คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : พลอง กระสุนยาง แก๊สน้ำตา กับความท้าทายที่”แอดมิรัลตี้”

(ภาพ-Athit Perawongmetha/Reuters)

คอลัมน์ โกลบอลโฟัส : พลอง กระสุนยาง แก๊สน้ำตา กับความท้าทายที่ “แอดมิรัลตี้”

เอฟรี เฉิง น้ำตาไหลพราก ทรุดตัวลงกับพื้น อากาศโดยรอบบนทางเดินโอเวอร์พาสยังอวลไปด้วยกลิ่้นอายของแก๊สน้ำตา ผู้ประท้วงกลุ่มใหญ่ ล้วนยังเยาว์วัยในเสื้อยืดสีดำ สวมหน้ากากอนามัยวิ่งเต็มสปีดผ่านไปวูบวาบอยู่โดยรอบ สาดน้ำใส่ดวงตาไปพลาง ไอโขลกๆ ไปพลาง

เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบปราบจลาจล สืบเท้าเป็นจังหวะเข้าหาฝูงชนที่กำลังวิ่งหนี ลั่นกระสุนยาง กระสุนถุงตะกั่ว (bean bag) และกระป๋องแก๊สน้ำตาไล่ตามมาเป็นระลอก เมื่อเข้าระยะประชิดก็ชาร์จเข้าใส่ผู้ประท้วงที่ส่วนใหญ่คือวัยรุ่นหนุ่มสาวด้วยพลองและสเปรย์พริกไทย

กลุ่มผู้ประท้วงวิ่งพลางเช็ดหน้าป้ายตาไปพลาง เมื่อได้ระยะก็หยุดแล้วหันกลับมาตะโกนคำขวัญที่พวกเขาตะโกนมาทั้งวันนั้น “ถอนออกไป! ถอนออกไป!” ก่อนหันกลับไปออกวิ่งอีกครั้งเมื่อแถวเจ้าหน้าที่รุกคืบเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

“โหดหมดจดจริงๆ” เฉิง บอกกับ อลิซ ซู ผู้สื่อข่าวของลอสแองเจลิส ไทม์ส

Advertisement

เด็กหนุ่มอายุเพียง 19 ปี เดินทางมายัง ศูนย์นิติบัญญัติแห่งฮ่องกงตั้งแต่เช้าของวันที่ 12 มิถุนายน เพื่อเข้าร่วมกับผู้คนอีกเป็นเรือนแสนประท้วงความพยายามของสภานิติบัญญัติฮ่องกงที่กำหนดจะพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบ ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนฉบับเดิมในวันนั้น

ร่างกฎหมายอื้อฉาวฉบับดังกล่าวซึ่งถูกต่อต้านจากทุกภาคส่วนในฮ่องกงมานับตั้งแต่มีการเปิดเผยออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเดิมว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ให้ศาลมีอำนาจชี้ขาดให้ส่งตัว “ผู้ร้าย” ให้กับประเทศหรือเขตปกครองอื่นใด ซึ่งไม่ได้มีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนอยู่กับฮ่องกงได้

ตัวอย่างเช่น มาเก๊า, ไต้หวัน และ จีนแผ่นดินใหญ่ เป็นต้น

Advertisement

ชาวฮ่องกงเชื่อว่าร่างกฎหมายใหม่นี้จะถูกนำมาใช้อย่างบิดเบือนโดยทางการจีนเพื่อนำตัวผู้ที่ต่อต้านและผู้ที่แสดงความคิดเห็นเป็นปฏิปักษ์ต่อทางการจีนไปดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมของจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่ง “ขาดความน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง” ในแง่ของความเป็นธรรม โปร่งใสและยุติธรรม

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ทนายและนักกฎหมายหลายพันคน รวมทั้งมือกฎหมายระดับผู้เชี่ยวชาญสูงสุดของฮ่องกง รวมตัวกันเดินขบวนประท้วงอย่างเงียบๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านความพยายาม “รวบรัด” และ “เร่งรีบ” ผ่านร่างกฎหมายนี้ของสภาฯและรัฐบาลเขตปกครอง

ผู้คนอีกเป็นจำนวนมากบนเกาะฮ่องกง เชื่อและกลัวว่า หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านออกมาบังคับใช้ เสรีภาพในการแสดงออก และ เสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งฮ่องกงยังคงรักษาเอาไว้ได้ในฐานะเป็นเขตปกครอง “พิเศษ” จะสิ้นสุดลง

“ฮ่องกง” ที่พวกเขาคุ้นเคยก็จะตายตามไปด้วยในที่สุด

******

ผู้ประท้วงเป็นเรือนพันเดินทางมายังศูนย์นิติบัญญัติตั้งแต่คืนวันที่ 11 มิถุนายน บางกลุ่มในจำนวนนี้คือบรรดาบาทหลวงจากคริสตจักรจำนวนหนึ่ง ซึ่งจับกลุ่มกันอยู่แถวหน้าเผชิญหน้ากับแนวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผลัดกันสวดภาวนาตั้งแต่ 3 ทุ่มต่อเนื่องไปจนอรุณรุ่งเบิกฟ้า ขณะที่ในมือถือดอกไม้ขาวเป็นสัญลักษณ์โบกไปมา

ไรอัน ซ่าง บาทหลวงวัย 26 ปี บอกเหตุผลของการสวดเอาไว้ว่า ต้องการเตือนให้พวกเขาตระหนักว่า เหนือพวกเขาทั้งหลายยังมีพระเป็นเจ้า ผู้ทรงยุติธรรม ผู้ทรงรู้เห็น การกระทำทุกอย่าง คำโกหกทุกคำ

หญิงวัยกลางวัยรายหนึ่ง ยืนแผ่นปลิวขนาดเล็กแจกจ่ายไปทั่ว ภายในมีข้อความเป็นคำแนะนำในการปฏิบัติตัวระหว่างชุมนุม หมายเลขโทรศัพท์เพื่อขอรับความช่วยเหลือ “ฟรี” ทางกฎหมายในกรณีที่ถูกจับกุม “โทนี” กับ “จอห์น” เด็กหนุ่มวัย 22 ปี เข้ามาช่วยเหลือแจกจ่ายอีกแรง

“คนเป็นล้านออกมา แต่ยังไม่มีผล พวกเราก็ต้องยกระดับการดำเนินการของเรา ต้องรุกมากขึ้น นี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่เราสามารถยืนหยัดอย่างนี้ได้ก็เป็นได้” โทนีบอก
การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไปอย่างสงบ และสันติ แม้ว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจทะยอยเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และมีการตั้งจุดตรวจบัตรประจำตัวบริเวณสถานีรถไฟฟ้าโดยรอบก็ตาม
ถึง 08.30 น. จำนวนผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นคน พื้นที่บริเวณโดยรอบศูนย์นิติบัญญัติ เริ่มคลาคล่ำ ลามออกมายังบริเวณถนนฮาร์คอร์ต, ทิม เม่ย อเวนิว, ทิม วา อเวนิว เรื่อยไปจนถึงถนนลุง โว ปิดล้อมเส้นทางเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งฮ่องกงได้ชะงัด

พื้นที่โดยรอบศูนย์นิติบัญญัติ คือย่านดาวน์ทาวน์ของฮ่องกง เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจและการเงิน มีทั้งห้างสรรพสินค้าและธนาคารหลายแห่ง สถาบันการเงินทั้งหมดต้องปิดทำการ ในขณะที่ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งลุกลามไปยังพื้นที่ของห้างสรรพสินค้า

มอร์แกน ชาน อายุ 17 ปี เดินทางมาเข้าร่วมการประท้วงกับ โจโจ้ ชาน พี่สาววัย 19 ปี อาศัยมุมหนึ่งของช็อปปิ้ง มอลล์ อ่านวรรณกรรมปฏิวัติ “เรื่องจริงของอาคิว” ของนักเขียนชาวจีนแผ่นดินใหญ่ “หลู่ ซิ่น” หาแรงบันดาลใจ เขาบอกว่า เป็นเรื่องราวของ “คนโง่” ในอดีตที่หลงไว้เนื้อเชื่อใจรัฐบาลที่ “ขึ้นบัญชีดำ” แบบละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่ง “เหมือนกับในเวลานี้ไม่มีผิด”

“ผมรู้ว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยนใจรัฐบาล แต่ก็คิดเหมือนกันว่า เราต้องทำอะไรสักอย่าง…อย่างน้อยเราก็จำเป็นต้องลอง”

******

การชุมนุมใหญ่ที่ฮ่องกงเพื่อต่อต้านการดำเนินงานของรัฐบาลครั้งนี้ ทำให้หลายคนคิดไปถึงขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2014 ที่รู้จักกันในเวลาต่อมาในชื่อ “อัมเบรลลา มูฟเมนท์” หรือที่บางคนเรียกว่า “ขบวนการ ออคคิวพาย” แต่น่าสังเกตว่า ผู้ชุมนุมซึมซับบทเรียนและเรียนรู้ยุทธวิธีจากการชุมนุมในอดีตมาปรับใช้ได้เป็นอย่างดี

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ซีวิล ฮิวแมนไรท์ ฟรอนท์” (แนวร่วมเพื่อสิทธิมนุษยชนพลเรือน-ซีเอสเอฟ) เป็นผู้จัดการชุมนุมทั้งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนและเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน เก็บตัวเงียบกริบ ไม่เปิดเผยตัว ไม่แม้แต่จะออกมานำการชุมนุมประท้วงครั้งนี้ ซีเอสเอฟเพียงตั้งเวทีเล็กๆ ขึ้นด้านหน้า ซีติค ทาวเวอร์ ห่างจากจุดชุมนุมไกลโข และมีเพียง จิมมี่ ชัม ทำหน้าที่อยู่ตามลำพัง ขอบคุณชาวฮ่องกงที่เข้าร่วมในการแสดงออกครั้งนี้ เท่านั้นเอง

จิมมี่ ชัม ไม่ได้เรียกร้องให้ทุกคนเดินทางไปร่วมชุมนุม เขายืนยันว่า มีเพียง แคร์รี หล่ำ ผู้ว่าการฯ คนเดียวก็เรียกคนได้มากมายมหาศาลแล้ว

ในขณะเดียวกันผู้ที่อยู่เบื้องหลังแนวร่วมฯใหม่นี้นับร้อยคน ประสานงาน แผนการ แนวคิดและกำหนดขั้นตอนทั้งหลายกันอย่างละเอียดด้วยการสื่อสารแบบเข้ารหัสผ่านแอพพ์ เทเลแกรม กับ วอทส์ แอพพ์ อยู่ตลอดเวลา

การชุมนุมไร้ผู้นำ แต่มีการจัดระเบียบและจัดสรรงานกันเป็นอย่างดี ในทันทีที่ยึดพื้นที่ได้โดยรอบ หน่วยเสบียงเริ่มจัดตั้งสถานีเสบียงขึ้นเป็นระยะๆ พร้อมข้าวของจำเป็นพร้อมสำหรับแจกจ่าย ตั้งแต่ น้ำ, กระดาษชำระ, ร่ม, หน้ากากดำน้ำ, หน้ากากอนามัย ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นของจำเป็นสำหรับใช้รับมือกับแก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทย หลังจากนั้นแนวลำเลียงข้าวของเพื่อแจกจ่ายไปจนถึงแนวถนนก็เกิดขึ้นตามมา เช่นเดียวกับกลุ่มอาสา ที่รับหน้าที่เก็บรวบรวมขยะและศูนย์รีไซเคิล

มีแม้แต่ผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลเส้นทางสัญจรไปมา รวมถึงบรรดา “แมวมอง” ที่ทำหน้าที่จับตาความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะ

บนเส้นทางเดินเท้า โอเวอร์พาส ผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งประกาศการอดอาหารเพื่อการประท้วง บางคนขออดอาหาร 24 ชั่วโมง อีกบางคนประกาศจะอดอาหารให้ครบ 103 ชั่วโมง เป็นสัญลักษณ์ตอบแทนผู้ชุมนุม 1 ล้าน 3 หมื่นคนเมื่อสุดสัปดาห์ จิมมี่ ชอย ภัณฑารักษ์ วัย 71 ปี คือหนึ่งในจำนวนนั้น

“เด็กหนุ่มสาวเหล่านี้รู้ดีว่ากำลังทำอะไรอยู่ ผมภูมิใจกับพวกนี้นะ” ชอยยืนยัน

เจสซิกา เหยิง อาจารย์วัย 50 ปีเป็นอีกคนที่ร่วมอดอาหารประท้วง เธอบอกว่า ใครต่อใครมักคิดว่าคนฮ่องกงชอบแต่จะทำงานทำการ ไม่สนใจการเมือง ซึ่งไม่จริง

“คนฮ่องกงมีการศึกษา เรารู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเรา และรู้ชัดเจนว่าขีดจำกัดของเราอยู่ตรงไหน รัฐบาลทำอย่างนี้กับเราไม่ได้ เรารู้สิทธิชอบธรรมของเราดี ดีมากด้วย”

******

อลิซ ซู บอกว่าที่ชุมนุมมีการเฉลิมฉลองย่อยๆ ขึ้นเมื่อราวเที่ยงวัน ตอนที่ได้รับทราบแน่ชัดว่า สภานิติบัญญัติแห่งฮ่องกง ประกาศเลื่อนการพิจารณาร่างกฎหมายเจ้าปัญหาในวันนั้นออกไป ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ยังคงตัดสินใจปักหลักประท้วงต่อ เพราะไม่แน่ใจว่าถ้าหากสลายการชุมนุมแล้ว จะมีการเรียกประชุมแล้วรวบรัดพิจารณาต่อหรือไม่

ฝนยามบ่ายเริ่มต้นโปรยปรายลงมา ร่มสารพัดสีผุดสะพรั่ง เหมือนดอกไม้พลันเบ่งบานบนท้องฟ้าเหนือศีรษะฝูงชน

หนึ่งในผู้ชุมนุมประท้วงคือกลุ่มนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งทำงานเพื่อช่วยเหลือคนที่ยากจนที่สุด คนที่มีรายได้น้อยที่สุดบนเกาะฮ่องกง บ่อยครั้งที่ต้องทำหน้าที่กระตุ้นให้คนเหล่านั้นได้ตระหนักว่า ตนเองถูกปฏิบัติต่อจากทางการอย่างไม่เป็นธรรม หรือ ผิดๆ อย่างไร พวกเขาเชื่อว่าคนเหล่านี้คือหนึ่งในกลุ่มที่เสี่ยงสูงสุดจากกฎหมายใหม่นี้

“ถ้ากฎหมายนี้ผ่านออกมา คุณทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว เพราะรัฐบาลจีนสามารถทำทุกอย่างได้ตามใจชอบ แล้วนำตัวคุณไปที่นั่น ใช้ศาลที่นั่น จบกัน” คี หลอ นักสังคมสงเคราะห์วัย 30 ปีบอก

ความตึงเครียดเริ่มแผ่ขยายและเพิ่มระดับสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป หลังจากมีการกระจายข่าวว่า ผู้ประท้วงขีดเส้นตายให้รัฐบาลฮ่องกง ถอนร่างออกไปภายใน 15.00 น. ไม่เช่นนั้นจะขยายการชุมนุม ปิดกั้นการจราจร และอาจจะตัดสินใจบุกเข้าไปนั่งประท้วงถึงในสภานิติบัญญัติ

15.30 น. เส้นตายผ่านเลยไป ขณะผู้ชุมนุมเริ่มก่อหวอดรวมตัวกันหนาแน่นมากขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบปราบจลาจลพร้อมอุปกรณ์เต็มพิกัดก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเช่นเดียวกัน พร้อมกับจัดแถวสืบเท้าออกมาโดยรอบแนวโอบล้อมรอบศูนย์นิติบัญญัติ

เป้าหมายคือกันผู้ประท้วงออกไปจากการปิดล้อม

การปะทะ เกิดขึ้นหลายจุดแทบจะพร้อมๆ กัน โดยรอบบริเวณศูนย์นิติบัญญัติ ในบางจุด ผู้ประท้วงใช้จำนวนที่มากกว่าพยายามบุกเข้าไปหาตัวอาคาร มีขวดน้ำเป็นอาวุธหลักเบิกทาง ในบางจุด เจ้าหน้าที่ตำรวจรุกคืบหน้าอย่างรวดเร็ว พลองในมือชูสูง ขณะประคองโล่กำบังตัว บางส่วนเริ่มใช้สเปรย์พริกไทย

แล้วการยิงแก๊สน้ำตาก็เกิดขึ้นตามมา ต่อด้วยกระสุนยาง และกระสุนถุงตะกั่ว

เมื่ออาทิตย์ตกดิน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ผลักดันผู้ชุมนุมออกไปจากพื้นที่โดยรอบศูนย์นิติบัญญัติแห่งฮ่องกงได้แล้ว แนวต้านแห่งใหม่ของผู้ชุมนุมร่นออกไปไกลในย่านใจกลางธุรกิจ

หน้ากากหลากหลายรูปแบบทิ้งกระจัดกระจาย สลับกับแผ่นป้ายประท้วง และกระป๋องแก๊สน้ำตาใช้แล้ว บางจุด ควันจากแก๊สน้ำตายังลอยอ้อยอิ่ง ม้วนตัวขึ้นสูง ก่อนกระจัดกระจายหายไปตามกระแสลม

มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 79 คน จากการปะทะกันในครั้ง 2 คนอาการสาหัสได้รับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลควีนแมรี ในย่าน ป๊กฟูลัม อีก 13 คนบาดเจ็บมากเช่นกันแต่อาการคงที่รักษาตัวอยู่ในสถานพยาบาลอีกหลายแห่ง อีก 64 คนได้รับการรักษาเบื้องต้นแล้วปล่อยตัวกลับไป

ไม่มีใครแน่ใจว่านี่จะเป็นเหตุปะทะครั้งสุดท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image