซาวิเยร์ นีล” เจ้าของไอเดียพิสดารในการก่อตั้ง “เอโกล42” นั่นเอง

******

ในยุคเริ่มต้นของกิจการสตาร์ทอัพในฝรั่งเศสนั้น ผู้เริ่มต้นกิจการด้วยตัวเอง ประสบปัญญามากมายหลายอย่าง หนึ่งในจำนวนปัญหาใหญ่โตเหล่านั้นก็คือ ปัญหาสถานที่สำหรับเปิดกิจการ เหตุผลเพราะมีผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพเพียงหยิบมือเท่านั้น ที่มีนิวาศสถานอยู่ในปารีสและมีอสังหาริมทรัพย์เป็นของตัวเอง

การเช่าพื้นที่อาคารเพื่อก่อตั้งกิจการจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ในเมืองหลวงของฝรั่งเศส และก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างน้อย 2 ประการ

การขาดแคลนสถานที่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ในระดับราคาที่เหมาะสม สำหรับการเริ่มต้นกิจการ ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในฝรั่งเศส แต่เกิดขึ้นในหลายประเทศในภาคพื้นยุโรป สิ่งนี้ส่งผลสำคัญต่อสตาร์ทอัพได้อย่างเหลือเชื่อ ชนิดหากไม่ใช่คนลงมือทำคงคาดคิดไปไม่ถึง

ผลกระทบอย่างแรกที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ก็คือ เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง กิจการสตาร์ทอัพจำนวนมากตกอยู่ในสภาพ “เอาตัวไม่รอด” จากปัญหาค่าเช่าสถานที่ในราคาแพง แต่มีพื้นที่ส่วนเกินหลงเหลือที่ไม่ได้ใช้งานเป็นจำนวนมาก

ผลกระทบอย่างถัดมาก็คือในเวลาเดียวกัน สตาร์ทอัพ อีกจำนวนหนึ่งพบว่า ที่ตั้งกิจการของตน เล็ก แคบ จำกัดจำเขี่ยเกินไป จนไม่สามารถรองรับกิจการของบริษัทที่กำลังเติบใหญ่ได้อีกต่อไปแล้ว

ที่ตั้งของสตาร์ทอัพ จึงสำคัญไม่น้อย “สเตชันเอฟ” ไม่เพียงต้องการแก้ปัญหานี้เท่านั้น แต่ยังต้องการแก้ปัญหาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพทั้งหมดไปในคราวเดียวกัน

“สเตชันเอฟ” เดิมเคยเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟสำหรับขนถ่ายสินค้าขนาดใหญ่ โครงสร้างก่อสร้างแข็งแรง มั่นคงตามแบบฉบับของสิ่งปลูกสร้างสาธารณะในยุโรป เมื่อปี 1929

“ซาวิเยร์ นีล” ซื้อสถานีรถไฟสำหรับขนถ่ายสินค้าแห่งนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2014 ตั้งใจตั้งแต่ในตอนนั้นว่า จะทำให้อาณาบริเวณกว้างใหญ่ มีเนื้อที่ใช้สอยถึง 34,000 ตารางเมตร แห่งนี้ให้กลายเป็นสตาร์ทอัพ อินคิวเบเตอร์ ที่ใหญ่ที่สุด ไม่เพียงเป็นศูนย์กลางสำหรับสตาร์ทอัพทั่วยุโรปเท่านั้น ยังสามารถรองรับสตาร์ทอัพได้จากทั่วทุกมุมโลก

อย่างที่ว่าไว้ในตอนแรก ยุโรปในปี 2017 อันเป็นปีเริ่มต้นของ สเตชันเอฟ นั้น มี บริษัทสตาร์ทอัพอยู่เป็นเรือนพัน มีศูนย์บ่มเพาะอยู่ไม่น้อยไปกว่ากัน เช่นเดียวกับกองทุนประเภทเวนเจอร์ แคปิตอล ที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเริ่มต้นกิจการของสตาร์ทอัพ ก็มีอยู่มากมายเช่นเดียวกัน

ปัญหาก็คือ ทุกอย่างกระจัดกระจายกันไปคนละทิศคนละทาง

สิ่งที่นีลต้องการก็คือ การสร้างจุดศูนย์กลางขึ้นสักแห่งหนึ่ง หลอมรวมทุกอย่างที่เป็น “อีโคซิสเต็ม” ที่จำเป็นของ สตาร์ทอัพ เข้าไว้ด้วยกัน

สร้างสภาวะแวดล้อมที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบกิจการด้วยตนเอง ขึ้นไว้ในสถานที่เดียว ที่ทั้งอุดมสมบูรณ์และเปี่ยมด้วยพลวัตรอยู่ด้วยกันอย่างครบถ้วน

เพื่อเป็นสัญลักษณ์ไว้อวดทั้งโลกที่เหลือว่า ที่นี่ ในปารีสเมืองนี้ มีสตาร์ทอัพจากทั่วทุกสารทิศชุมนุมกันอยู่ได้ในสถานที่เดียว

******

กูเกิล มีพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับให้คำแนะนำและปูพื้นฐานที่สตาร์ทอัพต้องการภายในสเตชันเอฟ

แนวคิดของ “สเตชันเอฟ” แทบจะยกเอามาจากแนวความคิดของ “เมืองมหาวิทยาลัย” หรือ “เมืองแห่งนวัตกรรม” ที่มีทุกอย่างครบครันทั้ง พื้นที่เช่าเพื่อตั้งสำนักงาน, พื้นที่จัดอีเวนต์, มีพื้นที่สำหรับใช้เป็น “ห้องปฏิบัติการ” เพื่อดูว่าไอเดียใหม่ๆ มีความเป็นไปได้จริงหรือไม่, มีแม้กระทั่งที่พัก และภัตตาคารหรูหรา และพื้นที่สันทนาการอีกหลากหลายรูปแบบ

ใกล้เคียงกัน ยังมีพื้นที่อีกส่วนหนึ่งกันไว้สำหรับ “อพาร์ทเมนต์ ทาวเวอร์” 3 หลัง หลังละ 100 ห้อง มากเพียงพอที่จะรองรับเจ้าของกิจการอย่างน้อย 600 คนให้สามารถมีที่พักอาศัยอยู่ในปารีส ในระยะห่างจากสถานที่ตั้งบริษัทเริ่มต้นกิจการของตนเองเพียงแค่ระยะทาง “เดิน” ไม่ถึง 10 นาทีเท่านั้น

นีล ลงทุนไปในโครงการ “สเตชันเอฟ” ของตนเองราว 250 ล้านยูโร หรือกว่า 9,000 ล้านบาท แต่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับสตาร์ทอัพ เพียงเดือนละ 195 ยูโรต่อโต๊ะทำงาน 1 ตัวต่อเดือน หรือราว 7,000 บาทเศษ ซึ่งเป็นราคาค่าเช่าที่ยิ่งกว่า “สมเหตุสมผล” สำหรับมหานครอย่างปารีส

ภายในสเตชันเอฟ ไม่ได้จำกัดเพียงแค่กิจการสตาร์ทอัพ แต่ยังมีผู้ให้บริการอีกหลายด้านที่จำเป็นเข้าไปเปิดสำนักงานอยู่ด้วย นอกเหนือจากกองทุนเพื่อการลงทุนในการเริ่มต้นกิจการหรือ เวนเจอร์ แคปิตอล แล้ว ยังมีเจ้าของโปรแกรมฝึกอบรมในหลายๆ ด้าน และมีกิจการที่ทำหน้าที่เป็น “แอคเซเลอเรเตอร์” อยู่อีกด้วย รวมทั้งกิจการใหญ่ๆ ในระดับโลกอย่าง กูเกิล หรือไมโครซอฟท์ เป็นอาทิ

ทั้งหมดก็เพื่อช่วยให้บริษัทขนาดเล็ก ที่เริ่มต้นกิจการใหม่ๆ สามารถเข้าถึงเงินทุนเพื่อสนับสนุนกิจการและคำแนะนำในด้านต่างๆ ครบถ้วนตามความต้องการ

ที่น่าทึ่งอย่างมากก็คือ หน่วยงานราชการของฝรั่งเศสหลายหน่วยงานก็มาเช่าพื้นที่ในสเตชันเอฟ ให้บริการสตาร์ทอัพถึงที่ และครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ตั้งแต่หน่วยงานทางด้านภาษีอากรทั้งหลาย ไปจนถึงหน่วยงานของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ให้บริการทั้งการประทับตราหนังสือเดินทาง และการขออนุญาตทำงานภายในฝรั่งเศส ที่มีเจ้าหน้าที่ประจำพร้อมให้ทั้งคำแนะนำและบริการที่ต้องการอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

ไม่น่าแปลกที่ สเตชันเอฟ จะกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดใจสตาร์ทอัพทั้งหลายจากนานาประเทศ ที่ต้องการหาที่ยืนเพื่อขยายกิจการของตนไปทั่วยุโรปแล้ว

******

ผมได้รับคำบอกเล่าจากผู้นำชมสเตชันเอฟว่า นี่คือ “สตาร์ทอัพแคมปัส” ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่มีที่ไหนบนโลกใบนี้อีกแล้ว ที่จะมีกิจการสตาร์ทอัพและกิจการเชื่อมโยงในระบบนิเวศทั้งระบบมากกว่า 1,000 กิจการรวมตัวกันอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน

ที่สำคัญก็คือ ทั้งหมดเป็นการลงทุนของเอกชน ไม่มีเงินทุนภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องแม้แต่น้อย

มาร์วัน เอลฟีเทสเซ ผู้อำนวยการฝ่ายสตาร์ทอัพสัมพันธ์ ของสเตชันเอฟ เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า การระดมเอาสตาร์ทอัพหลากหลายรูปแบบเข้ามาอยู่ด้วยกันนั้น สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของ ซาวิเยร์ นีล ต่อสิ่งที่บางคนเรียกว่า “ปัญญารวมหมู่” และยังคงอาศัยแนวคิดเบื้องต้นของตนจาก เอโกล42 มาใช้เป็นหลักในการส่งเสริมกิจการสตาร์ทอัพที่นี่้

แนวความคิดที่ว่านั้นก็คือ สตาร์ทอัพ ทั้งหมดที่ชุมนุมกันอยู่ภายใน สเตชันเอฟ สามารถให้ความช่วยเหลือกันได้ ให้ความรู้กันได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กัน

เขายกตัวอย่างเช่น หากสตาร์ทอัพ รายหนึ่งเป็นเจ้าของกิจการ พรินเตอร์สามมิติ ก็สามารถพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสตาร์ทอัพด้าน เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่ตั้งอยู่ที่นี่ เช่นเดียวกับ ไบโอเทคสตาร์ทอัพ เพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความล้มเหลวและความสำเร็จซึ่งกันและกัน

เพราะเชื่อว่า ปัญหามากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของสตาร์ทอัพ สามารถแก้ไขโดย สตาร์ทอัพอื่นๆ ได้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image