จากจอร์แดน มุ่งสู่ ‘อิรัก’ ภารกิจท้าทายของทูต ‘พรพงศ์ กนิษฐานนท์’

นายพรพงศ์ กนิษฐานนท์

จากจอร์แดน มุ่งสู่ ‘อิรัก’ ภารกิจท้าทายของทูต ‘พรพงศ์ กนิษฐานนท์’

ได้มีโอกาสพูดคุยกับเอกอัครราชทูต พรพงศ์ กนิษฐานนท์ ณ กรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน ในช่วงที่ได้รับเชิญไปทำข่าวเรื่องการนำคณะนาฏศิลป์ของไทยไปแสดงในงานเทศกาลของจอร์แดน ท่านทูตพรพงศ์ได้พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจอร์แดน ที่มีมานานถึง 50 ปี

ตั้งแต่ระดับราชวงศ์ระหว่างสองประเทศไปจนถึงเรื่องการศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีนักเรีนไทยไปเรียนที่จอร์แดนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนจอร์แดนกลายเป็นประเทศที่มีนักเรียนไทยไปเรียนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในตะวันออกกลาง โดยประเทศที่นักเรียนไทยไปเรียนมากที่สุดอันดับแรกในตะวันออกกลางก็คือ ประเทศอียิปต์

ในเรื่องการเรียนที่จอร์แดนนั้น ทางรัฐบาลจอร์แดนจะให้ส่วนลดสำหรับผู้ที่ไปเรียนด้านศาสนาอิสลามเท่ากับคนในท้องถิ่น จึงเป็นที่นิยมของนักเรียนไทยอย่างมาก และที่สำคัญคือ ในเรื่องของศาสนาอิสลามที่จอร์แดนนั้นเป็นลักษณะของสายกลาง มีความยืดหยุ่น เปิดกว้างกับชาวต่างชาติ มีแนวปฏิบัติเป็นสายกลาง ทำให้การมาอาศัยอยู่ที่จอร์แดนไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไร

ในส่วนของด้านการค้านั้น ทูตพรพงศ์บอกว่า ถือว่าสองประเทศยังมีการค้าระหว่างกันน้อยมาก คือราวๆ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปจอร์แดน 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากจอร์แดนเพียง 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเศรษฐกิจของจอร์แดนนั้นไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ส่วนใหญ่รายได้มาจากการขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ จากประเทศตะวันตกและตะวันออกกลางต่างๆ รวมทั้งจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) รวมไปถึงรายได้จากภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ค่าครองชีพก็สูงและยังเป็นประเทศที่ขาดแคลนน้ำรุนแรงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกเลยทีเดียว

Advertisement

สำหรับการลงทุนในจอร์แดนนั้น ผู้ที่มาลงทุนส่วนใหญ่จะลงทุนด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ เนื่องจากค่าแรงที่ไม่สูงมากนัก แต่จริงๆ แล้วชาวจอร์แดนไม่ได้ทำงานเหล่านี้ คนที่ทำงานเป็นแรงงานชาวอียิปต์ที่มีอยู่เกือบล้านคนในจอร์แดน ทำงานก่อสร้างด้วย ส่วนชาวฟิลิปปินส์ที่อยู่เกือบ 50,000 คน ก็จะมาเป็นแม่บ้าน และยังมีแรงงานชาวเอเชียใต้อีกราวแสนกว่าคนที่ทำงานอยู่ตามโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

รายได้หลักอีกอย่างของจอร์แดนคือ การที่ชาวจอร์แดนที่การศึกษาสูงไปทำงานในต่างประเทศเยอะมากในกลุ่มอาชีพนักวิชาชีพอย่างวิศวกร หมอ ตามประเทศต่างๆ ในอ่าวเปอร์เซียเยอะมาก และคนเหล่านี้ก็จะส่งเงินกลับมายังประเทศบ้านเกิด ที่ถือว่าเป็นรายได้หลักอีกอย่างหนึ่งของจอร์เแดน

แต่ขณะเดียวกัน แรงงานต่างชาติที่เยอะก็ทำให้เม็ดเงินออกนอกประเทศมากเช่นกัน

ด้านการท่องเที่ยวนั้น มีชาวจอร์แดนไปเที่ยวเมืองไทยมากถึงปีละ 10,000 คน และทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยระบุว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวจอร์แดนมีการใช้จ่ายต่อหัวต่อวันระหว่างเที่ยวที่เมืองไทยติดอันดับท็อป 5 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดเลยทีเดียว

ในทางกลับกัน มีคนไทยมาเที่ยวที่จอร์แดนเพิ่มมากขึ้นราวๆ 20,000 คน และตอนนี้ก็มีเที่ยวบินระหว่างจอร์แดนกับไทยบินทุกวัน เข้าจอร์แดนก็สามารถขอวีซ่าที่สนามบินได้เลย จ่าย 40 เหรียญจอร์แดน ส่วนจอร์แดนไปไทยต้องเสียค่าทำวีซ่า 30 เหรียญจอร์แดน

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนักท่องเที่ยวทั้งไทยไปจอร์แดน และจอร์แดนมาไทย ถือว่ายังไม่มากนัก อยู่ในหลักหมื่นต้นๆ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปที่จอร์แดน

โดยตอนเหนือของจอร์แดนที่ติดกับอิรักนั้นมีลักษณะเป็นทะเลทราย มีการปลูกผักผลไม้ แต่ปลูกไว้สำหรับคนท้องถิ่นกินกันเอง จะมีส่งออกบ้างก็ส่งไปที่อิรักบ้าง ซีเรียบ้าง

อย่างไรก็ตาม ทูตพรพงศ์นอกจากจะดูแลประเทศจอร์แดนแล้วก็ยังดูแลประเทศอิรักและปาเลสไตน์ด้วย โดยตอนเหนือของจอร์แดนติดกับประเทศอิรัก สมัยก่อนไทยมีสถานทูตอยู่ที่อิรัก แต่หลังจากเกิดปัญหาความรุนแรงก็ย้ายสถานทูตมาอยู่ที่กรุงอัมมาน เมืองหลวงของจอร์แดนแทน ซึ่งตอนนี้อิรักเองก็เริ่มฟื้นจากความไม่สงบภายในประเทศแล้ว และมีความต้องการพัฒนาประเทศให้มากขึ้น โดยตอนนี้มีเงินจากต่างประเทศเข้าไปพัฒนาอิรักมากขึ้นแล้ว และท่านทูตพรพงศ์เองก็มองว่างบประมาณในปีหน้าของทางสถานทูตก็จะมุ่งเน้นไปที่อิรักให้มากขึ้น

สาเหตุที่จะมุ่งเน้นไปที่อิรักมากขึ้น เนื่องจากตลาดในจอร์แดนเองนั้น โอกาสในการขยายออกไปมีไม่มากนัก ปัจจุบัน ก็มีสินค้าไทยมาขายที่จอร์แดนบ้าง เช่น อาหารกระป๋อง ซอส และเครื่องปรุงต่างๆ เช่น น้ำจิ้มไก่ รวมทั้งเครื่องไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ แต่เนื่องจากตลาดค่อนข้างเล็ก มีกำลังซื้อไม่มากนัก การขยายตลาดจึงมีข้อจำกัด ด้วยเหตุนี้ในปีหน้าสถานทูตจึงอยากจะขยายกิจกรรมไปยังประเทศอิรักให้มากขึ้น เพราะอิรักเริ่มฟื้นตัว ต้องการการบูรณะและฟื้นฟูประเทศ แม้ว่าประเด็นเรื่องความปลอดภัยยังคงเป็นปัญหาระดับหนึ่ง แต่ก็เบาบางลงไปมากแล้ว

อย่างไรก็ดี การติดต่อด้านการค้ากับอิรักคงต้องใช้เวลาระดับหนึ่ง เพราะเราไม่ได้ติดต่อกับเขามาระยะหนึ่งแล้ว ต้องดูความพร้อมของอิรักเรื่องระบบการเงินต่างๆ ด้วย แม้ว่าน่าจะมีโอกาสที่จะขยายตลาดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ทางอิรักมองว่าสิ่งหนึ่งที่ยังถือเป็นอุปสรรคสำหรับชาวอิรักในการเดินทางมาประเทศไทยคือเรื่องของการทำวีซ่า ที่ทางการอิรักต้องการอยากให้ทางการไทยยืดหยุ่นมากขึ้น และลดระยะเวลาให้สั้นลง เพราะการขอวีซ่าเข้าไทยบางราย อาจต้องรอนานเป็นเดือนกว่าจะได้รับการอนุมัติ ซึ่งท่านทูตพรพงศ์มองว่า หากเราผ่อนปรนเรื่องวีซ่าช้าเกินไปก็จะเท่ากับเราเสียโอกาสไปเรื่อยๆ เพราะยิ่งช้าตลาดในอิรักก็จะเต็ม

“อิรักเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ เรามีนักวิชาชีพเข้าไปทำงานในอิรักจำนวนมาก อย่างที่เมืองนาจาฟ ซึ่งเป็นเหมือนกับเมืองมักกะห์ของมุสลิมชีอะห์ มีสนามบินเป็นของตัวเอง และที่สนามบินแห่งนี้มีเจ้าหน้าที่ชาวไทยทำงานอยู่มากถึง 40 คนทีเดียว และทำมากัน 7-8 ปีแล้ว นอกจากนี้ก็ยังมีคนไทยที่ไปเป็นหมอนวดและอาชีพอื่นๆ เช่น วิศวกร แต่ยังมีไม่มาก” ท่านทูตพรพงศ์กล่าว และว่า เข้าใจดีถึงเรื่องการออกวีซ่า ที่มีเรื่องของความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้อง หากแต่ถ้าเราเข้าอิรักช้าไปก็จะสูญเสียโอกาสไปเช่นกัน

โดยท่านทูตพรพงศ์เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเข้าไปลงทุนในอิรัก ที่แม้จะดูมีความเสี่ยง แต่ก็อาจจะคุ้มค่าที่จะเสี่ยง

———————

มุตตกีน กูเต๊ะ หนึ่งในคนไทย ที่จอร์แดน

มุตตกีน กูเต๊ะ

มุตตกีน กูเต๊ะ หนึ่งในคนไทยที่เดินทางมาเรียนที่จอร์แดน เปิดเผยกับ “มติชน” ว่า เรียนจบด้านกฎหมายอิสลาม มหาวิทยาลัยจอร์แดน ตอนนี้ทำงานอยู่ที่สถานทูตไทย ที่กรุงอัมมานมา 4 ปีแล้ว เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุล คอยทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ที่จะมาเรียนต่อ ดูแลงานด้านกงสุล คุ้มครอง

มุตตกีนเล่าว่า บ้านของเขาอยู่ที่ จ.ยะลา และได้เรียนอยู่ที่จอร์แดนในหลักสูตรศาสนาอิสลาม จึงทำให้จ่ายค่าเรียนเท่ากับคนท้องถิ่น และว่า ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา รัฐบาลจอร์แดนได้อนุมัติให้ชาวต่างชาติที่เรียนปริญญาโท ปริญญาเอก จ่ายเงินค่าเรียนเท่ากับคนท้องถิ่นแล้ว ซึ่งก็มีคนไทยที่สนใจไปเรียนจำนวนหนึ่ง และถ้าสนใจก็ต้องมาขอผ่านทางสถานทูต

อย่างไรก็ตาม มุตตกีนบอกว่า หลังจากที่ทำงานอยู่ที่จอร์แดนมาหลายปี ตอนนี้ก็อยากจะกลับบ้านที่ยะลาไปขายของ เพราะมองว่าเงินส่วนใหญ่ที่หาได้จากที่จอร์แดนก็ใช้ไปหมดเวลาเดินทางกลับไปยะลา ก็เลยคิดว่าจะกลับบ้านไปอยู่ที่ยะลาเลยดีกว่า กลับไปขายของ

มุตตกีนบอกด้วยว่า แม้ว่าอยู่จอร์แดนจะมีรายได้ดี แต่ค่าครองชีพก็แพง จึงได้ตัดสินใจว่าจะกลับบ้านดีกว่า

...อย่างที่เขาว่ากันว่า อยู่ที่ไหน ไม่สุขใจเท่าบ้านเรา คือเรื่องจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image