คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : กำเนิดโควิด-19 ค้างคาวหรืออาวุธชีวภาพ?

ห้องปฏิบัติการในจีน (ภาพ-Reuters)

กำเนิดโควิด-19 ค้างคาวหรืออาวุธชีวภาพ?

ทฤษฎีสมคบคิดว่าด้วย “กำเนิดโควิด-19” ไม่ยอมจางหายไปเสียที ไม่เท่านั้นยังมีทีท่าว่าจะ “เป็นงานเป็นการ” มากขึ้นกว่าเดิมด้วยอีกต่างหาก

ในการแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดหลังสุดเมื่อ 17 เมษายนที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีอเมริกัน พูดเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างเจตนาว่า “ต้นกำเนิดของโควิด-19” ดูเหมือนมีอะไรลึกๆ ลับๆ ไม่ชอบมาพากลห่อหุ้มอยู่

เป็นการขานรับต่อเชื้อโดยปริยายจากรายงานของวอชิงตันโพสต์ก่อนหน้านี้ ที่รายงานถึง “คำเตือน” จากหน่วยข่าวกรองอเมริกันในจีน ถึง “ความไม่ปลอดภัย” ของห้องปฏิบัติการทดลองทางไวรัสวิทยาที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ที่รายงานกลับประเทศมาอย่างน้อย 2 ครั้งด้วยกัน

ทำให้ทฤษฎีสมคบคิดแต่เดิม ที่พยายามจะบอกว่าโควิด-19 ไม่ใช่การประจวบเหมาะของธรรมชาติ แต่เป็นความพยายาม “ปล่อยเชื้อโรค” ทำลายล้างออกมาในท่วงทำนองเป็น “อาวุธชีวภาพ”

Advertisement

กลายเป็นเรื่องของความ “ประมาท” หรือ “พลั้งเผลอ” ของนักวิชาการจีน ที่ไม่รอบคอบ ไม่มีมาตรการระมัดระวังเพียงพอ ดันไป “ติดเชื้อ” นี้ออกมาจากในห้องปฏิบัติการที่อู่ฮั่น

ก่อนที่ส่งผลให้แพร่ระบาดในที่ “เหมาะสม” กับการแพร่ระบาดอย่างตลาดค้าอาหารทะเลและสัตว์เป็นที่นั่น

ทั้งๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยทางจุลชีววิทยาและไวรัสวิทยา พากันยืนยันไว้ชัดเจนก่อนหน้านี้ว่า ซาร์ส-โคฟ-2 ที่อาละวาดอยู่ในเวลานี้ มีแนวโน้มจะเป็นเชื้อที่สถิตอยู่ในค้างคาวมากที่สุด

Advertisement

ข้อที่น่าสนใจของแนวคิดหลังนี้ก็คือ ไม่ปฏิเสธข้อเท็จจริงเรื่องที่เชื้อกำเนิดจากค้างคาว เพียงแต่บอกเสียใหม่ว่า แทนที่การแพร่ระบาดจะเกิดตามธรรมชาติ กลับเป็นคนที่ขลุกอยู่กับเชื้อที่ว่านั้น ทำให้หลุดออกมาสู่โลกภายนอก

ฟังดูแล้วน่าเชื่อกว่าเรื่องเดิมที่พยายามจะบอกว่าเป็นอาวุธชีวภาพที่จงใจปลดปล่อยออกมามากทีเดียว

ให้บังเอิญที่ว่า สถาบันไวรัสวิทยาที่อู่ฮั่น ก็เป็นศูนย์วิชาการที่ศึกษาและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสจริงๆ และเป็นข้อเท็จจริงอีกเหมือนกันที่ว่า นักวิชาการของสถาบันแห่งนี้เป็นผู้ค้นพบโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงที่สุดกับสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ในค้างคาวพันธุ์หนึ่ง

พบในค้างคาว “ฮอร์สชู” หรือค้างคาวเกือกม้าจีน (Rhinolophus sinicus) ซึ่งพบในถ้ำใกล้กับชายแดนเมียนมา มีพันธุกรรมเหมือนกันกับเจ้าซาร์ส-โคฟ-2 ถึง 96 เปอร์เซ็นต์

ยิ่งทำให้การอธิบายความเรื่องเชื้อหลุดรอดออกมาจากความประมาทนี้น่าเชื่อมากยิ่งขึ้น

ในเซลล์ร่างกายมนุษย์ (ภาพ-NIAD)

คำถามคือ นักวิทยาศาสตร์ล่ะ ว่าอย่างไร คิดเห็นอย่างไรกับทฤษฎีสมคบคิดล่าสุดนี้?

วินเซนต์ แรคานิลโล ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา มหาวิทยาลัยโคลอมเบีย ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นนักวิชาการคนแรกที่ปฏิเสธ ทั้งแนวคิดว่าด้วยการหลุดรอดออกมาโดยอุบัติเหตุ และเรื่องที่ว่า โควิด-19 เป็นเชื้อที่ถูกสร้างขึ้นมาในห้องแล็บแล้วจงใจปล่อยออกมาเป็นอาวุธชีวภาพ

ศาสตราจารย์แรคานิลโลบอกว่า ใครก็ตามที่คิดแบบนั้น ขาดความเข้าใจในองค์ประกอบทางพันธุกรรมของ ซาร์ส-โคฟ-2 และความเชื่อมโยงระหว่างไวรัสร้ายตัวนี้กับไวรัสในค้างคาว

“เอาเป็นว่า ถ้าเกิดมีใครทำเอาไวรัสจากค้างคาวหลุดรอดออกมาจากห้องแล็บ เจ้าเชื้อที่ว่านี้ไม่มีวันติดต่อไปยังคนได้ เพราะ ซาร์ส-โคฟ-2 เปลี่ยนไปจากเชื้อเดิมมาก การเปลี่ยนนี่แหละที่ทำให้มันติดต่อไปยังคนได้”

ก่อนที่มันจะเปลี่ยนแปลงไปจนมีความสามารถอย่างนั้น ไวรัสก่อโรคโควิด-19 ต้องแพร่ระบาดอยู่ระยะหนึ่งแล้ว ไม่ใช่เวลาสั้นๆ อีกด้วย ต้องใช้เวลานับเป็นปีๆ การกลายพันธุ์ของมันจึงมากพอและมีนัยสำคัญพอแล้วจึงจะระบาดมาสู่คนได้

การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ว่านั้น ก็คือ การเกิดการกลายพันธุ์ใน สไปค์ หรือตุ่มโปรตีนที่เหมือนหนามของมัน จนสามารถเชื่อมพันธะทางเคมีเข้ากับเซลล์ในร่างกายของมนุษย์ได้

สไปค์ โปรตีนที่ว่านี้ เป็นคุณลักษณะที่ไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อนในไวรัสในค้างคาวรวมทั้งสายพันธุ์ที่ใกล้ชิดกับซาร์ส-โคฟ-2 อย่างมากที่สถาบันวิจัยแห่งอู่ฮั่นตรวจสอบพบภายใต้โครงการเฝ้าระวังไวรัสที่ร่วมมืออยู่กับเครือข่ายทางไวรัสวิทยาทั่วโลก

ก่อนหน้านี้มีทีมนักวิจัยทางไวรัสวิทยาระดับโลกอีกกลุ่มหนึ่ง ศึกษาวิเคราะห์เชิงพันธุกรรมเปรียบเทียบ ด้วยการนำเอาแผนที่พันธุกรรมของซาร์ส-โคฟ-2 กับพันธุกรรมของไวรัสที่รู้จักกันมาก่อนแล้ว และเผยแพร่ผลวิจัยออกมาในวารสารวิชาการ เนเจอร์ เมดิซีน เมื่อเดือนที่ผ่านมา

ในตอนหนึ่งของรายงานทางวิชาการชิ้นนี้ อธิบายเอาไว้ด้วยว่า ทำไม “การปล่อยให้หลุดออกมาโดยไม่เจตนา” ถึงเป็นไปไม่ได้

เหตุผลสำคัญที่ระบุไว้ก็คือ หากปล่อยออกมาแล้วสามารถระบาดได้ขนาดนี้ แสดงว่าคนที่ทำให้เล็ดลอดออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจที่ว่านี้ ต้องสามารถ “เข้าถึง” เชื้อไวรัสที่เหมือนกับไวรัสก่อโรคโควิด-19 มากกว่านี้

ซึ่งแวดวงวิชาการทั้งหมดยังไม่มีใครรู้ว่ามีไวรัสที่เหมือนกับไวรัสก่อโรคโควิด-19 มากอย่างนั้นอยู่ในโลกนี้!

เบนจามิน นิวแมน ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา ประจำมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม ในเมืองเท็กซาคานา ตั้งคำถามขึ้นมาว่า ทั่วโลก มีเชื้อไวรัสเหมือนๆ กับซาร์สที่ว่านี้อยู่นับพันนับหมื่นชนิด ทั้งในค้างคาวแล้วก็ในสัตว์อื่นๆ

จำเป็นอะไรที่เราต้องมาสร้างขึ้นในห้องแล็บ? หรือต้องรอให้มีนักวิจัยพลั้งเผลอสักคนทำให้ไวรัสระบาดสู่คน?

แค่ไม่ทำ ไม่พลั้งเผลอ ธรรมชาติก็สามารถปลดปล่อยเชื้อร้ายนี้มาสู่มนุษย์ได้แล้ว เพราะวิถีชีวิตของมนุษย์ทุกวันนี้ขยับล่วงล้ำเข้าไปใกล้ชิดกับมันมากขึ้นทุกที

แม้ไม่ได้ล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่ของมัน ก็ยังมีคนนำมันเข้ามาสู่สังคมเมือง ในรูปของการค้าสัตว์ป่า ซึ่งเชื่อมโยงใกล้ชิดกันมากกับตลาดสด ค้าสัตว์เป็น ค้าเนื้อสัตว์ป่า

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือกรณีของโรคระบาดอย่างโรคทางเดินหายใจรุนแรงเฉียบพลัน หรือซาร์ส เมื่อปี 2003 ที่ค้างคาวแพร่เชื้อให้กับชะมด แล้วเราก็ซื้อหาค้าขายชะมดกันในตลาดค้าสัตว์ป่าเป็นที่ว่านี้

แอนดรูว์ คันนิงแฮม รองผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ประจำสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน ประเทศอังกฤษ บอกว่า การค้าสัตว์ป่าเป็นๆ ในเวลานี้เป็นตลาดใหญ่มากในจีน แล้วก็เอื้อให้เกิดสภาวะการแพร่เชื้อไวรัสจากสัตว์มาสู่คนได้เป็นอย่างดี

ในอีกทางหนึ่ง การค้าสัตว์ป่าเป็นๆ นำมันจับมาขังรวมกันแออัด ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของไวรัสจากสัตว์ชนิดหนึ่งไปยังสัตว์อีกชนิดหนึ่งได้โดยง่าย เอื้อต่อการกลายพันธุ์ หรือการรวมสายพันธุ์ของไวรัสเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดีอีกต่างหาก

เกวิน สมิธ ศาตราจารย์ประจำโครงการโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ จากสำนักการแพทย์มหาวิทยาลัยดุค-เอ็นยูเอส ในสิงคโปร์ ชี้ให้เห็นว่าสภาพเช่นนั้นยิ่งทำให้โอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนมีขึ้นเป็นทวีคูณ

กระนั้น การแพร่จากสัตว์สู่คนก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย ไวรัสอาจวนเวียนอยู่ในหมู่สัตว์นานๆ จนเมื่อถึงวันที่ปัจจัยทุกอย่างประจวบกันเข้า จึงเกิดการแพร่สู่คนขึ้นมา

“ความคิดที่ว่า แค่คนคนหนึ่งบังเอิญไปติดเชื้อ จนเกิดการขยายพันธุ์ขึ้นในตัวคนคนนั้นแล้วจึงแพร่ไปให้คนอื่นๆ ในวงกว้างนั้นเป็นไปได้ แต่ยากเหลือเกิน”

ความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะติดเชื้อไวรัสร้ายโดยตรงมาจากค้างคาว โดยไม่ต้องผ่านสัตว์อื่น ที่ทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” เพื่อกลายพันธุ์และรอจังหวะ ก็มีความเป็นไปได้ ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย

เพราะเห็นตัวอย่างมาแล้วจากการระบาดของโรคอีโบลา ซึ่งเป็นเชื้อโคโรนาไวรัสที่รุนแรงมาก และติดต่อโดยตรงจากค้างคาวมาสู่คน

แต่ศาสตราจารย์แรคานีลโลย้ำว่า บุคคลนั้นไม่เพียงต้องอาศัยอยู่ใกล้กับถิ่นที่อยู่ของค้างคาวในสภาพธรรมชาติเท่านั้น ยังต้องสัมผัสใกล้ชิดกับค้างคาวเหล่านั้น “อย่างสม่ำเสมอ” อีกด้วย

ในทางระบาดวิทยาเรียกกรณีนี้ว่ารับ

แรคานีลโลยกตัวอย่างความเป็นไปได้ในกรณีของอู่ฮั่นว่า อาจเป็นไปได้ที่จะมีใครสักคนในแถบชนบทของจีนเกิดไปติดเชื้อไวรัส (ที่ใกล้เคียงกับซาร์ส-โคฟ-2) หรืออาจเป็นหลายๆ คนที่ติดเชื้อแบบชอร์ท เชน แบบนี้มา ก่อนที่ไวรัสจะมาถึงอู่ฮั่น

“ที่เป็นไปได้อย่างมากก็คือ บรรดาเกษตรกรที่เดินป่าเข้าไปเก็บกวาดมูลค้างคาว ทั้งมาเพื่อใช้ในการเกษตรและเพื่อจำหน่ายเป็นปุ๋ย อาจเข้าไปรับเชื้อมาจากค้างคาวได้โดยตรง”

คำถามที่เกิดขึ้นตามมาในท้ายที่สุดก็คือ เรามีโอกาส “รู้” ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจุดกำเนิดหรือต้นตอของการแพร่ระบาดที่คร่าชีวิตพลโลกไปมหาศาลครั้งนี้ได้หรือไม่?

คำตอบก็คือ หากต้องการ เราสามารถใช้วิธีการตรวจสอบย้อนหลังได้ด้วยการตรวจตัวอย่างเลือดจากประชากร “กลุ่มเป้าหมาย” ให้เป็นวงกว้างมากที่สุด เราก็อาจพบเงื่อนงำได้ว่า ไวรัสที่คล้ายคลึงกับซาร์ส-โคฟ-2 ครั้งนี้มีการแพร่ระบาดอยู่ในหมู่คนโดยไม่มีใครรู้อยู่ก่อนแล้วหรือไม่

รอย ฮอลล์ ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ในประเทศออสเตรเลีย เผยว่า การตรวจหาไวรัสในสัตว์เพิ่มเติม ก็อาจช่วยให้เราได้ล่วงรู้เกี่ยวกับต้นกำเนิดของมันมากขึ้น

ปัญหาก็คือ การควานหาคำตอบเหล่านั้น ยังคงทำไม่ได้ในยามที่วงการวิทยาศาสตร์ วงการวิจัยทั่วโลกยังมีงานล้นมือในการแสวงหาหนทางยับยั้งหรือควบคุมการแพร่ระบาดหนนี้

ศาสตราจารย์ฮอลล์ยืนยันว่า การเล่าลือกันไปต่างๆ นานา ในยามที่ทุกอย่างยังเป็นเครื่องหมายคำถาม และมีสิ่งที่เราไม่รู้อยู่อีกเป็นจำนวนมากอย่างเช่นในเวลานี้นั้น ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย

“ทุกทางยังคงเป็นไปได้ แต่ต้องดูว่ามันมีโอกาสเป็นไปได้จริงมากน้อยแค่ไหนด้วย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image