คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ‘สวีดิช โมเดล’ กับ ‘เฮิร์ด อิมมูนิตี’

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : 'สวีดิช โมเดล' กับ 'เฮิร์ด อิมมูนิตี'
TT News Agency/ Fredrik Sandberg via REUTERS

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ‘สวีดิช โมเดล’ กับ ‘เฮิร์ด อิมมูนิตี’

สหรัฐอเมริกาได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีรูปแบบการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 สับสนมากที่สุด ทางหนึ่งเป็นเพราะโครงสร้างทางการปกครอง ที่ให้อำนาจตัดสินใจแก่ท้องถิ่นในแต่ละรัฐสูง อีกทางหนึ่งนั้นเนื่องจากความสับสนของรัฐบาลกลาง ที่ไม่ต้องการ

ยิ่งเมื่อเพิ่มเอาเรื่องการเมืองระหว่างพรรคในปีเลือกตั้งเข้ามาเป็นองค์ประกอบด้วย ความแตกต่างและสับสนยิ่งเพิ่มมากขึ้นจนทั่วโลกรู้สึกได้

ดังนั้นในสหรัฐอเมริกาจึงมีบางชุมชนที่ไม่ใส่ใจกับการแพร่ระบาดสักเท่าใดนัก มีบางเมือง บางรัฐที่ยังคงมีประชาชนฝ่าฝืนคำสั่ง “โซเชียล ดิสแทนซิ่ง” แล้วก็มีอีกบางรัฐที่จำเป็นต้องประกาศมาตรการเข้มงวดมากกว่าแนวทางปฏิบัติที่รัฐบาลกลางเสนอแนะเอาไว้

Advertisement

ถึงกับมีการเดินขบวนประท้วง ต่อต้านมาตรการเข้มงวดกันบ่อยครั้ง ในหลายๆ รัฐ

น่าเสียดายที่ยังไม่มีผลการศึกษาทางวิชาการด้านระบาดวิทยาว่า ผลลัพธ์ของแต่ละชุมชน แต่ละเมืองและรัฐที่ดำเนินแนวทางแตกต่างกันดังกล่าวนั้นลงเอยอย่างไร มีรูปแบบการติดเชื้อและการเสียชีวิตแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด

เชื่อว่าไม่นานหลังการแพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกาสร่างซาลง คงมีนักวิชาการ หันมาศึกษาวิจัยในเรื่องที่มีคุณค่าทางวิชาการและก่อคุณูปการสูงนี้ต่อไปแน่นอน

Advertisement

บรรดาผู้ต่อต้านมาตรการล็อคดาวน์ และการรักษาระยะห่างระหว่างกันและกันอย่างเข้มงวด เริ่มเปลี่ยนแปลงเหตุและผลรองรับพฤติกรรมของตนเอง จากการอ้างถึงสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และการกล่าวหามาตรการเด็ดขาดเหล่านั้นว่าเป็นเผด็จการ

กลายเป็นการยกเอาเหตุผลทางวิชาการด้านระบาดวิทยาขึ้นมาเป็นข้อรองรับ สนับสนุนการกระทำของตัวเอง

พวกเขาเริ่มกลับมาพูดถึง “เฮิร์ด อิมมูนิตี” ใหม่อีกครั้ง โดยอ้างอิงเอาจาก “สวีดิช โมเดล” ที่พวกเขาอ้างว่าเป็นความสำเร็จในการรับมือกับโควิด-19 ด้วยรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากในสหรัฐอเมริกา

“เฮิร์ด อิมมูนิตี” หรือ “ภูมิคุ้มกันกลุ่ม” เป็นคำศัพท์ทางระบาดวิทยา ที่หมายถึงการที่สังคมหรือชุมชนหนึ่งๆ ผ่านการระบาดของโรคติดต่ออย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว มีประชากรในสัดส่วนที่พอเพียง มี “แอนติบอดี” ในร่างกายเมื่อผ่านการติดเชื้อระลอกแรกมาแล้ว ช่วยป้องกันไม่ให้ติดเชื้อและกลายเป็นพาหะของโรคในการระบาดครั้งใหม่

แรนด์ พอล วุฒิสมาชิกสังกัดพรรครีพับลิกัน จากรัฐเคนตักกี ซึ่งศึกษาเล่าเรียนมาทางด้านการแพทย์ มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์เป็นจักษุแพทย์อยู่ด้วย

คือนักการเมืองอเมริกันคนล่าสุดที่ออกมาบอกว่า สหรัฐอเมริกาควรดำเนินการตามแบบของสวีเดน!

บรรดานักวิชาการและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งหลาย เตือนว่าวิธีการเลี่ยงหนีให้หลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขครั้งสำคัญของโลกครั้งนี้ ยังไม่ง่ายดายถึงขนาดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐต่างๆ กว่าครึ่งของสหรัฐอเมริกา เริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดตามมาตรการล็อกดาวน์ลงเหมือนเช่นตอนนี้

ในความเห็นส่วนใหญ่ของผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบาดวิทยาโดยตรง สภาวะ “ภูมิคุ้มกันกลุ่ม” ที่ว่านี้ยังคงอยู่ห่างไกลมาก แม้กระทั่งในพื้นที่ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดหนักหนาสาหัสที่สุดมาก่อนหน้านี้ก็ตามที

ในทางปฏิบัติ มีวิธีการที่สามารถก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในสัดส่วนสูงในหมู่ประชากรอยู่เพียง 2 วิธีเท่านั้น

วิธีแรกคือ การปล่อยให้ประชาชนจำนวนมากพอติดเชื้อ เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนเหล่านั้นพัฒนาแอนติบอดี ขึ้นมาเพื่อป้องกันการติดเชื้อต่อๆ ไปในอนาคต อย่างน้อยที่สุดก็สามารถป้องกันในระยะสั้นๆได้

อีกหนทางหนึ่ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในเร็ววัน แต่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นได้ในที่สุนั่นคือหาทางพัฒนา วัคซีน ป้องกันโรคโควิด-19 หรือหายารักษาโรคนี้ให้ได้

ถ้าหาก เฮิร์ด อิมมูนิตี ก็ยังไม่มี วิธีการรักษาเยียวยา หรือวัคซีนป้องกันก็ยังไม่มี มนุษย์ก็ต้องหันกลับไปพึ่งพามาตรการตามธรรมชาติคือ การรักษาวินัยทางสาธารณสุข

นักวิชาการเชื่อว่า พื้นที่ใดก็ตามที่ผ่อนคลายมาตรการทั้งหลายลง ในขณะที่ยังไม่ปรากฏชัดว่ามีภูมิคุ้มกันกลุ่มหรือไม่ และจะมีวัคซีนให้ใช้เมื่อใด พื้นที่นั้นๆ ก็ต้องเตรียมพร้อม

เตรียมพร้อมต่อการรับมือกับวิกฤตการระบาดเป็นช่วงๆ ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นทวีคูณแบบคาดการณ์ไม่ได้ ประเมินไม่ถูกขึ้นในอนาคตจนกว่าจะมีวัคซีนนั่นเอง

นักระบาดวิทยา ระบุว่า สัดส่วนของผู้ที่มีแอนติบอดีที่สามารถก่อให้เกิด เฮิร์ด อิมมูนิตี ขึ้นได้นั้นแตกต่างกันออกไป เพราะเป็นการคำนวณจากความสามารถในการแพร่ระบาดของแต่ละชนิดของโรค ยิ่งแพร่ระบาดได้มาก ยิ่งจำเป็นต้องใช้สัดส่วนการเกิดภูมิคุ้มกันในหมู่ประชากรสูงมากขึ้น จึงสามารถก่อให้เกิด เฮิร์ด อิมมูนิตี ขึ้นได้

ตัวอย่างเช่น โรคหัด ถ้าหากจะให้เกิดเฮิร์ด อิมมูนิตีขึ้น ต้องมีจำนวนผู้ที่เคยติดเชื้อและเกิดภูมิคุ้มกันแล้วมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มประชากรทั้งหมด

ในกรณีของโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญประเมินเอาไว้ว่า ถ้าจะให้เกิดเฮิร์ด อิมมูนิตี้ ขึ้น ต้องมีสัดส่วนของคนที่มีภูมิคุ้นกันในหมู่ประชากรทั้งหมด ระหว่าง 50-70 เปอร์เซ็นต์

สหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก ผ่านหลัก 1.5 ล้านคนไปแล้วก็จริง แต่ยังไม่ได้เข้าใกล้ “เฮิร์ด อิมมูนิตี” เลยแม้แต่น้อย

ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้วมากกว่า 4.5 ล้านคน กระนั้นก็ยังไม่มีประเทศใดขยับเข้าใกล้สภาวะ เฮิร์ด อิมมูนิตี กล่าวคือ มีประชากรที่มีภูมิคุ้มกันการติดเชื้อมากถึงระดับของสัดส่วนที่จำเป็นเลยแม้แต่ประเทศเดียว

ในอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน ทางการจีนบังคับตรวจบรรดาผู้คนจำนวนมากที่ทยอยกลับเข้าทำงานในเดือนเมษายนที่ผ่านมา แม้จะยังไม่มีผลประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ แต่จากการประเมินเบื้องต้นของการสำรวจดังกล่าว พบว่ามีประชากรเพียง 2-3 เปอร์เซ็นต์ของเมืองเท่านั้นที่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น

ที่สเปน ประเทศที่เกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักในอันดับต้นๆ ของโลก ผลเบื้องต้นของการศึกษาวิจัยเพื่อหาภูมิคุ้มกันเบื้องต้นของคนทั้งสเปน พบว่า มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่มีภูมิคุ้มกัน โควิด-19 เพราะพบว่ามีเพียงแค่ 90,000 คนโดยประมาณเท่านั้นที่มีภูมิคุ้มกันจากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 47 ล้านคน

ในอาณาบริเวณที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักในสหรัฐอเมริกาอย่าง มหานครนิวยอร์ก ผลเบื้องต้นจากการตรวจสอบหาภูมิคุ้มกัน พบว่า มีเพียง 21.2 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดเท่านั้นที่มีภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 อยู่ในตัว

นายแพทย์ โรเบิร์ต แอทมาร์ ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อจาก สำนักการแพทย์ เบย์เลอร์ คอลเลจ ในเมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่า ในกรณีนิวยอร์กซิตีนั้น แสดงให้เห็นว่า มีประชากรอีกมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดของเมือง สามารถติดเชื้อโควิด-19 ได้

สัดส่วนของผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่เชื้อให้คนอื่น ยังสูงมากจนเกินไป

นายแพทย์เดวิด ดาวดีย์ รองศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาของโรคติดต่อ จากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ บอกว่าตัวเลขสัดส่วนประชากรที่มีภูมิคุ้มกันจากจำนวนประชากรทั้งหมดยังคงอยู่ในระดับต่ำมาก จนน่าวิตกว่า สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงมากขึ้นไปอีกเมื่อทุกๆ รัฐพยายามยกเลิกการล็อคดาวน์

นักวิชาการรายนี้แจกแจงกรณีของสหรัฐอเมริกาเอาไว้ว่า นอกเหนือจากนิวยอร์กซิตีแล้ว พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ น่าจะมีผู้มีภูมิคุ้มกันอยู่เพียง 2-5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น

ตามหลักการคำนวณทางระบาดวิทยา นายแพทย์ดาวดีย์ชี้ให้เห็นว่า ถ้าจะปล่อยให้เกิดเฮิร์ด อิมมูนิตี ขึ้นในสหรัฐอเมริกาภายใต้สภาวะที่เป็นอยู่ คือมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในปัจจุบันนี้ ผลลัพธ์ที่ได้เมื่อวัดจากประสบการณ์การแพร่ระบาดและเสียชีวิตที่ผ่านมาก็คือ จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมและจำนวนคนจะเพิ่มขึ้นอีก 15 เท่าตัว

นั่นคือ เอาตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในปัจจุบันเป็นตัวตั้งแล้วคูณด้วย 15 นั่นเอง

“แม้จะปล่อยให้เกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็ยังสามารถกลายเป็นหายนะสำหรับระบบสาธารณสุขของประเทศได้เลย” นายแพทย์ดาวดีย์ระบุ

สวีเดน เป็นประเทศในยุโรป ที่ใช้วิธีการรับมือกับโควิด-19 แตกต่างออกไปจากประเทศส่วนใหญ่ ไม่เพียงไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์ใดๆ เท่านั้น สวีเดนยังปล่อยให้โรงเรียนสำหรับนักเรียนอายุต่ำกว่า 16 ปี เปิดการเรียนการสอนต่อไปได้ตามปกติ

แต่ในขณะที่ “สวิดิช โมเดล” ได้รับการยกย่องจากประเทศอื่นๆ ว่าประสบความสำเร็จ รายละเอียดที่ปรากฏออกมาในระยะหลัง แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้การจัดการของสวีเดน ไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจมากเท่ากับประเทศอื่นๆ แต่ก็ต้องชดใช้มหาศาลในอีกทางหนึ่งเช่นเดียวกัน

อัตราการติดเชื้อของสวีเดนซึ่งมีประชากรเพียง 10 ล้านคนเศษ ในเวลานี้อยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 29,677 ราย มีผู้เสียชีวิต 3,674 ราย

กลายเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ต่อ 1 ล้านประชากร สูงกว่าสหรัฐอเมริกา จัดอยู่ในกลุ่มที่สูงที่สุดในยุโรป และอยู่ในระดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว

ปลายเดือนเมษายน กระทรวงสาธารณสุขของสวีเดน แถลงผลการตรวจวัดแอนติบอดีในประชากรทั้งประเทศ

พบว่า มีเพียง 1 ใน 3 หรือเพียง 33 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีภูมิคุ้มกัน

หายนะที่เกิดขึ้นกับประชาชนเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่จะรับได้ คือเหตุผลหนึ่งที่นักวิชาการเชื่อว่า การปล่อยให้ระบาดแล้วรอคอย เฮิร์ด อิมมูนิตี นั้นใช้ไม่ได้กับสถานการณ์โควิด-19 ในยามนี้

อีกเหตุผลที่ชัดเจนยิ่งกว่า ก็คือ จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่า ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในการระบาดเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมานี้ จะคงอยู่นานเท่าใด

ถ้าหากภูมิคุ้มกันนั้นอยู่กับคนได้เพียง 6 เดือนก็เลือนหาย ในขณะที่นักวิชาการค่อนข้างแน่ใจแล้วว่า โควิด-19 จะยังอยู่กับเราอีกนานเป็นปีหรือสองปี

เฮิร์ด อิมมูนิตี ก็ไม่มีความหมายแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ทั่วโลกคงจำเป็นต้องยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับ วิถีชีวิตใหม่ ที่กำลังกลายเป็นวัตรปฏิบัติถาวรในอนาคตอันใกล้นี้เท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image