คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “จูเลียน อาสซานจ์” ผู้ร้ายหนีคดีหรือฮีโร่?

(ภาพ-AP)

การต่อสู้ระดับ “มหากาพย์” ระหว่าง จูเลียน อาสซานจ์ นักเจาะระบบคอมพิวเตอร์วัย 47 ปี ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ อื้อฉาว “วิกิลีกส์” กับ ทางการสหรัฐอเมริกา ที่ดำเนินมาเกือบทศวรรษถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสก็อตแลนด์ยาร์ด เดินทางเข้าจับกุมตัว อาสซานจ์ถึงห้องพักด้านหลังสถานเอกอัครราชทูตเอกวาดอร์ ณ นครลอนดอน

เป็นการเปิดฉากสงครามระลอกใหม่ระหว่างทั้งสองฝ่าย ที่ส่อเค้าว่าจะเป็นมหากาพย์รอบใหม่ ที่กระตุ้นให้เกิดการถกแถลงกันขนานใหญ่ในทางความคิดอีกครั้ง ทั้งในแง่กฎหมาย, เสรีภาพในการแสดงออก, สิทธิเสรีภาพของสื่อ, ผลประโยชน์ของประเทศชาติ และอีกนานาประเด็นที่เชื่อมโยงไปถึง

อาสซานจ์ เป็นชาวออสเตรเลียโดยกำเนิด ร่ำเรียนมาทางคอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์ แต่ขึ้นชื่อในการเจาะระบบหรือ แฮค ระบบคอมพิวเตอร์ ในระดับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งส่งผลให้เขาตัดสินใจก่อตั้ง “วิกิลีกส์” ขึ้นมาในปี 2006 เพื่อนำเอา “ความลับ” ที่เขาพบเห็นมากมายในกิจกรรมเจาะระบบของตนเองมาเผยแพร่ให้ได้รับรู้ทั่วกัน

สิ่งที่ อาสซานจ์ พยายามบอกกับโลกและรัฐบาลทั่วโลกผ่านทางวิกิลีกส์ก็คือ ทุกอย่างในโลกไม่เป็นความลับ หากไม่ต้องการให้ถูกเปิดเผยก็อย่าได้กระทำ

Advertisement

ก่อนหน้าที่จะเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่กับทางการสหรัฐอเมริกา วิกิลีกส์สร้างชื่อในฐานะ “จอมแฉ” อยู่บ้าง แต่ในทันทีที่อาสซานจ์ตัดสินใจแตะต้องข้อมูลที่ถือเป็น “ความลับ” และ “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ของสหรัฐ ชื่อเสียงของอาสซานจ์และวิกิลีกส์ ก็ทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุด

เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2010 เมื่อเว็บไซต์อื้อฉาวแห่งนี้ เผยแพร่ ข้อมูลทางการทูต ซึ่งเป็นเอกสารอีเลคทรอนิกส์ผ่านระบบการสื่อสารแบบปิดของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีไว้เพื่อการสื่อสารไป-กลับระหว่างกระทรวงฯกับ เจ้าหน้าที่ทูตและเอกอัครราชทูตในนานาประเทศทั่วโลก รวมทั้งหมดมากถึง 250,000 ชิ้น

โจ ไบเดน รองประธานาธิบดีอเมริกันในเวลานั้น อุปมา อาสซานจ์ ว่าเปรียบเสมือน “ผู้ก่อการร้ายไฮ-เทค” ในขณะที่ ซาราห์ เพลิน ซึ่งในตอนนั้นเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน เรียกร้องให้กองทัพสหรัฐอเมริกา “ไล่ล่า” อาสซานจ์ ในแบบเดียวกับปฏิบัติการล่าบรรดาแกนนำของ อัลเคดา

กาลเวลาที่ผ่านไป อารมณ์ความรู้สึกในเชิงการเมืองย่อมเปลี่ยนแปลง เพลิน ออกมาขอโทษขอโพย อาสซานจ์ หลังจากที่วิกิลีกส์ เริ่มเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพรรคเดโมแครต ในขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ แคนดิเดตคนสำคัญของรีพับลิกันในเวลานั้น แสดงความชื่นชมวิกิลีกส์ ออกมาอย่างเปิดเผย ซ้ำแล้วซ้ำอีก

“ผมชอบนะ วิกิลีกส์” ทรัมป์เคยบอกไว้อย่างนั้น

******

แต่ในขณะที่ทัศนะของฝ่ายการเมืองเริ่มเปลี่ยนแปลง ความเห็นในแวดวงข่าวกรองของสหรัฐอเมริกา ยังคงแน่วแน่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แม้แต่ในการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวเอพีเมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูง ในสังกัด สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) ยังคงยืนยันว่า ถ้าเป็นไปได้ ตนขอเวลาเพียงชั่วไม่กี่นาทีเพียงลำพังกับอาสซานจ์ ในตรอกแคบ มืดๆ ที่ไหนสักแห่งก็ได้

พูดพลางทำมือทำไม้ไปพลาง ให้ผู้สื่อข่าวได้ตระหนักว่า สิ่งที่เขาต้องการทำในไม่กี่นาทีนั้นคือการเด็ดชีพ “ไอ้หมอนี่” ด้วยมือเปล่าได้อย่างไร

สิ่งที่เรียกขานกันอย่างเป็นทางการว่า “ดิพโพลแมท เคเบิล” ซึ่ง อาสซานจ์ นำออกมาเผยแพร่ผ่านวิกิลีกส์ในครั้งนั้น ไม่เพียงเป็นการเปิดเผยความลับครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื้อหา ถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเปิดเผยกระจ่างต่อแนวความคิด ท่าทีและข้อเสนอแนะในการกำหนดนโยบายต่อนานาชาติของสหรัฐอเมริกา เพราะเชื่อว่าเป็นการสื่อสารในทางลับ ส่งผลให้เกิดอาการกราดเกรี้ยว มึนตึง ขึ้นกับหลายต่อหลายประเทศทั่วโลกที่มีสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำอยู่
ถือเป็นการตบหน้าหน่วยข่าวกรองอเมริกันและระบบรักษาความปลอดภัยของอเมริกันครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนอีกด้วย

แต่นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่หน่วยข่าวกรองและแวดวงความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจ “ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ” กับ อาสซานจ์ เพราะรู้สึกเหมือนถูก “ปรามาส” ครั้งใหญ่เหมือนถูกยกฝ่าเท้าขึ้นมาลูบหน้า

เหตุแรกสุด เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ อาสซานจ์ ยังคงเดินทางไปไหนมาไหนในสหรัฐอเมริกาได้อย่างสะดวกสบาย

ในเดือนเมษายน ปี 2010 อาสซานจ์ เดินทางไปปรากฏตัวที่ “สโมสรผู้สื่อข่าวแห่งชาติ” หรือ “เนชันแนล เพรส คลับ” ในกรุงวอชิงตัน เพื่อเปิดเผย “คลิปวิดีโอ” สั้นๆ ที่แสดงให้เห็นว่า เฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธของกองทัพอเมริกันกระทำสิ่งที่อาสซานจ์ ขนานนามว่าเป็น “การฆาตกรรมข้างเคียง” ยิงถล่มกลุ่มพลเรือนไร้อาวุธจำนวนหนึ่งซึ่งนักบินเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ก่อการร้ายอิรักไปพลางหัวเราะไปพลางได้อย่างไร

เหยื่อ 2 รายในจำนวนนั้นคือ ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์อีกด้วย

จูเลียน อาสซานจ์ เองตระหนักตั้งแต่ตอนนั้นว่า ระหว่างตนเองกับทางการอเมริกัน ไม่มีวันมาบรรจบกันแบบญาติดีได้อีกต่อไปแล้ว

******

ไม่นานหลังจากการเผยแพร่คลิปวิดีโอดังกล่าว เจ้าหน้าที่แผนกวิเคราะห์ข่าวกองทัพบกสหรัฐ ซึ่งในเวลานี้ใช้ชื่อหลังเปลี่ยนเพศสภาพว่า “เชลซี แมนนิง” ถูกจับกุม ในขณะทีอาสซานจ์ หลบเข้ากลีบเมฆ เพราะตระหนักดีว่า ทางการอเมริกันในเวลานี้มีหลักฐานการสนทนาระหว่างตนเองกับแมนนิงอยู่ในมือเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งบทสนทนาครั้งหนึ่งซึ่งกลายเป็นหลักฐานสำคัญในคดีที่ทางกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ กล่าวหา อาสซานจ์ ว่า ละเมิดกฎหมายด้วยการสมคบกับแมนนิงจนได้พาสเวิร์ดสำคัญในการผ่านเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา

อาสซานจ์ เร้นกายออกจากสหรัฐอเมริกาก่อนภัยจะถึงตัว เป้าหมายหลบภัยชั่วขณะของนักเจาะระบบชาวออสเตรเลียรายนี้ คือ “ฟรอนท์ไลน์ คลับ” แหล่ง “แฮงเอาท์” ของบรรดาผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษในกรุงลอนดอน และเป็นสถานที่สำคัญที่ อาสซานจ์ ทำความตกลงกับ การ์เดียน หนังสือพิมพ์เอียงซ้ายของอังกฤษกับสื่อระหว่างประเทศอีกหลายฉบับ รวมทั้ง นิวยอร์ก ไทมส์และ แดร์ สปีเกล

ซึ่งลงมือเปิดโปง “ดิพโพลแมท เคเบิล” ไปพร้อมๆ กับวิกิลีกส์ ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้น

ทั้งๆ ที่ตระหนักดีว่า การเปิดโปงเรื่องนี้ขณะอยู่ในอังกฤษ พันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐอเมริกาที่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนซึ่งกันและกันนั้นเป็น “ความเสี่ยงอย่างยิ่ง”

อาสซานจ์ ตัดสินใจหลบเข้าไปในสวีเดน ซึ่งได้ชื่อว่ามีกฎหมายคุ้มครองสื่อที่แข็งแกร่งที่สุด และเป็นที่ตั้งของเซิร์ฟเวอร์หลักของ วิกิลีกส์ มาตลอด

เป็นการตัดสินใจที่กลายเป็น “หายนะ” ในเวลาต่อมา

ไม่นาน สตรีสองคนที่อาสซานจ์พำนักอยู่ด้วย เดินทางเข้าพบตำรวจสวีดิช แจ้งข้อกล่าวหาเอาผิดกับอาสซานจ์ว่า แสดงพฤติกรรมลวนลามทางเพศและข่มขืนต่อพวกตน

เมื่อสวีเดนพึ่งพาไม่ได้อีกต่อไป และ สหรัฐอเมริกา ก็กำลังเป็นฟืนเป็นไฟกับ “เคเบิลเกตส์” จูเลียน อาสซานจ์ เริ่มหันเข้าหา “มอสโก”

รายงานของ เอพี เมื่อปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า อาสซานจ์ ใคร่ครวญอย่างหนัก หาหนทางที่จะได้ประทับตราวีซาในหนังสือเดินให้สามารถเดินทางเข้ารัสเซียได้ โดยการติดต่อกับ อิสราเอล ชามีร์ เพื่อนสนิทและผู้ร่วมคิดร่วมก่อตั้ง วิกิลีกส์ มาด้วยกัน

ชามีร์ เปิดเผยในเวลาต่อมาว่า อาสซานจ์ ได้วีซา ที่ต้องการในที่สุด แต่เป็นการได้มาหลังจากผ่านเลยห้วงเวลาที่เหมาะสมหลายสัปดาห์ทีเดียว เพราะถึงตอนนั้น สวีเดน ก็ได้ยื่นหมายจับให้ “อินเตอร์โพล” ตำรวจสากลออก “หมายแดง” ให้จับกุมตัว อาสซานจ์ได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะในประเทศไหนก็ตาม

อาสซานจ์ ไม่มีทางเลือกอื่นเหลืออยู่ นอกจากเข้ามอบตัวกับตำรวจอังกฤษเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ปี 2010 นั่นเอง

******

จูเลียน อาสซานจ์ ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว แต่ถูกจำกัดสถานที่พำนักให้อยู่แต่ภายในคฤหาสน์ในชนบทย่านนอร์ฟอล์ค ของ วอห์น สมิธ ผู้ก่อตั้ง “ฟรอนท์ไลน์ คลับ” ในระหว่างที่ทีมนักกฎหมายตัวแทนของตนเองกำลังต่อสู่คดี ที่สหรัฐอเมริกาขอให้ส่งตัวไปดำเนินคดีที่นั่นในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนอยู่ในกรุงลอนดอน

สุดท้าย ศาลฎีกาแห่งอังกฤษ พิพากษาให้ส่งตัว อาสซานจ์ ให้กับทางการวอชิงตัน

อาสซานจ์ ย้อมสีผม ใส่คอนแทคต์เลนส์เปลี่ยนสีตา แล้วหนีประกัน เดินทางเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในอาคารสถานเอกอัครราชทูตเอกวาดอร์ ซึ่งตั้งอยู่หลังห้างสรรพสินค้าชื่อดัง “แฮร์รอดส์” ใจกลางเมืองหลวง

ที่พักใหม่ของอาสซานจ์ เป็นเพียงแค่ห้องพักสำรองด้านหลังอาคารสถานทูต เนื้่อที่จำกัดจำเขี่ยอย่างยิ่ง ภายในห้องกระจัดกระจายเต็มไปด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค บางตัวมีคำสั่งกำกับไว้ชัดเจนมากว่า “ห้ามเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต” ตอนที่ผู้สื่อข่าวเอพี ไปเยี่ยมถึงห้องในปี 2012 อาสซานจ์ ต้องลากถูกสื่อข่าวออกมาพูดคุยกันด้วยเสียงในระดับกระซิบกระซาบ บริเวณเฉลียงทางเดินหน้าห้องน้ำ

เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกดักฟังจากอุปกรณ์ดักฟังไฮเทคซึ่งเขาเชื่อว่ามีการนำมาติดตั้งไว้ทั้งด้านในและภายนอกห้อง

สภาพที่เหมือนเล่นเจ้าล่อเอาเถิดกันระหว่างทางการอังกฤษและสหรัฐอเมริกาฝ่ายหนึ่ง กับอาสซานจ์และทางการเอกวาดอร์อีกฝ่ายหนึ่ง ยืดเยื้อยาวนานจากเดือน เป็นปี และเป็นหลายปี

ในช่วงเวลาดังกล่าว อาสซานจ์ กับวิกิลีกส์ ก็ยังเปิดโปงความลับออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง เนื้อหาในเอกสารของพรรคเดโมแครต ที่แฮคเกอร์รัสเซียฉกออกมา ซึ่งว่ากันว่า ส่งผลถึงกับทำให้ ฮิลลารี คลินตัน ชวดตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันหนหลังสุด

แต่หากอาสซานจ์ คาดหวังถึงการบรรเทาโทษจากประธานาธิบดีอเมริกันคนใหม่ ก็คงผิดหวังในเวลาอีกไม่ช้าไม่นาน

เอพี เปิดเผยข้อความผ่านทวิตเตอร์โต้ตอบกันระหว่าง โดนัลด์ จูเนียร์ กับกลุ่มวิกิลีกส์ ที่พยายามล็อบบี้ให้ลูกชายโน้มน้าวผู้เป็นพ่อ ให้ดำเนินการเพื่อให้ รัฐบาลออสเตรเลีย แต่งตั้ง อาสซานจ์ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำสหรัฐอเมริกา

แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ การประกาศว่า จูเลียน อาสซานจ์ คือ “ศัตรูหมายเลข1” ของสาธารณชนอเมริกัน

ไมค์ ปอมเปโอ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) ของสหรัฐอเมริกาในเวลานั้น ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในเวลานี้ พูดถึง วิกิลีกส์ ว่า เป็น “สำนักข่าวกรองไร้รัฐที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐอเมริกา”

ถึงขณะนี้ จูเลียน อาสซานจ์ ต้องดิ้นรนต่อสู้ด้วยแนวทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ซึ่งดูแนวโน้มแล้วไม่ดีกระไรนัก เพราะเริ่มต้นด้วยการถูกตัดสินเอาผิดฐานหนีประกันไปแล้วหนึ่งคดี นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image