คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “บอริส จอห์นสัน” บนสถานการณ์ “โน-ดีล เบร็กซิท”

REUTERS/Toby Melville

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “บอริส จอห์นสัน” บนสถานการณ์ “โน-ดีล เบร็กซิท”

ย้อนเวลากลับไปก่อนหน้าวันลงประชามติเมื่อปี 2016 เพียงไม่กี่วัน “บอริส จอห์นสัน” นักการเมืองหนุ่มอดีตผู้ว่าการกรุงลอนดอน สังกัดพรรคอนุรักษนิยม พรรครัฐบาลของอังกฤษ พยายามอย่างถึงที่สุด เพื่อโน้มน้าวเพื่อนร่วมชาติได้ตระหนักว่าอนาคตของประเทศในสภาพที่เป็นอิสระจากสหภาพยุโรป (อียู) น่าสนใจ ดึงดูดและเร้าใจเพียงใด

ด้วยการรื้อฟื้นอดีตที่ยิ่งใหญ่แต่หนหลังของประเทศขึ้นมาเตือนความทรงจำ โดยลีลาท่าทางและวาทกรรมตื่นตาตื่นใจที่สุดเท่าที่สามารถจะแสดงออกได้

เขาเรียกร้องให้เพื่อนร่วมชาติให้การสนับสนุนการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งตนเองเป็นแกนนำในการรณรงค์เคลื่อนไหวเรื่องนี้มาอย่างหนัก โดยให้เหตุผลเอาไว้ว่า

เพื่อ “กระชากโซ่ตรวนที่ล่ามอยู่ออกจากขายักษ์ ปลดปล่อยบริทแทนเนียเป็นอิสระ แล้วปล่อยให้สิงโตคำรามก้องอีกครั้ง”

Advertisement

โดยไม่ใส่ใจที่จะให้ความสนใจกับสภาพความเป็นจริงที่แวดล้อมอยู่โดยรอบตัว ในท่ามกลางบรรยากาศของศตวรรษที่ 21 ซึ่งไม่เพียงจักรวรรดิอังกฤษล่มสลายไปเนิ่นนานมากแล้ว และภาคพื้นยุโรปก็ไม่ได้เป็นสมรภูมิอีกต่อไปแล้ว

บอริส จอห์นสัน ยังคงยืนยันให้ผู้คนทั้งหลายกระโจนลงมาร่วมกับตน แล้วก้าวสู่ชัยชนะ “เพื่อประชาธิปไตยแห่งบริเทน” ด้วยกัน

ด้วยเหตุผลที่ว่า แม้แต่ เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หากยังมีชีวิตอยู่ คงอดรนทนไม่ได้กระโจนขึ้นมาร่วมวงบนขบวนรถบัสรณรงค์ “เบร็กซิท” ของตนเองอย่างแน่นอน

Advertisement

วินสตัน เชอร์ชิลล์ คือนักการเมืองที่เป็น “ฮีโร่” ในใจของจอห์นสัน ซึ่งลุ่มหลงในวิถีชีวิตเอามากๆ ถึงขนาดเขียนหนังสือเล่มเขื่อง แสดงความชื่นชมและศรัทธาเอาไว้ชื่อเรื่อง “เดอะ เชอร์ชิลล์ แฟคเตอร์”

นั่นคือ บอริส จอห์นสัน คนที่จ่อมจมลึกลงไปในอดีต ยึดโยงโลกทัศน์ทั้งหมดอยู่กับอดีตกาลเมื่อครั้งที่อังกฤษยังได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจ เป็นเจ้าอาณานิคม อดีตที่รุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ชนิด “พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน” มาก่อน

อาการถวิลหาอดีตของ บอริส จอห์นสัน มีมากเสียจนครั้งหนึ่ง อีฟเวตต์ คูเปอร์ ส.ส.พรรคแรงงาน ฝ่ายค้านหลัก ถึงกับออกปากเอาไว้ว่า

“ท่านนายกฯ จะอัญเชิญเขา (บอริส จอห์นสัน) กลับมาศตวรรษที่ 21 ได้หรือเปล่านะ?”

ด้วยโลกทัศน์เช่นนี้ ด้วยอาการโหยหาความยิ่งใหญ่ รุ่งโรจน์ในอดีตเช่นนี้ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีใหม่ของอังกฤษมีหรือจะใส่ใจกังวลกับ “โน-ดีล เบร็กซิท”?

ไม่มีทาง!

โลกทัศน์และวิสัยทัศน์ที่ยึดโยงย้อนกลับไปยังยุคสมัยแห่งพระนางเจ้าวิคตอเรีย พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดส์ ทั้งหลายของ บอริส จอห์นสัน สะท้อนออกมากระจ่างชัดเจนมากขึ้นตามลำดับของกาลเวลาที่ผ่านเลยไป

เมื่อตอนที่ จอห์นสัน ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี เทเรซ่า เมย์ ในปี 2018 ด้วยเหตุผลเพราะว่าจอห์นสันไม่เห็นด้วยกับรายละเอียดในความตกลงที่ เทเรซ่า เมย์ ไปตกลงไว้ใน ร่างความตกลงเบร็กซิท ที่บรรดาผู้นำชาติสมาชิกอียูลงนามให้การรับรอง ในเดือนกรกฎาคมปีนั้น

จอห์นสันบอกว่า “จิตวิญญาณของเบร็กซิท” จบสิ้นไปแล้วภายในเนื้อหาของความตกลงที่ว่านั้น

เขาร่ายยาวต่อเอาไว้ว่า อังกฤษจำเป็นต้องค้นหาให้พบพลังแห่งนักสำรวจ นักผจญภัยท่องโลกในยุควิคตอเรียให้ได้อีกครั้ง และย้อนกลับไปยังโลกอันกว้างใหญ่ไพศาล “เพื่อค้นหามิตรทั้งหลาย, เพื่อเปิดตลาดให้กว้างขึ้น, และเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมและค่านิยมทั้งหลายของเรา”

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ก็ตาม วิสัยทัศน์ที่ บอริส จอห์นสัน แสดงออกมาทั้งหมดเข้ากันได้สนิทแทบเป็นเนื้อเดียวกันกับโปรเจ็กต์ทางการเมืองที่รู้จักกันในชื่อ “การฟื้นฟู โกลบอล บริเทน”

ยุทธศาสตร์ที่เป็นแกนหลักของ “การฟื้นฟู โกลบอล บริเทน” สรุปอย่างรวบรัดได้ว่าประกอบด้วย การรื้อฟื้น “มิตรภาพเก่าแก่” ที่มีมาแต่ดั้งเดิมของชาติภายในเครือจักรภพ, การหวนกลับไปสาน “สัมพันธ์พิเศษ” กับสหรัฐอเมริกา และการเสริมสร้างการเชื่อมโยงกับชาติเศรษฐกิจทั้งหลายในเอเชียให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ยุทธศาสตร์เหล่านี้ล้วนวางอยู่บนพื้นฐานของความเป็น “สหราชอาณาจักร” หากแต่เป็น “สหราชอาณาจักร” ที่อยู่ในความคิดคำนึงของบอริส จอห์นสัน และพวกเท่านั้น

เพราะนัยของมันไม่ได้เพียงหมายถึงความเป็นชาติที่เป็นอิสระ แยกออกมาต่างหากจากยุโรปเท่านั้น แต่ยังกินความรวมไปถึงการเป็นชาติที่มีเอกภาพภายใน, มีความมั่นคงทางด้านการทหาร, มีศักยภาพในการก้าวไปให้ถึงได้ทั่วทุกมุมโลก

ความเป็นสหราชอาณาจักร ที่อยู่ในระนาบเดียวกับแนวคิดลัทธิที่ถือความเป็นพิเศษเหนือผู้อื่น

ไม่เพียงแยกอยู่ต่างหากจากภาคพื้นยุโรป ยังมีประวัติศาสตร์โดดเด่น มีเสรีภาพต่อเนื่องไม่เคยตกอยู่ใต้ปกครองหรือยึดครองของใคร, มีรัฐบาลของตนเอง, มีหลักกฎหมายของตนเองให้ยึดถือปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

เป็นความแตกต่าง ซึ่งแสดงนัยอย่างเดียวกันกับการมีพลังอำนาจเหนือกว่าผู้อื่นนั่นเอง

ภายใต้แนวความคิดนี้ “โน-ดีล เบร็กซิท” ไม่มีทางก่อความกลัว สร้างความกังวลให้กับ บอริส จอห์นสัน

ตรงกันข้าม กลับตรงกันกับความต้องการ เข้ากันได้ดีกับโลกทัศน์ที่มองเห็น “อนาคตอันสดใส รุ่งโรจน์” ของอังกฤษ ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับอียูเลยแม้แต่น้อย

ยุทธศาสตร์ โกลบอล บริเทน ยึดโยงอยู่กับแนวความคิดย้อนยุค ที่ว่าอังกฤษสามารถพลิกชะตากรรมตัวเองจากการเป็นชาติสมาชิกอียูปกติธรรมดาให้กลายเป็น “เวอร์ชั่นปัจจุบัน” ของ “จักรวรรดิมหาอำนาจ” ในอดีตกาล

มรดกตกทอดจากยุคอาณานิคม ยังคงทำให้อังกฤษและสหราชอาณาจักรโดยรวม ยังคงอยู่ในใจกลางของโยงใยทางการทูตที่แน่นหนาโยงใยหนึ่งได้ ด้วยสถานะที่มีอิทธิพลสูงกว่าเมื่อเทียบระหว่างอังกฤษกับชาติสมาชิกอียู

อังกฤษอาจดำเนินความพยายามเพื่อสร้าง “แองโกลสเฟียร์” พื้นที่อิทธิพลของตนเองขึ้นได้โดยภายในประกอบด้วยประเทศที่พูดภาษาอังกฤษด้วยกันและยึดมั่นในระบบกฎหมายเดียวกัน, เป็นประชาธิปไตยและใช้ระบบการค้าเสรีเหมือนกัน อาทิ ออสเตรเลีย, แคนาดา, นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกาสามารถอยู่ในขอบข่ายเหล่านี้ได้

นอกเหนือจาก “แองโกลสเฟียร์” อังกฤษสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์กับ 53 ชาติสมาชิกในเครือจักรภพ ที่ยุคล่าอาณานิคมมอบเป็นมรดกไว้ให้ แต่ถูกอังกฤษหันหลังให้เมื่อเข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจยุโรปในปี 1973

ชาติหล่านี้มีประชากรรวมกันมากถึงเกือบ 2,500 ล้านคน จอห์นสันกับบรรดา “ฮาร์ดคอร์ เบร็กซิท” ทั้งหลายมองเครือจักรภพ ว่าเป็น “ทรัพย์สินทางเศรษฐกิจ” ที่ไม่ถูกหยิบขึ้นมาใช้งาน ทั้งๆ ที่หนึ่งในจำนวนนั้นคือชาติที่มีระดับการเจริญเติบโตเร็วที่สุดในโลกอย่าง อินเดีย ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้อังกฤษสามารถก้าวออกไปแสดงตัวต่อโลกกว้างอีกครั้งได้อย่างแน่นอน

ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ “การฟื้นฟู โกลบอล บริเทน” ที่ว่านี้ ยุโรปมีบทบาทได้มากที่สุดเพียงแค่เป็น “พระรอง”

ในความเห็นของ บอริส จอห์นสัน อียู เป็นโปรเจ็กต์ที่ “ไม่มีอนาคต” และรอเพียงถึงวันพังทลายเท่านั้น

อียู ไม่เพียงไม่มีประโยชน์ ยังรังแต่จะสร้างปัญหาให้กับอังกฤษ เหมือนกับที่เป็นแหล่งที่มาของสารพัดปัญหาของอังกฤษในช่วงที่ผ่านๆ มา

บอริส จอห์นสัน ลืมไปว่า อียูคือแหล่งรองรับสินค้าที่สำคัญที่สุดของอังกฤษเรื่อยมาจนถึงขณะนี้

แนวคิด “โกลบอล บริเทน” น่าสนใจและชวนดึงดูดไม่น้อย น่าเสียดายที่วางอยู่บนฐานคติที่ผิดพลาดบกพร่องมากมายหลายประการ เริ่มตั้งแต่สมมุติฐานเรื่องศักยภาพและความยิ่งใหญ่ของประเทศตนเองในปัจจุบันกาล เรื่อยไปจนถึงความเข้าใจที่ว่าบรรดาชาติทั้งหลายที่เคยอยู่ภายใต้อาณานิคมอังกฤษในอดีต มีความคิดในทางบวกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกัน เหมือนกับที่เจ้าของความคิดนี้กำลังคิดฝันอยู่

ในทางตรงกันข้าม อาณานิคมของอังกฤษแต่เดิม หากยังมีความทรงจำถึงอังกฤษอยู่บ้าง น่าจะล้วนแต่เป็นไปในทางลบเสียเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำไป

เช่นเดียวกัน การหันไปสร้าง “สัมพันธภาพพิเศษ” กับประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันคลายความ “พิเศษ” ลงมากมายในยามนี้ แต่ภายใต้ “ความคล้ายคลึงกัน” ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และ บอริส จอห์นสัน แล้ว ลึกลงไปทิศทางของ “โกลบอล บริเทน” กับ “อเมริกา เฟิร์สต์” สวนทางกันโดยสิ้นเชิง

“โกลบอล บริเทน” ยังส่อนัยถึงการค้าเสรี ตลาดเสรี และลัทธิพหุนิยม ในขณะที่้ “อเมริกา เฟิร์สต์” วางอยู่บนพื้นฐานของ ลัทธิกีดกันทางการค้าอย่างชัดเจน

ในเวลาเดียวกัน ชาติใน “แองโกลสเฟียร์” อื่นๆ ต่างก็มีวาระ มีประเด็น ที่มี “ลำดับความสำคัญ” เป็นของตัวเอง ตัวอย่างเช่น ออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ก็ยังละล้าละลังอยู่จนถึงทุกวันนี้ว่าจะเป็น “ชาติตะวันตก” หรือ “หนึ่งในชาติเอเชีย” กันแน่

ที่สำคัญก็คือ เมื่อปราศจากสหภาพยุโรป ความดึงดูดใจในฐานะเป็น “ตัวกลาง” หรือเป็น “สะพาน” เชื่อมโยงของอังกฤษ กับสถานะผู้สร้างความสมดุลระหว่างสองฟากแอตแลนติก ก็หมดไปโดยปริยาย

ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศในเครือจักรภพ นำเข้าสินค้าจากอังกฤษ เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าออกทั้งหมดที่อังกฤษส่งออกในแต่ละปี

มีเหตุผลอะไรมากมายหรือที่จะทำให้ประเทศเหล่านี้นำเข้าจากอังกฤษเพิ่มมากขึ้นในอนาคต?

ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ-การค้า ชี้ให้เห็นไว้ว่า อียูมีความหมายและมีนัยสำคัญต่อการค้าของเศรษฐกิจมากมายเพียงใด ด้วยการชี้ให้เห็นว่าหากการค้าของอังกฤษกับอียู ลดลงเพียงแค่ 5 เปอร์เซ็นต์

อังกฤษต้องทำให้การค้ากับประเทศในกลุ่ม บริคส์ (บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และ แอฟริกาใต้) เพิ่มขึ้นให้ได้สูงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ จึงจะสามารถชดเชยมูลค่าที่เสียไปกับตลาดอียูได้ทั้งหมด

เมื่อตอนที่ข่าวคราว บอริส จอห์นสัน ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ แพร่สะพัดไปถึง

ไฮโค มาส รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี กล่าวแสดงความคิดเห็นเอาไว้อย่างตรงไปตรงมาในฐานะ “เพื่อนเก่า” ที่เคยร่วมงานมาในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศอียูด้วยกันไว้สั้นๆ ว่า

“โชคดีนะ บอริส!”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image