คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : โดมครอบเตาปฏิกรณ์หมายเลข4 ตราบาปแห่ง “เชอร์โนบิล”

(Sergei Supinsky/Pool Photo via AP, File)

นับตั้งแต่เกิดโศกนาฏกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เชอร์โนบิล ในยูเครน เกิดระเบิดและไฟไหม้ใหญ่ เมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ.1986 ที่กลายเป็นหายนะทางนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในโลก และทำให้มีผู้เสียชีวิตในขณะนั้นราว 31 ราย ตามมาด้วยผู้ป่วยตายอีกหลายร้อยคน และมีผู้ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีอีกนับล้านคน

ได้มีความพยายามที่จะควบคุมกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลออกมาจำนวนมาก รวมไปถึงความพยายามในการก่อสร้างโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นโดมเพื่อคลุมเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ที่เกิดระเบิดขึ้นเอาไว้

และหลังจากได้รับการช่วยเหลือด้านการเงินจากธนาคารเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาแห่งยุโรป โครงสร้างโดมดังกล่าวก็เสร็จสิ้น หลังใช้เวลาในการก่อสร้างยาวนานถึง 9 ปี โดยใช้เงินสำหรับตัวโดมอย่างเดียวถึง 1,500 ล้านยูโร และหากเป็นโครงการในพื้นที่เชอร์โนบิลทั้งหมดจะอยู่ที่ 2,200 ล้านยูโร

(Ukrainian Presidential Press Office via AP)

โดยธนาคารเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาแห่งยุโรป ได้ทำการบริหารจัดการเงินที่ได้มาจาก 45 ประเทศ สหภาพยุโรป และอีก 715 ล้านยูโรของทางธนาคารเอง มาใช้สำหรับการสร้างโดมนี้ขึ้นมา

Advertisement

โดมนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “นิว เซฟ คอนฟายน์เมนต์” ซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างเหล็กที่เคลื่อนที่ได้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จะครอบซากของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ที่เกิดระเบิดขึ้นเอาไว้ โดยโดมนี้สูงถึง 108 เมตร สามารถคลุมมหาวิหารนอเทรอดาม ในกรุงปารีส ฝรั่งเศสเอาไว้ได้ และมีน้ำหนักถึง 36,000 ตัน มีความแข็งแกร่งสามารถทนทานต่อแรงลมจากทอร์นาโด และสามารถอยู่คงทนได้นานถึง 100 ปี

หลังจากเกิดเหตุระเบิดที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ต้องอพยพผู้คนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 30 กิโลเมตรรอบๆโรงไฟฟ้าออกจากเขตอันตราย และถูกกำหนดให้เป็นเขตห้ามอยู่อาศัย แต่ก็ยังมีผู้สูงอายุราว 150 คนที่กลับไปอาศัยอยู่แถวๆนั้น แม้ว่าทางการยูเครนจะประกาศว่า เขตพื้นที่เชอร์โนบิลดังกล่าว คนจะกลับไปอาศัยอยู่ได้ ต้องรอไปอีก 24,000 ปี

สำหรับโดมใหม่นี้ ยังคงอยู่ในช่วงระยะเวลานำร่องเป็นเวลา 1 ปี ก่อนที่จะการอนุญาตจากองค์กรที่กำกับดูแลของยูเครน เพื่อเริ่มการทำลายโครงสร้างเดิมที่โซเวียตเคยทำไว้ครอบเตาปฏิกรณ์ก่อนหน้านี้ ที่เริ่มไม่มีความมั่นคงแล้ว

Advertisement

ในส่วนของพื้นที่บริเวณเชอร์โนบิลนั้น ตอนนี้ก็กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ที่นักท่องเที่ยวชอบเดินทางไปมากที่สุดแห่งหนึ่งของยูเครนไปแล้ว หลังจากเอชบีโอ ทำมินิ ซีรีส์ เรื่องเชอร์โนบิลขึ้นมาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ขณะที่ทางการยูเครนเองก็เปิดกว้างให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมได้ แต่ต้องอยู่ไม่นาน โดยผู้คนที่ไปเที่ยว ต่างพากันถ่ายรูปร่องรอยความเสียหายที่ยังคงอยู่ในหลายพื้นที่รอบๆเชอร์โนบิล ที่บอกเล่าเรื่องราวความโหดร้ายอันเกิดจากนิวเคลียร์ได้เป็นอย่างดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image