มองสัมพันธ์ไทย-ไต้หวัน ผ่านนโยบาย “มุ่งใต้ใหม่”

เรือขนส่งสินค้าจอดเทียบท่าที่ท่าเรือเมืองเกาสง ไต้หวัน เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

นโยบาย “มุ่งใต้ใหม่” หรือ “นิวเซาธ์บาวนด์โพลิซี” (เอ็นเอสพี) ริเริ่มขึ้นหลังจากไช่ อิง เหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) เข้าสู่ตำแหน่ง เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2559 ที่ผ่านมา

นโยบายภายใต้รัฐบาลจากพรรคที่มีแนวนโยบายที่มีความเป็นอิสระจาก “จีนแผ่นดินใหญ่” มากขึ้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองว่าเป็นความพยายามลด “อิทธิพล” และการพึ่งพาอาศัยจากจีนด้วยการหันหลังให้กับ “ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ” ของรัฐบาลก่อนหน้าอย่างอดีตประธานาธิบดี “หม่า อิง จิ่ว” จากพรรคก๊กมินตั๋ง

แต่ก็ต้องยอมรับว่า นโยบาย “มุ่งใต้ใหม่” เป็นเป็นอีกหนทางสำหรับไต้หวัน ที่จะปรับตัวกับภูมิศาสตร์การเมืองและสังคมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ด้วยการแสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ โดยเฉพาะกับประเทศในภูมิภาคด้านใต้ของไต้หวัน 18 ประเทศได้แก่ 10 ชาติอาเซียน , 6 ประเทศในเอเชียใต้ รวมไปถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งตลอด 3 ปีครึ่งที่ผ่านมานับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

นโยบาย “มุ่งใต้ใหม่” ประสบความสำเร็จในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น โครงการด้านการศึกษา การท่องเที่ยว การแพทย์ รวมไปถึงความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคผ่านการทำข้อตกลงกับประเทศเป้าหมายเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังสะท้อนผ่านการเพิ่มงบประมาณในนโบายมุ่งใต้ใหม่ อย่างต่อเนื่อง นับจากปี 2017 ที่ 4.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 7.4 พันล้านบาท ในปี 2019 สามารถดึงดูดการลงทุนจากประเทศเป้าหมายให้เพิ่มขึ้นจากที่ 6,900 ล้านบาทในปี 2016 ขึ้นมาเป็น 11,700 ล้านบาทในปี 2018 หรือเพิ่มขึ้นถึง 66 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

Advertisement

เพื่อให้ได้สัมผัสกับนโยบาย “มุ่งใต้ใหม่” ของไต้หวันมากขึ้น สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย ได้เชิญผู้สื่อข่าว “มติชน” ร่วมเดินทางมุ่งหน้าสู่กรุงไทเป ร่วมกับผู้สื่อข่าวจากอีก 3 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 3-8 พฤศจิกายน เพื่อพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆของรัฐบาลไต้หวัน ให้ได้เห็นภาพนโยบายมุ่งใต้ใหม่ รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและไต้หวันให้มากยิ่งขึ้น โดยได้มีโอกาสเยี่ยมชมท่าเรือเมืองเกาสง ที่เป็นจุดเชื่อมโยงการค้าทั่วโลกเอาไว้ด้วย

สร้างความร่วมมือระหว่างกัน

เฮนรี่ หมิง-เจิ้ง เฉิน อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศไต้หวัน

เฮนรี่ หมิง-เจิ้ง เฉิน อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศไต้หวัน ระบุกับ “มติชน” ถึงนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของไต้หวันว่า เป็นนโยบายที่ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เน้นไปที่เรื่องของความร่วมมือด้านอื่นด้วยไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา วัฒนธรรม รวมถึงการท่องเที่ยว

Advertisement

“รัฐบาลไต้หวันพยายามสนับสนุนให้ชาวไต้หวันร่วมทำธุรกิจกับชาติเป้าหมายในนโยบายมุ่งใต้ใหม่ให้มากขึ้น รวมไปถึงประเทศไทย และเราก็ยินดีต้อนรับชาวไทยที่จะเดินทางมายังไต้หวันเช่นกัน” หมิง-เจิ้ง เฉิน ระบุ และว่าก่อนหน้านี้ไต้หวันได้ยกเว้นวีซ่าให้กับชาวไทยเป็นเวลาถึง 1 ปี

“นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า ‘แรงจูงใจ’ หากเราเพิ่มแรงจูงใจเข้าไป ไม่เฉพาะฝั่งของไต้หวันเพียงฝ่ายเดียว แต่รวมไปถึงประเทศเป้าหมายในนโยบายมุ่งใต้ใหม่ หากประเทศเหล่านี้สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับชาวไต้หวันได้มากขึ้น เราก็จะสามารถเพิ่มความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้เพิ่มขึ้นได้” อธิบดีกรมสารนิเทศไต้หวันระบุ

ทีเออีเอฟความร่วมมือภาคประชาชน

นายอลัน หยาง ห่าว ผู้อำนวยการ ไต้หวัน-เอเชีย เอ็กซ์แชนจ์ ฟาวเดชั่น

ด้าน นายอลัน หยาง ห่าว ผู้อำนวยการ “ไต้หวัน-เอเชีย เอ็กซ์แชนจ์ ฟาวเดชั่น” หรือ ทีเออีเอฟ ก็เป็นตัวแทนขององค์กรคลังสมองที่มุ่งเน้นในด้านความร่วมมือระหว่างประชาชน กับกลุ่มประเทศเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานคลังสมอง องค์กรไม่แสวงผลกำไร (เอ็นจีโอ) รวมไปถึง การแลกเปลี่ยนกลุ่มผู้นำเยาวชน ที่ทีเออีเอฟ ทำมาโดยตลอด

อลัน หยาง ห่าว เปิดเผยว่า ทีเออีเอฟ สร้างความร่วมมือกับประเทศไทยด้วยการส่งตัวแทนผู้ประกอบการไต้หวันร่วมแสดงสินค้าและนวัตกรรมด้านทรัพยากรน้ำในงาน “ดิเอ็กซ์โป ออฟ อินโนเวชั่น วอเทอร์ โปรดักซ์” ที่ประเทศไทยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีการร่วมประชุมกับตัวแทนไทยเพื่อแสวงหาความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะในไทยที่ต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งทุกๆปี

นอกจากนี้ทีเออีเอฟ ยังมีส่วนผลักดันการลงนามบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้ง “ไทยแลนด์ ไต้หวันไซนส์ แอนด์ เทคโนโลยี อไลแอนซ์ ฟอร์ อินโนเวชั่น” หรือ ทีทีเอสทีเอไอ ระหว่าง “ไต้หวัน แอสโซซิเอชั่น ออฟ ดิแซสเตอร์พรีเวนชั่นอินดัสตรี” กลุ่มความร่วมมืออุตสาหกรรมด้านการป้องกันหายนะภัยของไต้หวัน กับสมาคมนวัตกรรมเทคโนโลยี ของประเทศไทย ไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อสร้างความร่วมมือระดับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีระหว่างไทยและไต้หวัน

ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

นายเจมส์ เฉิน-จุง ชาว เลขาธิการบริหารกรมกรมเจรจาการค้า กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน

เจมส์ เฉิน-จุง ชาว ผู้เจรจาระดับสูงและเลขาธิการบริหารกรมกรมเจรจาการค้า กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน เน้นย้ำถึงความแตกต่างระหว่างนโยบาย “มุ่งใต้ใหม่” และ “มุ่งใต้เก่า” ว่าเดิมเป็นนโยบายที่มุ่งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไต้หวันในการลงทุนและตั้งโรงงานในประเทศเป้าหมายเท่านั้น แต่ในนโยบายมุ่งใต้ใหม่ เป็นเรื่องของความช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากขึ้น

“นโยบายมุ่งใต้ใหม่อธิบายได้ด้วยคำพูดที่ว่า ‘ไต้หวันสามารถช่วยเอเชีย และเอเชียสามารถช่วยไต้หวัน’ เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย นี่คือไอเดียและเป้าหมายที่สำคัญของนโยบายนี้” เลขาธิการบริหารกรมเจรจาการค้าไต้หวัน ระบุ และว่ามูลค่าการค้าระหว่างไต้หวันและชาติเป้าหมายเพิ่มขึ้นถึง 22 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่เริ่มโนยบายมุ่งใต้ใหม่ในปี 2016 จนถึงปี 2018 ที่ผ่านมา

นายเจมส์ เฉิน-จุง ชาว ระบุถึงแผนดำเนินการนโยบายมุ่งใต้ใหม่เชิงรุกด้วยความพยายามให้ไต้หวันเข้าร่วมเป็นสมาชิก ความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ ซีพีทีพีพี กลุ่มความร่วมมือที่ประเทศไทยเองก็ต้องการที่จะเข้าร่วมเช่นกัน และด้วยการที่กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจนี้ไม่มี จีน เข้าร่วม นั่นจึงเป็นโอกาสที่ดีของไต้หวัน

“เวลานี้ไต้หวันอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการเพื่อขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งหากจะได้เข้าเป็นสมาชิกจะต้องได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิกทั้ง 11 ประเทศ และก็หวังว่าไต้หวันจะได้ร่วมมือกับประเทศไทยในเรื่องนี้ด้วย” เจมส์ เฉิน-จุง ชาว ระบุ

นอกจากนี้กรมเจรจาการค้าไต้หวันยังแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ด้วยเช่นกัน แต่แน่นอนว่า อาร์เซ็ป อาจเป็นความสนใจในระดับรองลงมาเนื่องจากอาร์เซ็ป มีจีนเป็นชาติสมาชิกด้วยเช่นกัน

นโยบายที่ทะเยอทะยาน

นายนายเตียว เจีย อดีตผู้แทนไต้หวันประจำประเทศนิวซีแลนด์

หน่วยงานคลังสมองอย่าง สมาคมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือ เอเอฟอาร์ ของไต้หวัน ให้อีกมุมมองของนโยบาย “มุ่งใต้ใหม่” โดยนายเตียว เจีย อดีตผู้แทนไต้หวันประจำประเทศนิวซีแลนด์ สมาชิกพรรคก๊กมินตั๋งที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น ระบุถึงนโยบาย “มุ่งใต้ใหม่” ว่าเป็นนโยบายที่เริ่มต้นตั้งแต่ ช่วงทศวรรษที่ 80 ในยุคของประธานาธิบดีหลี่ เติงฮุยในชื่อนโยบาย “มุ่งใต้” ซึ่งประสบความสำเร็จโดยเน้นไปที่เรื่องของการค้าและเศรษฐกิจ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีโดยเฉพาะจากภูมิภาคอาเซียน ส่วน “มุ่งใต้ใหม่” นั้นขยายพื้นที่ประเทศเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 18 ประเทศ และมีเป้าหมายหลากหลายด้าน

นายเตียว เจีย ระบุว่า นโยบาย “มุ่งใต้ใหม่” แม้จะเป็นนโยบายที่ “ไปถูกทาง” แต่ดูจะเป็นนโยบายที่ทะเยอทะยานมากเกินไป ไม่มีรายละเอียดเป้าหมายที่ชัดเจน และดูจะเป็นนโยบายที่มีเบื้องหลังทางการเมือง
“สิ่งที่ผมต้องถามคือเราประสบความสำเร็จอะไรบ้างจนถึงเวลานี้ แม้ตัวเลขโดยรวมจะเพิ่มขึ้นแต่ในรายละเอียดมูลค่าการค้ากับแต่ละประเทศเป้าหมายไม่มีการพัฒนา มูลค่าการค้ากับบางประเทศกลับลดลงด้วยซ้ำ ผมคิดว่าเราต้องคุยกันใหม่ถึงประสิทธิภาพ และหาวิธีประเมินผลงานกันใหม่” นายเตียวเจีย ระบุ

จีนแผ่นดินใหญ่เงื่อนไขสำคัญ

นายขุย-ป๋อ หวง เลขาธิการใหญ่สมาคมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไต้หวัน

ขุย-ป๋อ หวง เลขาธิการใหญ่เอเอฟอาร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ ระบุ ถึงอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่ว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยระบุถึงความล้มเหลวของการนำนโยบาย “มุ่งใต้” มาใช้เป็นครั้งที่สองในยุคประธานาธิบดีเฉิน สุ่ยเปียน ในช่วงปี 2003 ผลมาจากนักธุรกิจไต้หวันต้องการไปลงทุนในจีนมากยิ่งขึ้นเนื่องจากเวลานั้นตลาดจีนกำลังบูมอย่างยิ่ง

เลขาธิการใหญ่เอเอฟอาร์ ระบุว่า ต่อมาในยุคประธานาธิบดีหม่า อิง จิ่ว ไม่มีนโยบายที่เรียกว่า “มุ่งใต้” อีกแต่ดำเนินนโยบายสร้างสมดุลระหว่างการค้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ และการค้ากับชาติอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าอาเซียนก็เป็นเป้าหมายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับ นิวซีแลนด์ และอินเดียอยู่แล้ว ดังนั้น “มุ่งใต้ใหม่” ของรัฐบาลนี้จึงเป็นครั้งที่ 3 ที่มีการนำโนยบายลักษณะนี้มาใช้ ซึ่งตนมองว่า ก็มีข้อดีในการสร้างความรับรู้ “เกี่ยวกับไต้หวัน” ในหมู่ผู้คนในประเทศเป้าหมายมากขึ้น

อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ ระบุว่าหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญ ก็คือ “จีนแผ่นดินใหญ่” ไม่เฉพาะจีนจะเป็นอุปสรรคต่อไต้หวัน แต่จีนเองก็เป็นตลาดใหญ่ที่ดึงดูดการลงทุนจากไต้หวันเช่นกัน ฉะนั้นไต้หวันต้องเผชิญกับความจริงว่า ไต้หวันต้องคบค้าสมาคมกับจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“เราต้องพัฒนา ‘ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ’ และคงไว้ซึ่งนโยบาย ‘มุ่งใต้ใหม่’ ที่ไต้หวันวางตัวเองไว้ในจุดที่ดีขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หากไม่มี ‘ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ’ แล้วเราอาจต้องทำให้มากขึ้นถึงสองเท่าแต่ได้ผลลัพท์เพียงครึ่งเดียว ดังนั้นการดำเนินนโยบายต้องเป็นไปในแง่บวกทั้งสองทาง และนั่นจะเป็นผลดีกับไต้หวันมากกว่า”

นโยบายมุ่งใต้ใหม่ที่ทะเยอทะยานของไต้หวันประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงมีข้อกังขาเกี่ยวกับเงื่อนไขสำคัญนั่นก็คือ “จีนแผ่นดินใหญ่”

ตัวเลขมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับไต้หวันในปีนี้จนถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมามีมูลค่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 4.75 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับตัวเลขส่งออกและนำเข้าที่ลดลงเช่นกัน นั่นอาจสะท้อนเช่นกันว่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลไทยและจีนแผ่นดินใหญ่เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับไต้หวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตามเฮนรี่ หมิง-เจิ้ง เฉิน อธิบดีกรมสารนิเทศกระทรวงต่างประเทศไต้หวัน ยืนยันว่า จะยังคงมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ทวิภาคีต่อไป และเชื่อว่าความร่วมมือต่างๆจะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายแน่นอน

“ยืนยันว่าไต้หวันจะไม่หยุดที่จะพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชาติต่างๆ โดยจะมุ่งเน้นเฉพาะความสัมพันธ์แบบทวิภาคี” เฮนรี่ หมิง-เจิ้ง เฉิน อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศไต้หวัน ระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image