คอลัมน์ People In Focus : ลิโด แอนโธนี ไอเอคอคคา ผู้พลิกชะตาฟอร์ด

ลิโอ แอนโธนี ไอเอคอคคา ตำนานแห่งอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐ ได้เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 94 ปี เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ไอเอคอคคา เป็นที่จดจำในฐานะผู้ออกแบบ “ฟอร์ด มัสแตง” รวมไปถึงการฉุดบริษัทไครสเลอร์ ขึ้นมาจากการต้องเผชิญกับการ “ล้มละลาย” เสียชีวิตลงที่บ้านในนครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา หลังเผชิญกับโรค “พาร์กินสัน” มาเป็นเวลานาน

ด้านไครสเลอร์ ออกแถลงการณ์ระบุว่า บริษัทเสียใจกับการเสียชีวิตของไอเอคอคคา และว่า ไอเอคอคคา มีบทบาทสำคัญในการนำไครสเลอร์ผ่านวิกฤตและทำให้ไครสเลอร์มีพลังในการแข่งขัน
ไอเอคอคคา เริ่มต้นอาชีพในปีค.ศ.1946 ในฐานะวิศวกรที่บริษัทฟอร์ด มอเตอร์ ก่อนจะเปลี่ยนไปทำงานตำแหน่งพนักงานขาย

ด้วยพรสวรรค์ด้านด้านการตลาดและการขายจนมีผลงานโดดเด่น ทำให้ ไอเอคอคคา ถูกเรียกตัวไปทำงานที่ฟอร์ด สำนักงานใหญ่ในเมืองเดียร์บอร์น รัฐมิชิแกนในช่วงกลางทศวรรษที่ 50 ก่อนจะไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงขึ้นได้เรื่อยๆ

Advertisement

ไอเอคอคคา สามารถขายรถยนต์ฟอร์ดได้จำนวนมากมาย โดยเฉพาะฟอร์ดรุ่นมัสแตง ที่ไอเอคอคคา มีส่วนสำคัญในการออกแบบจนกลายเป็นเป็นรถสปอร์ตรุ่นยอดนิยมที่ยังคงเป็นตำนานมาจนถึงปัจจุบัน

ไอเอคอคคา แม้จะมีบทบาทสำคัญในฟอร์ด ได้รับการยอมรับในฐานะผู้บริหารดาวรุ่ง ขึ้นปกนิตยสารไทม์ และนิวส์วีค แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่าเป็นนักธุรกิจเจ้าเล่ห์ ที่ใช้วิธีการแบบ “มาเคียเวลลี่” ในการไต่เต้าได้ถึงตำแหน่งประธานบริษัทฟอร์ด ในปี 1970 ด้วยวัยเพียง 46 ปี

ก่อนที่สุดท้ายจะถูก “เฮนรี ฟอร์ด ที่2” หลานชายผู้ก่อตั้งบริษัทฟอร์ด ปลดจากตำแหน่งในปี 1978
ไอเอคอคคา เริ่มทำงานกับบริษัทไครสเลอร์ บริษัทที่กำลังย่ำแย่และใกล้จะล้มละลาย ในปี 1979 ก่อนนำไครสเลอร์ผ่านวิกฤตด้วยการล็อบบี้ให้สภาคองเกรสสหรัฐให้งบกู้ยืมเพื่ออุ้มไครสเลอร์ มูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้สำเร็จ

ภายใต้การบริหารของ ไอเอคอคคา ไครสเลอร์ คิดค้นรถมินิแวน และรถยนต์อเนกประสงค์หรือ “เอสยูวี” ขึ้นเป็นเจ้าแรกและประสบความสำเร็จจนสามารถจ่ายหนี้คืนให้รัฐได้ก่อนกำหนด

“หากคุณพบรถที่ดีกว่า ซื้อเลย!” เป็นคำพูดที่คุ้นเคยของ ไอเอคอคคา ในโฆษณาทีวีที่เป็นที่จดจำของไครสเลอร์ ทำให้ไอเอคอคคา กลายเป็นตำนานแห่งวงการอุตสาหกรรมรถยนต์มาจนถึงปัจจุบัน

ไอเอคอคคา ออกจากไครสเลอร์ในต้นทศวรรษที่ 90 ก่อนจะร่วมมือกับมหาเศรษฐีอย่างเคิร์ค เคอร์โคเรียน พยายามเทคโอเวอร์บริษัทไครสเลอร์ ทว่าความพยายามดังกล่าวก็ไม่ประสบผล

ไอเอคอคคา สะท้อนแนวคิดการทำธุรกิจของตัวเองว่าเหตุการณ์ “เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่” ในทศวรรษที่ 30 ของสหรัฐที่ทำให้ครอบครัวผู้อพยพชาวอิตาลีของตนสิ้นเนื้อประดาตัว นั้นเปลี่ยนทัศนคติของตนไปตลอดชีวิต

“เศรษฐกิจตกต่ำทำให้ผมเป็นพวกวัตถุนิยม ผมเป็นพวกเห็นแก่เงิน” ไอเอคอคคา ระบุ

ในช่วงที่ไครสเลอร์ตกต่ำ แม้ไออาคอคคาจะยอมรับเงินเดือนที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่หลังจากบริษัทกลับมาทำกำไรอีกครั้ง ไอเอคอคคา ก็รับเงินเข้ากระเป๋าได้มากถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image