คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “โควิด-19” เดอะ ดิซีสเอ็กซ์

(ภาพ-NIAID/RML)

“ดิซีสเอ็กซ์” คือคำที่องค์การอนามัยโลก (ฮู) ใช้เมื่อปี 2018 เพื่อเตือนให้ชาติสมาชิกตระหนักถึงบรรดาโรคระบาดที่สามารถคุกคามต่อสุขภาวะของทั้งโลกได้ รายชื่อของโรคที่ยกมาเป็นอุทาหรณ์นั้น มี 8 ชื่อ เกือบทั้งหมดโลกรู้จักดี รวมทั้ง “อีโบลา” ที่ลำดับ 2 และซาร์ส อยู่ในลำดับหมายเลข 4

“ดิซีสเอ็กซ์” อยู่ในลำดับที่ 8

ศาสตราจารย์ แมเรียน คูปแมนส์ จากศูนย์การแพทย์มหาวิอทยาลัยอีราสมุส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา โดยเฉพาะไวรัสที่มีต้นกำเนิดในสัตว์ ซึ่งทำหน้าที่ที่ปรึกษาของฮู และเป็นหนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของโลกที่รวมตัวกันขึ้นเป็นคณะกรรมการภาวะฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก อธิบายว่า ดิซีสเอ็กซ์ ถูกกำหนดเอาไว้ เพื่อเตือนให้ทุกชาติรู้ว่ายังคงมีเชื้อโรคร้ายที่ยังไม่ปรากฏ ยังไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งสามารถคุกคามทั้งโลกได้ ด้วยวิธีการที่ไม่เคยรู้กันมาก่อน

เป้าหมายคือการเตือนให้ตระหนักรู้และเริ่มคิดว่าจะเตรียมพร้อมและรับมือกับสถานการณ์ระบาดเช่นนั้นอย่างไรถึงจะดี

Advertisement

เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์คูปแมนส์ เขียนบทความแสดงความคิดเห็นเอาไว้ในวารสารวิชาการ “เจอร์นัลเซลล์” ดังนี้

“โควิด-19 คือโรคใหม่ ส่งผลคุกคามต่อทั้งโลก สร้างความโกลาหลให้เกิดขึ้นกับสังคม และเราจำเป็นต้องหาหนทางเพื่อตรวจจับมัน ควบคุม เยียวยารักษา ป้องกันไม่ให้มันติดปีกบินแพร่ออกไปอีก

“ไม่ว่าจะควบคุมได้หรือไม่ก็ตาม การแพร่ระบาดครั้งนี้กำลังกลายเป็นความท้าทายจากการระบาดใหญ่ครั้งแรกสุดที่ตรงกันเป๊ะกับดิซีสเอ็กซ์”

Advertisement

“ดิซีสเอ็กซ์” โรคระบาดร้ายแรงที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ที่รอวันจะอุบัติขึ้นในโลก ได้อุบัติขึ้นจริงแล้ว!

ถึงตอนนี้ เชื้อไวรัส ซาร์ส-โคฟ-2 (SARS-CoV-2 ชื่อเรียกในทางวิทยาศาสตร์ของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค โควิด-19) แพร่ระบาดออกไปในราว 50 ประเทศทั่วโลก คร่าชีวิตคนไปแล้วเกือบ 3,000 คน หลายคนที่ติดเชื้อ ได้รับเชื้อในชุมชนของตนเอง และไม่เคยมีการข้องแวะใดๆ กับจีน ที่เป็นต้นกำเนิดการแพร่ระบาด

ความสามารถในการแพร่ระบาดอย่างเงียบๆ ไร้ร่องรอย และความสามารถในการก่อให้เกิดอาการรุนแรงจนถึงชีวิตของมันในบางคนบางส่วนของผู้ติดเชื้อชนิดที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ คือคุณสมบัติที่น่าวิตกที่สุดของไวรัสนี้

อาการของผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ มักไม่มีอะไรรุนแรงนัก บางคนแทบไม่แสดงอาการใดๆ เลยด้วยซ้ำไป แต่สำหรับบางคนไม่ว่าจะมีโรคเรื้อรังติดตัวอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม การเปลี่ยนแปลงแบบเฉียบพลันจะเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่สองจนถึงแก่ชีวิตอย่างรวดเร็ว

ที่ทำให้ โควิด-19 อันตรายมากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียง ไอ จาม คล้ายๆ กับหวัดทั่วไป ก็สามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ ซึ่งทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะควบคุม จำกัดให้โรคอยู่กับที่ใดที่หนึ่งโดยการใช้อุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิ ซึ่งเคยเป็นเครื่องมือสำคัญในการยับยั้งการระบาดของ ซาร์ส เมื่อ 17 ปีก่อนได้

รายงานทางการแพทย์ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกัน ชี้ให้เห็นว่าการระบาดเป็นกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) ภายในครอบครัวหนึ่งในเมือง อันหยาง ของจีน เริ่มต้นเมื่อ สมาชิกครอบครัวสตรีวัย 20 ปีรายหนึ่งนำไวรัสติดตัวมาจากอู่ฮั่น ที่เป็นศูนย์กลางการระบาดเมื่อวันที่ 10 มกราคม แล้วแพร่ต่อให้กับผู้ติดเชื้อรายใหม่โดยที่ไม่ได้แสดงอาการป่วยออกมาให้เห็นเลยแม้แต่น้อย

ผู้ที่แสดงอาการป่วย โดยเกิดอาการไข้และอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ คือ 5 คนที่เป็นสมาชิกในครอบครัวที่ได้รับเชื้อ

โควิด-19 เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ในสัดส่วนที่น้อยกว่าซาร์ส ซึ่งอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 9.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ดูเหมือนจะมีขีดความสามารถในการแพร่เชื้อได้สูงกว่ามาก

ที่น่าสนใจก็คือ ไวรัสนี้โจมตีทั้งระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร อันเป็นที่ซึ่งมันสามารถแพร่พันธุ์ด้วยการแบ่งตัวซ้ำๆ ได้เป็นจำนวนมาก

รายงานทางการแพทย์เบื้องต้นประมาณว่า ราว 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อปรากฏอาการเพียงเล็กน้อย และสามารถฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติได้ กระนั้นก็มีอีกราว 1 ใน 7 ที่แสดงอาการนิวมอเนีย หรืออาการอักเสบของปอด, มีอาการหายใจลำบาก และหายใจสั้นๆ หอบๆ

อีกราว 5 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ติดเชื้อแสดงอาการป่วยหนักระดับสาหัส ซึ่งรวมทั้งอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว, อาการช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด, และอวัยวะหลายอย่างล้มเหลวลงพร้อมๆ กัน

อัตราการเสียชีวิต “เชื่อกันว่า” อยู่ที่ระหว่าง 1-2 เปอร์เซ็นต์

“ที่ต่างกับซาร์ส ก็คือ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีระดับความรุนแรงของโรคหลากหลายมาก ตั้งแต่ไม่มีอาการ มีอาการเล็กน้อย ไปจนถึงอาการหนักชนิดที่ต้องอาศัยอุปกรณ์ทางการแพทย์ช่วยหายใจ” กลุ่มแพทย์ในสิงคโปร์เขียนรายงานเผยแพร่ไว้ใน วารสารสมาคมแพทย์อเมริกัน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยย้ำต่อไว้ว่า

“การทรุดตัวลงของอาการป่วย ดูเหมือนมีลักษณะคล้ายผู้ป่วยซาร์ส กล่าวคือผู้ป่วยจะเกิดอาการปอดอักเสบในราวตอนท้ายของสัปดาห์แรก หรือไม่ก็ต้นสัปดาห์ที่สองนับจากวันที่เริ่มมีอาการ”

ผู้ใหญ่สูงอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ที่มีอาการเรื้อรัง อย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง และเบาหวาน มีอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงเมื่อติดเชื้อ แต่ทีมแพทย์ของสิงคโปร์ก็ย้ำไว้ด้วยว่า

“ตามประสบการณ์จนถึงขณะนี้ ก็คือ ผู้ป่วยหลายรายที่ไม่มีอาการป่วยเรื้อรังประกอบอยู่ด้วย อาการยังสามารถทรุดหนักลงได้เช่นเดียวกัน”

อันที่จริง ตัวอย่างที่แสดงถึงข้อเท็จจริงนี้ได้ดีที่สุด คือกรณีของ นายแพทย์หลี่ วินเหลียง จักษุแพทย์วัย 34 ปี เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ แพทย์คนที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มแพทย์กลุ่มแรกของอู่ฮั่นที่พยายามเตือนเรื่องการระบาดใหญ่ครั้งนี้

จักษุแพทย์ผู้นี้เสียชีวิตลงทั้งๆ ที่ได้รับยาปฏิชีวนะ, ยาต่อต้านไวรัส, ยาฆ่าเชื้อ, ให้ออกซิเจนช่วยหายใจ และใช้ปอดเทียมฟอกเลือด

คนที่เป็นถึงแพทย์ แถมยังมีสุขภาพดีเยี่ยมก่อนการติดเชื้อ ดูเหมือนมีอาการเพียงเล็กน้อย จนกระทั่งเกิดอาการปอดอักเสบและเสียชีวิตลงในอีก 2 วันหลังจากเกิดอาการดังกล่าวเท่านั้น

เกรกอรี เอ. โปแลนด์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ด้านการแพทย์ โรคติดต่อและเภสัชวิทยาโมเลกุล จากมาโย คลินิคในเมืองโรเชสเตอร์ รัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า รูปแบบของอาการอักเสบที่เกิดขึ้นกับผู้ติดเชื้อ โควิด-19 มีลักษณะคล้ายคลึงกับผู้ที่ล้มป่วยหนักและเสียชีวิตลงในการระบาดใหญ่ของเชื้อ “สเปนิชฟลู” เมื่อปี 1918

“เมื่อคุณติดเชื้อ ก็เหมือนกับคุณเริ่มต้นทำสงคราม สงครามที่ต่อเนื่องไม่สิ้นสุด” ที่แตกต่างออกไปจากอาการป่วยอื่น ก็คือ สงครามที่ว่านี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การต่อสู้ของร่างกายกับความเสียหายที่ไวรัสก่อให้เกิดขึ้นเท่านั้น “แต่ยังเป็นการต่อสู้กับความเสียหายของร่างกายที่เกิดจากภูมิคุ้มกันซึ่งร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อทำลายเชื้อโรคอีกด้วย”

กรณีผู้ป่วยชายวัย 50 ปีที่เสียชีวิตในจีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลายเป็นกรณีศึกษาสำคัญเกี่ยวกับประเด็นนี้

ชายผู้นี้ติดเชื้อ แต่มีอาการเพียงแค่ไอเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นในตอนเริ่มแรก ทำให้ยังคงสามารถไปทำงานต่อได้ต่อเนื่องไปอีกนานถึง 9 วัน

วันที่สิบ เขาถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล เพราะมีอาการเหนื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อและหายใจถี่หอบ แพทย์ระดมยาฆ่าเชื้อและยาต่อต้านไวรัสทุกขนานให้ รวมทั้งวิธีการรักษาด้วยการกดภูมิคุ้มกัน

ชายผู้นี้เสียชีวิตในอีก 5 วันต่อมา ด้วยสภาพปอดเสียหายรุนแรงคล้ายคลึงกับที่เกิดกับผู้ป่วยจากโรคซาร์ส และเมอร์ส ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากโคโรนาไวรัสเช่นเดียวกัน

ทีมแพทย์ของศูนย์การแพทย์ที่ 5 ในสังกัดโรงพยาบาลกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ที่กรุงปักกิ่ง รายงานเอาไว้ในนิตยสารการแพทย์ แลนเซท ว่า จากการตรวจสอบเลือดของผู้เสียชีวิต พบสภาวะตอบสนองเกินขีดของระบบภูมิคุ้มกันต่อเซลล์ที่ติดเชื้อ จนก่อให้เกิดอาการที่ทางการแพทย์เรียกว่า “อาการบาดเจ็บจากภูมิคุ้มกัน” ขั้นร้ายแรง

ที่น่าสังเกตก็คือ เขาเสียชีวิตทั้งๆ ที่แพทย์ให้ยากดภูมิคุ้มกันประเภทคอร์ติโคสเตียรอยด์ สูงกว่าที่แนะนำให้ใช้ในกรณีของซาร์สถึง 2 เท่าตัว!

สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงถึงขีดสุดของอาการของผู้ป่วยรายนี้

และแสดงให้เห็นถึงอันตรายใหญ่หลวงของ “ดิซีสเอ็กซ์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image