คอลัมน์ โกลบอลไฟกัส : “โควิด-19” กับ “เซกันด์ เวฟ”!

(AP Photo/Mark Humphrey, File)

คอลัมน์ โกลบอลไฟกัส : “โควิด-19” กับ “เซกันด์ เวฟ”!

โควิด-19 – มีคนพูดถึง “เซกันด์ เวฟ” ของ “โควิด-19” โรคระบาดอันตรายที่ลุกลามออกไปเกือบ 2 ล้านคนทั่วโลกแล้วในเวลานี้ คร่าชีวิตผู้คนไปอีกเกือบ 2 แสนคน กันอยู่บ่อยครั้ง

แต่นัยของคำว่า “เซกันด์ เวฟ” ดูเหมือนจะแตกต่างกันออกไป

คนบอกว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับสิงคโปร์ในเวลานี้ คือ เซกันด์ เวฟ หรือการระบาดระลอกที่สอง หลังจากดูเหมือนว่า ทำทีทำท่าว่าจะควบคุมกันได้แล้ว

แต่นั่นไม่ใช่นิยามของ “เซกันด์ เวฟ” ของนักระบาดวิทยาและนักไวรัสวิทยาทั้งหลาย

Advertisement

กรณีของสิงคโปร์คือ การพลาดพลั้งในความพยายามเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคระลอกแรกเสียมากกว่า

นายแพทย์ แอนโทนี ฟาวซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ (เอ็นไอเอไอดี) ที่อยู่ในตำแหน่งนี้มานานกว่า 30 ปี บอกในการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการที่ทำเนียบขาว เมื่อ 22 เมษายนที่ผ่านมานี่เองว่า “เราจะมีโคโรนาไวรัสในช่วงใบไม้ร่วงปีนี้ ผมเชื่ออย่างนั้น”

ตอนนี้ สหรัฐอเมริกา เพิ่งจะย่างเข้าสู่หน้าร้อน หรือการแพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกาจะยืดยาวไปถึงตอนนั้น?

ไม่ใช่แน่นอน ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกากำลังพูดถึงคือ เซกันด์ เวฟ นั่นเอง

หากมองย้อนกลับไป การระบาดใหญ่ระดับแพนเดมิค ครั้งนี้ เริ่มต้นขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ของจีนเมื่อตอนปลายธันวาคม ถึงราวกลางมกราคม ก็เริ่มต้นลามออกนอกประเทศ ในเอเชียก่อนอื่น ต่อด้วยยุโรป ข้ามไปสหรัฐอเมริกา ลงสู่อเมริกาใต้และแอฟริกา

ในห้วงเวลานี้ เกิดภาวะระบาดสูงสุดในแต่ละประเทศจนกลายเป็น “ฮอต สปอต” ของการระบาดไล่เรียงกันไป จากจีนแล้วก็เป็นเกาหลีใต้ จากนั้นจึงเป็น อิตาลี สเปน ต่อด้วยอังกฤษ แล้วมีคนช่วยมันข้ามฝั่งไปยัง นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ฮอตสปอตในยามนี้คือบราซิล ในอเมริกาใต้ ในขณะเดียวกัน ในเอเชียก็เริ่มรุนแรงใหม่ขึ้นอีกครั้งในประเทศอย่าง ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

ที่แอนโทนี ฟาวซี พูดถึงคือความเป็นไปได้ที่ว่า หลังจากที่สหรัฐอเมริกาจัดการกับระลอกแรกจนสร่างซาแล้ว ทิ้งช่วงห่างไม่นานนักก็จะเกิดการระบาดรุนแรงขึ้นอีกครั้ง

ในราวปลายปีนี้!

นัยของ “ปลายปีนี้” คือ ทั้งโลกยังไม่มีอะไรไปต่อต้าน ยับยั้งการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ได้เลย ยังไม่มีทั้งยารักษาโรคนี้โดยตรง ไม่มีทั้งวัคซีน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และยังไม่น่าจะมี “เฮิร์ด อิมมูนิตี” เกิดขึ้นอีกด้วย

โรเบิร์ต เรดฟีลด์ ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์กับวอชิงตันโพสต์ เมื่อ 22 เมษายนเช่นกันว่า

“มีความเป็นไปได้ที่ไวรัสจะโจมตีประเทศของเราอีกครั้งในหน้าหนาวถัดไป และจริงๆ แล้วจะยิ่งก่อความยากลำบากให้มากยิ่งขึ้น มากกว่าการระบาดที่เราเพิ่งผ่านกันไปในเวลานี้อีกด้วย”

เกรกอรี โปแลนด์ นักพันธุศาสตร์ภูมิคุ้มกัน ผู้เชี่ยวชาญการตอบสนองต่อวัคซีนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ประจำ มาโย คลินิก ในเมืองโรเชสเตอร์ รัฐมินเนโซตา สหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่า ไวรัสก่อโรคโควิด-19 นั้นเป็นโรคที่ระบาดได้ในทุกฤดูกาล ขึ้นอยู่กับความหนักหน่วงรุนแรงเท่านั้น

ในช่วงเวลานี้ ทางซีกโลกใต้ ในทวีปอย่างละตินอเมริกาและเอเชีย เริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงต่อด้วยหน้าหนาว ซึ่งไวรัสนี้ระบาดได้ดีเป็นพิเศษ

“ประเทศเหล่านี้จะเกิดการระบาดหนักหน่วงเพราะขาดการเตรียมพร้อม ขาดยา ขาดโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์และสาธารณสุข”

เมื่อมันลามกลับมายังสหรัฐอเมริกาอีกครั้งนั้น วัคซีนยังไม่น่าจะมี แต่ภูมิคุ้มกันเล่า? ในเมื่อมีผู้ที่ติดเชื้ออยู่มากมายเกือบล้านคนเป็นอย่างน้อย คนเหล่านี้ควรจะมีภูมิคุ้มกันโรค มิใช่หรือ?

โปแลนด์ชี้ว่า ไวรัสในกลุ่มโคโรนา ก่อภูมิคุ้มกันแตกต่างออกไปจากเชื้อโรคอื่นๆ

เชื้ออย่าง สมอลพอกซ์ (ไข้ทรพิษ) หรือ ตับอักเสบ บี เมื่อเป็นหรือได้รับวัคซีนแล้วจะเกิดภูมิคุ้มกันไปจนตลอดชีวิต

แต่โคโรนาไวรัส ซึ่งค้นพบครั้งแรกในทศวรรษ 1960 มีปฏิกิริยากับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายคนแตกต่างออกไป ไม่เหมือนเชื้อใดๆ

ซาร์ส-โคฟ ที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส ระหว่างปี 2002-2004 ที่จีนและฮ่องกง ก่อภูมิคุ้มกันขึ้นแค่ 2 ปี หลังติดเชื้อแล้ว 6 ปี ไม่มีแอนติบอดีในร่างกายคนติดเชื้ออีกเลย

เมอร์ส-โคฟ โคโรนาไวรัสที่ใกล้ชิดกับไวรัสก่อโรคโควิด-19 อีกตัว ที่ระบาดในตะวันออกกลาง ผู้ที่เคยป่วย มีภูมิคุ้มกันอยู่ได้แค่ 18 เดือน โอกาสติดเชื้อใหม่สูงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าการติดเชื้อครั้งแรก เกิดอาการหนักแค่ไหน

ส่วน ซาร์ส-โคฟ-2 ไวรัสก่อโรคโควิด-19 ยังไม่มีใครแน่ใจ ดังนั้น ทุกประเทศจึงจับตามองอย่างใกล้ชิดไปที่ประเทศที่เคยเกิดการระบาดก่อนหน้านี้ อย่างจีน และเกาหลีใต้ อย่างจดจ่อ เพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้นตามมาหลังโรคถูกควบคุมเอาไว้แล้ว

ดังนั้น ในความเห็นของโปแลนด์ “ถ้าเรายังไม่ห้ามการเดินทางทางอากาศทั้งหมด ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างนั้น การระบาดจะวนกลับมายังซีกโลกตอนเหนืออีกครั้ง แล้วเรา (สหรัฐอเมริกา) ก็จะมีการระบาดใหม่อีกรอบในหน้าใบไม้ร่วงนี้”

สำหรับในเวลานี้ เกรกอรี โปแลนด์ เตือนว่า ทั้งโลกควรเตรียมพร้อมรับมือกับ “ยกที่สอง” ได้แล้ว

ในทางวิชาการด้านระบาดวิทยา เมื่อวัคซีนก็ยังไม่มี ทางเลือกอีกทางที่จะเอาตัวรอดจาก เซกันด์ เวฟ ได้ก็คือ “ภูมิคุ้มกันกลุ่ม” หรือ “เฮิร์ด อิมมูนิตี” แต่ผู้เชี่ยวชาญอย่างโปแลนด์กลับบอกว่า ยังเร็วเกินไปที่จะเกิดภูมิคุ้มกันกลุ่ม ขึ้นได้ แม้ในสหรัฐอเมริกา

“ไม่มีทางที่ภูมิคุ้มกันในกลุ่มประชากรจะมีขึ้นในปริมาณมากเพียงพอต่อการเกิด เฮิร์ด อิมมูนนิตี ขึ้นได้” เขาอธิบายต่อว่า สำหรับโรคที่เกิดจากไวรัสกลุ่มโคโรนา ภูมิคุ้มกันกลุ่มนี้จะเกิดขึ้นได้ ประชากรราว 60-70 เปอร์เซ็นต์ ต้องมีภูมิคุ้มกันบางโรค อย่างเช่น หัด อาจจำเป็นต้องใช้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์

สำหรับ โควิด-19 โปแลนด์ประมาณว่า น่าจะอยู่ที่ระหว่างกลางของระดับตั้งแต่ 60-95 เปอร์เซ็นต์นั้น

หัวใจสำคัญที่ทำให้การเกิดเซกันด์ เวฟ ของโควิด-19 เป็นไปได้สูงมาก สูงกว่าโรคระบาดอื่นๆ เป็นเพราะข้อเท็จจริงที่มีการพิสูจน์ด้วยการศึกษาวิจัยมาแล้วหลายครั้งในช่วง 3 เดือนเศษที่ผ่านมา

นั่นคือ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อได้โดยที่ตัวเองไม่จำเป็นต้องแสดงอาการป่วยใดๆ ออกมาให้เห็น

ในงานวิจัยล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน ในวารสารวิชาการแพทย์ “นิวอิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิซีน สตัดดี” ศึกษาด้วยการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในสตรีมีครรภ์ 210 คน ที่ฝากครรภ์กับโรงพยาบาล นิวยอร์ก-เพรสไบทีเรียน อัลเลน และศูนย์การแพทย์เออร์วิง ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในระหว่างการแพร่ระบาดอย่างหนักในนิวยอร์ก

พบว่า มีสตรีมีครรภ์ถึง 29 คน จากจำนวนทั้งหมด ที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการใดๆ ออกมา

ทีมวิจัยสรุปเอาไว้ว่า ในระหว่างการแพร่ระบาดหนักในนิวยอร์ก ซิตี

“ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยซึ่งติดเชื้อ ซาร์ส-โคฟ-2 และอยู่ในช่วงกำลังจะคลอด ไม่แสดงอาการใดๆ เลย”

นักวิชาการด้านระบาดวิทยา สังเกตพบความคล้ายคลึงกันหลายอย่างระหว่างโควิด-19 กับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สเปน เมื่อปี 1918 ตั้งแต่วิธีการแพร่เชื้อ ผ่านการไอหรือจาม เรื่อยไปจนถึงอาการหลักๆ ของผู้ป่วย ที่มีตั้งแต่ มีไข้สูง, ไอ, เหงื่อแตกตอนกลางคืน, ปวดเนื้อตัวกล้ามเนื้อ, เหนื่อยอ่อน และอาเจียนกับท้องร่วง ในกรณีที่มีอาการหนักมาก

ยาปฏิชีวนะทำอะไรกับทั้งสองโรคนี้ไม่ได้เหมือนๆ กัน

ผู้ป่วยหนักจนเสียชีวิต มักเกิด “ไซโตคิน สตอร์ม” หรือภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายโหมหนักจนกลายเป็นเครื่องมือทำลายร่างกายเอง เหมือนๆ กันอีกด้วย

ราวินา คัลลาร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากสมาคมโรคติดเชื้อแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นศาสตราจารย์รับเชิญของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิสอยู่ด้วย ชี้ว่า ถ้ายึดตามจังหวะการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน ราวหน้าร้อนในสหรัฐอเมริกา การระบาดของโควิด-19 จะซาลง

แล้ว โควิด-19 จะกลับมาใหม่ ช่วงที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ระหว่างเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้เรื่อยไปจนถึงเดือนพฤษภาคมปีหน้า ภาวะระบาดสูงสุดรอบใหม่อาจเป็นปลายเดือนตุลาคม หรือไม่ก็พฤศจิกายนปีนี้

ถ้าผู้ที่ติดเชื้อเดิมมีภูมิคุ้มกัน การระบาดจะเกิดขึ้นหนักในพื้นที่ใหม่ๆ ซึ่งมีเหยื่ออีกเป็นจำนวนมากให้ไวรัสร้ายได้เลือก โดยเฉพาะในรัฐชั้นในของสหรัฐอเมริกา

สำหรับสหรัฐอเมริกา ช่วงเวลาดังกล่าวย่ำแย่ที่สุดต่อการรับมือกับโควิด-19 เพราะนั่นคือห้วงเวลาของการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ของที่นั่น ซึ่งแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อเป็นเรือนแสน เสียชีวิตเป็นหมื่นๆ เช่นกัน

ระบบสาธารณสุขที่ต้องรับมือกับการระบาดเป็น 2 เท่า ไม่พังทั้งระบบก็ให้มันรู้ไป

สำหรับประเทศอื่นๆ หาก โควิด-19 เป็นแบบเดียวกับไข้หวัดใหญ่สเปน การระบาดรอบสองจะหนักหนาสาหัสกว่ารอบแรกมาก

ไข้หวัดใหญ่สเปนที่ระบาดระลอกสองในช่วง 3 เดือนของปี 1918 นั้นคร่าชีวิตคนไปมากที่สุด เพราะเกิดในยามสงคราม

และเป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์ต่างออกไปจากการระบาดระลอกแรก

ซาร์ส-โคฟ-2 ที่กลายพันธุ์ร้ายแรงกว่าเดิม คือฝันร้ายของแพทย์และนักวิชาการด้านไวรัสวิทยาทั้งหลาย

จะรับมืออย่างไร? วัคซีนก็ไม่มี ภูมิคุ้มกันเดิมก็ใช้ไม่ได้

การปิดเมือง กักตัวเองอยู่แต่ภายในบ้าน การรักษาระยะห่างระหว่างกัน ฯลฯ จะกลับมาอีกครั้ง เข้มงวดกว่าเดิม

ที่สำคัญก็คือ โควิด-19 จะวนเวียนอยู่รอบตัวเราไปอีกเนิ่นนานนัก!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image