คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ข้อกังวลเกี่ยวกับ “วัคซีนโควิด-19”

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ข้อกังวลเกี่ยวกับ
(ภาพ-Unsplash)

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ข้อกังวลเกี่ยวกับ “วัคซีนโควิด-19”

ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ มีโอกาสสูงมากที่ วัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 จะมีการทดลองในมนุษย์ด้วยกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรก สร้างความรู้สึกว่า เราขยับเข้าใกล้จุดสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้าไปอีกก้าวใหญ่ๆ

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนกลับคาดคิดไปในทางตรงกันข้าม หลายคนเชื่อว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ประสบความสำเร็จล็อตแรกไม่น่าจะมีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการยับยั้งไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในระดับทั่วโลก

ซึ่งหมายความว่า มนุษย์โลกเรา อาจยังจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับไวรัสร้ายก่อโรคโควิด-19 ต่อเนื่องต่อไปอีกหลายปี

ก่อนที่วัคซีนที่ทรงประสิทธิภาพที่แท้จริงจะปรากฏขึ้น

Advertisement

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น อะไรคือข้อกังวลของบรรดาผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้?

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางคน รวมทั้งนายแพทย์ แอนโทนี ฟาวซี ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโควิด-19 ของทำเนียบขาว ยังคงฝากความหวังเอาไว้กับการพัฒนาวัคซีนในยามนี้สูงมาก

ตามคาดการณ์ของฟาวซี วัคซีนล็อตแรกราว 100 ล้านโดส น่าจะมีให้ใช้กันได้ในสหรัฐอเมริการะหว่าง เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมปีนี้ และอาจบางทีล็อตใหญ่ที่จะมีตามมาราว 200 ล้านโดส จะมาถึงในตอนต้นปี 2021

ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เรียกปฏิบัติการเร่งรัดกระบวนการพัฒนาวัคซีนของตัวเองว่า “วาร์ปสปีด” ทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ ลงทุนใน 5 บริษัทยาและเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลกเพื่อการนี้ ประกอบด้วย โมเดอร์นา, แอสทราเซเนกา, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, เมอร์ค และ ไฟเซอร์

ความคาดหวังต่อการพัฒนาวัคซีนของบริษัทเหล่านี้ และของอีกหลายบริษัทในหลายประเทศ อยู่บนพื้นฐานของงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ร่างกายของผู้ป่วยเกือบทุกคนที่หายจากการป่วยโควิด-19 ผลิตแอนติบอดี สำหรับต่อสู้กับไวรัสก่อโรคโควิด-19 ขึ้นมา

นั่นหมายความว่า เราสามารถต่อสู้กับโรคระบาดร้ายแรงอย่างโควิด-19 ด้วยวัคซีนได้นั่นเอง

การพัฒนาวัคซีนในเวลานี้ มีแนวทางให้เลือกกันอยู่ อย่างน้อย 4 แนวทาง วัคซีนโควิด-19 เกือบทั้งหมดพัฒนาขึ้นภายใต้แนวทางเหล่านี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทั้งสิ้น

ตอนนี้มีวัคซีนโควิด อยู่ในขั้นตอนทดลองขั้นต่างๆ แตกต่างกันออกไปมากถึง 120-130 สูตร

มีอยู่ 10 สูตรวัคซีนที่ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้าย คือการทดลองในมนุษย์ ที่เหลือหากยังไม่อยู่ในหลอดทดลองในห้องแล็บ ก็อยู่ในขั้นตอนการทดลองในสัตว์ ผู้พัฒนาแต่ละสูตรวัคซีนเหล่านี้พากันคาดหวังว่า เมื่อฉีดวัคซีนเข้าสู่ร่างกายของคนเราแล้ว มันจะก่อให้เกิด แอนติบอดี หรือสารภูมิต้านทานที่ “เป็นกลาง” (neutralized) เกิดขึ้น จนร่างกายของบุคคลนั้นๆ สามารถป้องกันการติดเชื้อในอนาคตได้

ใน 4 วิธีการที่ใช้ในการพัฒนาวัคซีนในเวลานี้ มีเพียง 2 วิธีเท่านั้นที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลในการป้องกันการติดเชื้อในอนาคตได้ อีก 2 วิธี ยังไม่เคยใช้ในการผลิตวัคซีนที่ได้ผลมาก่อน

วิธีการแรก คือการนำเอา ไวรัสก่อโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง มาทำให้อ่อนแอลง หรืออยู่ในรูปแบบที่ตายแล้ว สำหรับฉีดเข้าไปในร่างกาย โดยคาดหวังว่า แอนติบอดี ที่เกิดขึ้นจากการฉีดเชื้อไวรัสเหล่านี้เข้าไปจะเป็นภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสอื่นๆ ได้ วิธีนี้ใช้กันแพร่หลายไม่น้อยในการผลิตวัคซีนหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนป้องกันไวรัสก่อโรคโปลิโอ, ไวรัสก่อโรคอีสุกอีใส หรือไวรัสก่อโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

วิธีที่สอง ก็คือการนำเอาเศษของเชื้อไวรัส ฉีดเข้าไปในร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกัน “มีความพร้อม” เกิดขึ้นสำหรับการต่อต้านไวรัส วิธีการนี้ ใช้ในการผลิต เอชพีวี วัคซีน (วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก) และวัคซีนป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เป็นต้น

วิธีการที่ 3 เป็นวิธีการที่นักวิชาการมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดใช้เพื่อพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ร่วมกับแอสทราเซเนกา และมีกำหนดจะทดลองในคนระยะสุดท้ายในราวเดือนกรกฎาคมนี้ เป็นวิธีใหม่ทันสมัยที่สุดวิธีหนึ่ง

วิธีการพัฒนาในแนวทางนี้ก็คือ การนำเอาไวรัสจากลิงชิมแปนซี (สัตว์ที่ใกล้เคียงกับคนมากที่สุด) ออกมาแล้วเคลือบผิวไวรัสด้วยโปรตีนที่สร้างหนาม หรือตุ่มขึ้นแบบเดียวกับไวรัสก่อโรคโควิด-19

ไวรัสในชิมแปนซี ก่อให้เกิดการติดเชื้อในคนขึ้น แต่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่โปรตีนที่ถูกเคลือบไว้จะกลายเป็นเครื่องกระตุ้นให้ระบบภูมิคคุ้มกันของร่างกาย “จดจำ” ลักษณะของหนาม หรือตุ่มบนเปลือกไวรัสไว้เป็นสัญญาณต่อต้านการติดเชื้อที่มีลักษณะเดียวกันในอนาคต

แอทราเซเนกา และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เตรียมการทดลองระยะสุดท้ายขึ้นทั้งในอังกฤษและบราซิล

แม้ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังไม่ประทับใจผลการทดลองในระยะแรกๆ ของมันก็ตามที ถึงกับชี้ว่า วัคซีนสูตรนี้ป้องกันการติดเชื้อในลิงไม่ได้

วิลเลียม ฮาเซลไทน์ อดีตศาสตราจารย์ประจำสำนักการแพทย์ฮาร์วาร์ด ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นไว้ว่า

“เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าวิธีการนี้เป็นวิธีการที่ดีที่สุดหรือไม่ แต่ผมไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น”

วิธีการที่สี่ เป็นวัคซีนเชิงพันธุกรรม หรือ เจเนติควัคซีน กระบวนการที่ต้องทำก็คือ ต้องสกัดเอาสารพันธุกรรมจากไวรัสที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในเวลานี้ออกมา แล้วฉีดเข้าไปใน่างกายของคนที่ต้องการให้เกิดภูมิคุ้มกัน (ในกรณีของไวรัสโควิด สารพันธุกรรมของมันบรรจุอยู่ในอาร์เอ็นเอที่อยู่ในนิวเคลียส ดังนั้นจึงเรียกวัคซีนที่ได้จากการนี้ว่า “เอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน”)

สารพันธุกรรมที่กำหนดลักษณะของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่มีโปรตีนเป็นหนามหรือตุ่มบริเวณเปลือกหรือผิว จะเข้าไปทำหน้าที่เตือนภัยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่ควรจะกลายเป็นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสที่มีผิวในลักษณะนี้ต่อไปในอนาคต

ปีเตอร์ โฮเตซ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัคซีน จาก เบเลอร์ คอลเลจ ออฟ เมดิซีน บอกว่า ในบรรดาวัคซีนที่ก้าวหน้ามาสู่การทดลองในคนในระยะสุดท้าย มีวัคซีนเดียวที่ไม่ได้พัฒนาขึ้นมาด้วย 1 ใน 4 วิธีการข้างต้น นั่นคือวัคซีนของบริษัท ซิโนวัค ไบโอเทค จากประเทศจีน

แต่เป็นวัคซีนตัวเดียวที่ให้ผลลัพธ์ในการทดลองระยะแรกๆ ได้ผลดีมากที่สุดในบรรดาวัคซีนทั้งหมด แม้ว่าจะเป็นเพียงผลการทดลองในสัตว์ทดลองอย่าง ลิง และอื่นๆ ก็ตาม

ซิโนวัค ไบโอเทค ใช้วิธีการดั้งเดิมที่สุดในการพัฒนาวัคซีน นั่นคือนำเอาไวรัสก่อโรคโควิด-19 มาทำให้อยู่ในรูปแบบที่ตายแล้ว แล้วฉีดเข้าไปเพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันมีความพร้อมในการรับมือกับการติดเชื้อด้วยไวรัสเดียวกันนี้ในอนาคต

โฮเตซ บอกว่า วิธีนี้เป็นวิธีดั้งเดิมที่สุด แต่เป็นวิธีหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นกันมาแล้วในอดีตที่ผ่านมาว่าเป็นวัคซีนที่ได้ผล

พอล ออฟฟิท แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อจาก โรงพยาบาลเด็กแห่งฟิลาเดลเฟีย บอกว่า วัคซีนที่ขึ้นชื่อว่าได้ผลนั้น ต้องมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมไว้ว่า ถึงจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ถ้าหากสามารถลดภาวะล้มป่วยไม่ให้มีอาการหนักได้ ก็ดีไม่น้อยแล้ว

เพราะนั่นหมายถึงคนเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล แล้วก็ช่วยให้อัตราการตายลดลงได้อีกด้วย

ข้อวิตกกังวลต่อวัคซีนโควิด-19 ของผู้เชี่ยวชาญมีตั้งแต่ เรื่องความล่าช้าอันเนื่องมาจากระดับการแพร่ระบาดของโรค เรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน เรื่อยไปจนถึงปัญหาในเชิงการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ที่กำลังเป็น “ปีแห่งการเลือกตั้ง” อยู่ในเวลานี้

ความล่าช้าสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้ว่าจะพยายามเร่งรัดให้รวดเร็วมากเพียงใดก็ตาม เหตุผลเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดระดับลงเร็วมากในหลายประเทศ ทำให้การทดลองระยะสุดท้ายในคนอาจจำเป็นต้องล่าช้าไปแบบนอกเหนือความคาดหมาย

ในสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคมนี้ วัคซีน 2 ตัวที่อยู่ภายใต้ปฏิบัติการ “วาร์ปสปีด” ของสหรัฐอเมริกา กำหนดจะทดลองกับคนไม่น้อยกว่า 30,000 คน ด้วยวิธีการมาตรฐาน กล่าวคือ สุ่มฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มตัวอย่างกลุ่มหนึ่ง แล้วสุ่มฉีดวัคซีนเปล่า หรือพลาซีโบล ให้กับกลุ่มตัวอย่างอีกกลุ่ม

ปัญหาล่าช้าอาจเกิดขึ้นกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นอาสาสมัครจำนวนมากเหล่านั้นที่ “หายาก” มากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่การแพร่ระบาดลดน้อยลงเรื่อยๆ จากมาตรการรักษาระยะห่าง

ฟาวซี ชี้ว่า ถ้าหากไม่เกิดการระบาดอยู่ในระดับสูงมาก ผู้ทดลองวัคซีนอาจต้องรอเดือนแล้วเดือนเล่า เพื่อให้ได้คำตอบว่า ผลการทดลองวัคซีนได้ผลแค่ไหน อย่างไร

เมื่อปี 2006 ผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโรตา (ก่อให้เกิดอาการอุจจาระร่วงรุนแรงในเด็ก) เตรียมทดลองในเด็ก 40,000 ราย ที่สุดแล้วกลายเป็นต้องทดลองในกลุ่มเด็กมากถึงมากกว่า 70,000 ราย ต้องใช้เวลาในการทดลองยืดเยื้อมากกว่า 3 ปี จึงได้คำตอบถึงประสิทธิภาพที่ชัดเจนของวัคซีน

เคน ฟราเซียร์ ซีอีโอของเมอร์ค เองยอมรับว่า โครงการพัฒนาวัคซีนของบริษัทอาจต้องชะลอออกไปจนเลยเดือนธันวาคม ด้วยเหตุนี้

ข้อกังวลใหญ่ถัดมาเป็นเรื่องของประสิทธิภาพของวัคซีน พอล ออฟฟิท ระบุว่า ตนจะ “เซอร์ไพรส์” เอามากๆ ถ้าหากวัคซีนโควิด-19 ตัวใดตัวหนึ่งเท่าที่พัฒนากันอยู่ในเวลานี้ มีขีดความสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์หรือกว่านั้น

เหตุผลหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับประสิทธิภาพในการป้องกันนี้ก็คือ ระยะเวลาในการฟักตัวในร่างกายคนของไวรัสที่ก่อโรคในระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งโควิด-19 สั้นมาก เมื่อเทียบกับระยะเวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นในร่างกาย

โควิด-19 ใช้เวลาฟักตัวเพียง 4-5 วันในร่างกายเพื่อแสดงอาการ ต่างจากไวรัสก่อโรคหัด ซึ่งระยะฟักตัวนานถึง 10-12 วัน

นั่นทำให้วัคซีนโรคหัดสามารถป้องกันการติดเชื้อหัดได้ถึง 97 เปอร์เซ็นต์

ปัญหาการคงอยู่ของภูมิคุ้มกัน ก็เป็นความกังวลอีกเรื่องของผู้เชี่ยวชาญรวมทั้ง แอนโธนี ฟาวซี ที่เชื้อว่าภูมิคุ้มกันโควิด-19 อาจลดลงอย่างรวดเร็ว ผลก็คือต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นอยู่บ่อยๆ ต่างกับโรคบางโรค ที่ฉีดครั้งเดียวก่อภูมิคุ้มกันได้ตลอดชีวิต

สุดท้ายคือ ปัญหาว่าด้วยความเร่งด่วนของการพัฒนาวัคซีนครั้งนี้ ที่ทำให้ทุกฝ่ายต้องการเห็นการค้นพบวัคซีนมากกว่าที่จะหาวัคซีนที่ดีที่สุดให้ได้

แรงกดดันทางการเมืองของปีแห่งการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาอาจส่งผลให้มี “ออคโทเบอร์ เซอร์ไพรส์” ของทรัมป์ขึ้นมาก็ได้

แต่ถ้าหากวัคซีนที่พบก่อนถูกนำมาใช้ก่อนแล้วล้มเหลวสูงมาก ผลลัพธ์อาจกลายเป็นการทำลายความเชื่อถือศรัทธาของวัคซีนทั้งหมดลงก็เป็นได้

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็คือ โศกนาฏกรรมดีๆ นี่เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image