คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ไม่มีลูกเพราะไม่อยากซ้ำเติมสภาพอากาศ!

Getty Images

มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวจำนวนมากที่ร่วมกันรณรงค์ต่อสู้ให้คนในสังคมโลกตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่และร่วมกันหาทางแก้ปัญหา ป้องกันและลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อชะลอหรือไม่ให้สถานการณ์ปัญหาเลวร้ายลงไปมากกว่านี้

ตอนนี้มีแนวทางหนึ่งที่มีการถกเถียงเป็นวงกว้างนั่นคือ การเลือกที่จะไม่มีลูก ไม่ผลิตประชากรเพิ่ม อย่างเช่น เวเรนา บรุนชไวเกอร์ ครูสาวชาวเยอรมันที่เป็นหนึ่งในคนที่ตัดสินใจไม่มีลูกเพื่อแก้ปัญหานี้ ซึ่งเธอเปิดเผยกับธอมป์สันรอยเตอร์ ฟาวน์เดชั่นว่าตนเองตัดสินใจจะไม่มีลูกหลังจากแต่งงานได้ไม่นาน ไม่ใช่เพราะไม่อยากมีลูก แต่เป็นเพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้องที่จะซ้ำเติมปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศด้วยการเพิ่มประชากรบนโลกมากขึ้น

บรุนชไวเกอร์เป็นส่วนหนึ่งในแนวร่วมของกลุ่มผู้หญิงและคนหนุ่มสาวที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งลั่นวาจาว่าจะไม่มีครอบครัวเพราะห่วงวิตกต่อวิกฤตปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าประชากรโลกหลายร้อยล้านคนอาจจะได้รับผลกระทบภายในปีค.ศ.2050 หากยังไม่มีการดำเนินมาตรการใดๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อภาวะโลกร้อน และภัยพิบัติเลวร้ายอื่นๆตามมา ทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ผู้คนตกอยู่ในความยากจน หิวโหย และขาดแคลนน้ำ เป็นต้น

บรุนชไวเกอร์และกลุ่มคนที่มีแนวคิดไม่อยากมีลูกเพราะไม่ต้องการซ้ำเติมปัญหานี้ มองว่าเป็นการไร้ความรับผิดชอบในการเพิ่มประชากรโลกให้มากขึ้นอีก ที่คาดว่าจะเพิ่มจาก 7,600 ล้านคนในปี 2017 เป็นเกือบ 10,000 ล้านคนภายในปี 2050 ซึ่งจะยิ่งสร้างความกดดันให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นและทำให้ทรัพยากรโลกยิ่งขาดแคลน

Advertisement

แต่ผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ตัดสินใจเลือกไม่มีลูก เพราะกลัวว่าผลพวงจากปัญหานี้จะตกทอดไปถึงลูกหลานให้ต้องอยู่ท่ามกลางอนาคตที่สิ้นหวัง หนึ่งในนักเคลื่อนไหวในกลุ่มนี้เช่น บลาย เพพพิโน นักร้องและนักเคลื่อนไหวชาวอังกฤษ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรณรงค์ “เบิร์ธสไตร์ค” ที่ประกาศเจตนารมณ์จะไม่มีลูกเนื่องจากจะก่อให้เกิดผลกระทบเลวร้ายต่อระบบนิเวศวิทยาโลก ในท่ามกลางความเฉื่อยชาของภาครัฐในการแก้ปัญหานี้

เพพพิโนบอกว่าเมื่อรับรู้ถึงความเป็นไปได้ว่าเราไม่ได้กำลังมุ่งไปสู่อนาคตที่ปลอดภัย ทำให้เธอเริ่มตระหนักว่าการมีลูกดูเหมือนจะไม่ได้เป็นทางเลือกที่สมเหตุผลมากพอนัก และการตั้งกลุ่มเบิร์ธสไตร์คขึ้นมาก็เพื่อที่จะส่งสารอย่างหนักแน่นถึงผลกระทบของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการแสดงให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของกลุ่มคนที่ตระหนักถึงผลลัพท์ของปัญหานี้

ความห่วงกังวลในเรื่องนี้จุดข้อถกเถียงขึ้นอีกครั้งถึงผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก ซึ่งกรณีศึกษาหนึ่งในปี 2017 ที่ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีต่อเด็กและลูกหลาน พบว่าการมีลูกน้อยลง 1 คนของคนในประเทศแล้ว จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ โดยจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯลงได้ถึงปีละ 58 ตัน

Advertisement

อย่างไรก็ดียังไม่มีข้อมูลที่แพร่หลายมากนักถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างความห่วงกังวลต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศว่ามีผลต่อภาวะเจริญพันธุ์และอัตราการเกิดหรือไม่ โดยขณะที่มีการชี้ว่าสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ค่อนข้างมีความซับซ้อน แต่ผลสำรวจที่มีการจัดทำหลายครั้งยังให้ข้อเสนอแนะว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นเรื่องที่กลุ่มคนหนุ่มสาวห่วงวิตกอย่างจริงจังในการคิดที่จะสร้างครอบครัว ดังผลสำรวจของบิสเนส อินไซเดอร์ที่สำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันกว่า 1,000 คนในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาพบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มคนอายุระหว่าง 18-44 ปี จะพิจารณาถึงปัญหาสภาพอากาศด้วยในการตัดสินใจว่าจะมีลูกหรือไม่

คล้ายกับผลสำรวจของ “ออสเตรเลียน คอนเซอร์เวชั่น ฟาวน์เดชั่น” ร่วมกับกลุ่ม “1 มิลเลียน วีเมน” ที่ทำการสำรวจผู้หญิงชาวออสเตรเลียจำนวน 6,500 คน พบว่า 33 เปอร์เซ็นต์บอกว่าต้องทบทวนเรื่องการคิดมีลูกหรือมีสมาชิกใหม่ในครอบครัวเพิ่มขึ้นเสียใหม่ เนื่องจากเกรงว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะทำให้อนาคตของลูกหลานไม่มีความปลอดภัย!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image