คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : โศกนาฏกรรม ที่บราซิล

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : โศกนาฏกรรม ที่บราซิล
REUTERS/Amanda Perobelli

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : โศกนาฏกรรม ที่บราซิล

เเซาเปาโล หนึ่งในมหานครของบราซิล และเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ที่สุด ที่เผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หนักหนาสาหัสที่สุด ผลกระทบของมัน ไม่ต่างอะไรจากปีกดำทะมึนของหายนะ คลี่ปกคลุมไปทั่วทั้งเมือง

ที่ฟอร์โมซา ซีเมทรี สุสานใหญ่ที่สุดของเมือง หลุมศพแถวแล้วแถวเล่าผุดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา ขุดแล้วกลบ แล้วขุดใหม่ เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องเหมือนไร้ที่สิ้นสุด

ในวันหนึ่งๆ มีศพส่งเข้ามาทำพิธีกลบฝังไว้ที่นี่จำนวนมาก นับกันไม่หวาดไม่ไหว

ในวันที่ถี่ยิบมากที่สุด ศพมาถึงในทุกๆ 10 นาที ต่อเนื่องตลอดทั้งวัน

Advertisement

ในที่สุด บราซิลก็ทำสถิติกลายเป็นประเทศที่มีทั้งผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกสืบต่อจากสหรัฐอเมริกา แม้สถิติผู้เสียชีวิตจะไม่ถึงระดับนั้น แต่ก็ติดอยู่ในอันดับสูงมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

349,113 คือตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้วทั่วบราซิล 22,165 คน คือจำนวนของผู้เสียชีวิตทั้งหมด นับจนถึงวันที่ 24 พฤษภาคมนี้

บราซิลบรรลุถึงสถานะนี้เพียงไม่กี่วันหลังจากที่ ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉินชาวอเมริกันขององค์การอนามัยโลก ออกมาระบุว่า อเมริกาใต้กำลังกลายเป็น “ฮอตสปอต” แห่งใหม่ของการระบาด

Advertisement

กระนั้น ฌาอีร์ โบลโซนาโร ประธานาธิบดีของประเทศที่ไม่เคยให้ความสำคัญ แยแส ใส่ใจกับโควิด-19 มาก่อน ถึงกับหยันว่ามันเป็นเพียง “โรคหวัดตัวน้อยๆ” เท่านั้น ก็ไม่เพียงไม่ยี่หระกับคำเตือนนี้เท่านั้น

ยังยืนกรานเรียกร้องให้มีการเปิดเมือง เริ่มต้นกลับมาทำงานใหม่อีกครั้ง

สวนทางกับบรรดาผู้ว่าการรัฐทั้งหลาย ที่ยังคงเน้นย้ำว่า การปิดการเรียนการสอน ปิดโรงงาน ออฟฟิศต่างๆ รวมถึงการรักษาระยะห่างระหว่างกันและหน้ากากอนามัย ยังคงจำเป็นสำหรับการชะลอการระบาดให้ช้าลงมากที่สุด เปิดทางให้ระบบสาธารณสุขของประเทศได้ทำงานเต็มกำลังมากที่สุดก็ตามที

น่าสนใจที่ว่า ประเทศที่เกิดการแพร่ระบาดมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก กำลังรับมือกับสถานการณ์หนักหนาสาหัสนี้อยู่โดยปราศจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

หลังจากนายแพทย์มืออาชีพ 2 คน ที่ดำรงตำแหน่งนี้ ลาออกจากตำแหน่ง เพราะขัดแย้งอย่างหนักในแนวทางการรับมือโควิด-19 กับประธานาธิบดี โบลโซนาโร

“รักษาการ” รัฐมนตรีสาธารณสุขในเวลานี้ คือ เอดูอาร์โด ปาซูเอลโญ นายทหารยศพลตรี ที่อย่าว่าแต่องค์ความรู้ทางระบาดวิทยาเลย แม้แต่ความรู้ ความชำนาญเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขก็ยังกะพร่องกะแพร่งเต็มที

การรับมือกับโรคระบาดร้ายแรงอย่างโควิด-19 แบบไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ต่อเนื่อง ไม่มียุทธศาสตร์รวม ไม่เพียงน้อยเกินไป หากยังช้าเกินไปมากอย่างยิ่ง

เหล่านี้ กำลังนำพาบราซิลคืบคลานเข้าสู่โศกนาฏกรรมอย่างช้าๆ แต่แน่วแน่ มั่นคงยิ่ง

โควิด-19 โรคระบาดใหญ่ในระดับโลกกำลังแพร่ออกไปในระดับความเร็วสูงมากที่บราซิล ก่อให้เกิดปัญหาสารพัดขึ้นรายล้อม ทั้งต่อระบบสาธารณสุขที่ล้นมือและพังทลายลงทีละเล็กทีละน้อย และประชาชนทั่วไปที่สับสนมากขึ้นและมากขึ้นตามลำดับ เมื่อแนวทางของรัฐบาลท้องถิ่นกับรัฐบาลกลาง ขัดแย้งกันไปคนละทาง

เครื่องช่วยหายใจสำหรับใช้กับผู้ป่วยโควิดอาการหนัก ที่รัฐบาลจัดซื้อมา 15,000 เครื่อง ถูกจัดส่งออกไปยังโรงพยาบาลที่ขาดแคลนได้เพียง 800 เครื่อง

ส่วนใหญ่ที่เหลือยังคงกองอยู่กับที่ สาเหตุเป็นเพราะปัญหาการขนส่งลำเลียงไปยังจุดหมายปลายทาง

นครเซาเปาโล ศูนย์กลางทางการเงินของบราซิล และเป็นใจกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่นั่น เพิ่งตัดสินใจประกาศ “วันหยุดพิเศษ” ต่อเนื่องกัน 6 วันรวด หลังจากเห็นแล้วว่าคำสั่งให้มีการควบคุมการสัญจรไปมา ไม่มีทีท่าว่าจะประสบผลสำเร็จ

วันหยุดกะทันหันที่ว่านั้น กลายเป็นปัจจัยสร้างความสับสนให้กับทั้งนักธุรกิจและแรงงานทั่วไป

โบลโซนาโรยังคงค้านมาตรการล็อกดาวน์ทั้งหลายอย่างถึงที่สุด ยอมแม้กระทั่งไปร่วมเดินขบวนประท้วงมาตรการเข้มงวดในการรับมือกับ “ลิตเติล ฟลู” ของตน

กิลแบร์โต เฟอร์เรรา บราซิเลียนวัยเลยเกษียณ บอกว่า สถานการณ์ในบราซิลกำลังทรุดตัวจากแย่ลงไปสู่ระดับเลวร้าย และยิ่งเลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ ตามวันเวลาที่ผ่านไป

“เรามีรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพ แล้วก็มีประชาชนที่ไม่คนสนใจฟังหรือทำตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์ในการรับมือกับการระบาดเอาเสียเลย”

บราซิลทำสถิติใหม่ในการติดเชื้อและการตายต่อวันครั้งแล้วครั้งเล่า ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันก็แซงหน้าประเทศอย่าง สเปน อิตาลี และอังกฤษ ขึ้นสู่หัวแถวของชาติที่เกิดการระบาดหนักหน่วงที่สุดของโลก

ผู้เชี่ยวชาญทางระบาดวิทยาบอกอย่างวิตกว่า การระบาดในบราซิลยังไม่ถึงจุดพีคสูงสุด ซึ่งคาดว่ากว่าจะมาถึงก็ต้องผ่านต้นเดือนมิถุนายนไปแล้วเท่านั้น!

บราซิลมีประชากรทั้งสิ้น 210 ล้านคน เป็นประเทศในละตินอเมริกาที่มีสถานะทางเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด มั่งคั่งที่สุด

แต่เตรียมการรับมือกับการระบาดครั้งนี้ได้แย่มาก โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า บราซิลมีเวลาเตรียมตัว เตรียมการรับมือนานยิ่งกว่าประเทศไหนๆ ในยุโรปและเอเชีย

บราซิลไม่เคยมี “แนวทางปฏิบัติ” ระดับชาติในการกักกันโรคเพื่อดูอาการ หรือเฝ้าระวังโรค ผลก็คือ รัฐบางท้องถิ่นของรัฐต่างๆ เรื่อยไปจนถึงหัวเมืองทั่วประเทศ ประกาศใช้แนวทางของตนเองตามใจชอบ แตกต่างหลากหลายกันมากมายอย่างยิ่งในแต่ละพื้นที่

ยิ่งไปกว่านั้นมาตรการเหล่านี้ยังขัดแย้งกันเองระหว่างรัฐและระหว่างเมืองทั้งหลายอีกด้วย

ที่สำคัญที่สุดก็คือ รัฐมนตรีสาธารณสุขประกาศคำเตือน แนะแนวทางอย่างหนึ่งอย่างใดออกไปบังคับใช้

ประธานาธิบดีโบลโซนาโรเองนั่นแหละ ที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนควรไม่ปฏิบัติตามอย่างไร ด้วยการแหกกฎเกณฑ์คำสั่งเหล่านั้นให้เห็นเป็นตัวอย่าง

ที่หออภิบาลผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) อันกว้างขวางใหญ่โตของสถาบันเพื่อโรคติดเชื้อเอมิลิโอ ริบาส ในนครเซาเปาโล ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นระบบสาธารณสุขที่กำลังพังทลายเท่านั้น ยังแสดงให้เห็นถึงความล่มสลายของศรัทธาต่อตัวผู้นำประเทศได้เป็นอย่างดี

ที่นี่เต็มไปด้วยข่าวร้ายสารพัดอย่าง เตียงคนไข้หนักเต็มแล้ว ก่อนหน้าที่การระบาดจะถึงจุดพีค, บุคลากรสาธารณสุข ไม่เพียงติดเชื้อแต่หลายคนกำลังจะตายเพราะโควิด ฯลฯ

แต่นี่คือสถานพยาบาลที่ดีที่สุด ที่เซาเปาโลและบราซิลมี

ชะตากรรมของโรงพยาบาลต่างๆ ที่หลงเหลืออยู่นอกจากนี้ ก็สามารถคาดเดาได้ว่าไม่น่าจะดีกว่านี้นัก

ความโกรธ กราดเกรี้ยวต่อพฤติกรรมของผู้เป็นผู้นำประเทศในยามวิกฤต เปิดเผยออกมาชัดเจนจากปากนายแพทย์คนแล้วคนเล่า ทุกครั้งที่ถูกถามถึง ทรรศนะของท่านผู้นำ

“กลับกลอก” หมอรายหนึ่งบอก “มดเท็จ” อีกรายหนึ่งชี้ให้เห็นว่า ความเห็นของโบลโซนาโรไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างไรบ้าง

“นี่ไม่ใช่ไข้หวัดทั่วไป นี่คือโรคระบาดที่เลวร้ายที่สุดที่เราเคยพบกันมาตลอดระยะเวลาที่ดำรงชีพเป็นหมอ” นายแพทย์ ฌาคเควส สไตน์บ็อก ยืนยัน

เมื่อถูกถามว่า กลัวไหมว่าตัวเองจะติดโรคนี้กลับไปบ้านด้วย?

ดวงตาของสไตน์บ็อกหรี่ซึมลง เขาย้ำคำตอบถึงสองครา “กลัวสิ กลัว” !

ในบรรดาประชากร 210 ล้านคน มีราว 25 เปอร์เซ็นต์ ที่ถูกจัดให้อยู่ในระดับยากจน มีรายได้ต่ำกว่าเส้นกำหนดความยากจนของสหประชาชาติ

รัฐบาลบราซิลยังไม่มีเงินและยังไม่มีหนทางในการแสวงหาเงินทุนมาใช้เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อบริษัทธุรกิจต่างๆ อย่าว่าแต่จะช่วยเหลือประชากรยากจนเกือบ 50 ล้านดังกล่าว โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่ยากจนข้นแค้นที่สุด

ราว 14 ล้านคน ในจำนวนคนจนเหล่านี้ ถือเป็น “คนจนเมือง” ใช้ชีวิตอยู่ใน “ฟาเวลาส์” หรือ “ชุมชนแออัด”

เรนาตา อัลเวส อาสาสมัครสาธารณสุขของกลุ่มให้ความช่วยเหลือชุมชนแออัด “จี10 ฟาเวลา” ที่รับผิดชอบในพื้นที่ พาราอิโซโพลิส สลัมชานเมืองเซาเปาโล ที่เต็มไปด้วยตรอกซอกซอยแคบๆ และผู้คนคลาคล่ำ ดำเนินกิจกรรมอย่างเดียวกันคือการแสวงหาหนทางอยู่รอด

ที่นี่ ไม่มีทางที่จะทำ “โซเชียล ดิสแทนซิ่ง” ใดๆ ได้ ยกเว้น “การเว้นระยะห่างในแนวตั้ง” เท่านั้น อันหมายถึงการขึ้นไปกักตัวเองอยู่บนชั้นสูงๆ ของอาคาร เหมือนอย่างที่คนในกลุ่มเสี่ยงบางคนเลือกที่จะทำ

อัลเวสบอกว่า โควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนักในฟาเวลลาแห่งนี้ และแห่งอื่นๆ อีกไม่น้อยกว่า 20 สลัมทั่วประเทศ

ย้อนหลังไปก่อนหน้าที่จะมีชาวบราซิลรายแรกซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากประเทศอิตาลี ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 บราซิลมีเวลานานไม่น้อยที่จะเตรียมตัวเองให้พร้อมรับมือกับการระบาด

2 เดือนเต็มๆ ที่บราซิลเฝ้ามองหายนะเกิดขึ้นกับประเทศแล้วประเทศเล่า ตั้งแต่เอเชียไปจนถึงยุโรป

แต่ความน่ากลัวที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านั้น ไม่สามารถทำให้รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญ ความน่ากลัว และตระหนักถึงอันตรายของโรคระบาดครั้งนี้แม้แต่น้อย

โศกนาฏกรรมที่เคยพบเห็นเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก กำลังเกิดขึ้นในบราซิล ต่อหน้าต่อตา

เป็นโศกนาฏกรรมเดียวกัน หรือไม่ก็อาจเลวร้ายยิ่งกว่าด้วยซ้ำไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image