คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “นอเทรอดาม” มรดกโลกที่ปารีส

(ภาพ-Ludovic Marin-AFP-Getty Images)

บ่ายวันที่ 15 เมษายน ใจกลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ยังคงมีนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งที่เร่งรีบแข่งกับเวลาเพื่อเข้าไปเยี่ยมชมมหาวิหารนอเทรอดาม หนึ่งในสถาปัตยกรรมที่งดงามและเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ให้เต็มอิ่ม ทันกับเวลาของวันที่เหลืออยู่

จู่ๆ ประตูวิหารก็ปิดลงกะทันหัน โดยปราศจากคำอธิบายใดๆ ไม่กี่นาทีต่อมา ควันกลุ่มเล็กๆ เริ่มสอดตัวแทรกออกมาจากนั่งร้าน เหนือหลังคาตอนกลางของวิหาร ไต่สูงขึ้นตามยอดแหลมสูงราว 90 เมตรซึ่งสร้างอย่างพิถีพิถัน ที่เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิหารแห่งนี้มานานนับศตวรรษ

ยิ่งควันทะลักออกมามากขึ้น สีสันยิ่งเปลี่ยนแปลงไป จากสีขาวกลายเป็นเทาเข้ม ขะมุกขมัวจนเกือบดำ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไฟร้อนแรงกำลังปะทุอยู่ภายใต้หลังคาหลังนั่้งร้านเหล่านั้น

เปลวไฟสีส้มแดงลามเลียตามออกมาในไม่ช้าไม่นาน ลามขยายวงใหญ่โตขึ้น ลามเลียสูงขึ้นเรื่อยๆ เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ

Advertisement

เจ้าหน้าที่ตำรวจฝรั่งเศสพุ่งเข้ามาในบริเวณ เริ่มต้นเป่านกหวีด ตะโกนเตือนทุกคนให้ขยับกลับออกมา ถึงตอนนั้น เปลวไฟเริ่มขยายวงและเพิ่มความสูงขึ้นเรื่อยๆ ลามเลียออกมาจากหลายๆ ส่วนของวิหาร

ทั้งนักท่องเที่ยวและบรรดาปารีเซียงในท้องถิ่นเองหยุดชะงัก ตะลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า หลายคนดึงโทรศัพท์ออกมาเริ่มต้นบอกเล่าเหตุการณ์กับคนใกล้ชิด

คนเป็นเรือนพันในภาวะช็อค ยืนบ้างนั่งบ้างตามแนวริมฝั่งและราวสะพานข้ามแม่น้ำแซน มองดูเปลวเพลิงลามผ่านหลังคาไม้ของมหาวิหารเก่าแก่แห่งนี้ จับตายอดแหลมสัญลักษณ์แห่งนอเทรอดาม ค่อยๆ ทิ้งตัว โค่นลงอย่างช้า สู่ทะเลเพลิงที่รอกลืนกินอยู่ด้านล่าง

Advertisement

ปารีเซียงสูงวัยบางคนเริ่มต้นร้องไห้ เมื่อตระหนักแน่แก่ใจในยามนั้นว่า อสังหาริมทรัพย์ล้ำค่า ที่เป็นมรดกของชาติกำลังสูญเสียไปต่อหน้าต่อตา

ฌ็อง-ลุยส์ มาร์แต็ง วัย 56 ปี ที่เกิดและเติบใหญ่ในปารีสซีกตะวันออก และทำงานอยู่กับมหาวิทยาลัยเจนีวา บอกออกมาในทันทีที่เปลวไฟทะลึ่งพรวดขึ้นกลบหลังคาและยอดแหลมไปจนหมดสิ้นว่า “เจ็บปวด”

ไม่มีคำพูดอื่นใดอีก นอกจากเจ็บปวดและตื่นกลัว

 

โศกนาฏกรรมจากไฟไหม้ที่สร้างความเสียหายชนิดหาค่ามิได้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เมื่อปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของบราซิล ในนครริโอเดอจาเนโร ก็ถูกพระเพลิงเผาผลาญ โบราณวัตถุทางวัฒนธรรมจำนวนมากสูญเสียไปในกองเพลิง ทำลายสำนึกประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของบราซิลไปอย่างไม่มีวันได้กลับคืน

กระนั้นเหตุการณ์ดังกล่าวก็ยังจำกัดในแง่ของอารมณ์ความรู้สึกสูญเสียอยู่บ้าง แตกต่างจากความรู้สึกสูญเสียที่คนฝรั่งเศสและแคทอลิกทั่วโลกรู้สึกต่อเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่ใจกลางกรุงปารีสครั้งนี้ เนื่องเพราะ มหาวิหารนอเทรอดาม ไม่ได้มีความสำคัญในแง่ของการเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่เท่านั้น ยังเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่ล้ำค่ามหาศาลทางจิตใจ นอกเหนือจากการผูกพันทับซ้อนซ้ำแล้วซ้ำอีกกับเหตุการณ์ในความทรงจำของผู้คนมากมายมหาศาลในช่วงอายุกว่า 8 ศตวรรษของสิ่งปลูกสร้างยิ่งใหญ่แห่งนี้

มอรีซ เดอ ซัลลีย์ บิช็อป แห่งปารีส เป็นผู้ริเริ่มก่อสร้าง มหาวิหารนอเทรอดาม ขึ้นบนพื้นที่เดิมซึ่งเคยเป็นโบสถ์คริสต์ปรักหักพังแห่งหนึ่งบนเกาะกลางลำน้ำแซนเมื่อปี คริสตศักราช 1160 การก่อสร้างดำเนินไปต่อเนื่องยาวนาน 182 ปีจึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ แม้ว่าส่วนสำคัญๆ ของวิหารแห่งนี้จะแล้วเสร็จในช่วงระหว่างปี 1163-1250 ก็ตาม

โครงสร้างหลักของมหาวิหารแห่งนี้เป็นหิน ส่วนหลังคาจึงเป็นคานไม้โอ้ครูปหน้าจั่ว ร้อยเรียงกันสลับซับซ้อนเป็นโครงข่ายแข็งแรงรองรับหลังคาทรงสูงแหลมตามแบบสถาปัตยกรรมโกธิค ร่วมสมัยเดียวกันกับพระราชวังเดิมแห่งเวสมินสเตอร์ แต่ยิ่งใหญ่กว่าและใหญ่โตโอฬารกว่ากันมาก

การก่อสร้างเป็นการระดมช่างฝีมือและช่างแกะสลักจำนวนนับไม่ถ้วนมาจากทุกสารทิศ ระดมกำลังกันใช้เวลาอวดฝีมือของตนสอดใส่ไว้ในสัดส่วนพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบอย่างเต็มที่ รายละเอียดแต่ละชิ้นทั้งของผนังหิน และรายละเอียดตกแต่งสลักเสลางดงาม เป็นการสะท้อนความคิดอิสระและฝีมือของแต่ละคนภายใต้กรอบจำกัดของงานออกแบบโดยรวม

เฉพาะความหลากหลายในส่วนนี้ก็ถือเป็นสิ่งที่หาได้ยากเย็นอย่างยิ่งแล้ว

มหาวิหารแห่งนี้จึงได้รับการยอมรับกันโดยปริยายว่าเป็นเสมือน “เครื่องหมายการค้า” ของสถาปัตยกรรมโกธิค ที่เกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของประวัติศาสตร์ยุโรป ทั้งๆที่ นี่ไม่ใช่มหาวิหารที่เป็นสถาปัตยกรรมโกธิคแห่งแรกแต่อย่างใด

(สถาปัตยกรรมโกธิคแรกสุดที่เป็นต้นแบบ คือ วิหาร บาซิลิกาแห่งแซงต์-เดนีส์ บริเวณชานกรุงปารีส ที่ก่อให้เกิดกระแสสร้างวิหารโกธิคขนานใหญ่ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส รวมทั้ง นอเทรอดาม อีกด้วย)

นอเทรอดาม ยกระดับงานสถาปัตยกรรมโกธิคขึ้นสู่อีกระดับหนึ่ง

สถาปนิกยอมรับและชื่นชมความยิ่งใหญ่ของนอเทรอดาม ในแง่ของความละเอียดประณีต นวัตกรรมในเชิงโครงสร้าง และผลงานที่อวดฝีมือศิลปินในการตกแต่งประดับประดาสร้างอลังการให้กับอาคารสูงใหญ่มหึมาได้หลากหลาย ใช้ประโยชน์จากแสงและเงาได้อย่างเหลือเชื่อ

รวมถึงการรังสรรค์หน้าต่างกระจกสีขนาดมหึมาที่อวดความงดงามอัศจรรย์ให้เกิดขึ้นเมื่อแสงตกกระทบอีกด้วย

วิคเตอร์ ฮูโก อาศัยมหาวิหารนอเทรอดามแห่งนี้ เป็นฉากสำคัญในท้องเรื่องของนวนิยายที่กลายเป็นงานวรรณกรรมชิ้นสำคัญของโลกอย่าง “นอเทรอดาม เดอ ปารีส์” (ใช้ชื่อฉบับแปลภาษาอังกฤษว่า “เดอะ ฮันช์แบ็ค ออฟ นอเทรอดาม) สร้างชื่อเสียงของมหาวิหารแห่งนี้ให้เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก

แต่ความสำคัญของนอเทรอดามในแง่ของการเป็นสัญลักษณ์ของชาติ เกิดขึ้นจากการดำรงอยู่ควบคู่กับกาลเวลามาเนิ่นนาน ผ่านประวัติศาสตร์ ผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ มากมายทั้งในส่วนของฝรั่งเศสและในส่วนของยุโรปทั้งมวล

สถานที่แห่งนี้คือสถานที่ประกอบพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์เลื่องชื่อมากมาย รวมทั้งจอมจักรพรรดิอย่าง นโปเลียน โบนาปาร์ต เคยได้รับความเสียหายอย่างหนักเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ที่ทั้งโลกรู้จักกันในนาม “การปฏิวัติฝรั่งเศส” เคยเป็นสถานที่จำขังชั่วคราวของพระนาง มารี อังตัวเนตต์ ก่อนถูกประหารชีวิตด้วยกีโยติน เคยรอดพ้นจากเหตุการณ์ลุกฮือครั้งใหญ่ของคอมมูนทั้งหลายในปี 1871

นอเทรอดาม ยังผ่านสงครามโลกมาได้ถึง 2 ครั้ง 2 คราว โดยแทบไม่ได้รับความเสียหายใดๆ นัก

 

ทุกวันนี้ นอเทรอดาม ไม่ได้เป็นเพียงแค่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่สุดของฝรั่งเศส แต่ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่สุดของยุโรปตะวันตก มีนักท่องเที่ยวเดินทางแวะเวียนมาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ไม่น้อยกว่า 13 ล้านคนต่อปี

ทั้งยังเป็นแหล่งจาริกทางศาสนาสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันแคทอลิก กว่า 8 ศตวรรษแล้วที่นอเทรอดาม ยังคงเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญๆ ทางศาสนาอยู่เป็นประจำ แต่ละปี ไม่น้อยกว่า 2,000 พิธี

ภายในยังสิ่งสำคัญสูงสุดทางศาสนาคริสต์อีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “มงกุฎหนาม” ซึ่งพระเยซูสวมใส่เมื่อครั้งถูกตรึงกางเขน มีเศษชิ้่นส่วนของไม้กางแขน และตะปู ที่ใช้ตอกเพื่อตรึงกางเขนเมื่อครั้งนั้นอีกด้วย

แอนน์ ฮิดัลโก นายกเทศมนตรีปารีส ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ นักดับเพลิงและคนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งพยายามชนิดเอาตัวเข้าแลกเพื่อรักษาวัตถุโบราณหาค่ามิได้เหล่านี้เอาไว้จนสำเร็จ

แต่ภาพจิตกรรมขนาดใหญ่บนผนังหลายภาพภายในมหาวิหารแห่งนี้ ใหญ่โตและหนักเกินไปสำหรับการนำลงมาเพื่อให้ปลอดภัยจากเปลวเพลิง!

 

ในแง่ของนักผจญเพลิง นอเทรอดาม ไม่ได้สร้างขึ้นมาโดยคำนึงถึงว่า เมื่อเกิดไฟไหม้แล้วจะดับได้ง่ายๆ ใดๆ ทั้งสิ้น ในทางตรงกันข้าม สภาพโดยธรรมชาติของสถาปัตยกรรมนี้ยิ่งเอื้อต่อการตกเป็นเหยื่อพระเพลิงมากที่สุด ซึ่งนั่้นคือเหตุผลที่ว่า ทำไม นักผจญเพลิงจำนวนร่วม 500 คนถึงต้องใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมง จึงสามารถควบคุมไฟไหม้ครั้งนี้เอาไว้ได้ และกว่าจะจัดการกับไฟได้โดยเบ็ดเสร็จก็กินเวลาถึง 9 ชั่วโมง

เกร็กก์ ฟาฟร์ อดีตนักดับเพลิงประจำสำนักงานดับเพลิงเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา อธิบายให้เห็นภาพว่า นอเทรอดาม มีสภาพเหมือนกับการก่อกำแพงหินขึ้นมา แล้วทำคานไม้รูปจั่วครอบไว้ด้านบน สำหรับเป็นกรอบรองรับหลังคาไม้ทั้งหมด คานไม้โอ้คเก่าแก่เหล่านี้คือปัญหาใหญ่ที่ทำให้นักดับเพลิงเสียเปรียบตั้งแต่ยังไม่เริ่มดึงหัวดับเพลิงออกมาด้วยซ้ำไป

ทางขึ้นสู่โครงสร้างไม้รองรับหลังคาดังกล่าวเป็นบันไดวนสลับซับซ้อน ซึ่งทำไม่ได้ในท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้

เหตุผลก็เพราะในทันทีที่ไฟเริ่มต้นไหม้ กำแพงหินจะกลายเป็นอุปสรรคแข็งแกร่งที่สุดสำหรับนักดับเพลิงที่จะเข้าไปถึงแหล่งที่เกิดไฟไหม้ขึ้นมา ในเวลาเดียวกัน ก็จะทำหน้าที่เป็นเสมือนกับดัก เก็บกักความร้อนและควันเอาไว้ภายใน กลายเป็นอุปสรรคอีกชั้นหนึ่งสำหรับนักผจญเพลิง

พร้อมกันนั้น ความสูงใหญ่ โอ่โถงของมหาวิหารแห่งนี้ ก็กลายเป็นแหล่งเติมออกซิเจนชั้นดีให้กับไฟ เกล็นน์ คอร์เบตต์ รองศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญวิทยาไฟไหม้ของ จอห์น เจย์ คอลเลจ ระบุว่า การมีออกซิเจนพิเศษดังกล่าวทำให้การทำงานของนักดับเพลิงซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เพราะเมื่อมีเชื้อเพลิง ไฟก็มักลุกโหมขึ้นไปในอากาศ ดึงเอาออกซิเจนที่อยู่ในที่จำกัดไปใช้ในการเผาผลาญ นักผจญเพลิงเองก็ไม่สามารถเข้าไปภายในได้ในทันที

นั่นคือเหตุผลที่ทำไม นักดับเพลิงจึงจำเป็นต้องหันมาใช้ “โคลอสซัส” หุ่นยนต์ดับเพลิงของบริษัท “ชาร์ค โรโบติค” มาช่วยในการต่อสู้กับไฟที่นอเทรอดามในครั้งนี้

การดับไฟทางอากาศไม่สามารถใช้การใดๆ ได้ในกรณีนี้ การใช้เครื่องบินโปรยสารเคมีดับไฟ ทำไม่ได้เพราะไม่มีนักบินคนไหนสามารถปล่อยสารดับเพลิงหรือน้ำลงสู่จุดเล็กๆ อย่างแม่นยำได้ขณะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วหลายร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง และเฮลิคอปเตอร์ ก็ไม่สามารถขึ้นบินเหนือท้องฟ้าเหนือมหาวิหารได้ เพราะไฟไหม้เผาอากาศในบริเวณนั้นจนเบาบาง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุซ้ำสอง

ที่สำคัญก็คือการทิ้งน้ำลงมายิ่งจะทำลายโครงสร้างและสิ่งตกแต่งภายในมหาวิหารมากขึ้นไปอีก

ฟาฟร์ ระบุว่า การที่นักดับเพลิงฝรั่งเศสสามารถควบคุมไฟไม่ให้ลุกลามต่อไปยังหอระฆังทั้งสองได้เหมือนอย่างที่ได้เห็นกัน จนสามารถรักษาส่วนใหญ่ของอาคารมหาวิหารแห่งนี้ไว้ได้ ถือว่าเป็นผลงานสุดยอดที่ใช้ความพยายามสูงอย่างยิ่งแล้ว

“ไปถามใครก็ได้ที่ทำมาหากินอยู่กับการดับเพลิง ทุกคนจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า นักดับเพลิงฝรั่งเศสกลุ่มนี้ควรยกย่องอย่างยิ่งแล้ว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image