คอลัมน์โกลบอลโฟกัส : เขื่อนจีนที่เมียนมา

ภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่ต้นน้ำอิรวดี (ภาพ-Bjorn Christian Torrissen/CC BY-SA 3.0/Wikipedia)

รายงานของ สกายลาร์ ลินด์เซย์ เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ อาเซียนทูเดย์ เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ระบุว่า รัฐบาลเมียนมาที่มาจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด กำลังดำเนินการเพื่อ “รีสตาร์ต” การก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดมหึมา ขวางกั้นบริเวณต้นน้ำของลำน้ำสำคัญสายหนึ่งของทวีปเอเชียอย่างแม่น้ำอิรวดี ในพื้นที่รัฐกะฉิ่น ทางตอนเหนือของประเทศเมียนมา

เป็นการรื้อฟื้นการก่อสร้างเขื่อนที่มีผู้ต่อต้านมากที่สุดแห่งหนึ่งเท่าที่ปรากฏมาในประเทศ มากขนาดที่แม้แต่รัฐบาลเผด็จการที่มีกองทัพหนุนหลังภายใต้การนำของประธานาธิบดี เต็งเส่ง ยังจำต้องยอมออกคำสั่งระงับการก่อสร้างเอาไว้ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2011 เรื่อยมา

แถมยังเป็นเขื่อนซึ่งพรรคสันนิบาติชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) เมื่อครั้งที่ยังเป็นฝ่ายค้าน เรียกร้องประชาธิปไตย เป็นพรรคที่ออกเสียงแข็งขันต่อต้านการก่อสร้างอย่างเด็ดขาด

นาง ออง ซาน ซูจี ผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งในทางปฏิบัติคือผู้นำสูงสุดของรัฐบาลเมียนมาชุดนี้ เดิมทีก็เคยคัดค้านโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์แห่งนี้ เคยให้การสนับสนุนชุมชนในท้องถิ่นในการรณรงค์เพื่อยับยั้งโครงการ ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่าโครงการนี้ส่งผลกระทบมหาศาลทั้งในทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

Advertisement

การคัดค้านของ “ผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตย” ของเมียนมาอย่างนางซูจี ในครั้งนั้น ได้รับการขานรับอย่างเห็นพ้องในระดับนานาชาติจนมีส่วนอย่าง “มีนัยสำคัญ” ทำให้โครงการถูกระงับไปในที่สุด

แต่เมื่อก้าวขึ้นมาบริหารประเทศด้วยตนเอง ท่าทีและวาทะกรรมเกี่ยวเนื่องกับเรื่องเขื่อนแห่งนี้ของนาง ซูจี เปลี่ยนแปลงไป

ลินด์เซย์ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ปรากฏให้เห็นชัดเจนอย่างยิ่ง หลังจาก ท่านที่ปรึกษาแห่งรัฐ เดินทางกลับจากการเข้าร่วม “เบลท์ แอนด์ โรด อินนิเชียทีฟ ฟอรัม” ที่ทางการจีนจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการระดับนานาชาติอย่าง แนวความคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (บีอาร์ไอ) ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อ 25 เมษายนที่ผ่านมา

Advertisement

เธอกลับมาบอกกับบรรดาชุมชนชาวกะฉิ่น ผู้ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการก่อสร้างเขื่อนยักษ์แห่งนี้ว่า “ทุกคนต้องใคร่ครวญในมุมมองของภาพรวมที่กว้างขวางเข้าไว้”

ราวกับกำลังพยายามบอกว่า เวลาเปลี่ยน ผู้คนควรเปลี่ยน ความคิดคนควรเปลี่ยนแปลงพลิกผันได้กระนั้น

แต่ชาวกะฉิ่น ยังคงเป็นชาวกะฉิ่น ยังคงคัดค้านเขื่อนยักษ์แห่งนี้ การชุมนุมประท้วงต่อต้านการสร้างเขื่อนครั้งล่าสุดเมื่อไม่นานที่ผ่านมา และครั้งก่อนหน้าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ยังคงเรียกผู้คนออกมาชุมนุมได้เป็นเรือนพันเรือนหมื่น

พวกเขายังเชื่อว่า ตราบเท่าที่ข้อเท็จจริงยังไม่เปลี่ยนแปลง ความคิดผู้คนก็ควรยึดมั่นถือมั่นในข้อเท็จจริงนั้น ไม่ว่าใครอื่นใดจะพลิกลิ้นตลบตะแลงไปอย่างไรก็ตามที

 

เขื่อนยักษ์เจ้าปัญหาแห่งนี้คือเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ “มิตโสน” กำลังการผลิตไฟฟ้า 6,000 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 3,600 ล้านดอลลาร์ที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากจีน กำหนดที่จะสร้างขึ้นในบริเวณใกล้กับจุดบรรจบของแม่น้ำเมลิคะกับแม่น้ำเมคะ อันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำอิรวดี เพียงไม่กี่มากน้อย

ห่างจากเมือง มิตจีนา เมืองเอกของรัฐกะฉิ่นเพียง 37 กิโลเมตร!

“มิตโสน” เป็นหนึ่งในอย่างน้อย 7 เขื่อน ที่ทางการจีนจ่ายเงินสนับสนุนให้รัฐบาลเมียนมาดำเนินการก่อสร้างตามเส้นทางลำน้ำอิรวดี แม่น้ำที่สำคัญที่สุดสายหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย

เขื่อนยักษ์แห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นเขื่อนที่ถูกต่อต้านมากที่สุด ไม่เพียงจากบรรดาชาวกะฉิ่นในท้องถิ่น ที่ตกเป็นเหยื่อโดยตรงเพราะถูกบังคับให้โยกย้ายออกไปจากถิ่นฐานเดิมที่ใช้ชีวิตอยู่แต่อ้อนแต่ออก ไม่น้อยกว่า 15,000 คนเท่านั้น ผลการศึกษาของ สำนักรัฐศาสตร์แห่งย่างกุ้ง ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของชาวเมียนมาทั่วประเทศเมื่อปลายปี 2016 ยังพบว่า ชาวเมียนมา ต่อต้านการสร้างเขื่อนแห่งนี้มากถึง 85 เปอร์เซ็นต์

เหตุผลของคนที่ต่อต้านเขื่อนแห่งนี้ มีทั้งที่เกิดจากตัวเขื่อนโดยตรง และมีไม่น้อยที่มองการสร้างเขื่อนแห่งนี้และอีกหลายๆ แห่ง ทั่วประเทศ (จีนมีโครงการสนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนอีก 7 เขื่อนตามแนวลำน้ำสาละวิน) ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการคุกคาม และมีอิทธิพลครอบงำของรัฐบาลจีน

นอกจากผู้คนต้องอพยพ และถิ่นฐานพักพิงที่เป็นประวัติศาสตร์ อย่างเช่นในกรณีของ หมู่บ้าน อองมินทาร์ อันเป็นสถานที่ตั้ง คริสตจักรแบ็บทิสต์กะฉิ่น “นยุต ลุง” จะถูกกลืนหายไปกับสายน้ำ พร้อมๆ กับมรดกทางธรรมชาติอื่นๆ สาธุคุณ มาริป บอว์ค ซาน ครูสอนศาสนาชาวกะฉิ่น จากโบสถ์แบ็บทิสต์กะฉิ่น “นยุต ลุง” บอกเอาไว้ว่า

“หมู่บ้านของผม แผ่นดินเกิดของผม สถานที่ที่เป็นประวัติศาสตร์ ทรงคุณค่าที่สุดของสำหรับชาวกะฉิ่นทั้งหมดและมรดกทางธรรมชาติของพวกเราทุกคนจะถูกลบหายไปในพริบตา”

ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมก็ย่ำแย่และต่อเนื่อง ร้ายแรงไม่น้อยไปกว่ากัน

บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) องค์การทางการเงินระหว่างประเทศในเครือเดียวกันกับธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เคยให้ทุนศึกษาวิจัยเพื่อประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในเมียนมาทั้งหมด ได้ผลลัพธ์ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อปี 2018 ที่เน้นให้ความสำคัญสูงมากต่อเขื่อนมิตโสนจนกลายเป็นส่วนสำคัญของรายงานชิ้นดังกล่าว

รายงานชิ้นที่ว่านี้บอกเอาไว้ว่า แผนก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ที่มีอยู่ในเวลานี้ “จะเปลี่ยนระบบอุทกวิทยาของแม่น้ำ (อิรวดี), การเคลื่อนย้ายตะกอนแม่น้ำ, ธรณีสัณฐานของแม่น้ำจะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง…การเชื่อมต่อระหว่างลำน้ำต่างๆจะถูกตัดขาด ระบบการไหลของน้ำในแม่น้ำถูกปรับเปลี่ยน และสภาพการตกตะกอนในท้องน้ำจะขยายขนาดขึ้น ส่งผลกระทบต่อสภาพริมฝั่งและระบบนิเวศทางน้ำไปทั่วทั้งภูมิภาค”

แต่ขณะที่ผลกระทบทุกด้านร้ายแรงถึงขนาดนั้น เขื่อนใหญ่แห่งนี้กลับไม่ได้เป็นเขื่อนที่ตอบสนองหรือเอื้อประโยชน์ต่อชาวเมียนมาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะ 90 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งขายให้จีนตามสัญญากู้

ทั้งๆ ที่ในจำนวนประชากรทั้งหมดทั่วประเทศของเมียนมานั้น มีเพียง 44 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีไฟฟ้าใช้กันในเวลานี้

 

ความพยายามผลักดันให้รื้อฟื้นโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมิตโสนของรัฐบาลเมียนมา ไม่เพียงก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับ ประชาชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง, ภาคประชาสังคมในระดับชาติ ที่ตัดสินใจร่วมมือกับคนในท้องถิ่นเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการยักษ์นี้ แต่ยังสร้างความผิดหวัง อึดอัดคับข้องใจไม่น้อยกับสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีเองหลายคน ที่แสดงออกอย่างชัดเจนเอนเอียงเข้าข้างชุมชนท้องถิ่นในการต่อต้านการสร้างเขื่อนมิตโสน

ข้อเท็จจริงทั้งหลายที่เกี่ยวกับเขื่อนยักษ์นี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากผลกระทบในทางลบที่มากมายมหาศาล แต่รัฐบาลเมียนมา กำลังเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูโครงการนี้ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อปีที่ผ่านมา มีการจัดตั้งคณะกรรมการ 20 คน มี อู ที คุน เมียต ประธานสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ดำเนินการสำรวจเพื่อจัดทำรายงานเกี่ยวกับเขื่อนที่ถูกกำหนดว่าจะสร้างกั้นลำน้ำอิรวดีทั้งหมดจนแล้วเสร็จ แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่มีการเผยแพร่ผลลัพธ์ของการสำรวจที่ว่านั้นออกมา

ออง ซาน ซูจี เอง พูดถึงเรื่องโครงการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้เอาไว้ผิดแผกไปจากเดิมมากมายว่า การตัดสินใจขั้นสุดท้ายใดๆ เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนนี้ ต้องดีพร้อมทั้งทางด้านการเมือง, สังคม, เศรษฐกิจ, สภาวะแวดล้อม และในขณะเดียวกันก็ต้องยั่งยืนอีกด้วย

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า ซูจี หมายความว่าอย่างไร แต่พอได้รับฟังท่าทีใหม่ ทุกคนก็เล็งเห็นความยากลำบากอยู่เบื้องหน้า

“คอน จา” ตัวแทนของกลุ่มกะฉิ่นเพื่อกระบวนการสันติ (เคพีพี) องค์กรภาคประชาสังคมที่ต่อต้านการก่อสร้าง ยอมรับว่า ถ้ารัฐบาลเอ็นแอลดี ตัดสินใจรื้อฟื้นโครงการนี้ ก็เท่ากับว่า ชาวกะฉิ่นเองต้องตกที่นั่งลำบากกว่าที่เป็นมา เพราะต้องต่อสู้กับทุกฝ่ายรอบทิศทาง ตั้งแต่ ทางการจีน, รัฐบาลเอ็นแอลดี, ผู้ที่สนับสนุนเอ็นแอลดี เรื่อยไปจนถึงกองทัพและกองกำลังที่เข้ามาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในการสร้างเขื่อน

ในขณะเดียวกัน นักวิชาการ อย่าง เค. ยะโฮเม จากมูลนิธิเพื่อการวิจัยและสังเกตการณ์ เตือนรัฐบาลเมียนมาเอาไว้ด้วยว่า แผนสันติภาพซึ่งจีนเคยผลักดันนักหนาระหว่าง องค์การกะฉิ่นอิสระ (เคไอโอ) และกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ จะลุกเป็นไฟตามมาในทันที

“กลุ่มติดอาวุธอย่างองค์การกะฉิ่นอิสระ คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนอย่างแรงกล้า เช่นเดียวกับกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ในรัฐกะฉิ่น การรื้อฟื้นโครงการขึ้นมาใหม่จะจุดชนวนขัดแย้งใหม่ขึ้นตามมา” ยะโฮเมระบุ

ผลลัพธ์ที่กระต่อเนื่องตามกันไปอีกก็คือ กระบวนการเจรจาสันติภาพและกระบวนการเพื่อประชาธิปไตยในเมียนมาจะยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้น

ส่งผลกระทบในทางลบอย่างร้ายแรงต่ออนาคตทางการเมืองของประเทศเลยทีเดียว

ประเด็นที่น่าสนใจอย่างมากก็คือเมื่อปลายปี 2018 ที่ผ่านมา หง เหลียง เอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมา เดินทางไปเยือนรัฐกะฉิ่น ไม่เพียงแต่พยายามกดดันให้บรรดาผู้นำของ กะฉิ่น แบ็บติสต์ คอนแวนต์ (เคบีซี) ให้การสนับสนุนโครงการมิตโสนเท่านั้น ยังกลับออกมาอ้างด้วยว่า ชาวกะฉิ่นในพื้นที่ให้การสนับสนุนโครงการนี้อย่างท่วมท้น

ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว การต่อต้านเขื่อนมิตโสนในรัฐกะฉิ่นยังแรงกล้า เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

นอกจากนั้นทางการปักกิ่งยังพยายามเข้ามามีบทบาทในการเจรจาสันติภาพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดาว ฮกา ตัวแทนของเคไอโอ เล่าว่า จีนถึงกับตั้งตัวเป็นเจ้าภาพการเจรจาสันติภาพเมื่อต้นปี 2013 แล้วพยายามผลักดันให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในกะฉิ่น ยอมรับแนวทางแก้ไขความขัดแย้งกับกองทัพเมียนมาโดยเร็วและโดยไม่ต้องตั้งเงื่อนไขล่วงหน้า

“(ตัวแทนจีน)ต้องการเห็นความขัดแย้งยุติเร็วๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เร็วภายใต้สายตาของพวกเขายิ่งดี พวกเขาไม่อยากให้เราเชิญใครๆมาอีก อเมริกา อังกฤษหรือแม้แต่สหประชาชาติ”

ปี 2015 จีนถึงกับเคยเสนอจะให้เงินสนับสนุน 3 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้มีการจัดการเจรจาใหม่ขึ้นมาอีกรอบระหว่างรัฐบาลกับ กองทัพกะเหรี่ยงอิสระ (เคไอเอ) ปีกทหารของเคไอโอ

เหตุผลนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เขื่อนมิตโสนและอีกหลายเขื่อนที่จะตามมาเท่านั้น ยังเป็นเพราะจีนกำลังทุ่มเงินอีก 3 ล้านดอลลาร์ สร้างเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขึ้นในมิตจีนา พร้อมๆ กับอีก 5 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับเมียนมาขึ้นที่ กันพิเคติ เมืองที่อยู่ในเขตพิเศษที่ 1 ของรัฐกะฉิ่น ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของกองกำลังติดอาวุธอีกกลุ่ม ที่เรียกตัวเองว่า กองทัพประชาธิปไตยใหม่กะฉิ่น (เอ็นดีเอเค) ทั้งสองเขตอุตสาหกรรมเป็นห่วงโซ่ที่สำคัญส่วนหนึ่งของ บีอาร์ไอ เส้นทางสายไหมใหม่ของจีนนั่นเอง

คำถามที่ชวนคิดในเวลานี้ก็คือ รัฐบาลและออง ซาน ซูจี จะยอมเปลี่ยนจุดยืนของตัวเอง ว่าด้วยหายนะทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงยอมทิ้งแผนสันติภาพเพื่อเขื่อนมิตโสนนี้เลยหรืออย่างไรกัน?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image