2020 ปีแห่งสงครามเย็นภาค2

AFP

26 ปีหลังจากสงครามเย็นครั้งแรกสิ้นสุดลง ใครจะคาดคิดว่า โลก กำลังก้าวย่างอยู่ในท่ามกลางสงครามเย็นระลอกใหม่ ในขั้วหนึ่งทุกอย่างยังคงเดิม เป็นสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ แต่คู่ต่อกรในสงครามรอบใหม่ไม่ใช่สหภาพโซเวียตในอดีต กลับเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ภายใต้การบริหารจัดการของ สี จิ้นผิงผู้นำพรรคและประธานาธิบดีที่ได้ชื่อว่ามีอิทธิพลสูงสุดนับตั้งแต่ เติ้ง เสี่ยวผิง เรื่อยมา

สงครามเย็นในอดีตมีอาวุธหลักอย่าง ระเบิดนิวเคลียร์ ในรูปของขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป หรือ ไอซีบีเอ็ม

ในสงครามเย็นรอบใหม่ที่เริ่มต้นส่อแววให้เห็นมาตั้งแต่ทรัมป์ เริ่มต้นจุดชนวนสงครามการค้า กลับเป็นการค้า, การลงทุนและเทคโนโลยี อย่างน้อยก็ในช่วงเวลานี้ ส่วนในอนาคต จะคลี่คลายขยายตัวออกไปครอบคลุมอะไรบ้าง ยังไม่มีใครแน่ใจชัดเจนนัก

เป้าหมายถึงที่สุด ไม่ได้เป็นการก้าวไปสู่ความเป็นมหาอำนาจทางทหารเพียงลำพังเหมือนเช่นที่ผ่านมา หากแต่เป็นการช่วงชิงความเป็นผู้ครอบครอง และชี้นำ โลกทั้งโลกในทางด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน

Advertisement

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ท่าทีของโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อจีน ขยับขึ้นลง ดีบ้างร้ายบ้าง ผันแปรตามอารมณ์ประจำวันของประธานาธิบดีอเมริกัน แต่เป้าหมายในปี 2020 ของผู้นำชาตินิยมประชานิยมอเมริกันรายนี้ชัดเจนอย่างยิ่ง เศรษฐกิจอเมริกันต้องเรืองรอง สร้างความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย เชื่อมั่นในอนาคตให้กับอเมริกันทุกคน

เหตุผลนั้นง่ายที่สุด นั่นคือ หากปราศจากความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ ภารกิจเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย มีอันต้องดิ่งลงเหว ไม่มีวันเป็นความจริงได้อย่างแน่นอน

เศรษฐกิจในปี 2020 สำหรับทรัมป์ จึงมีนัยสำคัญต่ออนาคตทางการเมือง ที่ผู้นำอเมริกันรายนี้เริ่มพิสมัยมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป มากที่สุด มากยิ่งกว่า กระบวนการอิมพีชเมนท์ ที่กำลังดำเนินไปในรัฐสภาด้วยซ้ำไป

Advertisement

ด้วยพื้นฐานข้อเท็จจริงดังกล่าว 2020 และอีกหลายปีต่อไปข้างหน้า คือห้วงเวลาของ “สงครามเย็น” เวอร์ชั่น 2 เต็มรูปแบบระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน

เป็นสงครามเย็นที่ก่อให้เกิดปัญหาท้าทายอย่างยิ่งยวดต่อบรรดาผู้นำของชาติในเอเชีย รวมไปถึงในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก

Reuters

สงครามหลายระดับ

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งในห้วงเวลาของการ “โหมโรง” สงครามเย็นที่ผ่านมาก็คือ ฝ่ายบริหารของทรัมป์ ดูเหมือนจะไม่ได้ใคร่ครวญอย่างรอบด้านมากมายนักก่อนประกาศสงครามด้วยการขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรระลอกแรก ผลก็คือ ผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจอเมริกันเกิดขึ้นให้เห็นตามมาไม่ใช่น้อย มากขนาดที่ทำให้ผลบวกจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดภาษีครั้งใหญ่ในปี 2017 ที่ว่ากันว่ามีมูลค่าตีเป็นเม็ดเงินได้สูงกว่า 800,000 ล้านดอลลาร์ มลายหายไปโดยสิ้นเชิง

สงครามการค้าที่ผ่านมา ทำให้เกิด “ความไม่แน่นอน” ขึ้นในระบบการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก ขจัดการขยายตัวของการลงทุนแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาที่การปรับลดภาษีดังกล่าวควรจะก่อให้เกิดขึ้นไปทั้งหมดอีกด้วย

ทรัมป์ อาจไม่พอใจ เจอโรม เพาเวลล์ ประธานกองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา แต่จนปัญญาที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ เท่าที่ทำได้ ก็คือชะลอการรุกในสงครามการค้าลง ถอนตัวกลับมาบ้างในบางส่วน ซึ่งก่อให้เกิดผลลงเอยเป็น “ความตกลงทางการค้าระยะแรก” อย่างที่ทรัมป์เรียกขาน

อันเป็นความพยายามล่าถอยในบางส่วน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการขยายตัวของการส่งออกสินค้าเกษตร ที่ได้รับการรับประกันจากจีนเป็นสิ่งตอบแทน

ปัญหาก็คือ นั่นไม่มีวันเป็นจุดเริ่มซึ่งจะนำไปสู่จุดจบของสงครามการค้าระหว่างประเทศทั้งสองได้อย่างแน่นอน

ผู้สันทัดกรณีทางด้านการเมืองอเมริกัน เชื่อว่า ความตกลงทางการค้าระยะเเรก เป็นเพียงแค่การถอยเชิงรุกของทรัมป์ชั่วระยะเวลาสั้นๆ เป็นเพียงกลยุทธหนึ่งในสงครามที่ใหญ่กว่า อย่างสงครามเย็น เท่านั้น

นอกจากนั้น สงครามการค้า ในช่วงที่ผ่านมา ได้เปิดโปงให้เห็นข้อเท็จจริงบางอย่าง บางประการ ซึ่งแม้แต่หลายคนในกลุ่มแกนนำของพรรคการเมืองฝั่งตรงกันข้าม อย่าง พรรคเดโมแครต ยังเห็นพ้องด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา การบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี และการเปิดตลาดทางการเงิน เป็นต้น

นั่นหมายถึงอะไร? นั่นหมายถึงว่า แม้ โดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่ได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่งก็ตามที สงครามเย็นทางด้านเทคโนโลยีและการค้า ก็จะยังคงอยู่ แม้จะในระดับที่ต่างกันออกไปก็ตาม

ถึงที่สุดแล้ว ทรัมป์ และ เดโมแครต ก็ทำให้ทั้งตัวเองและคนอเมริกันส่วนใหญ่ เชื่อว่า จีน คือภัยคุกคามของสหรัฐอเมริกาในยุคนี้

ปัญหาของการเลือกข้าง

ในปี 2020 และอีกหลายต่อหลายปีต่อไปจากนี้ การค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอย่างดีที่สุดก็จะตกอยู่ในสภาวะชะงักงัน ถ้าหากไม่หดตัวลงต่ำไปเรื่อยๆ คนในแวดวงใช้คำทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เรียกขานสิ่งนี้ว่าภาวะ “ดิคัพลิง” ที่หมายถึงการแยกห่างออกจากกัน ไม่พึ่งพาอาศัยกันระหว่างยักษ์ใหญ่หมายเลข 1 และ 2 ของโลกในทางเศรษฐกิจ

ในขณะที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์บอกว่า นั่นเป็นพรรณนาโวหารเพื่อทำให้ความเป็นจริงของ “สงครามเย็น” ครั้งใหม่ ที่อาศัยเทคโนโลยีเข้าฟาดฟัน ห้ำหั่นซึ่งกันและกัน นุ่มนวลลงเท่านั้นเอง

ความเป็นจริงในเรื่องนี้ สะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจนจากกรณีของ “หัวเว่ย” ทั้งในกรณีของการกล่าวหาต่อ “เมิ่ง หวั่นโจว” ว่าละเมิดการแซงก์ชั่นอิหร่านของสหรัฐอเมริกา กับการห้ามขายชิ้นส่วนและเทคโนโลยีที่มีต้นกำเนิดในสหรัฐอเมริกาให้กับ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมและการสื่อสารของโลกจากประเทศจีน รวมไปถึง การรณรงค์ต่อต้านอุปกรณ์และเทคโนโลยีในระบบการสื่อสารไร้สายรุ่นที่ 5 หรือ 5จี ของหัวเว่ยทั่วโลกในเวลานี้นั่นเอง

แต่ในขณะที่สหรัฐอเมริกากำลังง่วนอยู่กับการ “ดิคัพลิง” จีนก็ทวีความพยายามในการหว่านเสน่ห์ทางเศรษฐกิจของตนเองให้มากขึ้นอยู่ตลอดเวลา ผ่านทางโครงการมหึมาในระดับโลกอย่างความคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และที่น่าสนใจก็คือ ผ่านทางการตอกย้ำการเปิดกว้างทางการค้า โลกาภิวัฒน์ และการให้ความสำคัญต่อองค์กรระดับโลกอย่าง องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ซึ่งควรจะเป็นท่าทีของชาติตะวันตกเสียมากกว่า

ภายใต้บริบทแวดล้อมของสงครามเย็นรอบใหม่นี้ บรรดา ผู้นำในเอเชียต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ ไม่แตกต่างจากบรรดาผู้นำชาติทั้งหลายในภาคพื้นยุโรป เมื่อครั้งเกิดสงครามเย็นครั้งแรก

ไม่เพียงแต่เป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดของบรรดาชาติทั้งหลายในเอเชียเท่านั้น ภายใต้เปลือกนอกที่สงบราบเรียบ อิทธิพลของจีนที่มีต่อหลายชาติในเอเชียยังมีอีกหลากหลายรูปแบบซึ่งบางคราวทรงอิทธิพลอย่างคาดไม่ถึงได้ก็มี

ตราบใดที่จีน ยังสามารถ “จำกัด” ความทะเยอทะยานทางทหารของตนเองเอาไว้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ไม่ว่าจะในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ในซินเจียง หรือแม้แต่ในกรณีของ ฮ่องกง จนเกิดสถานการณ์นองเลือดขึ้น

ตราบนั้น คงมีเพียงไม่กี่ชาติในเอเชียที่ขยับก้าวเข้าไปยืนอยู่ใต้ร่มเงาของสหรัฐอเมริกา

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ หากทรัมป์ หรือประธานาธิบดีอเมริกันคนใหม่ตระหนักว่า มาตรการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจใช้ไม่ได้ผล ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในสงครามเย็นกับจีนได้

อะไรคือมาตรการถัดไปที่สหรัฐอเมริกาจะงัดออกมาใช้?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image