คอลัมน์ People In Focus : มาเรีย เรสซา นักข่าวฟิลิปปินส์ที่ถูกรัฐเล่นงาน

คอลัมน์ People In Focus : มาเรีย เรสซา นักข่าวฟิลิปปินส์ที่ถูกรัฐเล่นงาน

มาเรีย เรสซา นักข่าวประสบการณ์สูงชาวฟิลิปปินส์วัย 56 ปี กำลังรอฟังคำตัดสินโทษของศาลในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ว่าเธอจะมีชะตากรรมจบลงด้วยการจำคุกซึ่งมีโทษสูงสุดถึง 12 ปี ในคดีใส่ร้ายป้ายสี คดีซึ่งกลุ่มนักเคลื่อนไหวมองว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่ใช้อำนาจปิดปากผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยมีกฎหมายเป็นอาวุธ หรือไม่

คดีของ เรสซา อดีตนักข่าวซีเอ็นเอ็น ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ข่าว “แรปปเลอร์” เริ่มต้นขึ้น จากนักธุรกิจรายหนึ่งยื่นเรื่องฟ้องร้องแรปปเลอร์ ที่เผยแพร่บทความเมื่อ 5 ปีก่อนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของนักธุรกิจรายดังกล่าวกับผู้พิพากษาระดับสูงคนหนึ่ง

หน่วยงานสืบสวนของรัฐบาลได้ยกคำร้องของนักธุรกิจคนดังกล่าวไปในตอนแรก แต่แล้วสำนักงานอัยการกลับรื้อฟื้นคดีดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้งโดยใช้ “กฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์” อันอื้อฉาว กฎหมายที่ถูกมองว่าใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมือง

แม้หน่วยงานของรัฐจะยืนยันว่าไม่ได้เล่นงาน เรสซา จากงานที่เธอทำ แต่เป็นการทำตามหน้าที่เท่านั้น แต่สื่อและหน่วยงานเฝ้าระวัง ระบุว่าการดำเนินคดีเรสซา เป็นการตอบโต้รายงานเจาะลึกเกี่ยวกับรัฐบาลนำโดยประธานาธิบดีดูแตร์เต โดยเฉพาะรายงานที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การทำสงครามยาเสพติดที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน

Advertisement

การเล่นงานเว็บไซต์ แรปปเลอร์ ของเรสซา หลายต่อหลายครั้งดึงความสนใจจากนานาชาติ และส่งผลให้เรสซา กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงขึ้นมาในระดับโลก ในฐานะคนที่ยืนหยัดต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ จนกระทั่งนิตยสารไทม์ยกย่องให้เรสซา เป็นบุคคลแห่งปีประจำปี 2018 ที่ผ่านมา

องค์กรเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่ารัฐบาลดูแตร์เต ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เริ่มปฏิบัติการเพื่อปิดปากฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองมากขึ้น ด้วยการปิดเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ชั้นนำของประเทศอย่าง เอบีเอส-ซีบีเอ็น ลง

Advertisement

ล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์ก็เพิ่งผ่านกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายปี 2020 ที่เปิดทางให้มีการจับกุมได้โดยไม่ต้องขอหมายจับ สามารถควบคุมตัวได้โดยไม่ต้องตั้งข้อหา และมาตรการอื่นๆที่ถูกมองว่าอาจใช้ในการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของรัฐบาล

เรสซา ผู้ที่เคยนั่งเป็นหัวหน้าข่าวซีเอ็นเอ็น ประจำกรุงมะนิลา และกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงเวลาการทำงานข่าวนาน 35 ปี ระบุว่าแม้ตนจะกลัวแต่ก็ปฏิเสธที่จะเงียบและหวังว่าจะได้รับชัยชนะในคดีนี้
“ฉันจะยอมรับความกลัว ฉันต้องเตรียมพร้อมและนั่นเริ่มต้นในความคิดของฉัน มันเริ่มต้นด้วยการยอมรับกับเรื่องเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้” เรสซา ระบุ

แม้กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า ความเป็นอิสระของระบบยุติธรรมในประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีชื่อเสียงเรื่องการทุจริตมาอย่างยาวนาน ถูกกัดกร่อนลงอีกในยุคประธานาธิบดีดูแตร์เต

อย่างไรก็ตามเรสซา ระบุว่า ตนยังคงเชื่อมั่นว่ามีคนในระบบยุติธรรมที่ยังคงใช้จิตวิญญาณของกฎหมายในการทำงาน และนั่นให้ความหวังในแง่บวกกับเธอ

“ฉันยังคงหวัง สิ่งเดียวที่ฉันทำได้ก็คือการมีความหวัง” เรสซา ระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image