สัมภาษณ์พิเศษ : ‘ดอน’ ขยายภาพ บทบาทไทย ใน ‘จีเอ74’

หมายเหตุ “มติชน” นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมของการมาเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ สมัยที่ 74 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าช่วยยกบทบาทของไทยในเวทีโลกอย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ(ยูเอ็นจีเอ) สมัยที่ 74 ในปีนี้ โดยท่านได้เข้าร่วมภารกิจในการประชุมระดับผู้นำ 3 การประชุมหลัก ประกอบด้วย 1.การประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2.การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และ3.การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้ถือว่ามีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันทั้งหมด เพราะเมื่อประชาชนกินดีอยู่ดี มีสุขภาพดีไม่ว่าจะอยู่ในเพศหรือวัยใด ก็จะมีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ(เอสดีจีส์)ทั้ง 17 เป้าหมาย ขณะที่การช่วยกันป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกก็เป็นเป้าหมายที่ 13 ภายใต้เป้าหมายเอสดีจีส์เช่นกัน จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 เวทีนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่งแต่เป็นเรื่องของประชาคมโลกทั้งหมด

ในประเด็นเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(ยูเอชซี) ไทยถือเป็นประเทศที่มีพื้นฐานมั่นคงแข็งแรงและได้รับการยอมรับอยู่ในลำดับต้นของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแพทย์ การสาธารณสุข และการดูแลผู้ป่วย ที่ถือว่าไทยมีความสามารถเป็นที่รับรู้เชิงประจักษ์ และถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ว่าประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยมีวิวัฒนาการความรู้ทางการแพทย์จนประเทศอื่นๆ ต้องมารักษาตัวที่เรา หลายโรคที่รักษาไม่ได้ไทยก็สามารถดูแลจนหาย อาทิ ผู้ป่วยโรคเมอร์ส ที่ผู้ป่วยติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจากไวรัส

เราเป็น 1 ใน 7 ประเทศที่ได้ริเริ่มผลักดันเรื่องดังกล่าวโดยตรงตั้งแต่ในกรอบ Foreign Policy and Global Health ของสหประชาชาติ ซึ่งพัฒนาจนกลายมาเป็นยูเอชซีในปัจจุบัน โดยไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดีเป็นอันดับ 6 ของโลก สิ่งเหล่านี้มาจากพื้นฐานว่ารัฐบาลต้องมีวิธีจัดการบริหารงบประมาณ ควบคู่ไปกับการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคม อาทิ ภาคเอกชน ซึ่งทำให้เราสามารถเดินหน้าเรื่องยูเอชซีไปได้อย่างราบรื่น และยังมีแผนงานเข้ามาช่วยเสริมการดูแลประชาชน ไม่ว่าการเปิดให้สามารถเข้ารับการรักษาฉุกเฉินในโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงการให้ประชาชนสามารถเลือกนำใบสั่งยาไปรับยาที่ร้านขายยาโดยไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล เรื่องต่างๆ เหล่านี้สะท้อนว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับคนทุกคนและจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การดำเนินนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้ยึดหลักความเสมอภาค และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

Advertisement

ต่อมาเรื่องเอสดีจีส์ ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เรารับหน้าที่ประธานกลุ่ม 77 ซึ่งไม่ได้เพียงแค่ผลักดันให้ประเทศต่างๆ บรรลุเป้าหมายเอสดีจีส์ แต่ยังได้นำเสนอแนวทางที่เรียกว่าการส่งเสริมหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่จะมีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SEP for SDGs อีกด้วย

ส่วนประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ประเทศไทยก็ได้ให้สัตยาบันในความตกลงกรุงปารีสซึ่งเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศต่างๆ ในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ตั้งแต่หลังจากที่ท่านนายกรัฐมนตรีกลับจากเดินทางไปร่วมประชุมกับผู้นำโลกที่กรุงปารีสเมื่อปี 2559

ดังนั้นในช่วง 3 วันแรกบนเวทีสหประชาชาติ มีการพูดถึงประเทศไทยในทุกเวที นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการออกปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยเรื่องยูเอชซี ซึ่งไทยกับจอร์เจียได้ร่วมกันจัดทำขึ้น ทำให้ขณะนี้ทั่วทั้งโลกได้ประกาศพันธะกรณีที่จะเดินหน้าจัดสรรยูเอชซีให้กับประชาชนในประเทศของตนเองแล้วเช่นกัน

นอกจากภารกิจของท่านนายกรัฐมนตรีแล้ว ผมเองยังได้เข้าร่วมในเวทีคู่ขนานต่างๆ ที่จัดขึ้น อาทิ ได้ประธานร่วมกับรัฐมนตรีสาธารณสุขอาร์เจนตินาในการประชุมเวทีคู่ขนานว่าด้วยเรื่องยูเอชซี และไทยในฐานะประธานอาเซียนและผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก(เอสแคป) และสำนักเลขาธิการอาเซียน จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “Regional Dimension in Achieving SDGs : From Lesson Learned to Practical Action in the ASEAN Regional and Beyond” เพื่อส่งเสริมบทบาทของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นการแสดงเจตนารมย์ร่วมกันของอาเซียนในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งภายในอาเซียนและกับภาคีภายนอกอาเซียน ซึ่งได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ เป็นอย่างดี

นอกจากเวทีที่จัดขึ้นในยูเอ็นแล้ว ยังมีเวทีอื่นๆ ที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้มาทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้น เกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและความเป็นไปได้ทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น Asia Society และ US-ASEAN Business Council ซึ่งช่วยให้ความมั่นใจเกี่ยวกับพัฒนาการต่างๆ ในไทยว่าจะมีความต่อเนื่องต่อไปอย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงบทบาทในฐานะประธานอาเซียนในการเดินทางมาร่วมประชุมยูเอ็นจีเอครั้งนี้อย่างไรบ้าง

ใน 2 เวทีประชุมระดับผู้นำคือการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศ และการประชุมว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ท่านนายกรัฐมนตรีได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงร่วมในนามของประธานอาเซียน ซึ่งทำให้เป็นที่รับรู้กันว่าอาเซียนมีบทบาทและท่าทีในเรื่องที่มีความสำคัญของโลกทั้ง 2 เรื่องนี้อย่างไร

การหารือในกรอบทวิภาคีมีการพูดคุยถึงประเด็นใดบ้าง

เราได้มีการหารือกับหลายประเทศถึงเรื่องที่จะเป็นประโยชน์และความร่วมมือระหว่างกัน รวมถึงเรื่องที่หลายฝ่ายมีความห่วงกังวลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในอาเซียนรวมถึงสถานการณ์ในรัฐยะไข่ และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อการร้ายซึ่งประเทศต่างๆ ในโลกมีความวิตกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันในประเทศซาอุดีอาระเบีย

แน่นอนว่าประเทศไทยเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะกระทบกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตน้ำมันซึ่งส่งผลกระทบกับทั่วโลกและเป็นเหตุให้นานาประเทศออกมาประณามการกระทำดังกล่าว เพราะทำให้เสถียรภาพของโลกและภูมิภาคต่างๆ ถูกกระทบกระเทือน และเหตุการณ์สามารถบานปลายออกไปได้ แต่ต้องชื่นชมที่ฝ่ายผู้เสียหายยังมีความยับยั้งชั่งใจ ไม่เช่นนั้นเรื่องราวอาจจะบานปลายออกไปถึงจุดที่ยากจะคาดเดา

ในฐานะประธานอาเซียนเรามีความห่วงกังวลในเรื่องนี้ เพราะเรากำลังพยายามสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองไปควบคู่กัน ถ้าเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นแม้จะเป็นนอกภูมิภาคก็สามารถส่งผลกระทบกับอาเซียนได้เช่นกัน เรารู้สึกเศร้าใจที่เห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันประณาม

มองภาพรวมของการเดินทางมายูเอ็นของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้อย่างไร

การมาประชุมยูเอ็นจีเอครั้งนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีได้นำเอาเรื่องที่ดีของประเทศไทยและเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้ในเวทีโลก เป็นการมาที่คุ้มค่าและถือว่าสัมฤทธิ์ผล ทำให้เกิดความรับรู้ที่กว้างขวางถึงสิ่งที่ประเทศไทยได้ทำมา และยังทำให้เกิดความรับรู้ถึงการดำเนินการของไทยในฐานะประธานอาเซียน ผ่านการกล่าวถ้อยแถลงในเวทีหลักทั้ง 3 เวทีดังที่กล่าวไป

นายทิจจานี มูฮัมหมัด-บานเด ประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 74 ยังได้ออกคำแถลงขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ไทยมีบทบาทนำในการทำให้เกิดปฏิญญาทางการเมืองในเรื่องยูเอชซี และยังชื่นชมที่ไทยได้แบ่งปัน SEP for SDGs เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับประชาคมโลก

ด้านนายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติ ก็ยังได้รับรู้ถึงบทบาทของประเทศไทยในเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากได้มาร่วมพิธีเปิดการประชุมและรับฟังการอภิปรายในทั้ง 3 เวที ซึ่งประเทศต่างๆ ได้พูดโยงถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ทั้งนี้นายกุแตเรชยังตอบรับคำเชิญที่จะเดินทางมาเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยนายกุแตเรชยังจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก(อีเอเอส)ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image