คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : พิพิธภัณฑ์ชาวปาเลสไตน์ แห่งแรกในกรุงวอชิงตัน

คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : พิพิธภัณฑ์ชาวปาเลสไตน์ แห่งแรกในกรุงวอชิงตัน

พิพิธภัณฑ์ชาวปาเลสไตน์แห่งแรกในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เปิดตัวไปแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ในชื่อของ “พิพิธภัณฑ์ชาวปาเลสไตน์” หรือ เอ็มพีพี ที่จะจัดแสดงผลงานศิลปะ ประวัติศาสตร์ และเอกสารด้านวัฒนธรรมของปาเลสไตน์ ที่รวบรวมมาจากชาวปาเลสไตน์ทั่วโลก

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีคำขวัญว่า “หลายเรื่องราว หนึ่งหัวใจ” ที่จะประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นนิทรรศการชั่วคราว ที่จะจัดแสดงผลงานของศิลปิน 5 คน ในหัวข้อ “รีอิเมจิง เอ ฟิวเจอร์”

และอีกส่วนเป็นส่วนนิทรรศการถาวร ดูแลโดย นาดา โอเดห์ ซึ่งพรรณนาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวปาเลสไตน์ผ่านพื้นที่จัดแสดง 4 ส่วน ที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวปาเลสไตน์ในแต่ละมุม คือ “เอ รีมาร์คเคเบิล พีเพิล” , “นัคบา แอนด์ เดอะ ไดแอสโพรา” “ออคคิวเพชั่น” และ “เอ รีซิลิเอนท์ พีเพิล”

บีชารา นาสซาร์ ผู้ก่อตั้งและผู้จัดการของพิพิธภัณฑ์ บอกกับ “อัลจาซีรา” ที่รายงานเรื่องนี้ไว้ว่า เมื่อครั้งที่เธอเดินทางมาถึงกรุงวอชิงตัน เมื่อปี ค.ศ.2011 เธอรู้สึกทึ่งกับพิพิธภัณฑ์และอนุสาวรีย์ รวมถึงอนุสรณ์สถานต่างๆในกรุงวอชิงตัน แต่ขณะเดียวกัน ก็รู้สึกแย่ เพราะไม่มีสถานที่ที่บอกเล่าเรื่องเกี่ยวกับชาวปาเลสไตน์เลย

Advertisement

หลังจากนั้น นาสซาร์ กับพรรคพวกกลุ่มเล็กๆ ก็ได้เริ่มการแสดงนิทรรศการตามสถานที่ต่างๆ ในปี 2015 โดยเริ่มจากกรุงวอชิงตัน เดินทางไปร่วมกับศิลปินชาวปาเลสไตน์ที่มาจากปาเลสไตน์ หรือพวกพลัดถิ่น พร้อมกับผลงานของศิลปินเหล่านี้ ไปจัดแสดงตามมหาวิทยาลัย ศูนย์ชุมชน และโบสถ์ รวมทั้งจัดงานต่างๆร่วมกับศิลปินชาวปาเลสไตน์

ตอนนี้ พิพิธภัณฑ์ถาวร ก็ได้เกิดขึ้น จากการระดมเงินช่วยเหลือของบรรดาชาวปาเลสไตน์ทั้งหลาย และกลายเป็นที่จัดแสดงประวัติศาสตร์ของปาเลสไตน์

โอเดห์ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บอกว่า ต้องการให้นิทรรศการนี้พุ่งเป้าไปที่เรื่องราวของผู้คน และบอกเล่าเรื่องราวของชาวปาเลสไตน์ก่อนหน้านี้ และตอนนี้ว่าเป็นอย่างไร โดยไม่ใช่เรื่องจากฝั่ง “การเมือง” เป็นเรื่องจากฝั่งของ “ประชาชน” เรื่องของความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะในสหรัฐ ปาเลสไตน์ หรือแม้แต่ในดินแดนของอิสราเอล ที่ถูกรวมกันอันไว้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสะท้อนให้เห็นออกมา

Advertisement

นิซาร์ ฟาร์ซัคห์ ประธานบอร์ด ของเอ็มพีพี บอกว่า “ที่ผ่านมา เราได้เห็นเรื่องราวของชาวปาเลสไตน์ผ่านการบอกเล่าของคนอื่น แต่พิพิธภัณฑ์นี้จะเป็นพื้นที่ที่เราพยายามจะแสดงให้เห็นเรื่องราวมากมายของชาวปาเลสไตน์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image