คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : เศรษฐศาสตร์กระแสใหม่ พลิกโฉมวิธี”แก้จน”

(ภาพ-REUTERS)

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : เศรษฐศาสตร์กระแสใหม่ พลิกโฉมวิธี”แก้จน”

คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้เหมาะสมเข้ารับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2019 เลือกให้รางวัลทรงเกียรตินี้กับนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์อเมริกัน 3 คน คือศาสตราจารย์ ไมเคิล เครเมอร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, ศาสตราจารย์ อภิจิต พานีรจี และ ศาสตราจารย์ เอสเธอร์ ดูโฟล สองสามีภรรยาสองคนหลังนี้สอนวิชาเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเสตต์ (เอ็มไอที) ที่สหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน

ความสำเร็จของคนทั้งสามที่ควรค่าแก่การได้รับรางวัลนี้คือ ผลงานที่เกิดขึ้นจากการทดลองนำ “วิธีใหม่มาประยุกต์ใช้เพื่อบรรเทาความยากจน”

ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ นี่นับเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ที่รางวัลโนเบลสาขานี้ มอบให้กับนักวิชาการที่นำเอาวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์มาพินิจพิเคราะห์และประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาความยากจนให้กับโลก ครั้งแรกคือผลงานของ อมาตยา เซน ที่ต้องย้อนหลังไปถึงเมื่อปี 1998

ถ้าหากนับรวมเอารางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ที่มูฮัมหมัด ยูนุส นายธนาคารและนักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ ได้รับร่วมกับธนาคารกรามีน ในการนำเอา “ไมโครเครดิต” มาใช้เพื่อแก้ปัญหาความยากจนในบังกลาเทศเมื่อปี 2006 ก็นับเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่มีผู้ได้รับรางวัลโนเบลจากความพยายามแก้ปัญหานี้

Advertisement

ข้อเท็จจริงนี้ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับปัญหานี้ของสถาบันรางวัลโนเบลเท่านั้น หากยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ปัญหาความยากจนนั้นดำรงอยู่มาอย่างยาวนานและไม่มีทีท่าว่าจะหมดสิ้นลงแต่อย่างใดอีกด้วย

ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการก็คือ นักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 ได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ อายุยังน้อยเมื่อเทียบกับบรรดาผู้ที่ได้รับการยอมรับในความคิดและผลงานจนควรค่าแก่รางวัลโนเบลที่ผ่านมา อมาตยา เซน ได้รับรางวัลโนเบลเมื่ออายุ 65 ปี มูฮัมหมัด ยูนุส เองก็ได้รับการยอมรับในผลงานเมื่ออายุถึง 66 ปีแล้ว

เครเมอร์ เพิ่งอายุ 54 ปีในปีนี้ พานีรจี อายุ 58 ส่วน ดูโฟล วัยเพียงแค่ 46 ปี ไม่เพียงเป็นนักเศรษฐศาสตร์สตรีคนที่ 2 เท่านั้นที่ได้รางวัลนี้ ยังเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่อายุน้อยที่สุดอีกด้วย

ที่สำคัญก็คือ นักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 คนคือตัวแทนของนักวิชาการรุ่นใหม่ เป็นขบวนการใหม่ของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลังที่กำลังสร้างกระแสใหม่ในทางเศรษฐศาสตร์ให้เป็นที่นิยมและยอมรับกันมากขึ้นเรื่อยๆ อยู่ในเวลานี้ ด้วยการลงไปคลุกคลีทำงานร่วมกับประชาชนและรัฐบาลในพื้นที่ปัญหาจริงๆ

เป้าหมายก็คือเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาเรื้องรังยากแก่การเยียวยารักษาของสังคมโลกอย่างปัญหาความยากจนที่มีประสิทธิภาพที่สุดและสามารถพิสูจน์ได้ขึ้นนั่นเอง

******

แนวคิดใหม่ในการแก้ปัญหาความยากจนของนักวิชาการรางวัลโนเบลทั้ง 3 ยืนอยู่บนพื้นฐานของสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็น “ข้อบกพร่อง” ของวิธีการแก้ปัญหาความยากจนที่ผ่านมา

พวกเขาชี้ให้เห็นว่า ทศวรรษแล้วทศวรรษเล่า นโยบายก็ดี หรือโครงการที่ดำเนินการเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจนก็ดี ล้วนถูก “ออกแบบมา” ด้วยการ “อนุมาน” เอาว่าเป็นความ “เชื่อ” ที่น่าจะเป็นเหตุเป็นผล

คำถามก็คือว่า เรารู้ได้อย่างไรว่า การคาดคะเนก็ดี หรือ สมมุติฐานที่เราตั้งขึ้นจากการสรุปความเข้าใจเอาเองนั้น คือสิ่งที่ถูกต้อง?

ตัวอย่างเช่น เด็กๆ ที่ยากจน ไม่สามารถซื้อหาตำราเรียนได้ การเรียนของพวกเขาจึงไม่ได้คะแนนดี ดังนั้น ถ้าเพียงแค่นำหนังสือเรียนไปมอบให้เด็กๆ เหล่านั้น ฟรีๆ ทุกคนควรทำคะแนนในการสอบได้ดีขึ้น…จริงหรือ?

หรือ ผู้หญิงในกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดในสังคม ติดกับอยู่กับความยากจนเพราะไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ไม่มีเงินทุนเพื่อเริ่มต้นทำกิจการแม้แต่กิจการเล็กๆ น้อยๆ การหยิบยื่นเงินกู้ประเภทสินเชื่อรายย่อย ให้พวกเขาเริ่มต้นดำเนินกิจการของตัวเอง จะทำให้คนเหล่านี้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เป็นจริงเช่นนี้ในทุกกรณีหรือ?

ข้อสรุปของนักเศรษฐศาสตร์กระแสใหม่เหล่านี้ก็คือ ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าโครงการเหล่านั้น หรือนโยบายเหล่านั้นที่ผ่านมาก่อให้เกิดผลลัพธ์เช่นนั้่นจริง จนสามารถยึดถือเป็นมาตรฐานในการแก้ปัญหาแบบเดียวกันได้ทุกครั้ง ในทุกที่ ทุกเวลา

เราเพียงแต่ “คาดคะเน” เอาว่ามันควรจะเป็นเช่นนั้นจากความเข้าใจเอาเอง จากการสรุปเอาเองล่วงหน้าโดยไม่มีหลักฐานยืนยัน

พวกเขาชี้ให้เห็นว่า การที่คนยากจนที่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการหนึ่งโครงการใดมีชีวิตที่ดีขึ้นมา ไม่ได้หมายความว่า โครงการความช่วยเหลือดังกล่าวนั้นเป็นสาเหตุที่มาของการมีชีวิตที่ดีขึ้นจริงๆ

ในบางกรณี อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับโครงการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวผสมผสานรวมกันกลายเป็นผลลัพธ์ให้ชีวิตของคนยากจนดีขึ้น อย่างเช่นสภาวะโดยรวมของเศรษฐกิจเกิดกระเตื้องขยายตัวเพิ่มมากขึ้น หรือ อาจเกิดจากผลพวงที่ได้รับจากโครงการช่วยเหลืออื่นๆ ที่ดำเนินการอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น

นี่ไม่ได้เป็นการคัดง้าง หรือปรามาสว่าการให้ความช่วยเหลือคนยากจนที่ผ่านมาเป็นเรื่องผิด เป็นแต่เพียงการตั้งคำถามว่า รู้ได้อย่างไรว่าได้ผล? อะไรคือหลักฐานบ่งชี้?

ที่สำคัญที่สุดก็คือ เป็นการตั้งคำถามสำคัญขึ้นมาพร้อมกันได้ด้วยว่า ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจน รู้แล้วจริงๆ หรือว่า สาเหตุที่มาของความยากจนที่เกาะกินพวกเขาอยู่คืออะไร? และอะไรคือวิธีการแก้ที่เหมาะสมที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด?

ไมเคิล เครเมอร์ เป็นผู้เริ่มต้นคิดและตั้งคำถามเหล่านี้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ไม่กี่ปีต่อมา พานีรจี กับ ดูโฟล จึงเข้าร่วมขบวนคิดใหม่นี้ ค้นหาคำตอบและทำให้แนวคิดนี้สมบูรณ์มากขึ้นด้วยวิธีการสำหรับนำไปปฏิบัติ

******

ทีมนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลทีมนี้ ร่วมกันพัฒนาวิธีการหาคำตอบของคำถามข้างต้น และวิธีการสำหรับนำไปประยุกต์ใช้ จนประสบความสำเร็จได้รับความชื่นชอบเป็นวงกว้างได้ในเวลาต่อมา

รากฐานของวิธีการหาข้อพิสูจน์ของโครงการทางสังคมนี้ คือสิ่งที่นักวิจัย นักทดลอง ในวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ ใช้กันอยู่เป็นการทั่วไปและเป็นพื้นฐานในการพิสูจน์ทดลองของตนเองทุกครั้ง นั่นคือการมีกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่มในการทดลองที่อยู่ในการควบคุม ที่เรียกกันว่า “แรนดอมไมซ์ คอนโทรล ไทรอัล” หรือ “อาร์ซีที” (randomized controlled trial – RCT)

โดยสังเขปแล้ว “อาร์ซีที” ก็คือการเปรียบเทียบกลุ่มประชากรที่ได้รับความช่วยเหลือกลุ่มหนึ่ง เข้ากับกลุ่มตัวอย่างประชากรอีกกลุ่มที่มีลักษณะเหมือนกันทุกอย่างแต่อยู่ภายใต้การควบคุม (ทำให้สามารถตัดปัจจัยอื่นๆออกได้) โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือเดียวกันกับกลุ่มแรก

เพื่อให้เหมาะสมกับกระบวนวิธีของการสรุปปัญหาและวิธีการแก้ปัญหา พวกเขาจำเป็นต้องจำแนกปัญหาความยากจนออกเป็นส่วนๆ ดำเนินการแก้ไขในส่วนย่อยแต่ละส่วน อาทิ การศึกษา การสาธารณสุขเป็นต้น

มีการจัดตั้งทีม “วิจัยความยากจน” ขึ้นมา รวมทั้งทีม “ประเมินผลกระทบ” เพื่อกรองและจำแนกปัญหาและตรวจสอบผลลัพธ์ออกมาให้ชัดเจน ด้วยอาร์ซีที พวกเขายึดมั่นกับกระบวนวิธีนี้และแนวคิดใหม่นี้ ถึงขนาดเรียกขานกันเองเสียใหม่ว่าเป็นพวก “แรนดอมมิสตา”

ผลลัพธ์ที่ได้นั้นน่าทึ่ง และเชื่อว่านำพาพวกเขาให้แก้ไขปัญหาได้ตรงเป้ากว่า ด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพกว่า และอาจสิ้นเปลืองเงินงบประมาณที่มีจำกัดน้อยกว่าอีกด้วย

ทีมวิจัยความยากจน สามารถนำเสนอหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า “สินเชื่อรายย่อย” ที่ให้ต่อผู้หญิงยากจนซึ่งไม่มีสิทธิกู้ยืมจากธนาคาร เพราะยากจนเกินไปนั้น แม้จะมีประโยชน์ต่อคนเหล่านั้น แต่กลับไม่ได้สร้างผลสะเทือนในแง่ของรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับพวกเขา ซึ่งหมายถึงว่าผลกระทบในทางกว้างของวิธีการนี้ยังไม่เกิดขึ้นนั่นเอง

เช่นเดียวกันในการวิจัยในภาคสนามอย่างจริงจังจังทั้งในอินเดียวและแอฟริกาของบรรดา “แรมดอมมิสตา” ทั้งหลาย รวมทั้งสมาชิกในคณะที่ได้รับรางวัลโนเบลครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึง “ผลกระทบที่จำกัด” ของมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่คนยากจน อาทิ การลดสัดส่วนของครูต่อจำนวนนักเรียนให้น้อยลง, การจัดอาหารกลางวันฟรีแก่นักเรียน, และการแจกตำราเรียน

มาตรการเหล่านั้นในหลายๆ พื้นที่ในอินเดียและแอฟริกา ยังได้ผลดีไม่เท่ากับการแจก “ยาถ่ายพยาธิ” ราคาไม่แพง ให้กับเด็กนักเรียนทุกคนด้วยซ้ำไป เพราะเป็นการลดจำนวนวันขาดเรียนของเด็กๆ เหล่านั้นจากอาการปวดท้องและท้องเสียลงอย่างชะงัด ผลการเรียนของเด็กๆ เหล่านี้ดีขึ้นเห็นได้อย่างชัดเจน

ในบางกรณี การจำแนกและให้ความช่วยเหลือแก่เด็กที่ผลการเรียนแย่เป็นรายกลุ่มหรือตัวบุคคล กลับได้ผลเต็มที่

ในขณะที่มีบางพื้นที่ซึ่งปัญหาอยู่ที่ตัวครู แก้ไขได้ด้วยการทำสัญญาว่าจ้างครูให้เป็นระยะสั้นๆ และจะต่อสัญญาให้ตามคุณภาพของผลการเรียนของเด็กเท่านั้น

******

ผลงานเหล่านี้เริ่มต้นจากการรวมตัวกันของเครือข่ายนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ใส่ใจในปัญหาความยากจนมากกว่า 180 คนในหลากหลายมหาวิทยาลัยทั่วโลก ซึ่ง พานีรจีกับดูโฟลช่วยกันก่อตั้งขึ้นที่เอ็มไอที เมื่อปี 2003 เรียกว่า “ห้องปฏิบัติการทดลองปฏิบัติการด้านความยากจน อัลดุล ลาทิฟ จามีล” ที่เรียกสั้นๆ ว่า “เจ-พัล”

ในตอนนั้น เจ-พัล ดำเนินงานศูนย์ ซีอาร์ทีราว 70 ศูนย์ทั่วโลก ทุกวันนี้ หากรวมศูนย์ ซีอาร์ที ที่สำเร็จรูปสามารถดำเนินการได้แล้ว กับที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อตั้ง ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 1,000 ศูนย์แล้ว

ทีมนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลทีมนี้ยังก่อตั้งองค์กรไม่แสวงกำไรขึ้นมาอีกจำนวนหนึ่งเพื่อดำเนินงานในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ รวมทั้ง องค์การนวัตกรรมเพื่อปฏิบัติการด้านความยากจน (Innovations for Poverty Action) ที่ทำหน้าที่ประเมินผลกระทบของการแก้ปัญหาความยากจนมาแล้ว 830 กรณีนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 2002

ขบวนการแรนดอมมิสตา ยังเป็นแรงบันดาลใจทำให้องค์การเพื่อการพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) และรัฐบาลหลายประเทศหันมาใช้อาร์ซีที เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับปรับแต่ง แก้ไขการออกแบบโครงการเพื่อความยากจนของตนเอง ตัวอย่างของความสำเร็จก็คือการทำงานร่วมกันระหว่าง เอ็นจีโอในอินเดียกับเจ-พัล พัฒนาวิธีการที่เรียกว่า “ทีชชิง แอท เดอะ ไรท์ เลเวล” หรือ “ทาร์ล” (Teaching at the right level-TaRL) ขึ้นมาบุกเบิกใช้ในอินเดีย ก่อนนำไปประยุกต์ใช้โดยรัฐบาลท้องถิ่นของหลายรัฐในอินเดีย รวมไปถึงหลายประเทศในแอฟริกา

ในแวดวงวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เอง ยังคงถกเถียงกันอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับขบวนการแรมดอมมิสตาและอาร์ซีที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่า การมุ่งเน้นใช้แต่อาร์ซีที จะกลายเป็นอุปสรรคในการแก้ไขเหตุปัจจัยใหญ่ๆและสำคัญยิ่งกว่าที่เป็นตัวผลักดันให้เกิดความยากจน อย่างเช่น “การสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นระบบ” ในสังคม

ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขหากยังคงคาดหวังว่าจะแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับพื้นที่ใหญ่โตในระดับประเทศหรือระดับโลกให้ได้ในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image