คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : กรณีลึกลับที่อู่ฮั่น

xinhua

อู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน ไม่เพียงเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดของเชื้อไวรัส ซาร์ส-โคฟ-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ที่กำลังอาละวาดสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงไปทั่วโลกในเวลานี้เท่านั้น ยังเป็นเมืองและมณฑลที่ประสบความสูญเสียมากที่สุดจากการระบาดในจีน

ทั่วทั้งประเทศจีนมีผู้ติดเชื้อสะสม รวม 81,996 คน (ณ วันที่ 28 มีนาคม) ในจำนวนนี้อยู่ในหูเป่ย์มากถึง 67,801 คน

ยอดเสียชีวิตรวมทั้งประเทศจีน อยู่ที่ 3,299 คน ในจำนวนนี้เป็นคนในมณฑลหูเป่ย์มากถึง 3,177 คน

ที่น่าสนใจก็คือ นับตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคมเรื่อยมา ยังไม่มีผู้ติดเชื้่อรายใหม่เพิ่มขึ้นที่อู่ฮั่นและหูเป่ย์แม้แต่รายเดียว

Advertisement

ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในระยะหลัง เป็นผู้ติดเชื้อ “นำเข้า” จากต่างประเทศเกือบทั้งหมด มีการติดต่อระหว่างคนสู่คนในจีนเพียง 1 ราย ที่มีการรายงานออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ แต่นั่นเป็นที่มณฑลเจ้อเจียง ไม่ใช่หูเป่ย์

แล้วก็ส่งผลให้ทางการจีนต้องประกาศปิดโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศอีกครั้งหลังจากเปิดมาได้แค่ 1 สัปดาห์

สถานการณ์เช่นนี้ย่อมควรค่าแก่การเฉลิมฉลองสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในหูเป่ย์ และอู่ฮั่น

Advertisement

เช่นเดียวกับที่มีการผ่อนคลายมาตรการ “ปิดเมือง” อู่ฮั่น ให้อยู่กันแต่ในบ้านลง และกำลังพิจารณาว่าจะ “ปลดล็อก” การปิดตายมณฑลหูเป่ย์ เปิดให้เข้า-ออกได้ตามปกติในเร็วๆ นี้

กระนั้น ใช่ว่าทุกคนจะหมดกังวลโดยสิ้นเชิงแล้ว แพทย์และผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งกำลังวิตกมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกำหนดปลดล็อกหูเป่ย์ใกล้เข้ามา

เหตุผลเป็นเพราะยังมี “กรณีลึกลับ” ที่หาคำตอบยังไม่ได้เกิดขึ้นที่อู่ฮั่นและหูเป่ย์

นั่นคือ ทำไมราว 5 เปอร์เซ็นต์ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่ถูกแพทย์ระบุว่า “หายดีแล้ว” ถึงได้กลับมา “ติดเชื้อซ้ำ” อีกครั้ง?!!

รายงานผลการศึกษาอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้เปิดเผยเป็นครั้งแรกโดยซีซีทีวี สถานีโทรทัศน์ของทางการจีน เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยซึ่งดำเนินการโดยคณะแพทย์ประจำโรงพยาบาลถงจี้ ในอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์

ใครที่ความจำดีคงจำได้ว่า นี่คือโรงพยาบาลแรกในโลกที่ต้องรับมือกับผู้ป่วยโรคโควิด-19

หวัง เว่ย ประธานอำนวยการโรงพยาบาลแห่งนี้ ให้สัมภาษณ์กับซีซีทีวีเอาไว้ว่า ทีมวิจัยของโรงพยายาลศึกษาผู้ป่วยซึ่งหายดีแล้ว 147 คน มีอยู่ 5 คน ที่เมื่อตรวจสอบหาเชื้อซ้ำอีกครั้ง “หลังจากหนึ่งเดือนผ่านไป” พบว่ากลับมามีผลตรวจเป็นบวกอีกครั้ง

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ไลฟ์ ไทม์ส สื่อด้านสุขภาพในเครือพีเพิลส์ เดลี ของทางการจีน อ้างรายงานจากฐานข้อมูลของศูนย์กักกันโรคหลายแห่งภายในอู่ฮั่น ระบุผลการศึกษาไว้ว่า มีผู้ที่ถูกตรวจพบว่า “ไม่มีเชื้อแล้ว” ระหว่าง 5-10 เปอร์เซ็นต์ กลับมาตรวจพบว่า “ติดเชื้อ” อีกครั้งหนึ่ง

นี่ยังไม่นับรายงานทั่วไปที่เคยมีมาประปรายก่อนหน้านี้ เช่น กรณีที่ปักกิ่ง ซึ่งสามีหายกลับมาได้ไม่เท่าไหร่ กลับถูกตรวจพบอีกทีว่าติดเชื้ออีกแล้ว

ล่าสุด เมื่อ 22 มีนาคมที่ผ่านมานี่เอง มีรายงานพบครอบครัวหนึ่งในอู่ฮั่นกลับไปติดเชื้ออีกครั้งทั้ง 3 คน

คำถามสำคัญคือ สภาวการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านไวรัสวิทยา หรือแม้กระทั่งแพทย์ทั่วไปหลายคนรู้ดีว่า ใครก็ตามที่ติดเชื้อไวรัส สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือภูมิคุ้มกัน ที่ร่างกายสร้างขึ้นจนสามารถต่อกรกับไวรัสนั้นๆ ได้

ภูมิคุ้มกันที่ว่านี้จะค่อยๆ เพิ่มระดับขึ้นในร่างกายและสามารถให้การคุ้มกันบุคคลนั้นๆ อยู่ได้อย่างน้อย 8 เดือนถึง 1 ปี

ภายใต้องค์ความรู้เดิมดังกล่าว เป็นไปไม่ได้ที่จะมีใครที่ติดเชื้อแล้วกลับมาติดเชื้ออีกครั้งได้เร็วขนาดนั้น

ภายใต้องค์ความรู้เก่าเช่นนี้ หนทางเป็นไปได้ที่กลายเป็นคำตอบเพียงอย่างเดียวก็คือ

เกิดความไม่แน่นอน ผิดเพี้ยน ขึ้นกับชุดตรวจสอบการติดเชื้อโควิด-19!

ทฤษฎีแรกที่อาจอธิบายกรณีลึกลับเหล่านี้ก็คือ เป็นไปได้ว่า เมื่อตอนที่ตรวจสอบหาเชื้อครั้งแรกก่อนที่จะปล่อยตัวไปจากศูนย์กักกัน เกิดความผิดพลาดขึ้นกับชุดตรวจ จนทำให้กลายเป็นปลอดเชื้อ ทั้งๆ ที่มีเชื้อ เมื่อมาตรวจซ้ำอีกครั้งจึงกลายเป็นการกลับมาติดเชื้ออีกครั้งอย่างรวดเร็ว

นายแพทย์หลี่วินเหลียง ที่ถูกยกย่องเป็นฮีโรในจีนเพราะเป็นผู้เปิดโปงการแพร่ระบาดนี้ออกมาเป็นคนแรก ก็เคยถูกตรวจว่าไม่มีเชื้อซ้ำหลายครั้ง ก่อนที่จะพบว่าติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ หวัง เฉิน ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งจีน (ซีเอเอ็มเอส) เคยประเมินว่า ชุดทดสอบหาเชื้อด้วยการตรวจหากรดนิวคลีอิค ที่ใช้กันในจีนนั้นมีความแม่นยำในการบ่งชี้ผู้ติดเชื้อเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ถึง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

อีกทฤษฎีหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชุดตรวจเช่นกันก็คือ เป็นไปได้ว่าการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจหากรดนิวคลีอิคอาจก่อให้เกิด “ผลบวกเทียม” ขึ้นได้

“ฟอลส์ โพสิทีฟ” ดังกล่าวนั้น นายแพทย์เจฟฟรีย์ ชาแมน ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพเชิงนิเวศของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา อธิบายไว้ว่า เป็นเพราะชุดตรวจไปจับเอา “เศษ” ดีเอ็นเอของไวรัส ซึ่งหลงเหลืออยู่จากการติดเชื้อครั้งแรก (แต่ไม่ก่อให้เกิดโรค และไม่ติดต่อ) มาขยายเพิ่มจนผลการตรวจซ้ำกลายเป็นบวกขึ้นมา

น่าเสียดายที่นายแพทย์ชาแมนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับกรณีการศึกษาวิจัยที่อู่ฮั่น ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่โรงพยาบาลถงจี้ก็มีขนาดเล็กจนเกินไป

จึงไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า การกลับมาติดเชื้อซ้ำนั้นเกิดจากอะไรกันแน่ แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายอยากจะให้เป็นผลที่เกิดจากความผิดพลาดคลาดเคลื่อนของชุดตรวจก็ตามที

ที่อยากให้เป็นเช่นนั้น เป็นเพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้นแล้วละก็ หนทางเป็นไปได้ที่อาจใช้อธิบายเรื่องนี้ได้ที่เหลืออยู่อีกทางเดียวเป็นทางที่ 3 ก็คือ

กรณีลึกลับที่อู่ฮั่น คือสัญญาณเริ่มต้นของการระบาดระลอกที่ 2 ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นนั่นเอง

โชคดีที่นักวิชาการด้านไวรัสวิทยาและระบาดวิทยาส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วย แม้จะยืนยันว่าหลายประเทศมีโอกาสที่จะเกิดการระบาดรอบสองขึ้นมาก็ตามที

เหตุผลก็คือ ยังคงเร็วเกินไปอยู่บ้าง แล้วก็ยังมีปัจจัยที่เรายังไม่รู้ชัดอีกเยอะมากเกินไป

แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้เห็นว่าเป็นคำถามสำคัญที่ต้องเร่งหาคำตอบให้ได้ในเร็ววันนี้ก็คือ ผู้ติดเชื้อที่กลับมาติดเชื้อซ้ำอีกครั้งเป็นรอบที่สองนี้ “แพร่เชื้อได้หรือไม่?”

และทางการจีน หรือที่อู่ฮั่น ทำอย่างไรกับคนที่กลับมาติดเชื้อเหล่านี้?

เอ็นพีอาร์ สื่อในสหรัฐอเมริกา ตรวจสอบหาข้อมูลจากคนที่กลับมาติดเชื้อใหม่ 4 ราย ในอู่ฮั่น 2 ราย ในจำนวนนั้นเป็นบุคคลทั่วไปชาวเมืองอู่ฮั่น อีก 2 คน เป็นคนที่อยู่แนวหน้าในสงครามโควิด-19 ที่นั่น คือเป็นแพทย์ เงื่อนปมสำคัญก็คือ ในการติดเชื้อรอบ 2 คนทั้ง 4 ไม่ได้แสดงอาการบ่งชี้ใดๆ ออกมาเลย

คนทั้ง 4 ตอนนี้ถูกแยกกักตัวเพื่อเฝ้าดูอาการทางการแพทย์ ทั้งหมดขอปกปิดชื่อเสียงเรียงนาม

ชาวอู่ฮั่นหนึ่งในจำนวนนั้นบอกว่า ในการติดเชื้อครั้งแรกสุดอาการหนักมาก หนักจนต้องนอนโรงพยาบาล ต่างกับชาวบ้านรายที่สอง ซึ่งบอกว่า ตอนติดเชื้อครั้งแรกอาการไม่หนักมาก จึงใช้เวลารักษาตัวอยู่ในสถานกักกันตัวชั่วคราวหนึ่งในจำนวนหลายสิบที่สร้างขึ้นที่เมืองนี้

ทั้งสองเพิ่งถูกตรวจพบว่ากลับมาติดเชื้ออีกครั้งหนึ่งเมื่อ 22 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากไปโรงพยาบาลเพราะ “อาการป่วยอื่น” โดยที่ไม่ได้แสดงอาการใดๆ ที่เป็นอาการบ่งชี้ของโควิด-19 ออกมาเลย

ไม่ว่าจะเป็นอาการไข้ หรือไอแห้งๆ ก็ตาม

ระยะห่างระหว่างการหายกับการถูกตรวจพบว่าติดเชื้ออีกครั้งนั้น คนหนึ่งห่างไปเพียงไม่กี่วัน อีกคนหนึ่งห่างกันนานถึง 2-3 สัปดาห์

ข้อที่น่าสนใจก็คือ ทางการอู่ฮั่นและทางการจีนไม่เคยนับคนทั้ง 4 ว่าเป็น “ผู้ติดเชื้อรายใหม่” เหมือนกับที่ ไม่เคยนับผู้ติดเชื้อซึ่งตรวจพบแต่ไม่แสดงอาการใดๆ เข้าไปในยอดผู้ติดเชื้อรวมของประเทศ

นายแพทย์ผู้หนึ่งซึ่งกลับมาติดเชื้ออีกครั้ง หลังจากที่เคยติดเชื้อจากการรักษาผู้ป่วยก่อนหน้านี้ ยอมรับว่า งงเหมือนกันว่าทำไมถึงไม่นับรวมเข้าไปด้วย

ต้นสัปดาห์ที่แล้ว “ไคซิน” สื่ออิสระในจีน รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในโรงพยาบาลในอู่ฮั่นว่า หมอที่นั่นยังเจอกรณีติดเชื้อที่ “ไม่แสดงอาการ” เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วันละเป็นสิบราย

วันที่ 23 มีนาคม คณะกรรมการสาธารณสุขอู่ฮั่นถูกสอบถามเรื่องนี้ คำตอบก็คือ คนเหล่านั้นจะถูกส่งไปกักตัวเฝ้าดูอาการ หากยังไม่แสดงอาการก็ปล่อยตัวไป

เหตุผลก็คือ “ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก คนที่แพร่เชื้อได้คือคนที่แสดงอาการ และจะแพร่ในระยะเวลาที่มีอาการเท่านั้น”

ปัญหาที่ทำให้หลายคนกังขาก็คือ มีหลักฐานบ่งชี้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าคนติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการนี่แหละ คือตัวแพร่เชื้อที่ร้ายกาจอย่างยิ่ง

กรณีศึกษาหลังสุดที่บ่งชี้ในเรื่องนี้ก็คือ ผลการศึกษาการแพร่ระบาดที่ประเทศอิตาลี ซึ่งระบุสาเหตุสำคัญที่เชื้อโควิด-19 แพร่ออกไปมาก เร็ว และรุนแรงอย่างยิ่ง ก็เพราะผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการนี่เอง

อีกไม่นาน คุณหมอ 2 คน กับชาวบ้านอีก 4 คน ก็คงถูกปล่อยจากการกักกันตัว เหมือนกับคนที่กลับมาติดเชื้ออีกครั้งเป็นจำนวนมาก

24 มีนาคม อู่ฮั่นเริ่มเปิดเมือง คลายมาตรการกักตัวอยู่แต่ในบ้าน รออีก 2 สัปดาห์ วันที่ 8 เมษายน จีนจะปลดล็อกหูเป่ย์ หลังปิดตายมา 2 เดือนเศษ

คนติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการเหล่านี้ กำลังจะมีโอกาสเพ่นพ่านไปได้ทั่วประเทศจีนครับ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image