คอลัมน์ People In Focus : เจ้าหญิงฮายา บินต์ อัล-ฮัสเซน ผู้ทำงานเพื่อผู้หญิงในโลกอาหรับ

REUTERS/Luke MacGregor/File Photo

เจ้าหญิงฮายา บินต์ อัล-ฮัสเซน แห่งจอร์แดน วัย 45 ปี ลูกพี่ลูกน้องของกษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน ตกเป็นข่าวครึกโครม หลังปรากฏตัวที่ศาลสูงแห่งประเทศอังกฤษ เพื่อยื่นเรื่องขอคุ้มครองลูกทั้ง 2 คน รวมไปถึงตัวเจ้าหญิงฮายาเอง ภายใต้กฎหมายคุ้มครองการถูกบังคับแต่งงานของประเทศอังกฤษ เป็นความคืบหน้าล่าสุดของชีวิตคู่ที่เป็นที่จับตามากที่สุดคู่หนึ่งในวงสังคมคนชั้นสูง

การต่อสู้ทางกฎหมายที่ยังไม่สิ้นสุดดังกล่าวเป็นที่สนใจจากสื่อทั่วโลก เนื่องจากเจ้าหญิงฮายา เป็นภรรยาของ ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล-มัคทูม นายกรัฐมนตรีวัย 70 ปี สมาชิกราชวงศ์แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ผู้ที่ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ลูกทั้งสองคนกลับสู่ยูเออีด้วยเช่นกัน

เจ้าหญิงฮายา แห่งจอร์แดน เป็นภรรยาคนที่ 6 ของชีค โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล-มัคทูม เจ้าชายแห่งยูเออี เป็นลูกสาวของกษัตริย์ฮุสเซน แห่งจอร์แดนผู้ล่วงลับ เข้าพิธีแต่งงานกับนายกรัฐมนตรียูเออีเมื่อปี 2004 โดยเจ้าหญิงฮายาเคยให้สัมภาษณ์ชื่นชมผู้หญิงยูเออีว่าสามารถนำเอาความทันสมัยหลอมรวมกับวัฒนธรรมอาหรับและมุสลิมได้อย่างน่าทึ่ง โดยไม่ต้องพึ่งพาแนวทางตะวันตก

เจ้าหญิงฮายา ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ส่งสารแห่งสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ ในปี 2007 และเป็นผู้หญิงและชาวอาหรับคนแรก ที่ได้ดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรีของโครงการอาหารโลกช่วงระหว่างปี 2005-2007 ด้วย

Advertisement

เจ้าหญิงทำงานเพื่อสนับสนุนสิทธิผู้หญิงอย่างต่อเนื่องโดยระบุกับนิตยสารเอมิเรตส์วูแมน เมื่อปี 2016 เอาไว้ว่า “ผู้หญิงยุคก่อนหน้าเรา และในยุคนี้ต้องเจ็บปวดแสนสาหัสเพื่อให้พวกเรามีที่ยืนในสังคมยุคใหม่ สังคมซึ่งในวันนี้ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน และจะดีขึ้นในวันพรุ่งนี้หากผู้หญิงสามารถแสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่”

เจ้าหญิงผู้โด่งดังจากจอร์แดนมีความรักในกีฬาขี่ม้า เช่นเดียวกับสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งเจ้าหญิงแห่งจอร์แดนก็มีความสนิทสนมเป็นอย่างดี โดยเจ้าหญิงมีโอกาสได้เป็นหัวหน้าทีมชาติจอร์แดน ร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และเคยคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันขี่ม้าแพน-อาหรับ เมื่อปี 1992 ด้วย

ล่าสุดเมื่อปี 2018 เจ้าหญิงฮายา เป็นข่าวดังเมื่อเจ้าหญิงเชิญแมรี โรบินสัน ประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในเวลานั้น ให้พบกับ “ลาติฟา” ลูกสาวคนหนึ่งของ “ชีค โมฮัมเหม็ด” ที่ถูกคอมมานโด บุกจับตัวกลางมหาสมุทรอินเดีย ก่อนพากลับประเทศ

Advertisement

โดยเหตุเกิดขึ้นหลังจาก เจ้าหญิงลาติฟา หนีออกจากบ้าน เนื่องจากรับไม่ได้กับการปฏิบัติและข้อห้ามต่างๆของพ่อ ซึ่งสร้างความห่วงกังวลให้กับกลุ่มสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น

นอกจากเรื่องสิทธิของผู้หญิงแล้ว เจ้าหญิงฮายา ยังทำงานเกี่ยวกับเยาวชน รวมไปถึงด้านสาธารณสุข และการศึกษาด้วย

“งานของเราในภาคส่วนนี้เป็นอีกหนทางที่จะทำให้แน่ใจว่าเราจะได้ใกล้ชิดกับประชาชนในระดับรากหญ้า ซึ่งนี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเรา” เจ้าหญิงฮายา ระบุ

เจ้าหญิงฮายา เกิดและเติบโตในประเทศจอร์แดน จบการศึกษาจากโรงเรียนเอกชนชั้นนำของอังกฤษ และจบระดับอุดมศึกษาที่วิทยาลัยเซนท์ฮิลดา มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ด้านการเมือง ปรัชญา และเศรษฐศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image