คอลัมน์ วิเทศวิถี : อาเซียนซัมมิต ครั้งที่ 34

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 หรือที่เรียกกันว่าอาเซียนซัมมิต ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกในปีนี้ของผู้นำอาเซียนผ่านพ้นไปแล้วด้วยดี บรรดาผู้นำและผู้แทนประเทศต่างๆ ที่มาร่วมงานต่างก็พึงพอใจกับการเป็นประธานอาเซียนของไทยที่ถือว่าทำได้ดีทั้งในแง่สารัตถะและในแง่ของการต้อนรับอื่นๆ

เอกสารที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่สารัตถะที่ผู้นำได้ให้การรับรองในของการประชุมครั้งนี้ในมิติด้านต่างประเทศคือ “มุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก” ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเสนอที่มีการพูดถึงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเป็นการกำหนดท่าทีของอาเซียนเกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือและความเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่างๆ ในสองมหาสมุทร คือ มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก

เดิมทีแนวคิดอินโด-แปซิฟิก ซึ่งถูกนำเสนอโดยญี่ปุ่น สหรัฐ อินเดีย และออสเตรเลีย เป็นแนวคิดที่ดูจะมีเป้าหมายไปที่การลดทอนอิทธิพลของจีนที่แพร่ขยายอย่างมากไปทั่วโลก แต่อาเซียนได้รับเอามุมมองดังกล่าวมาตีความในแบบของอาเซียนเอง โดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างบทบาทนำและการเป็นแกนกลางของอาเซียนในการขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้สถาปัตยกรรมในภูมิภาคซึ่งไม่มีการกีดกันประเทศใด ในทางตรงกันข้าม ความร่วมมืออินโด-แปซิฟิกของอาเซียน กลายเป็นความร่วมมือที่เปิดกว้าง อยู่บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย

ท่าทีดังกล่าวไม่เพียงแต่จะมีความสำคัญในการขับเน้นให้เห็นถึงบทบาทของอาเซียนที่พร้อมจะเป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือระหว่างภูมิภาคและระหว่างชาติมหาอำนาจต่างๆ แต่ยังเน้นย้ำถึงท่าทีหลักของอาเซียนที่สนับสนุนการสร้างความร่วมมือที่ไม่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้า ยึดผลประโยชน์ของทุกฝ่าย และส่งเสริมบรรยากาศแห่งสันติภาพ ซึ่งที่สุดแล้วบรรยากาศแห่งความร่วมมือเช่นนี้เท่านั้นที่จะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

Advertisement

ความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิกของอาเซียนครอบคลุม 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย ความร่วมมือทางทะเล การเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ค.ศ.2030 ที่ถือได้ว่าครอบคลุมมิติที่ทุกฝ่ายน่าจะเข้ามาร่วมมือกันได้อย่างสร้างสรรค์นั่นเอง

สำหรับประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนไทยอย่างการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2577 นั้น ประเด็นนี้ได้มีการพูดถึงมาเป็นระยะ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้นำอาเซียนได้ให้ความเห็นชอบกับเรื่องดังกล่าวและระบุถึงเรื่องนี้ในเอกสารแถลงการณ์ของประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ด้วย

เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่บางคนอาจมองว่าการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดบอลโลกของอาเซียนเป็นเรื่องเพ้อฝัน เพราะพูดถึงกันมานานแต่มันไม่สามารถเป็นจริงได้ง่าย ห้วงเวลา 15 ปีข้างหน้าที่ผู้นำอาเซียนตั้งเป้าไว้ว่าจะให้อาเซียนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกนั้น เป็นเวลาที่นานพอที่ชาติสมาชิกอาเซียนจะมาพูดคุยและเตรียมการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว

Advertisement

ในความเป็นจริง กีฬา เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันได้อย่างไม่มีสิ่งใดเหมือน ความฝันที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกร่วมกันในนามอาเซียน เป็นความตั้งใจของไทย โดยเฉพาะนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้เสนอเรื่องดังกล่าวในคราวนี้ ที่จะทำให้กีฬาได้เชื่อมโยงผู้คนในอาเซียนเข้าไว้ด้วยกัน ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ของประชาชนต่อประชาชน และช่วยสร้างความรู้สึกร่วมกันว่าเราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

ข้อเสนอของไทยได้รับการตอบรับอย่างดีจากชาติสมาชิกอาเซียนทั้งหลาย โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งกำลังจะรับหน้าที่ประธานอาเซียนต่อจากไทย แน่นอนว่าการผลักดันให้ไปถึงฝั่งฝันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกจะเป็นการผลักดันความฝันร่วมกันของคนในอาเซียนโดยมีกีฬาเป็นตัวเชื่อมโยงได้อย่างวิเศษ

อีกหนึ่งในเอกสารที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในจังหวะที่ถูกต้องและสำคัญยิ่ง นั่นคือ “ปฏิญญากรุงเทพฯว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน” ยิ่งเมื่อทราบข้อมูลว่าชาติสมาชิกอาเซียน 6 ใน 10 เป็นประเทศที่มีขยะทะเลมากที่สุดในโลกก็จะยิ่งเข้าใจถึงความสำคัญของเอกสารฉบับนี้ที่เป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการป้องกัน ลด และจัดการกับขยะทะเลอย่างจริงจัง พร้อมกับให้การสนับสนุนในการสร้างนวัตกรรม เสริมสร้างศักยภาพในการวิจัย ควบคู่กับการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมกับการช่วยกันลดขยะทะเลให้ได้อย่างแท้จริง

ผู้นำอาเซียนยังได้ให้การรับรองเอกสาร “วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน” ซึ่งพูดถึงการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในทุกด้าน และ “แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ.2562” ที่จะมีการจัดกิจกรรมตลอดปีเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของความร่วมมือของอาเซียนในมิติด้านวัฒนธรรมในเวทีโลกอีกด้วย

แน่นอนว่าไม่ใช่ว่าไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นเลยในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 อาทิ ปัญหาเรื่องการถ่ายทอดสัญญานภาพและเสียงที่ทราบว่าเกิดขึ้นทั้งในที่ประชุมและในศูนย์ข่าว ซึ่งฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็รับทราบปัญหาและเร่งหาทางแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำเดิมขึ้นอีก แต่ก็ต้องบอกเช่นกันว่ามีสิ่งดีๆ มากมายที่เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้ อาทิ แนวคิดในการจัดประชุมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Meeting ที่ใส่ใจกับทุกรายละเอียดในการจัดงาน ไม่ว่าจะการเลือกสถานที่จัดประชุม ความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อลดวัสดุที่เป็นขยะ โดยมีการนำเอกวัสดุที่สามารถใช้งานได้หลายครั้ง หรือนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในสิ่งของต่างๆ ตั้งแต่เก้าอี้ที่ใช้ในการประชุมไปจนถึงสิ่งของที่ระลึกที่แจกให้กับผู้เข้าร่วมประชุม หรือกระทั่งการที่สามารถออกเอกสารผลการประชุมต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วหลังการประชุมเสร็จสิ้นลงไม่นาน เนื่องจากในบางประเทศ บางครั้งกว่าที่ประธานอาเซียนจะออกเอกสารมาได้ก็ผ่านไปหลายวันแล้วก็มีให้เห็นกันบ่อยครั้ง

สิ่งที่น่าห่วงกังวลมากกว่าคือการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา นั่นคือการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (เอเอ็มเอ็ม) ครั้งที่ 52 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศคู่เจรจา (พีเอ็มซี) การประชุมความสัมพันธ์อาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (อาเซียน+3) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง (เออาร์เอฟ) ในวันที่ 29 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม

หากเรามีรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนเดิมได้ภายในกลางเดือนกรกฎาคม นั่นหมายความว่าผู้ที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ จะมีเวลาเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็ต้องนั่งทำหน้าที่ประธานการประชุมเอเอ็มเอ็ม ครั้งที่ 52 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก รวมถึงรัฐมนตรีจากประเทศมหาอำนาจอย่างนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย และนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน แถมด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือ ที่เป็นที่สนใจอย่างมากเสมอเมื่อออกมาปรากฏตัว

เวทีประชุมเอเอ็มเอ็มและการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือได้ว่าเป็นการประชุมใหญ่ที่สำคัญ 1 ใน 3 การประชุมในระหว่างการทำหน้าที่ประธานอาเซียนตลอดปี ซึ่งประกอบด้วย การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อย ตามด้วยเอเอ็มเอ็ม และสุดท้ายคือการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่จะเป็นการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ในวันที่ 31 ตุลาคม -4 พฤศจิกายน ที่นอกจากผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศแล้ว ยังจะมีผู้นำของประเทศคู่เจรจาและองค์การระหว่างประเทศที่มีความร่วมมือกับอาเซียนอีกไม่น้อยกว่า 18 คนมาร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียนทั้งหมด

การเป็นประธานการประชุมเอเอ็มเอ็มถือเป็นโอกาสของรัฐบาลใหม่ของไทยที่จะแสดงให้โลกได้เห็นว่า ประเทศไทยสามารถที่จะแสดงบทบาทการทำหน้าที่ประธานอาเซียนได้อย่างสร้างสรรค์โดดเด่น หรือทำได้แค่เป็นเจ้าภาพการประชุมตามหน้าที่ ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นกับว่า ผู้ที่จะมาทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลพลเรือนของ พล.อ.ประยุทธ์นั้นจะเป็นใคร หากเป็นอดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่มีความรู้ความเข้าใจใน “เนื้องาน” เป็นอย่างดี ก็น่าจะทำให้เกิดความราบรื่นและเป็นประโยชน์กว่าการเลือกคนที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการต่างประเทศมาทำหน้าที่ในช่วงเวลาสำคัญนี้อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image