คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : วิถีแห่งม็อบ กับ โดนัลด์ ทรัมป์

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : วิถีแห่งม็อบ กับ โดนัลด์ ทรัมป์
(AP Photo/Brynn Anderson)

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : วิถีแห่งม็อบ กับ โดนัลด์ ทรัมป์

คำถามชวนคิดประการหนึ่งในเวลานี้ก็คือ ทำไมการประท้วงที่สหรัฐอเมริกายังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ไม่สร่างซา หรือยุติลงไปพร้อมกับการดำเนินคดีและตั้งข้อกล่าวหาหนักต่อ ดิเร็ค ชอวิน กับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในจุดที่ จอร์จ ฟลอยด์ เสียชีวิตลงอย่างไม่เหมาะ และไม่ควร

เช่นเดียวกับข้อกังขาง่ายๆ ที่ชวนให้ต้องใช้ความคิดอย่างมากที่ว่า เมื่อใด เหตุชุมนุมประท้วงในสหรัฐอเมริกาจึงจะยุติลง?

คำถามเหล่านี้ไม่ได้มีคำตอบตายตัว หรือชัดเจน ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ ที่ช่วยโอบอุ้มให้ขบวนการเคลื่อนไหวในสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ยังคงแข็งแกร่ง มีชีวิตชีวาต่อไปอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งปัจจัยที่ว่า อาจบางทีสิ่งที่ผลักดันให้เกิดความปั่นป่วนอยู่ในสหรัฐอเมริกาในเวลานี้ ไม่ได้มีแค่เรื่องเหยียดผิว ชิงชังชาติพันธุ์กันแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองอเมริกันเริ่มตั้งข้อสังเกตเพิ่มมากขึ้น

Advertisement

นั่นทำให้ผู้สันทัดกรณีส่วนใหญ่เชื่อว่าความเกรี้ยวกราดของอเมริกันจะยังไม่ซาลง แต่จะยิ่งยกระดับมากยิ่งขึ้นในช่วงนับตั้งแต่บัดนี้เรื่อยไปจนถึงวาระแห่งการเลือกตั้งประธานาธิบดี ต้นเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

แม้จะเป็นเรื่องยากที่คนที่สังเกตการณ์อยู่นอกวงจะรู้เหตุผลอย่างแจ่มชัดว่า อะไรคือ “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้แต่ละคนตัดสินใจเดินตบเท้าเข้าร่วมขบวนการประท้วง แต่นักวิชาการหลายคน รวมทั้ง สตีเฟน เอ็ม. วอลท์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณจากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เชื่อว่า “คาสเคด เอฟเฟ็กต์” มีบทบาทสำคัญยิ่งในเวลานี้

นั่นหมายความว่า ตัวเราเองอาจไม่เต็มใจที่จะเป็น “คนแรก” ที่กระโจนเข้าร่วมขบวนการประท้วง แต่เต็มใจสูงยิ่งที่จะเป็นคนที่ 500 หรือคนที่ 5,000 และยังหมายความด้วยว่า ยิ่งนานวันไป ขบวนการประท้วงจะยิ่งขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยอีกต่างหาก

Advertisement

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาล และผู้นำ ตอบสนองต่อการชุมนุมประท้วง ด้วยท่าทีซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปฏิกิริยาความโกรธ ความเกรี้ยวกราดแต่แรกเริ่มให้รุนแรงและเชี่ยวกรากมากยิ่งขึ้นตามลำดับเวลาที่ผ่านไปพร้อมกันไปด้วย

เหมือนอย่างที่ โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังกระทำอยู่ในเวลานี้นั่นเอง

สิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ตลอดจนแกนนำรีพับลิกันหลายต่อหลายคนแสดงออกตลอดมาก็คือ สหรัฐอเมริกากำลังตกอยู่ท่ามกลางการคุกคามอย่างใหญ่หลวง ชนิดที่จำเป็นต้องใช้กำลัง “ทหาร” จากกองทัพเข้ามาปฏิบัติการอย่าง “เด็ดขาด” เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นอีกครั้ง

การใช้กำลัง โดยเฉพาะกำลังทหารอาจได้ผลในหลายกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกิดการคุกคามต่อความมั่นคง ต่อเสถียรภาพของระบอบการปกครองขึ้นจริง หรือได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสาธารณชน และทหารที่ถูกส่งเข้ามาทำหน้าที่กำราบมวลชนนั้น เต็มใจที่จะรับฟังคำสั่งและลงมือตามคำสั่งดังกล่าวนั้น

แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า บางครั้ง การใช้กำลังอำนาจ หรือการส่งสัญญาณว่าจะใช้อำนาจชนิดเกินขอบเขต หรือไม่มีเหตุมีผลรองรับอย่างเหมาะสมนั้น ไม่เพียงผลักดันให้เกิดการต่อต้านคัดค้านมากขึ้น ผลักดันผู้คนสู่ท้องถนนมากขึ้นแล้ว ยังอาจพลิกผันให้การชุมนุมประท้วงโดยสันติใดๆ เปลี่ยนโฉมกลายเป็นความรุนแรงขึ้นมาได้อย่างเฉียบพลัน

ในกรณีเช่นนั้น ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งก็คือ เจ้าหน้าที่ความมั่นคงรวมทั้งทหารที่ถูกสั่งมาปฏิบัติการอาจตัดสินใจละทิ้งหน้าที่ เปลี่ยนขั้ว ปฏิเสธคำสั่งเอาได้ง่ายๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำสั่งที่ได้รับมาไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นบนท้องถนน

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับ พระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน หรือรัฐบาลเผด็จการซีเรียภายใต้การนำของ บาชาร์ อัล อัสซาด ล้วนสะท้อนข้อเท็จจริงเหล่านี้

ในกรณีของซีเรีย แม้รัฐบาลเผด็จการที่ใช้กำลังทหารปราบปรามประชาชนของตนเองอย่างอำมหิตจะได้รับชัยชนะ แต่สิ่งที่หลงเหลือให้ปกครองในเวลานี้แทบไม่ต่างอะไรจากเปลือกที่กลวงเปล่าเท่านั้น

ในกรณีที่สหรัฐอเมริกา สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เข้าใกล้กับเหตุรุนแรง ชนิดสั่นคลอนต่อเสถียรภาพ ความมั่นคงปลอดภัยของสาธารณชนโดยทั่วไปแต่อย่างใด

แน่นอน เกิดเหตุจลาจลขึ้นอยู่บ้าง เกิดการปล้นสะดมอยู่ในหลายพื้นที่เช่นเดียวกัน ซึ่งผู้ที่ลงมือกระทำสิ่งเหล่านี้สมควรได้รับการประณาม จับกุมและดำเนินคดีอย่างยิ่ง แต่ข้อมูลของ คราวด์ เคานต์ คอนซอร์เตียม (ซีซีซี) ที่เกาะติดความเคลื่อนไหวของมวลชนในสหรัฐอเมริกามาตลอด แสดงให้เห็นว่า การชุมนุมประท้วงแทบทั้งหมดดำเนินไปอย่างสันติ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นบ้างในบางกรณีเป็น “กรณียกเว้น” มากกว่า “วัตรปฏิบัติ” ปกติของผู้ประท้วงแต่อย่างใด

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่จุดชนวนให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้นในหลายต่อหลายกรณี กลับเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องถิ่นที่เกิดการชุมนุมประท้วง

ไม่ได้เป็นเหตุที่ผู้ชุมนุมประท้วงริเริ่มให้เกิดขึ้นโดยแท้

สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ นักวิชาการหลายคนแสดงทรรศนะว่า การออกมาถามหากำลังทหารก็ดี หรือการเรียกร้องปฏิบัติการ “เด็ดขาด” เพื่อจัดการกับผู้ชุมนุมประท้วงโดยสันติที่ว่านี้ สะท้อนให้เห็นถึง ภาวะ “ไร้ความสามารถ” และ “อับจนหนทาง” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

แสดงให้เห็นว่า ทรัมป์ไม่มี “ไพ่” หลงเหลืออยู่ในมือที่จะจัดการกับผู้ชุมนุมประท้วงอีกต่อไปแล้ว

สภาวะแวดล้อมหลายๆ ด้านบีบรัดทรัมป์ เข้ามามากขึ้นทุกที

เศรษฐกิจทรุดตัวต่ำลงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ทรัมป์ยังไม่เคยพูดถึงแผนงานใดๆ ที่จะฟื้นฟูสภาวะให้กลับคืนมาอย่างน้อยก็ในระดับที่เหมาะสมแต่อย่างใด

สถานการณ์ว่างงานยังเลวร้ายอย่างหนัก แม้ตัวเลขจะลดน้อยลงในระยะหลัง แต่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า เมื่อถึงปลายปีจะยังคงมีอเมริกันอีกหลายสิบล้านคนตกอยู่ในสภาพว่างงาน

อเมริกันมากกว่า 2 ล้านคน ติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 100,000 คน สูงที่สุดในโลกในเวลานี้

สภาพของสหรัฐอเมริกาในยามนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงของการบริหารจัดการสภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของทรัมป์ ที่บางคนบอกว่า “ไร้เดียงสา” อย่างเหลือเชื่อ

เริ่มต้นจากการ “โกหก” ต่ออเมริกันทั้งชาติในช่วงแรกของการระบาดว่าอีกไม่กี่วันเชื้อก่อโรคโควิด-19 ก็จะเลือนหายไป มาจนถึงการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิดๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก และยังไม่มีวี่แววใดๆ ว่า ประธานาธิบดีของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อเห็นแก่การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในทางบวกในเร็ววัน

การดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบ “ข้ามาคนเดียว” ตัดสินใจเร็วทั้งๆ ที่ไม่รู้ ไม่มีความเชี่ยวชาญในหลายๆ เรื่อง ไม่เพียงส่งผลให้การต่างประเทศในยุคสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เคยประสบความสำเร็จแม้แต่ครั้งเดียวเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลให้ชาติพันธมิตรนานาดึงตัวออกห่าง คู่ค้าและหุ้นส่วนที่เคยร่วมมือกันเหนียวแน่นกลายเป็นศัตรูชนิดอยู่ร่วมกันไม่ได้

แล้วก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดในประเทศดีขึ้นแต่อย่างใด

สตีเฟน วอลท์ เชื่อว่า ภายใต้สภาพอับจนหนทางเช่นนี้ ทรัมป์ “ต้องการ” อย่างยิ่งให้เกิดความรุนแรงขึ้นภายในประเทศ ยิ่งรุนแรงมากยิ่งดีมาก ยิ่งเอื้อต่อผลการเลือกตั้งในปลายปีของทรัมป์มากขึ้นเท่านั้น

ถ้าไม่ต้องการเช่นนั้น ทรัมป์คงไม่ออกมาเรียกร้องและแสดงความเชื่อมั่นต่อแนวทางรุนแรงมากถึงขนาดนั้น

น่าเสียดายที่ยิ่งนับวัน การชุมนุมประท้วงยิ่งแสดงออกอย่างสันติมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ยอมตกลงไปในกับดักให้รัฐบาลหรือทางการกดขี่ปราบปรามและใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ง่ายๆ

วอลท์ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ทรัมป์อาจเป็นเพียงประธานาธิบดีคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่เชื่ออย่างจริงจังว่า การเกิดความรุนแรง การละเมิดกฎระเบียบ การก่อความไม่สงบภายในประเทศจะช่วยให้ได้รับเลือกตั้งอีกวาระ

ประเด็นที่น่าสนใจปิดท้ายเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับขบวนการประท้วงที่เกิดขึ้นในเวลานี้ก็คือ ยิ่งนานไป การชุมนุมนี้ยิ่งแสดงออกให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ประเด็นเรื่องสีผิว อาจไม่ใช่ประเด็นเดียวที่ผลักดันให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ขึ้นเช่นนี้

นอกจากเรื่องการเหยียดผิวแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นสามารถมองได้ว่า เป็นการแสดงออกถึงความกราดเกรี้ยวทางการเมืองต่อบรรดานักการเมืองและนักธุรกิจผู้มั่งคั่งทั้งหลายที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อวิกฤตการณ์การเงินเมื่อปี 2008 ที่ไม่เพียงไม่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนเท่านั้น แต่ยังไม่เคยแก้ไขเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใดๆ นอกจากจะทำให้ตัวเองมั่งคั่งมากขึ้น ร่ำรวยมากขึ้นอีกด้วย

ถ้าเป็นเช่นนี้จริง สถานการณ์การประท้วงไม่เพียงไม่ดีขึ้น แต่จะเลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีในตอนปลายปีนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image