คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : เมื่อเศรษฐกิจโลก ติดเชื้อ”โควิด-19″

สถิติทั่วโลกล่าสุดของผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตอันเนื่องมาจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ แสดงให้เห็นว่า มีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้วมากถึง 77,918 คน มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากถึง 2,361 คน ประเทศที่ปรากฏผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับเป็นเกือบ 30 ประเทศทั่วโลกแล้วในเวลานี้

แม้ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะยังคงจำกัดอยู่ในมณฑลหูเป่ย์และประเทศจีน กระนั้นสถานการณ์การแพร่ระบาดก็เริ่มส่งผลคุกคามออกไปทั่วโลกให้เริ่มวิตกกังวลกันมากขึ้นตามลำดับ

พร้อมกันนั้นผลกระทบทางเศรษฐกิจก็เริ่มส่งผลทยอยโถมเข้าใส่ประเทศแล้วประเทศเล่าเหมือนลูกระนาด

ยิ่งนานวันไปยิ่งดูเหมือนเศรษฐกิจสำคัญๆ ของโลกในปัจจุบันจะเริ่มออกอาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากขึ้นทุกที

Advertisement

เศรษฐกิจจีนนั้นแน่นอน ได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยตรงจากการแพร่ระบาดครั้งนี้ ที่น่าสนใจก็คือผลสะเทือนดังกล่าวจะจำกัดอยู่เฉพาะในช่วงเวลาสั้นๆ หรือจะทำให้เศรษฐกิจของยักษ์ใหญ่ในเอเชียที่เป็นหมายเลขสองของโลกในเวลานี้ ซึมเซาต่อเนื่องไปยาวนานขนาดไหน แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญเองยังไม่กล้าแน่ใจนัก

ในเวลาเดียวกัน สถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ก็เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่ไม่ดีนักสำหรับประเทศอย่าง ญี่ปุ่น หรือเยอรมนี ที่เพิ่งผงกหัวขึ้นมาได้จากผลพวงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน

ที่สำคัญคือ การระบาดครั้งนี้ เกิดขึ้นในศูนย์กลางของการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ที่เป็นเหมือนหัวใจของอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก รวมทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเยอรมนี และอาจลามต่อเนื่องไปจนถึงสหรัฐอเมริกาได้เช่นเดียวกัน

Advertisement

บริษัทที่ปรึกษาด้านสินค้าโภคภัณฑ์อย่าง วูด แม็คเคนซี (วูดแม็ค) เชื่อว่าหลายภาคอุตสาหกรรมสำคัญของจีนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ที่โรงงานยังคงปิดตาย เพราะแรงงานหายไปจนหมดพร้อมๆ กับการขาดหายไปของชิ้นส่วนประกอบต่างๆ และสำนักงานดีลเลอร์ส่วนใหญ่ยังคงปิดทำการ

ภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ก็ดี การเดินทางท่องเที่ยว การก่อสร้าง และค้าปลีก ล้วนกระเทือนหนักหน่วงจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เมื่่อแรงงานและผู้บริโภคจีน ถูกการจำกัดการเดินทางและความหวาดกลัว พากันยุติกิจวัตรประจำวันของตัวเองไปโดยสิ้นเชิง

วูดแม็ค คาดว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่เศรษฐกิจจีนในกุมภาพันธ์นี้ทั้งเดือนแทบเป็นศูนย์ไปเลยก็ว่าได้

ผู้สันทัดกรณีทางเศรษฐศาสตร์คาดหมายคล้ายๆ กันว่า เศรษฐกิจจีนจะได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ก่อนที่จะฟื้นตัวในช่วงหลังของปีด้วยแรงผลักดันของมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล แต่กระนั้น โควิด-19 ก็ทำให้การประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเปลี่ยนไป ในทางร้ายมากกว่าดี

การสำรวจความคิดเห็นของบรรดาผู้จัดการกองทุนของ แบงก์ ออฟ อเมริกา ล่าสุด แสดงให้เห็นว่าบรรดานักลงทุนระดับสูงเหล่านี้เชื่อว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะ “นิ่ง” อยู่ที่ระดับเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ไปเล็กน้อยต่อเนื่องตลอด 3 ปีข้างหน้า

ถ้าเทียบกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเมื่อปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 6 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับว่าลดลงเกือบ 1 เปอร์เซ็นต์เต็มๆ

แต่ถ้าเทียบกับเมื่อครั้งที่จีนยังขยายตัวเป็นเลขสองหลักเมื่อไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมาก็น่าใจหายเลยทีเดียว

การฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนจากภาวะทรุดลงหนักหน่วงเพราะโรคระบาดครั้งนี้ด้วยการเพิ่มการปล่อยกู้และลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงอาจไม่ส่งผลรวดเร็วและส่งผลเชิงกระตุ้นสูงอย่างที่คิด

เหตุผลนั้นเป็นเพราะ ในขณะที่เกิดการระบาดที่ทำให้การผลิตแทบชะงักงัน ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลางทั้งหลาย ยังคงจำเป็นต้องจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่หลายๆ กิจการอาจทำเช่นนั้นไม่ได้ เนื่องจากรายได้ของธุรกิจเองก็ถูกกดดันอย่างหนัก

ผลถึงที่สุดแล้วย่อมกระทบต่อเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคให้ลดน้อยลงอย่างช่วยไม่ได้

ในขณะเดียวกัน การถูกสถานการณ์จำกัดการใช้จ่ายในช่วงที่ผ่านมา อาจส่งผลทำลายอุปทานไปอย่างถาวร หรืออย่างน้อยก็ในระยะยาวก็เป็นได้

สถานการณ์ที่ชวนให้หนักใจก็คือ ผลเชิงลบทางเศรษฐกิจไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงในจีน แต่เริ่มส่งผลกระทบชิ่งต่อเนื่องเป็นลูกระนาดกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน

เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มุน แจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประกาศมาตรการเต็มที่ทุกรูปแบบที่คาดหวังว่าจะสามารถลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ผูกติดอยู่กับจีนสูงมากจากโควิด-19 ที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นการประกาศภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจก็ว่าได้

สิงคโปร์ ยอมรับความเป็นจริง ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลง และวางแผนกระตุ้นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อชดเชยกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

ไทยและมาเลเซีย ก็ตกอยู่ในสภาพไม่ต่างกันเท่าใดนัก

แต่ประเทศที่เผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์นี้สูงสุด คือ ญี่ปุ่น ที่สภาวะเศรษฐกิจเมื่อไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมาทรุดลงสู่ระดับติดลบสูงที่สุดในรอบกว่า 5 ปี

ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของประเทศ อย่างโตโยต้าและนิสสัน ประสบปัญหาผลผลิตไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ทั้งที่โรงงานในจีนและในประเทศของตนเอง ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากจีนที่เคยแห่แหนกันมาท่องเที่ยวญี่ปุ่นแทบยุติไปทั้งหมด ความเสี่ยงต่อการเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มกลายเป็นจริงมากขึ้นตามลำดับ

รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว และอาจจำเป็นต้องเพิ่มการอัดฉีดขนานใหญ่อีกครั้งในเร็วๆ นี้ เพื่อเลี่ยงวิกฤตเศรษฐกิจ

แม้แต่การก่อสร้างในโครงการสำคัญของรัฐบาลจีนอย่างหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ทั้งหลายที่บริษัทจีนรับผิดชอบ ก็อาจได้รับผลกระทบเพราะความล่าช้า ต้นทุนถีบตัวสูงขึ้นและแรงงานไม่เพียงพอ

เศรษฐกิจของบราซิลซึ่งพึ่งพาตลาดจีนอย่างมากในฐานะคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดก็อาจได้รับผลสะเทือนสูงอย่างคาดไม่ถึง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจลดลงในปีนี้เพราะการระบาดของโควิด-19

ในยุโรป ยักษ์ใหญ่ในวงการรถยนต์อย่าง โฟล์กสวาเกน พบปัญหาการผลิตชะงักในโรงงานที่จีนและเริ่มเกิดสถานการณ์วัตถุดิบและชิ้นส่วนขาดแคลนจนอาจกลายเป็นปัญหาสำหรับโรงงานในเยอรมนีเช่นเดียวกัน

นักลงทุนในเยอรมนีเองคาดการณ์ไปในทางเลวร้ายถึงขีดสุด หลังจากเมื่อปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการผลิตของเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปทรุดตัวลงหนักมากจากปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผลสำรวจความคิดเห็นนักลงทุนของ แซดอีดับเบิลยู แสดงให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นมลายไปโดยสิ้นเชิง

ที่เข้ามาแทนที่ก็คือ ความหวั่นกลัวว่าผลกระทบที่ต่อเนื่องมาจากสถานการณ์ในจีนจะส่งผลให้การค้าของทั้งโลกที่กำลังขยับโงหัวขึ้นนั้น พลิกล้มคว่ำคะมำหงายอีกครั้ง

และทำให้โอกาสฟื้นตัวของเยอรมนีที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักกลายเป็นหมันไปในปีนี้

เพียงแค่ โควิด-19 ส่วนใหญ่ยังจำกัดการระบาดอยู่แค่ในจีนเท่านั้น เศรษฐกิจทั่้วโลกก็เริ่มไอ จาม เจ็บคอ ไปตามๆ กันแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image