คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : 50 ปี วูดสต็อก วิญญาณเสรีที่หายไป

ภาพ-wikimedia common

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : 50 ปี วูดสต็อก วิญญาณเสรีที่หายไป

ช่วงเวลา 3 วัน 3 คืนปลายหน้าร้อนในสหรัฐอเมริกา สถานที่คือไร่เชิงเนินที่มีเนื้อที่ 1.2 ตารางกิโลเมตรของ เฒ่าแมกซ์ ยาสเกอร์ ที่เมืองเบเธล มลรัฐนิวยอร์ก วันที่คือ 15-16-17 สิงหาคมของเมื่อ 50 ปีมาแล้ว เทศกาลดนตรีที่เป็นการแสดงออกเชิงวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษย์อุบัติขึ้น และกลายเป็นตำนานของหลากสิ่งหลายอย่างสืบทอดต่อมาจนถึงทุกวันนี้

ชื่ออย่างเป็นทางการก็คือ “วูดสต็อก มิวสิค แอนด์ อาร์ท แฟร์” ที่ยังถูกกล่าวขานจนถึงทุกวันนี้ในฐานะเป็น “นิยาม” ขีดสุดของ “บุปผาชน” กับวัฒนธรรมแสวงหาร่วมสมัยในท่ามกลางความสับสนและสุดโต่งของสังคมอเมริกันที่สะท้อนออกมาอย่างเต็มเปี่ยมในห้วงเวลา 3 วัน 3 คืน

บนลาดเนินเขียวขจีที่นุ่มนวล กลางสายฝนที่กระหน่ำหนัก จนผืนดินเฉอะแฉะ กลายเป็นโคลนเลน สลับกับภาวะขาดแคลน น้ำ อาหาร มาตรการรักษาความปลอดภัย ขาดแทบทุกอย่าง ยกเว้น กัญชา และยาเสพติดอย่าง แอลเอสดี ที่เขียนป้ายด้วยลายมือขายกันในงานอย่างเปิดเผยในสนนราคาแค่ 1 เหรียญ

ห้วงเวลาที่เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์รถราติดขัดอย่างหนักตามเส้นทาง นิวยอร์กสเตททรูเวย์ ชนิดนิ่งสนิทนานนับชั่วโมงต่อเนื่องกันเกือบ 30 กิโลเมตร ลงเอยด้วยการที่ผู้มีส่วนร่วมในประสบการณ์พันลึกนี้ส่วนหนึ่งหลงเหลือเพียงหมวกฟางบนศีรษะประดับร่างกายทั้งชายและหญิง

Advertisement

ประเมินกันว่า มีผู้คนราวครึ่งล้านคนผ่านประสบการณ์ในครั้งนั้น ด้วยสนนราคาการมีส่วนร่วมแสนถูก 24 ดอลลาร์ตลอดงาน (เมื่อปรับเปลี่ยนตามอัตราเงินเฟ้อแล้วเท่ากับราว 125 ดอลลาร์ หรือราว 3,800 บาทตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ทั้งๆ ที่คนจัดคาดการณ์เอาไว้ว่าสูงสุดน่าจะมีแค่ 2 แสนคนเท่านั้น

ภาพ-woodstock.com

ในขณะที่ตามกฎหมายเบเทล เพียงอนุญาตให้มีผู้คนได้เพียง 5,000 คนเท่านั้นในเนื้อที่จำกัดเช่นนี้

นักร้อง นักแสดงที่กำหนดไว้ในคิวงานของเทศกาลครั้งนี้มีมากมายหลายรูปแบบ แทบทุกชนิดดนตรี ตั้งแต่ โฟล์ค, ร็อค, บลูส์, คันทรี, ฟิวชันแจซ, ละตินร็อค ฯลฯ ศิลปินอย่าง จิมมี เฮนดริกซ์ กับ ยิปซี ซัน แอนด์ เรนโบว์ส, ริชชี เฮเวนส์, ซานตานา, คันทรี โจ แม็คโดนัลด์, โจ ค็อคเกอร์, เจนิส โจพลิน, จอห์น โฟเกอร์ตี กับ ครีเดนซ์ เคลียร์วอเทอร์ รีไววัล (ซีซีอาร์) และ เดอะ ฮู

ทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้สโลแกน “สันติภาพ, ความรัก และ ดนตรี” ที่ทางการเบเทลต้องระดมเจ้าหน้าที่และเฮลิคอปเตอร์หย่อนน้ำและอาหารร่วม 600 กิโลกรัมลงไปช่วยเป็นกรณีฉุกเฉิน

กลายเป็นตำนานในทางวัฒนธรรม ที่ถูก นิวยอร์ก ไทมส์ ตีตราว่าคือ “มหกรรมแห่งความสกปรกและยุ่งเหยิง” ทางวัฒนธรรม

แต่ไม่ว่าจะนิยมชมชอบหรือเกลียดชังก็ตามที วูดสต็อก ก็ยังกล่าวขวัญกันมาจนถึงทุกวันนี้

หลายต่อหลายเทศกาลดนตรี พยายามเลียนแบบอย่าง และรังสรรค์บรรยากาศเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ ที่ใช้ชื่อวูดสต็อกเองก็มีหลายต่อหลายครั้ง ได้บ้างไม่ได้บ้าง เหลวเสียเป็นส่วนใหญ่และหลายต่อหลายเทศกาลไม่เคยเกิดขึ้นได้เลยก็มี

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า มีบางอย่างหายไปนับตั้งแต่สิ้นสุด 3 วัน 3 คืนที่เป็นตำนานดั้งเดิมนั้น

วิญญาณขบถ วิญญานเสรี แสวงหา แห่งยุคสมัยหายไปพร้อมกับวัฒนธรรมฮิปปี้ที่เบ่งบานถึงขีดสุดในสามวันนั้น

ภาพ-wikimedia common

ผู้รู้ทางดนตรีบอกเอาไว้ว่า ผลงานส่วนใหญ่ที่แสดงออกมาในสองสามวันที่ยิ่งใหญ่นั้นไม่ได้ยอดเยี่ยมกระไรนัก บางช่วงบางตอนถึงกับ “หลุด” เข้ารกเข้าพงไปไหนก็ไม่รู้ก็มี และเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่า ทำไมบันทึกการแสดงสดส่วนหนึ่งซึ่งกินเวลามากกว่า 20 ชั่วโมงถึงไม่เคยถูกปล่อยออกมาสู่หูผู้ฟังมาก่อน

แต่ภายใต้บรรยากาศที่แม้โกลาหล อลหม่านอยู่บ้าง ลำบากลำบนและอดอยากอยู่บ้าง ก็ยังเหมือนมีมนต์อบร่ำอยู่ทั่วทุกอณู ศิลปินหลายต่อหลายคนก็สร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมา ทันทีที่เหยียบย่างขึ้นบนเวที

จิมมี เฮนดริกซ์ คือหนึ่งในจำนวนนั้น

เขาเปลี่ยน “สตาร์ สแปงเกิลด์ แบนเนอร์” เพลงที่ร้องกันเกลื่อนกล่นทั่วประเทศอยู่บ่อยๆ ให้กลายเป็น “หนึ่งในห้วงเวลาทางวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดของศตวรรษ” ที่ 20

เฮนดริกซ์ เคยพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า “เขาให้ผมร้องในโรงเรียน” เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนที่ต้องทำความคุ้นเคยกับเพลงชาติสหรัฐอเมริกา “มันคือการย้อนอดีต ผมว่ามันงามนะ”

นักวิจารณ์ไม่ได้เห็นความงดงามเพียงอย่างเดียว แต่ยังเห็นเค้าลางของการโหยหา เรียกร้องเอาสำนึกแห่งจริยะ ศีลธรรม ที่กระจัดพลัดพราย กระพร่องกะแพร่ง จนหลงเหลือให้เห็นน้อยเต็มที หล่อหลอมรวมอยู่ด้วย

จิมมี เฮนดริกซ์ สิ้นชีวิตในรุ่งปีถัดมาเท่านั้นเอง

วู้ดสต็อก ยังผลิตงานที่ประทับใจไม่รู้วายขึ้นอีกมากมาย ผ่านการขึ้นเวทีของ เจนิส โจพลิน, ครอสบี สติล แนช แอนด์ ยัง, คาร์ลอส ซานตานา กับวงละตินร็อคที่ยืนยงมาอีกยาวนานอย่าง ซานตานา ฯลฯ

ในความรู้สึกของคนดนตรี เมื่อเหยียบย่างขึ้นบนเวทีวูดสต็อก เป็นอย่างหนึ่ง ความรู้สึกและการซึมซับของผู้ที่มีส่วนร่วมในฐานะผู้ชมก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

เดวิด ครอสบี บอกกับ ดิค คาร์เวทท์ พิธีกรทางทีวีไว้ถึงความรู้สึกเมื่อได้เห็นผู้ชมที่วูดสต็อกเป็นครั้งแรกจากด้านบนเวทีว่า

“เหมือนทหารในกองทัพมาซิโดเนียที่ตั้งค่่ายอยู่บนลาดเนินของกรีก” หนุนเนื่องกันเนืองแน่น ใหญ่โตโอฬารขนาดนั้น

แต่สิ่งที่ประทับอยู่ในใจของ บ็อบบี เคลลี ตอนที่เป็นสาวสะพรั่งในเวลานั้น ต่อสิ่งรอบข้างของตนเองก็คือ “ทะเลมนุษย์” เธอบอกก่อนบรรยายต่อว่า

“บางคนนั่งประคองกีตาร์อยู่ในมือทางนี้ ทางโน้นก็กำลังเคลิ้มเต็มที่กับกัญชา เหมือนกำลังควักสมองออกมาแผ่หราไว้ข้างนอก อีกด้านคู่หนึ่งกำลังเมคเลิฟ ดนตรีแผดดังได้ยินทั่วถึงกัน เป็นอย่างนี้ ถล่มทลายลงมาหาทุกผู้ทุกคน”

เบิร์ค อูซเซิล ช่างภาพอิสระที่แวะเวียนเข้าไป ตั้งใจอยู่เพียงชั่วขณะแล้วก็กลายเป็นติดหนับอยู่กับเทศกาลหนนี้ บอกถึงจังหวะสำคัญในชีวิตของตนเอง ซึ่งเป็นห้วงเวลา “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ของ บ็อบบี กับ นิค คนรักที่พบกันในเทศกาลวูดสต็อกด้วยเช่นกัน

ในท่ามกลางทะเลคนที่นอนๆ นั่งๆ กันระเกะระกะ “เกรซี สลิค ของ เจฟเฟอร์สัน แอร์เพลน กำลังอยู่บนเวที จู่ๆ คู่นี้ก็ลุกขึ้นยืนแล้วก็สวมกอดกัน” เขาลั่นชัตเตอร์ ความรักที่เริ่มต้นที่วูดสต็อก เบ่งบานงอกงามและยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้

เช่นเดียวกับภาพของอูซเซิล ที่ถูกเลือกเป็นปกอัลบัมซาวด์แทรค วูดสต็อก ในปี 1970 ต่อมา

หลายคนจดจำวูดสต็อกไว้ในฐานะเป็นบทสุดท้ายทางวัฒนธรรมบุปผาชน หลายอย่างเหมือนจะสิ้นสุดและถูกจำหลักเอาไว้ในห้วงเวลานั้นเท่านั้น

ตั้งแต่ 21 สิงหาคม ไม่กี่วันหลังจากเทศกาลดนตรีนี้ยุติลง แกป เปิดร้านจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปร้านแรกของตนในซานฟรานซิสโก เริ่มต้นการพลิกโฉมแฟชั่นสไตล์โบฮีเมียน ยีนส์ และเสื้อยืดหลากสีสันอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางความสงสัยของผู้คนในยุคนั้นว่า จะอยู่ได้อย่างไรกัน

ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส ก็เผยโฉมสิ่งที่เรียกกันในเวลานั้นว่า “อินเทอร์เฟซ เมสเสจ โปรเซสเซอร์” ที่เรารู้จักกันในเวลานี้ในชื่อ “เราเตอร์” ที่ทำให้ยุคแห่งอินเตอร์เน็ตคืบคลานใกล้เข้ามาเต็มที

สองสามวันให้หลังนับจากนั้น เครื่อง เอทีเอ็ม เครื่องแรกของโลกก็เริ่มเปิดให้ใช้กันที่นครนิวยอร์ก ภายใต้คำโฆษณาอหังการว่า

“ธนาคารของเราเปิดทำการ ณ 9.00 น. และไม่มีวันปิดทำการอีกแล้ว”

ไม่มีใครในยุคนี้กลับไปเป็น “ฮิปปี้” เต็มตัวอีกแล้ว ไม่มีใครเลื่อมใสในอิทธิพลของการเรียงตัวของดวงดาวในจักรวาลไกลโพ้นอีกต่อไป

กระนั้นหลายคนยังถวิลหาวูดสต็อก ในท่วงทำนองของผู้คนที่กังขาอยู่ว่าเมื่อครั้งที่โลกใหม่ก่อเกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร

แล้วกังขาอยู่ครามครันว่า โลกใหม่นี้มีโอกาสหรือไม่ที่จะดุ่มเดินอย่างมืดบอดไปหาสภาวะของ “มหกรรมสกปรกและยุ่งเหยิง” ได้หรือไม่ หรือจะเลวร้ายบัดซบมากยิ่งกว่ากัน?

บางคนยังครุ่นคำนึงถึงการหลุดพ้นจากกรอบ เป็นอิสระโดยสิ้นเชิงจากทุกอย่าง ท่องไปในโลกกว้างด้วยวิญญาณที่เป็นเสรีอย่างแท้จริง

บนหลักการประจำใจสั้นๆ เพียงว่า “Make love not War” เท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image