คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : เดิมพันสุดท้าย ของบอริส จอห์นสัน

(AP Photo/Markus Schreiber)

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : เดิมพันสุดท้าย ของบอริส จอห์นสัน

การเมืองในประเทศ “แม่แบบประชาธิปไตย” อย่างอังกฤษบรรลุถึงจุดสูงสุดของสภาวะโกลาหลอลหม่านเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลกับสภาสามัญ หรือสภาผู้แทนราษฎรงัดเอากลเม็ดเด็ดพรายทางการเมืองออกมาเปิดศึกกันในทุกแง่ ทุกมุม เท่าที่มีช่องทางเปิดเอาไว้ให้ถล่มกันได้

ธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา จารีตทางการเมืองที่เคยคำนึง แม้กระทั่งความสง่างามในการแสดงออกถึงความขัดแย้งทางความคิดที่เคยยึดถือปฏิบัติ การยอมรับในเสียงส่วนใหญ่การให้ความเคารพต่อเสียงข้างน้อย ที่เคยเป็นอัตลักษณ์โดดเด่นในทางการเมืองของประเทศ ถูกโยนทิ้งออกนอกหน้าต่างพระราชวังเดิมเวสต์มินสเตอร์ไปหมดสิ้น

เป็นสงครามว่าด้วยการนำประเทศพ้นสภาพการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) ที่เรียกกันว่า เบร็กซิท

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ที่จัดตั้งรัฐบาลผสมด้วยเสียงข้างมากเพียง 1 เสียง แสดงความเป็น “บอริส จอห์นสัน” ออกมาอย่างเต็มที่ในกระบวนการทางการเมืองครั้งนี้ เริ่มต้นจุดชนวนสงครามครั้งนี้ขึ้นมา ด้วยการปิดสภายืดยาวกว่า 1 เดือน ด้วยเจตนาที่พยายามกลบเกลื่อนซ่อนเร้นอย่างไรก็ไม่มิดชิดว่า เป็นการดำเนินความพยายามเพื่อรวบอำนาจบริหารจัดการเบร็กซิทมาไว้กับรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ดังนั้นจึงไม่เปิดโอกาสให้สภามีเวลาดำเนินการใดๆ เพื่อขัดขวางเบร็กซิทได้อีกต่อไป

Advertisement

เป้าหมายของจอห์นสันก็คือ นำอังกฤษพ้นจากยุโรปให้ได้ภายใน 31 ตุลาคมนี้ ไม่ว่าจะมีความตกลงหรือไม่ก็ตาม ถ้าหากอียู ยังไม่ยอม “ทำความตกลงใหม่” กับรัฐบาลของตน ด้วยเงื่อนไขต่างๆที่ตนกำหนดไว้ รวมทั้งการไม่มี “แบ็คสต็อป” หลักประกันความวุ่นวายตามแนวชายแดนระหว่างสาธารณรัฐไอร์แลนด์ กับไอร์แลนด์เหนือของอังกฤษ

จอห์นสัน กำหนดปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 9 กันยายนนี้ และจะไปเปิดสภาใหม่อีกทีในวันที่ 14 ตุลาคม นานอย่างที่ไม่เคยปราฏมาก่อนในอังกฤษ และเหลือเวลาให้ส.ส.ดำเนินการเพียงไม่กี่วันทำการ ก่อนที่จะถึงกำหนดเส้นตาย “เบร็กซิท” 31 ตุลาคม

การกระทำดังกล่าว ถูกมองจากบรรดานักวิชาการว่าเป็นการ “ใช้อำนาจอย่างบิดเบือน” ตีความอำนาจของนายกรัฐมนตรีเสียใหม่จนล้นเหลือ อยู่เหนืออำนาจของสภา

Advertisement

คนธรรมดาสามัญไม่ได้มีเวลาว่างมากมายมาประดิษฐ์วาทะกรรมหรูๆ

บอกได้อย่างเดียวว่าเป็น “การรัฐประหารสไตล์อังกฤษ” และตามมาด้วยการฮือประท้วงครั้งใหญ่ในหลายหัวเมือง

******

ในสภาสามัญ เกิดปรากฏการณ์การรวมตัวกันครั้งใหญ่เพื่อยุติการนำอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกอียู โดยไม่มีความตกลงใดๆ สมาชิกพรรคการเมืองที่เหลือทั้งหมดกับส่วนหนึ่งของสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นพรรครัฐบาลอีก 21 คน ที่รวมตัวกันขึ้นเป็น “พันธมิตรขบถ” อาศัยคะแนนเสียงข้างมากกับเวลาที่เหลือเพียงเล็กน้อย ลงมติให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายที่กำหนดให้ นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ไม่เพียงต้องทำหนังสือขอเลื่อนกำหนดเส้นตายเบร็กซิทออกไปอีก 3 เดือนเท่านั้น ยังจะต้องดำเนินการเจรจาเพื่อหาทางทำความตกลงเงื่อนไขในการพ้นจากสมาชิกภาพดังกล่าวด้วย

เป็นการปิดทาง “โน-ดีล เบร็กซิท” โดยสิ้นเชิง

ร่างกฎหมายดังกล่าว สะท้อนความเป็นปฏิปักษ์ ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันออกมาอย่างชัดเจน ชนิดที่ไม่เคยปรากฏให้เห็นกันมาก่อนในอดีต ด้วยการกำหนดไว้ชัดเจนว่า ถ้อยคำทั้งหมดในหนังสือขอเลื่อนเส้นตายดังกล่าวนั้น ต้องเป็นไปตามที่สภาฯกำหนด ต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ

บอริส จอห์นสัน ปฏิเสธที่จะดำเนินการตามนั้น และเลือกที่จะเสนอร่างกฎหมายยุบสภา จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยอาศัยข้ออ้างที่ว่า เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างความต้องการของสภา คือการให้เลื่อนเบร็กซิทออกไป กับความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้ เบร็กซิท ตามประชามติเมื่อปี 2016

นี่คือการบิดเบือนอย่างชาญฉลาด ทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ รู้ดีว่า หัวใจของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นเรื่องเบร็กซิทหรือไม่ แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างการออกจากการเป็นสมาชิกอียูอย่างเป็นระเบียบ เป็นขั้นตอน และไม่ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายใดๆ กับการเดินออกมาเฉยๆ เฉียบพลันที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างใหญ่หลวงต่างหาก

ข้อกังขาของฝ่ายค้านก็คือ นายกรัฐมนตรีดำเนินการเช่นนี้ เป็นเพราะไม่สนใจ ไม่ต้องการ และ ไม่เห็นด้วยกับการเจรจา เพราะมีเป้าหมายอย่างเดียวคือเบร็กซิท

ข้อสังเกตดังกล่าวมีรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น เมื่อ “พันธมิตรขบถ” กับฝ่ายค้านคว่ำมติดังกล่าวด้วยเสียงข้างมาก ยัดเยียดความปราชัยรอบที่สองให้กับนายกรัฐมนตรีจอห์นสันติดต่อกันในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วัน

แอมเบอร์ รัดด์ ที่กลายเป็นรัฐมนตรีคนล่าสุดที่ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเป็นการประท้วงต่อแนวทางของนายกรัฐมนตรีของตนเอง ออกมายืนยันชัดเจนว่า

ที่ผ่านมา บอริส จอห์นสัน ไม่เคยดำเนินการใดๆ ในอันที่จะเจรจาเพื่อหาความตกลงใหม่ที่อาจได้รับความเห็นชอบจากสภาสามัญใดๆ ทั้งสิ้น

******

นับจนถึงตอนนี้ “เบร็กซิท” ตกอยู่ในสภาพเป็น “อัมพาต” โดยสิ้นเชิง

สภาสามัญ ปิดสมัยประชุมไปแล้วตามความต้องการของนายกรัฐมนตรีจอห์นสัน แต่ในเวลาเดียวกัน มติของสภาที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเลื่อนเส้นตายเบร็กซิท ออกไป ก็บัญญัติออกมาเป็น “กฎหมาย” แล้ว

สภาฯต้องการให้เลื่อนเบร็กซิท นายกรัฐมนตรีแสดงท่าทีผ่านโฆษกว่า จะไม่ดำเนินการตามนั้น

นายกรัฐมนตรีต้องการเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ 15 ตุลาคม แต่กลับไม่ได้รับความร่วมมือจากสภาสามัญ สภาฯยืนกรานว่า จะไม่มีการเลือกตั้งใหม่จนกว่าจะมีการเลื่อนกำหนดเบร็กซิทออกไป นั่นคือกำหนดการเลือกตั้งจะต้องเป็นหลังจาก 31 ตุลาคมไปแล้ว

นี่คืออะไรกัน? นี่หรือคือกระบวนการประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพและความชอบธรรม และ ยังผลให้เกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นในสังคม?

ภายใต้กระบวนการพิลึกพิลั่นของประเทศที่เป็น “แม่แบบประชาธิปไตย” ครั้งนี้ บังเกิดสิ่งที่เป็น “ปรากฏการณ์” ขึ้นมากมายในประเทศอังกฤษ

ตั้งแต่การประกาศขับสมาชิกพรรคที่มีแนวคิดประนีประนอม ซึ่งพยายามมาโดยตลอดที่จะมองหาแนวทางที่ดีที่สุดซึ่งแต่ละฝ่ายรับได้มากที่สุดมากถึง 21 คนพ้นจากสถานะการเป็นสมาชิกของพรรค แบบไม่เป็นทางการ

เป็นการดำเนินการที่ส่งผลให้รัฐบาล ซึ่งเคยมีเสียงข้างมากอยู่เพียง 1 เสียง กลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่พร้อมถูกโค่นล้มอยู่ได้ตลอดเวลา

เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนได้เห็นกันผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศว่า ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีขึ้นกล่าวประนามส.ส.ขบถของพรรคตนเองอยู่ ฟิลลิป ลี อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม, และเป็นสมาชิกสภาสามัญคนสำคัญของพรรคอนุรักษ์นิยมมาหลายยุคหลายสมัย ลุกขึ้นเดินข้ามฟากจากที่นั่งส.ส.รัฐบาล ไปนั่งร่วมกัน ส.ส.พรรคลิเบอรัล เดโมแครต ให้เห็นกันต่อหน้าต่อตา

เป็นห้วงเวลาที่ ทุกคนได้เห็น เจค็อบ รีส-ม็อกก์ เบร็กซิเตอร์ คนสำคัญที่เป็นรัฐมนตรีกิจการรัฐสภาของนายกรัฐมนตรี จอห์นสัน เหยียดขา กอดอกบนโซฟาหลับตาพริ้มระหว่างการประชุม

ราวกับไม่ใยดี ไม่แยแส ไม่ให้คุณค่าต่อสภาที่เป็นผู้แทนของปวงชนแม้แต่น้อย

นักธุรกิจ ประชาชนทั่้วไป ไม่ว่าจะต้องการเบร็กซิทหรือไม่ ก็ต้องรอคอยกันต่อไป

******

ภายใต้สถานการณ์อึมครึม ติดตายอยู่กับที่ แบบก้าวไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ก้าวถอยหลังก็ไม่ดี เช่นนี้ สถานการณ์ทุกอย่างยังคงเป็นไปได้ทั้งหมด

นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ยังคงตระเวนขึ้นเหนือลงใต้ แสดงออกให้เห็นประหนึ่งว่ากำลังอยู่ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นอยู่ในเร็ววัน แต่การยุบสภา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่นอกวาระนั้นจำเป็นต้องได้รับคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของสภาสามัญ

ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ในยามที่ปิดสมัยประชุมอย่างเช่นในเวลานี้

วาระกรรมสำคัญอีกวาระ ก็คือ การประชุมสุดยอดผู้นำ 28 ชาติสหภาพยุโรป ที่กำหนดจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 17-18 ตุลาคมที่จะถึงนี้ที่กรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียมและเป็นเมืองหลวงในทางปฏิบัติของอียู

สำคัญเพราะตอนนั้นคือตอนที่จะแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า บอริส จอห์นสัน นำหนังสือขอเลื่อนกำหนดเส้นตายไปเสนอต่ออียูหรือไม่

และ อียู มีมติต่อเรื่องนี้ว่าอย่างไร

อียู แสดงท่าทีมาแล้วหลายครั้งหลายหนว่า หากไม่มีเหตุผลประกอบที่ชอบธรรมและก้าวรุดหน้าไปจากเดิม ก็ไม่มีเหตุอันควรที่จะเลื่อนกำหนดเบร็กซิทต่อไปอีกครั้ง

นั่นหมายความว่า โน-ดีล เบร็กซิท ก็ยังคงเกิดขึ้นได้อยู่ดี

ยกเว้นว่า บอริส จอห์นสัน จะนำเสนอแนวทางใหม่ที่ดีและเป็นเหตุเป็นผลในทางปฏิบัติจนอียูสามารถรับได้ว่ามีคุณค่าเพียงพอต่อการเจรจาเพื่อทำความตกลงใหม่ได้ การเลื่อนออกไปสั้นๆ เพื่อบรรลุผลเบร็กซิทแบบนุ่มนวล เป็นระเบียบ ก็เป็นไปได้อีกเช่นกัน แม้ว่าไม่มีเค้าลางว่าผู้นำอังกฤษต้องการเช่นนั้น

พ้นจากนั้นไป ก็คือวาระการเปิดสมัยประชุมสภาสามัญใหม่ ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ว่า ส.ส.ฝ่ายค้านกับพันธมิตรขบถที่ครองเสียงข้างมากอยู่ในเวลานี้จะดำเนินการต่ออย่างไร

มีตั้งแต่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรื่อยไปจนถึงการมีมติให้กำหนดวันเลือกตั้งครั้งใหม่ว่าจะเป็นไปในแนวทางของรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน

หากมีญัตติไม่ไว้วางใจ โอกาสที่จะทำให้บอริส จอห์นสัน พ้นตำแหน่งและ ได้เห็น เจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงานฝ่ายค้านก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีอยู่เช่นเดียวกัน

หรือจะเกิดการเลือกตั้งใหม่ เกิดการลงประชามติครั้งใหม่ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งหมด

ถ้าหากไม่เสียดายเวลา 3 ปีที่ผ่านเลยมาโดยเปล่าประโยชน์ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image