คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “นอม ชอมสกี” กับ “ตัวตลกไร้สำนึก” ในวันที่โลกติดเชื้อ!

(ภาพ-wikipedia cc by 4.0)

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “นอม ชอมสกี” กับ “ตัวตลกไร้สำนึก” ในวันที่โลกติดเชื้อ!

โควิด-19 – ในแวดวงทางวิชาการสหรัฐอเมริกา นอม ชอมสกี คือศาสตราจารย์เกียรติคุณทางด้าน ภาษาศาสตร์และปรัชญา ประจำคณะภาษาศาสตร์และปรัชญา ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที)

แต่ศาสตราจารย์ ชอมสกี ยังมีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ สังคมและการเมืองในระดับที่เป็นที่ยอมรับกันในวงกว้าง โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์การเมือง และการต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและที่อื่นๆ

ชอมสกี ในวัย 91 ปี แม้จะกักตัวเองอยู่แต่ในสำนักงานท่ามกลางสภาวะแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ที่รายล้อมอยู่รอบตัว แต่ก็ยังสดับความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะภาวะระบาดที่คร่าชีวิตมนุษย์ ล้มตายลงเหมือนใบไม้ร่วงกว่าหกหมื่นคน ทั้งยังมีผู้ติดเชื้อมากกว่าหนึ่งล้านหนึ่งแสนคน ทั่วโลก

เมื่อ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ชอมสกี ซึ่งชอบที่จะเรียกตัวเองว่านักสังคมนิยมเสรี รับเชิญจาก ซเรจโก ฮอร์วัท ปรัชญาเมธีจากโครเอเชีย ให้ร่วมเป็นหนึ่งในวงเสวนาออนไลน์ทางไกล ร่วมกับ สลาวอยจ์ ซีเซก ปรัชญาเมธีจากสโลเวเนีย และ แองเกลา ริคช์เทอร์ ผู้กำกับละครเวทีชาวเยอรมันเชื้อสายโครเอเชีย

Advertisement

เสวนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของชุดเสวนาที่จัดให้มีขึ้นต่อเนื่องของ เดโมเครซี อิน ยุโรป มูฟเมนท์ 2025 พรรคการเมืองที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยซึ่งก่อตั้งโดย ยานิส วารูฟาคิส อดีตรัฐมนตรีคลังของกรีซ

ชอมสกี ไม่เพียงหยิบเอาสถานการณ์และพฤติกรรมในยามนี้มาวิพากษ์อย่างเผ็ดร้อนเท่านั้น ยังแสดงทรรศนะเลยถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับโลกในยุคหลังการแพร่ระบาดครั้งนี้อีกต่างหาก

ด้วยกังวลว่าสภาวะที่กำลังคลี่คลายขยายตัวให้เห็นอยู่ต่อหน้าต่อตาในยามนี้จะส่งผลให้เกิดวิกฤตใหญ่โต หนักหนาสาหัสยิ่งกว่าติดตามมา

Advertisement

ชอมสกี เริ่มต้นพูดถึงเรื่องโลกที่กำลังติดเชื้อโคโรนาไวรัสในยามนี้เอาไว้ว่า ไม่น่าจะเกิดขึ้น

เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ มีการเตือนให้รับรู้กันไว้ล่วงหน้าแล้ว และควรป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้

“การแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาครั้งนี้ควรป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ ข้อมูลข่าวสารเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมีอยู่แล้ว ในความเป็นจริง นี่เป็นเรื่องที่รู้กันดีด้วยซ้ำไป

“เมื่อตุลาคม 2019 ก่อนการระบาดไม่ช้าไม่นาน มีการสร้างสถานการณ์จำลองขนาดใหญ่ขึ้นในสหรัฐอเมริกา เพื่อดูจำลองสิ่งที่เป็นไปได้ของการระบาดใหญ่ทั่วโลกแบบเดียวกับที่เป็นอยู่ในเวลานี้”

ที่ศาสตราจารย์ชอมสกีพูดถึง คือการสัมมนาเชิงวิชาการและการฝึกซ้อมครั้งใหญ่ว่าด้วยการแพร่ระบาดในระดับโลก ที่ศูนย์เพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุขประจำมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เป็นเจ้าภาพ ภายใต้การร่วมมือสนับสนุนของเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม และ มูลนิธิ บิล แอนด์ เมลินดา เกตส์

งานใหญ่หนนั้นใช้ชื่อว่า “อีเวนต์ 201”

“แต่แล้วก็ไม่มีใครทำอะไรสักอย่าง” นั่นคือปัญหา แต่ยังมีปัญหาใหญ่กว่าตามมา

“แล้ววิกฤตนี้ก็ถูกทำให้เลวร้ายมากยิ่งขึ้นด้วยความอสัตย์ของระบบการเมือง ซึ่งไม่ได้ใส่ใจกับข้อมูลทั้งหลายที่พวกตนรู้ดีอยู่เต็มอก

“วันที่ 31 ธันวาคม จีนแจ้งต่อองค์การอนามัยโลก (ฮู) ถึงอาการป่วยที่มีลักษณะเหมือนปอดอักเสบที่ไม่รู้ที่มา หนึ่งสัปดาห์ต่อมา นักวิทยาศาสตร์จีนบางคนสามารถบ่งชี้ตัวโคโรนาไวรัสออกมาได้ ยิ่้งไปกว่านั้นยังจำแนกพันธุกรรมออกมาแล้วเผยแพร่ข้อมูลนั้นให้กับโลก

“ถึงตอนนั้น ถ้านักไวรัสวิทยาคนไหนใส่ใจเข้าไปอ่านรายงานของฮู ก็จะรู้ได้ว่ามันมีโคโรนาไวรัสขึ้นมานะ แล้วก็รู้ด้วยว่าจะรับมือกับมันอย่างไร

“พวกนั้นทำอะไรบ้างหรือเปล่า? ทำ แค่บางรายเท่านั้น”

ในความเห็นของศาสตราจารย์ ชอมสกี ประเทศอย่าง จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ เริ่มต้น “ทำอะไรบางอย่าง” ซึ่งผลลัพธ์ก็แสดงให้เห็นได้ว่า กลุ่มประเทศเหล่านี้ “ดูเหมือนว่าจะควบคุมการระบาดได้ค่อนข้างดี อย่างน้อยก็ในช่วงแรกเริ่มของวิกฤตการณ์หนนี้”

ชอมสกีอธิบายต่อว่า วิธีการที่ทางซีกโลกตะวันตกเตรียมตัวรับมือกับวิกฤตหนนี้แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับว่าเป็นประเทศไหน

“ในยุโรป อย่างน้อยก็มีการเตรียมพร้อมรับมืออยู่บ้าง ในเยอรมนีที่มีขีดความสามารถในการวินิจฉัยสำรองไว้เพียงพอ ก็สามารถรับมือได้ในแบบฉบับที่เห็นแก่ตัวอยู่มาก ไม่ได้ช่วยเหลือประเทศอื่นๆ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยตัวเองได้ เห็นได้จากที่สามารถควบคุมโรคได้ในระดับเป็นเหตุเป็นผล

“ประเทศอื่นๆ พากันละเลยไม่ได้เตรียมรับมือ”

ในบรรดาประเทศที่ละเลยเหล่านั้น ตามความเห็นของ ชอมสกี ประเทศหนึ่งที่ย่ำแย่จนอยู่ในสภาพ “เลวร้ายที่สุด” คือ อังกฤษ แต่ที่แย่ที่สุดในบรรดาประเทศที่เลวร้ายที่สุดทั้งหลาย คือ สหรัฐอเมริกา

“วันหนึ่ง (ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา) บอกว่า “ไม่มี ไม่มีวิกฤต มันก็เหมือนไข้หวัดใหญ่นั่นแหละ” พอวันรุ่งขึ้นกลับบอกว่า “นี่เป็นวิกฤตมหันต์ที่สุด ผมรู้มาตลอดว่าเป็นอย่างนี้”

“แต่พอวันถัดไป กลายเป็น “ไม่ได้ พวกเราต้องกลับไปทำงาน ทำธุรกิจของเรา เพราะผมต้องชนะเลือกตั้งปีนี้”

“แค่คิดว่าโลกนี้อยู่ในมือของคนพวกนี้ก็ช็อกแล้ว!”

สหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ กลายเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมสูงที่สุดในโลก คือ 278,537 คน ณ วันที่ 4 เมษายน และมีผู้เสียชีวิตอีกมากถึง 7,163 คน สูงกว่าจีน ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดกว่าเท่าตัว

ทั่วโลกในยามนี้ มีผู้ติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 แล้วมากถึง 1,139,207 คน ครอบคลุมใน 180 ประเทศ มีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 60,874 คน

นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไม ศาสตราจารย์ชอมสกี ถึงได้เรียกขาน ทรัมป์ ว่า “ตัวตลกไร้สำนึก-sociopathic buffoon”

อันที่จริง “โซซิโอพาธิค” หรือ “โซซิโอพาธ” มีนัยเกินเลยกว่าคำว่าไร้สำนึกมากอย่างยิ่ง

ในทางจิตวิทยา บุคลิกภาพแบบโซซิโอพาธ คือคนที่ไม่แคร์ต่อความรู้สึกของผู้อื่น ทำทุกอย่างเพื่อยังประโยชน์ให้แก่ตัวเอง เพื่อผลที่ตัวเองอยากได้ ไม่มีความรู้สึกผิด ไม่ใส่ใจสังคมโดยรวม

ไม่เพียงแค่ศาสตราจารย์ชอมสกี จะรู้สึกเช่นนั้น คนอเมริกันอีกเป็นจำนวนไม่น้อย ก็รู้สึกถึงความไม่อินังขังขอบ ที่แสดงออกมาให้เห็นในการแถลงข่าวการแพร่ระบาดประจำวันของทรัมป์

ที่ปรากฏบ่อยครั้งมากที่สุดคือการอวดวิวาทะ ตัดบทผู้สื่อข่าวที่ตั้งคำถามย้อนถึงพฤติกรรมที่อาจเสียหายต่อชื่อเสียงของตนเอง โยนความผิดให้กับผู้อื่น พร้อมๆ กับการอวดอ้าง โอ่ประโคมว่า ตนกับทีมงานกำลังทำงานได้ดีเยี่ยม ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ต่างกับคำโอ่มากมายแค่ไหน

บุคลิก โซซิโอพาธ ของทรัมป์ ฉายออกมาให้เห็นเด่นชัดมากที่สุด เมื่อตอนที่ ประกาศอย่างอหังการว่า เรตติ้งการรับชม การแถลงข่าวของตนเองสูงลิบลิ่วเพียงใด

น่าเห็นใจคนอเมริกันทั้งหลายที่มีผู้นำเช่นนี้ ในห้วงเวลาเช่นนี้

ศาสตราจารย์นอม ชอมสกี ยังโจมตีทรัมป์อย่างหนักต่อการที่ยังคง “การแซงก์ชั่นที่โหดร้าย” ต่ออิหร่านต่อไป ในขณะที่ประเทศนั้นกำลังดิ้นรนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยที่มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 3,400 คน

ชอมสกีบอกว่า มีสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่แซงก์ชั่นอำมหิตเช่นนั้นได้ เพราะประเทศอื่นต้องทำตาม ไม่เช่นนั้นก็ “ต้องถูกเตะออกจากระบบการเงินโลก”

ศาสตราจารย์ชาวอเมริกัน เตือนให้ทุกคนครุ่นคิดถึงสภาพฉุกเฉิน โกลาหล อันเป็นผลจากการระบาดครั้งนี้ให้ดี คิดให้ตกว่าทำไมถึงได้มีวิกฤตเช่นนี้เกิดขึ้น

“รู้กันมานานแล้วว่าการระบาดใหญ่มีแนวโน้มสูงมากที่จะเกิดขึ้น แล้วเราก็ประเมินมันต่ำเกินไป เป็นที่เข้าใจกันดีว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิดอย่างนี้ขึ้น เหมือนการแพร่ระบาดของซาร์ส ที่ขยายขนาดขอบเขตให้กว้างขวางมากขึ้นกว่าเมื่อ 15 ปีที่แล้ว

“ตอนนั้น (ซาร์ส) ถูกเอาชนะได้ มีการบ่งชี้ตัวไวรัส แยกพันธุกรรม แล้วก็วัคซีนก็เกิดตามมา

“ห้องปฏิบัติการทั่วโลกสามารถทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทำไมถึงไม่ทำกัน?

“ตลาด บริษัทเวชภัณฑ์ทั้งหลาย ได้รับสัญญาณผิดๆ เราฝากชะตากรรมเอาไว้กับทรราชเอกชนที่เรียกว่าบริษัท ซึ่งไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อสาธารณะ ซึ่งในกรณีนี้คือ บริษัทยายักษ์ใหญ่ทั้งหลาย

“สำหรับบริษัทเหล่านี้ การทำครีมทาตัวใหม่สักตัว ทำกำไรให้มากกว่าการค้นหาวัคซีนที่จะช่วยป้องกันคนทั้งโลกไม่ให้ถูกทำลายล้าง”

โควิด-19 ร้ายแรงก็จริง ก่อผลลัพธ์ที่ชวนสยดสยองได้ก็จริง แต่ก็มีวันสิ้นสุดและการฟื้นฟูจะตามมา แต่ชอมสกีเตือนว่า หลังการแพร่ระบาด ยังมีวิกฤตที่น่าสยดสยองยิ่งกว่าติดตามมา

“โดนัลด์ ทรัมป์ กับบริวาร กำลังนำในการวิ่งแข่งกันลงนรกที่ว่านี้ ที่จริงภัยคุกคามมหันต์ที่เรากำลังจะต้องเผชิญมีอยู่สองอย่าง หนึ่งคือการคุกคามที่ใหญ่โตมากขึ้นเรื่อยๆ ของสงครามนิวเคลียร์ กับอีกอย่างก็คือการคุกคามจากภาวะโลกร้อนนั่นเอง”

นอม ชอมสกี ย้ำว่า หายนะจากภัยคุกคามทั้งสองอย่างนี้ โลกไม่มีวันฟื้นฟูกลับมาเหมือนเดิมได้อีก!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image