คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : ร้านเนื้อวาฬคึกคัก รับญี่ปุ่นกลับมาล่าวาฬ

(Photo by Karyn Nishimura / AFP)

คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : ร้านเนื้อวาฬคึกคัก รับญี่ปุ่นกลับมาล่าวาฬ

มิตซูโอะ ทานิ ในวัย 64 ปี เจ้าของร้านเนื้อวาฬ ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ใช้ชีวิตกับการทำอาหารจากเนื้อวาฬรวมแล้ว 46 ปี แสดงความยินดีอย่างยิ่ง กับการที่ญี่ปุ่นกลับมาล่าวาฬเชิงพาณิชย์ได้อีกครั้งในรอบ 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากการถอนตัวออกจากคณะกรรมการล่าวาฬระหว่างประเทศ (ไอดับเบิลยูซี)

ในร้านเนื้อวาฬ ของ “ทานิ” มีลูกค้ามากหน้าหลายตาที่เข้ามากินเนื้อวาฬที่ปรุงออกมาหลากหลายเมนู เมนูยอดฮิตที่สุด คือ สเต็กวาฬ ราคา 9 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 280 บาท ที่เนื้อวาฬจะถูกแล่ออกเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม เสิร์ฟพร้อมกับข้าว ซุปมิโสะ ผัก และชาเย็น ที่สามารถเติมได้ไม่อั้น

นอกจากนี้ ก็ยังมีเมนูยอดฮิตอื่นๆ เช่น ซาซิมิเนื้อวาฬ ที่จะกินเป็นเนื้อ หรือจะกินหนัง หรือตับ ก็ได้

ทั้งนี้ ในช่วงที่ญี่ปุ่นยังเป็นสมาชิกของไอดับเบิลยูซี อยู่นั้น จะไม่สามารถล่าวาฬเชิงพาณิชย์ได้ แต่ก็จะมีการล่าวาฬเพื่องานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ และเมื่อญี่ปุ่นถอนตัวออกจากไอดับเบิลยูซี กลับมาล่าวาฬเชิงพาณิชย์อีกครั้ง ก็ถูกตราหน้าจากบรรดานักอนุรักษ์ เนื่องจากหนึ่งในสายพันธุ์ของวาฬ ที่ตกเป็นเป้าของการล่าเชิงพาณิชย์นั้น ถูกระบุว่า “กำลังจะสูญพันธุ์” ส่วนอีก 2 สายพันธุ์นั้น ก็มีจำนวนประชากรที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ

Advertisement

ขณะที่ “ทานิ” ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องเนื้อวาฬ กลับบอกว่า เนื้อวาฬนั้น มีประโยชน์อย่างมาก เช่น ให้พลังงานแคลอรี ที่ต่ำกว่าเนื้อวัวถึง 5 เท่า ให้คลอเลสเตอรอล ต่ำกว่า 10 เท่า และให้ไขมันที่น้อยกว่าเนื้อไก่ถึง 2 เท่า แถมยังอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก แต่เรื่องเหล่านี้ ผู้คนทั่วไปกลับไม่รู้!!

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับเรื่องประโยชน์ของเนื้อวาฬ เพราะเมื่อปี 2015 สำนักงานสอบสวนสิ่งแวดล้อม ได้ทำการทดสอบระดับสารปรอทในเนื้อวาฬที่วางขายในญี่ปุ่น พบว่า มีอยู่จำนวนมาก

หากแต่นั่นไม่ใช่ปัญหาในการที่จะบริโภคเนื้อวาฬ

Advertisement

ทานิบอกว่า นับตั้งแต่เขาย้ายจากเมืองเซนได หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อปี 2011 ราคาของเนื้อวาฬก็พุ่งสูงขึ้น เพราะจำนวนวาฬที่น้อยลง

แต่สำหรับที่กรุงโตเกียวแล้ว ทานิ ไม่เคยประสบปัญหาเรื่องขาดแคลนเนื้อวาฬเลย แม้ในช่วงที่ญี่ปุ่นยังเป็นสมาชิกของไอดับเบิลยูซีอยู่ก็ตาม เพราะวาฬที่ถูกล่าในแอนตาร์กติก เพื่อ “การวิจัย” ก็ยังคงมาจบลงในรูปแบบของ ซาซิมิและสเต็กบนจานทั่วประเทศญี่ปุ่น

เคนตะ โยโดโนะ ผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทล่าวาฬ เกียวโด ผู้ประกอบการเรือล่าวาฬบอกว่า การล่าวาฬเชิงพาณิชย์ได้ จะทำให้สามารถล่าวาฬสายพันธุ์อื่นๆได้ ก็หมายถึง ความแตกต่างของรสชาติจากเนื้อวาฬที่ต่างกัน

และตนรู้ดีถึงความกังวลของนักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับจำนวนประชากรวาฬ หากแต่ชาวประมงเองก็รู้ดีว่า ช่วงเวลาไหนที่ควรจะลดการล่าวาฬลง

เพราะถ้าไม่มีวาฬ ชาวประมงผู้ล่าวาฬเอง ก็คงอยู่ไม่ได้เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image