คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ทำไม “เฟซบุ๊ก-ลิบรา” ถูกรุมติติง-ต่อต้าน?

(AP Photo/Marcio Jose Sanchez, File)

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ทำไม “เฟซบุ๊ก-ลิบรา” ถูกรุมติติง-ต่อต้าน?

หลังจาก เฟซบุ๊ก เผยแพร่เอกสาร “อย่างเป็นทางการ” เปิดตัว “ลิบรา” เงินดิจิทัลสกุลใหม่ออกมาเมื่อ 18 มิถุนายนนี้ เสียงสนับสนุนและคัดค้านเกิดขึ้นตามมาทันทีทันควัน แน่นอน โดยธรรมชาติของมนุษย์ เสียงวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงข้อกังขาในกรณีนี้ย่อมดังกว่า ชวนพิจารณาใคร่ครวญมากกว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคำนึงถึงว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กซึ่งอยู่ในข่ายเป็นผู้ใช้ ลิบรา ตามไปด้วยในเวลานี้มีอยู่มากถึง 2,400 ล้านคนทั่วโลก

นั่นทำให้ ลิบรา ไม่ใช่เงินดิจิทัลปกติธรรมดา หากแต่สามารถเรียกได้ว่าเป็น “โกลบอล เคอร์เรนซี” ที่ส่งผลกระทบไม่ว่าจะเป็นบวกหรือเป็นลบต่อผู้คนมหาศาล

นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมเพียงแค่เปิดตัวโครงการ ยังไม่มีรายละเอียดมากมายนัก ปฏิกริยาถึงได้เกิดขึ้นมากมาย จากหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่ในแวดวงธุรกิจ การเงิน เรื่อยไปจนถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายการเงินการคลังทั้งหลาย

Advertisement

ปฏิกิริยาที่ว่า มีตั้งแต่ติติง ตั้งข้อกังขา เรื่อยไปจนถึงคัดค้าน ต่อต้านอย่างเปิดเผยชัดเจน ไม่ใยดีต่อการถูกตำหนิว่าเป็นการติเรือทั้งโกลน

นักการเมืองที่มีบทบาทสูงในการกำกับดูแลระบบการเงินและการธนาคารของประเทศขนาดใหญ่และเป็นศูนย์กลางทางการเงินใหญ่ที่สุดของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ทั้งแม็กซีน วอเทอร์ส ส.ส.เดโมแครตจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการบริการทางการเงินของสภาผู้แทนราษฎร ถึงกับขอให้เฟซบุ๊ก “ระงับ” แผนนี้เอาไว้ก่อน จนกว่าคองเกรสและหน่วยงานกำกับดูแลจะศึกษากรณีนี้อย่างใกล้ชิดได้กระจ่างชัด

วุฒิสมาชิก เชอร์ร็อด บราวน์ ประธานกรรมาธิการการธนาคาร วุฒิสภาสหรัฐ ตั้งข้อกังขาออกมาในทันทีว่า ทำอย่างนี้จะช่วยให้เฟซบุ๊กได้เปรียบคู่แข่งด้วยกัน “โดยไม่เป็นธรรม” ซึ่งเข้าข่ายเป็นการละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดทางธุรกิจหรือไม่

Advertisement

ที่ชัดเจนที่สุดคือ บรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝรั่งเศส ในฐานะประธานกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ หรือ จี7 ที่ยืนกรานออกมาทันทีเช่นกันว่า มีแต่รัฐบาลเท่านั้นที่จะสามารถบัญญัติเงินตราแบบเดียวกับที่เฟซบุ๊กกำลังจะทำออกมาใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายได้

ข้อกังขาของ เลอ แมร์ ครอบคลุมไปถึงเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของผู้ถือเงินดิจิทัลสกุลใหม่นี้ รวมไปจนถึงเรื่องสำคัญที่ว่า ถ้าเงินนี้ถูกนำไปใช้เพื่อทำธุรกรรมผิดกฎหมายอย่างหนึ่งอย่างใดอีกด้วย

ลงเอยด้วยการอาศัยการเป็นประธานจี7 เรียกร้องให้ตั้งคณะทำงาน “ที่ประกอบด้วยนักการธนาคารและเจ้าหน้าที่จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)” เพื่อศึกษาถึงผลกระทบของ “สเตเบิล คอยน์” อย่าง “ลิบรา” ที่ผูกติดอยู่กับมูลค่าของหลักทรัพย์ใน “ตะกร้าเงิน” ที่มีเงินสกุล ดอลลาร์ เป็นหลักอยู่ด้วย

กำหนดให้รายงานผลการศึกษาเบื้องต้นภายในเดือนกรกฎาคมนี้

******

นายธนาคารจากยุโรปรายหนึ่ง บอกกับ ไฟแนนเชียล ไทม์ส แบบทีเล่นทีจริงว่า ในแง่ของผู้กำกับดูแล คำถามสำคัญที่ต้องตอบให้ได้ก่อนอื่นก็คือ ลิบรา เป็นอะไรกันแน่? ก่อนที่จะคิดถึงเรื่องมาตรการและหน่วยงานที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลหรือไม่อย่างไรเป็นลำดับต่อไป

ลิบรา เป็นเงินสกุลหนึ่ง หรือเป็นหลักทรัพย์ที่ซื้อขายเก็งกำไรกันได้อย่างหนึ่ง เฟซบุ๊ก ดำเนินการกับลิบราอย่างไรคือการรับฝากใช่หรือไม่ ถ้าใช่เฟซบุ๊กเป็นเหมือนธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งหนึ่งหรือเปล่า หรือจริงๆแล้วเป็น “กองทุน” กองทุนหนึ่งเท่านั้น?

คำถามเหล่านั้นเป็นคำถามพื้นฐาน แต่หาคำตอบชัดเจนได้ยากอย่างยิ่ง ถึงตอนนี้ความเห็นก็ยังแตกต่างกันอยู่หลากหลาย

ในแง่ของ เฟซบุ๊ก และ คัลลิบรา บริษัทลูกที่เฟซบุ๊กจัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารจัดการเงินดิจิทัลนี้โดยเฉพาะ กับ “ลิบราแอสโซซิเอชัน” ที่เฟซบุ๊กกับอีก 27 บริษัทและองค์กร ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นเจ้าของและผู้ดูแลเงินสกุลใหม่นี้ ย่อมมอง ลิบรา เป็น “โทเค่น” หรือ “คอยน์” เป็นคริปโตเคอร์เรนซีสกุลหนึ่งเหมือนเช่นที่พากันออกมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันอยู่มากมายในเวลานี้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ “ลิบราแอสโซซิเอชัน” จำเป็นต้องดำเนินงานเหมือน “กองทุน” หรือ “ธนาคาร” ที่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและกฏเกณฑ์อีกมากมาย

แต่หลายคนกลับมองในทางตรงกันข้าม ไซมอน กลีสัน จากบริษัทกฎหมาย คลิฟฟอร์ด แชนซ์ หยิบยก “ฮาววีย์ เทสต์” ซึ่งเป็นการชี้ขาดสภาพการเป็นหลักทรัพย์หรือหุ้นของศาลสูงสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1946 เอาไว้มาแจกแจงเอาไว้ ดังนี้

“อะไรก็ตามที่ขายออกไปแล้วได้เงินมา, นำเงินดังกล่าวมาลงทุน, ออกเหรียญออกมาเพื่อแลกกับเงินนั้นๆ และสัญญากับผู้ถือว่ามูลค่าที่มั่นคงของโทเค่นนั้นขึ้นอยู่กับกำไรจากการลงทุนดังกล่าว ณ เวลานี้ ผู้ที่ดำเนินการดังกล่าว ถ้าไม่ใช่บริษัทเพื่อการลงทุน ก็ต้องเป็นธนาคาร”

ลิบรา สามารถถูกจัดให้เป็นหลักทรัพย์อย่างหนึ่งได้ เพราะมันต่างจากคริปโตอื่นๆ ตรงที่ผูกติดอยู่กับ “ตะกร้าเงิน” ที่เป็นเงินสกุลต่างๆ และสินทรัพย์ ที่เป็นหลักค้ำประกันในการออกเหรียญลิบรา แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะสร้างปัญหามากมายหลายอย่างให้กับ เฟซบุ๊กและหุ้นส่วนก่อตั้งเงินสกุลนี้ตามมา

เพราะถ้าหากลิบรา คือหลักทรัพย์ ก็ต้องจดทะเบียนต่อตลาดหลักทรัพย์ ต้องโปร่งใส และต้องดำเนินการตามมาตรการภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการกำกับดูและตลาดหลักทรัพย์หรือ เอสอีซี ของสหรัฐอเมริกานั่นเอง

แต่ถ้า ลิบรา เป็นโทเค่น หรือ คอยน์ อย่างที่เฟซบุ๊กต้องการ ก็จะหลุดพ้นจากการควบคุมกำกับดูแลไปง่ายๆ อย่างนั้นหรือ?

******

คำตอบก็คือ ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะ แม็กซีน วอเทอร์ส ระบุเอาไว้ในแถลงการณ์ในนามประธานกรรมาธิการฯ เรียกร้องให้บรรดา “ผู้ทำหน้าที่กำกับดูแล” หรือ “เร็กกูเลเตอร์” ทั้งหลายให้หันมา “เอาจริง” กับการควบคุม กำกับดูแล คริปโตเคอร์เรนซี กันแล้ว เหตุผลนั้นแถลงไว้ชัดเจนดังนี้

“ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในเวลานี้ขาดกรอบ ไม่มีกฏเกณฑ์ที่ชัดเจน สำหรับอำนวยให้เกิดการคุ้มครองต่อผู้ลงทุน ผู้บริโภค และเศรษฐกิจโดยรวมแต่อย่างใด”

นั่นทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ข้ออ้างที่บรรดา “เร็กกูเลเตอร์” ทั้งหลายใช้กันเมื่อพูดถึงสินทรัพย์คริปโตที่ว่า ผู้บริโภค และนักลงทุน ได้รับการคุ้มครองอยู่แล้วโดยกฏเกณฑ์ หรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ที่มีอยู่แล้วในเวลานี้ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้บังคับได้นั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในกรณี ลิบรา หรือไม่ หรือจำเป็นต้องตรากฏเกณฑ์วางกรอบทางกฎหมายกันใหม่ สำหรับใช้ในการควบคุมคริปโตทั้งหลาย รวมทั้ง ลิบรา และ เฟซบุ๊ก?

คำถามดังกล่าวนี้มีนัยสำคัญอยู่ในตัว เพราะ ลิบรา ไม่ใช่เงินคริปโตทั่วไปที่จำกัดอยู่ในวงแคบ และไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า ในอนาคต เงินดิจิทัลอย่าง ลิบรา จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศหนึ่งประเทศใดหรือไม่ และกระทบมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

“ลิบรา” สามารถให้คุณให้โทษอย่างไร สามารถสร้างโอกาสทางการเงินได้มหาศาลจริงอย่างที่เฟซบุ๊กอ้างเอาไว้ว่า จะช่วยให้ประชากรโลก 1,700 ล้านคนที่เป็นกลุ่ม “อันแบงก์” ไม่มีบัญชีธนาคาร ไม่สามารถทำธุรกรรมผ่านธนาคารได้ สามารถซื้อขาย ทำธุรกรรมด้วยลิบราได้ ช่วยลดค่าธรรมเนียมในการโอนย้ายเงิน และช่วย “ยกเครื่อง” ภาคบริการทางการเงิน

ข้ออ้างเหล่านั้นเป็นจริงได้หรือไม่เป็นเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ความเสี่ยง ที่ลิบราจะก่อให้เกิดขึ้นทั้งต่อตัวปัจเจกบุคคลก็ดีหรือต่อระบบการเงินของประเทศก็ดี คุ้มค่ากันหรือไม่ ทำอย่างไรทั้งสองอย่างจึงจะสมดุลกัน?

คำตอบในส่วนที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินนั้น คาดหมายว่าจะอยู่ในรายงานการประเมินของจี7 ฉบับแรกที่จะออกมาในเดือนกรกฎาคมนี้ครับ

มาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางของอังกฤษ พูดถึงกรณีของลิบราไว้ชัดเจนแต่เต็มไปด้วยความระมัดระวังว่า ธนาคารกลางของอังกฤษพร้อม “เปิดใจกว้าง” ต่อเรื่องนี้ แต่ไม่ใช่การ “เปิดประตู” อ้าแขนต้อนรับในทันที

คาร์นีย์ ระบุเอาไว้ว่า ถ้าหากเฟซบุ๊กทำได้สำเร็จอย่างที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ลิบราก็จะเป็น “ระบบ” ระบบหนึ่งซึ่ง “จำเป็นต้องได้รับการกำกับดูแลด้วยกฏกติกาที่มีมาตรฐานสูงสุด”

******

หมดจากเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน คำถามเกี่ยวกับ ลิบรา ก็ยังไม่จบสิ้น คำถามง่ายๆ อีก 2-3 อย่าง ยังไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนได้ อาทิ ถ้าหาก “กระเป๋าเงินดิจิทัล” ของเฟซบุ๊ก ถูกแฮ็ก ผู้ถือสูญเสียลิบราทั้งหมดในนั้นไป ใครคือผู้รับผิดชอบ?

ใครคือผู้รับผิดชอบ หาก ลิบรา ถูกนำไปใช้ในทางผิดกฎหมาย โดยกลุ่มอาชญากร หรือถูกนำไปใช้เพื่อหลีกเลี่ยง หรือ หนีภาษี?

เช่นเดียวกันกับคำถามที่ว่า ในเมื่อ “ยูสเซอร์” ของลิบรา สามารถปกปิดตัวตนได้ มีกี่บัญชีก็ได้ ไม่จำเป็นต้อง 1 คน 1 บัญชี และมีเพียงแต่เฟซบุ๊ก(หรือคัลลิบรา หรือลิบราแอสโซซิเอชันในอนาคต) เท่านั้นที่รู้ตัวตนที่แท้จริงของ “ยูสเซอร์” นั้นๆ

เฟซบุ๊ก กับ ลิบรา ไม่กลายเป็นแหล่ง “ฟอกเงิน” แหล่งใหญ่มหาศาลของโลกไปละหรือ?

ข้อกังวลเกี่ยวกับอาชญากรรมและแหล่งฟอกเงินนี้สวนทางกับความกังวลของคนอีกกลุ่ม ที่เกรงว่า ข้อมูลธุรกรรมทางการเงินทั้งหลายที่อยู่ในมือเฟซบุ๊ก จะถูกนำไปใช้ในทางมิชอบ หรือในหนทางที่ผู้เป็นเจ้าของไม่ล่วงรู้หรือให้ความเห็นชอบ

เป็นความกังวลเรื่อง “ความเป็นส่วนตัว” ที่มีความชอบธรรมอยู่ในตัวหากคำนึงถึงกรณีของ เคมบริดจ์ อนาลิติกา ขึ้นมา

ซาราห์ มิลเลอร์ รองผู้อำนวยการสถาบัน โอเพ่น มาร์เก็ต แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งรณรงค์ต่อต้านการผูกขาด ชี้เอาไว้ว่า เฟซบุ๊ก ในเวลานี้ กำลังเผชิญกับการตร30วจสอบอย่างหนักจากหน่วยงานกำกับดูแล “ทั่วทั้งโลก” เกี่ยวกับการใช้ข้อมูลส่วนตัวของยูสเซอร์อยู่แล้ว

คณะกรรมการการค้าแห่งรัฐบาลกลาง (เอฟซีที) ต้องยับยั้งเฟซบุ๊กเอาไว้ ไม่ให้บริษัทนี้นำเอาข้อมูลทางการเงินของเราและระบบการเงินทั้งระบบ เข้าไปอยู่ในสถานะเสี่ยงด้วย

ใครก็ตามที่ “ไว้วางใจ” เฟซบุ๊ก ให้ทำหน้าเป็นผู้กุมบังเหียน “โกลบอล เคอร์เรนซี” นั้น มิลเลอร์ระบุว่า “วิกลจริต” ไปแล้วอย่างแน่นอน!!!
 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image