รายงานพิเศษ : ฉลองวันชาติใต้เงามืดของไวรัสโควิด-19

หมายเหตุมติชน – บทความพิเศษชิ้นนี้ ดร.เมเอียร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย เขียนขึ้นเนื่องในวาระฉลองวันชาติอิสราเอล วันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา มอบเป็นพิเศษ เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ ผ่าน “มติชน” เพื่อสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและประเทศไทยไม่เพียงราบรื่นยังงอกงามมากขึ้นตามลำดับอีกด้วย

ช่วงเวลานี้เมื่อ 72 ปีมาแล้ว เราฉลองวาระสำคัญของประวัติศาสตร์ เมื่อมีการสถาปนาประเทศอิสราเอลบนผืนแผ่นดินของบรรพบุรุษชาวยิว ในปัจจุบัน หากเป็นเวลาปกติ เราคงมีการเฉลิมฉลองกันตามท้องถนน ออกไปพักผ่อนหย่อนใจพร้อมเตรียมอาหารเครื่องดื่มไปสังสรรค์กันในครอบครัวและในหมู่เพื่อนฝูง รื่นรมย์ไปกับอากาศอันสดชื่นของฤดูใบไม้ผลิ แต่ในห้วงแห่งวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศในขณะนี้ ชาวอิสราเอลกลับต้องฉลองวันชาติกันในบ้าน ภายใต้กฎระเบียบที่เคร่งครัด เพราะเกิดการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19

แต่กระนั้น บรรยากาศในเวลานี้ รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องรับมือกับเหตุฉุกเฉินและภาวะวิกฤต ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับชาวอิสราเอล นับตั้งแต่มีการสถาปนาประเทศเมื่อ พ.ศ.2481 เป็นต้นมา อิสราเอลต้องเผชิญกับความท้าทายที่มีนัยสำคัญในหลายรูปแบบ นับตั้งแต่การขาดแคลนทรัพยากรทางธรรมชาติ ไปจนถึงภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่ดำเนินมาจนกระทั่งปัจจุบัน อาจเป็นเพราะความท้าทายต่างๆ เหล่านี้ที่ทำให้ชาวอิสราเอลต้องพึ่งตนเองและต้องมีการพัฒนา เพื่อช่วยให้ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ทั้งหลายไปได้

หัวใจสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จอย่างค่อยเป็นค่อยไปของประเทศเล็กๆ ที่โดดเดี่ยวนี้ ก็คือแนวคิดที่ชาวอิสราเอลอ้างถึงอยู่เสมอๆ ว่า ความจำเป็นมิได้เป็นแต่เพียงที่มาของการคิดประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นจุดกำเนิดของนวัตกรรมอีกด้วย ด้วยเหตุจำเป็นนี้เองที่ทำให้ชาวอิสราเอลกลายมาเป็นผู้บุกเบิกตลาดแห่งวิทยาการชั้นสูงรวมถึงมีนวัตกรรมโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลอิสราเอลได้ให้ความสำคัญและลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารข้อมูลและการสื่อสาร อันนำมาซึ่งศักยภาพด้านนวัตกรรม และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจเกิดใหม่ให้ประสบผลสำเร็จ

Advertisement

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังจับตามองไปยังการพัฒนาทางการแพทย์เพื่อต่อสู้กับไวรัสวิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ อิสราเอลก็เช่นเดียวกัน เรากำลังรวบรวมบรรดามันสมองระดับหัวกะทิมาช่วยกันหาทางออกที่มีประสิทธิภาพ สถาบันวิจัย ธุรกิจเปิดใหม่ และบริษัทต่างๆ ของเราล้วนแต่เบนจุดมุ่งหมายจากแนวนวัตกรรมแบบเดิม มาสู่การพัฒนาวัคซีน ยาป้องกันโรค แอพพลิเคชั่น และสิ่งประดิษฐ์ด้านการสาธารณสุข เพื่อช่วยรักษาชีวิตของประชาชน

มีการเปิดตัวสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ หลายอย่าง ทั้งยังได้นำออกมาใช้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสถานีอนามัยขนาดเล็ก ชุดทดสอบ เครื่องตรวจสุขภาพพร้อมระบบการปรึกษาแพทย์ทางไกล เครื่องช่วยหายใจเฉพาะกิจ ฯลฯ ทั้งนี้บางบริษัทก็ได้เข้ามาทำธุรกิจกับประเทศไทยแล้ว อย่างเช่น บริษัท ไทโท แคร์ (Tyto Care) ที่พัฒนาชุดทดสอบทางการแพทย์ทางไกล ซึ่งจะช่วยลดการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างแพทย์และผู้ป่วย โดยแพทย์สามารถให้คำปรึกษาและวินิจฉัยโรคด้วยระบบออนไลน์ อุปกรณ์ดังกล่าวโรงพยาบาลสมิติเวชได้นำเข้าและนำมาใช้แล้ว พร้อมกับโรงพยาบาลอื่นๆ ในเครือกรุงเทพดุสิตเวชการ อุปกรณ์อีกชนิดหนึ่งที่ประเทศไทยน่าจะสนใจคือ เครื่องช่วยหายใจ AmboVent ซึ่งพัฒนามาจากวัสดุที่หาได้โดยทั่วไป และนำมาประกอบที่ไหนก็ได้ ทั้งนี้พิมพ์เขียวของเครื่องช่วยหายใจดังกล่าวสามารถหาดูได้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่ใครๆ ก็สามารถคัดลอกมาใช้ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตามในโลก

Advertisement

ขณะที่ทั่วโลกกำลังหมกมุ่นอยู่กับ “ยุทธศาสตร์ทางออก” อิสราเอลใคร่ขอแบ่งปันแนวทางสำคัญสามประการที่อาจช่วยหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสได้ แนวทางแรกคือ BI (Business Intelligence) ระบบข้อมูลที่ช่วยให้กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลสามารถติดตามตัวผู้ป่วย และแนะนำขั้นตอนที่ช่วยชะลอการแพร่ระบาดของไวรัสในพื้นที่เจาะจง แนวทางที่สองคือ “Hagamen” (หรือ “โล่” ในภาษาฮีบรู) คือแอพพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบข้อมูลติดตามตัวกลุ่มคนซึ่งเคยติดต่อกับผู้ป่วยในช่วง 14 วัน ก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ แนวทางที่สามคือ ศูนย์คาดการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่พัฒนาโดยสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์แมน โดยใช้ระบบประมวลผลจากการติดตามข้อมูลทางการแพทย์ที่ประชาชนทั่วไปรายงานเข้ามา

นวัตกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นกลไกสำคัญในการบรรลุยุทธศาสตร์ทางออกของอิสราเอล และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกัน จะช่วยเหลือสังคมได้ทั้งในอิสราเอลและประเทศอื่นๆ อิสราเอลก็เช่นเดียวกับประเทศไทย นั่นคือ เป็นประเทศที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่ในวันนี้ เราต้องการมากกว่าความสมานฉันท์ที่มีอยู่ เราต้องการทั้งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันไปพร้อมๆ กับความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน แม้ว่าอิสราเอลและประเทศไทยจะอยู่ห่างกันแต่เราก็มีความสัมพันธ์อันดีมาช้านาน เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในปีหน้าเราจะเฉลิมฉลองงานวันชาติปีที่ 73 กับเพื่อนฝูงและพันธมิตรในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์แบบดังที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา

05

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image